ThaiPublica > เกาะกระแส > Bollygarch อัครมหาเศรษฐีใหม่ของอินเดีย ผลิตผลของ “ยุคที่ฉาบด้วยทอง” (Gilded Age)

Bollygarch อัครมหาเศรษฐีใหม่ของอินเดีย ผลิตผลของ “ยุคที่ฉาบด้วยทอง” (Gilded Age)

13 กรกฎาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ตึก Antilia เมืองมุมไบ ที่มาภาพ : theguardian.com

ในหนังสือ The Billionaire Raj (2018) ที่เพิ่งพิมพ์ออกมาจำหน่าย James Crabtree ผู้สื่อข่าว Financial Times ประจำอินเดีย เขียนไว้ว่า อาคาร Antilia ในนครมุมไบ อินเดีย เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งอำนาจของผู้นำแบบใหม่ของอินเดีย ตึกระฟ้าแห่งนี้เป็นอาคารที่มหาเศรษฐี มูเกช แอมบานี (Mukesh Ambani) สร้างเป็นที่พักอาศัยของเขา ภรรยา และบุตร 3 คน

อาคาร Antilia สูง 160 เมตร มีพื้นที่แค่ 1 เอเคอร์ หรือ 2.5 ไร่ ชั้นล่างสร้างแบบห้องบอลรูมโรงแรม พื้นที่จอดรถมี 6 ชั้น ชั้นสูงขึ้นไปเป็นที่พัก และสวนดอกไม้ ชั้นบนสุดสร้างเป็นห้องรับรอง มีระเบียงห้องที่ยื่นออกมาชมเมือง นอกจากห้องออกกำลังกาย ยังมีห้องน้ำแข็ง ที่ไว้หลบอากาศอบอ้าวในฤดูร้อน นครมุมไบมีสภาพเป็นแหลมแคบๆ แบบเดียวกับเกาะแมนฮัตตัน ตึก Antilia จึงคล้ายกับตึกเอ็มไพร์สเตทของนิวยอร์ก

มูเกช แอมบานี เป็นคนอินเดียที่ร่ำรวยที่สุด นิตยสารฟอร์บสบอกว่า เขามีทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่า 38 พันล้านดอลลาร์ แต่แอมบานีไม่ใช่มหาเศรษฐีเพียงคนเดียวของอินเดีย ในทศวรรษ 1990 นิตยสารฟอร์บสจัดอันดับมหาเศรษฐีโลก มีมหาเศรษฐีอินเดียอยู่แค่ 2 คน ในปี 2010 มี 49 คน ทุกวันนี้มีกว่า 100 คน ทรัพย์สินรวมกันมูลค่า 479 พันล้านดอลลาร์ จำนวนมหาเศรษฐีอินเดียจะเป็นรองก็อเมริกา จีน และรัสเซีย

พวกมหาเศรษฐีของรัสเซีย ถูกเรียกว่า Oligarch เพราะการใช้ชีวิตที่หรูหราของคนพวกนี้ และวิธีการทำธุรกิจที่ฉ้อฉล พวก Oligarch สร้างความมั่งคั่งขึ้นมา หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และรัฐบาลรัสเซียขายรัฐวิสาหกิจ ส่วนคนอินเดียเรียกพวกมหาเศรษฐีใหม่ของอินเดียแบบตลกๆ ว่า Bollygarch เพราะอาณาจักรธุรกิจของคนพวกนี้เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วโดยอิงอาศัยอำนาจการเมืองอย่างใกล้ชิด

ปัจจัยที่สร้างเศรษฐีใหม่

แม้เศรษฐกิจของประเทศจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับสหราชอาณาจักร คือ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่อินเดียยังเป็นประเทศยากจน ตัวเลขของธนาคารโลก ในปี 2017 รายได้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 1,940 ดอลลาร์ แต่คนที่มั่งคั่ง 1% เป็นเจ้าของทรัพย์สินกว่า 50% ของประเทศ ทำให้อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากสุด เช่นเดียวกับแอฟริกาใต้และบราซิล

จุดกำเนิดและความรุ่งเรืองของอัครมหาเศรษฐีใหม่อินเดีย มาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของอินเดียในปี 1991 อินเดียได้ยกเลิกระบบใบอนุญาตและกำแพงภาษีนำเข้า ที่เคยปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศมานานหลายชั่วคน ก่อนหน้านี้ อินเดียเคยใช้ระบบใบอนุญาต ที่เรียกกันว่า License Raj นานกว่า 50 ปี ระบบนี้คือการที่รัฐเป็นฝ่ายอนุญาตว่า นักธุรกิจคนไหนจะเป็นผู้ผลิตสินค้าอะไร การยกเลิกระบบใบอนุญาตเท่ากับเป็นการเปิดเสรีธุรกิจต่างๆ เช่น สายการบิน ธนาคาร การผลิตเหล็กกล้า และโทรคมนาคม เป็นการเปิดโอกาสที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของอินเดีย จะเติบโตขึ้นมา

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่สร้างมหาเศรษฐีใหม่ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่นับจากต้นทศวรรษ 2000 มีสภาพเหมือนเป็นยุคทองทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของประเทศมั่งคั่ง ก็เติบโตอย่างดี ในปี 2001 จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้การส่งออกของจีนพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ของจีน อินเดียเองก็ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตสูง ในช่วงปี 2004-2014 โดยเศรษฐกิจอินเดียเติบโตเฉลี่ยปีหนึ่ง 8%

ที่มาภาพ : oneworld-publications.com

อัครมหาเศรษฐีใหม่

หนังสือ The Billionaire Raj กล่าวว่า แม้อินเดียจะได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่แบ่งชั้นวรรณะ แต่หลังได้รับเอกราชในปี 1947 เศรษฐกิจเติบโตแบบกระจายประโยชน์แบบทัดเทียม คนชั้นนำใช้ชีวิตไม่ได้หรูหรา เมื่อเทียบกับคนชั้นนำในประเทศตะวันตก แต่นับจากต้นศตวรรษ 21 สภาพดังกล่าวเปลี่ยนไป เมื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจหลั่งไหลไปสู่คนชั้นนำของอินเดีย รากุราม ราจัน (Raghuram Rajan) ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย กล่าวว่า “หากว่ารัสเซียคือระบอบการปกครองโดยคณะบุคคล (oligarchy) เราจะปฏิเสธได้นานแค่ไหนที่จะพูดว่า อินเดียก็มีระบอบแบบเดียวกันนี้”

เรื่องช่องว่างทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน พวกที่มีแนวคิดเสรีนิยมสุดขั้วเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว สำคัญกว่าการกระจายรายได้ ส่วนพวกมีแนวคิดฝ่ายซ้าย เน้นเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของคนระดับล่าง ดูเรื่องดัชนีการพัฒนาทางสังคม แต่งานวิจัยของ IMF แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะเติบโตต่ำ และยังเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติทางการเงิน

พวกมหาเศรษฐีใหม่ของอินเดีย เป็นผลิตผลจากระบบทุนนิยมแบบพวกพ้อง (crony capitalism) ที่เป็นการสมคบกันระหว่างผู้นำการเมืองกับผู้นำเศรษฐกิจ ในการยึดครองสาธารณะสมบัติที่มีค่ามหาศาลให้มาเป็นของตัวเอง ระบบเศรษฐกิจแบบใบอนุญาตของอินเดียในอดีตก็เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันแบบปลีกย่อยมากมาย ธุรกิจต่างๆ ต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ

แต่หนังสือ The Billionaire Raj กล่าวว่า ในทศวรรษ 2000 ธุรกิจยักษ์ใหญ่อาศัยการจ่ายเงินมหาศาล เพื่อให้ได้สิทธิในธุรกิจโทรคมนาคม เหมืองแร่ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คอร์รัปชันที่เคยเกิดขึ้นในระดับขายปลีก ถูกยกระดับขึ้นมาที่ระดับขายส่ง

“ยุคที่ฉาบด้วยทอง”

อินเดียไม่ใช่ประเทศแรกในโลก ที่ช่วงเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้เกิดกลุ่มมหาเศรษฐีใหม่และระบบทุนนิยมแบบพวกพ้อง สหรัฐอเมริกาก็เคยเกิดสภาพแบบเดียวกันนี้ในช่วงหลังสงครามกลางเมืองปี 1865 จนถึงก่อนถึงศตวรรษที่ 20 ช่วงดังกล่าวถูกเรียกว่า “ยุคที่ฉาบด้วยทอง” (Gilded Age)

ในยุคที่ฉาบด้วยทอง เศรษฐกิจอเมริกาเติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดศูนย์กลางอุตสาหกรรม ที่คนชนบทนับล้านคน อพยพเข้ามาทำงานในโรงงาน อเมริกาเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจแบบทวีป กลายเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมของโลก การเติบโตที่รวดเร็วนี้ ทำให้เกิดมหาเศรษฐีน้ำมันเช่น จอห์น ร็อคกีเฟลเลอร์ นายธนาคาร เช่น เจ. พี. มอร์แกน การใช้ชีวิตที่หรูหราของคนพวกนี้ ทำให้ถูกเรียกว่าพวก “โจรผู้ดี” (robber baron) เพราะสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และทำธุรกิจแบบไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ

ความมั่งคั่งที่พวกโจรผู้ดีสั่งสมขึ้นมาในสมัยดังกล่าว ทำให้ Mark Twain เขียนเป็นนิยายชื่อว่า “ยุคที่ฉาบด้วยทอง” (Gilded Age) อธิบายสภาพของสังคมในสมัยนั้น ที่ฉาบด้วยทอง แต่ข้างในกลับผุกร่อน โดยการผุกร่อนที่มองเห็นได้ชัดเจนคือเรื่องการเมือง คอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย นักการเมืองอาศัยกลไกการเมืองเพื่อติดสินบนและการได้คะแนนเสียง

ที่มาภาพ : theindepedent.co.uk

ต่อจากยุคที่ฉาบด้วยทอง อเมริกาก็พัฒนาเข้าสู่ “ยุคความก้าวหน้า” (Progressive Era) การรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันทำให้การเมืองสะอาดขึ้น การผูกขาดทางธุรกิจถูกทำลายลงไป คนชั้นกลางมีอิทธิพลเหนือรัฐบาล ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจถูกกระจายสู่กลุ่มคนต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น หนังสือ The Billionaire Raj ตั้งคำถามว่า แล้วยุคที่ฉาบด้วยทองของอินเดียจะพัฒนาไปสู่ยุคก้าวหน้าแบบเดียวกับสหรัฐฯ ได้หรือไม่ ที่ความเหลื่อมล้ำและทุนนิยมแบบพรรคพวกถูกทิ้งไปในที่สุด

รากุราม ราจัน กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำลายระบบอุปถัมภ์ของอินเดีย ในอเมริกา การสร้างสวัสดิการของรัฐ ตามนโยบาย New Deal สมัยประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ ในทศวรรษ 1930 ทำให้สามารถทำลายระบบอุปถัมภ์ที่เป็นตัวสร้างกลไกการเมืองที่ฉ้อฉล “แต่ในอินเดีย การบริการของรัฐที่ย่ำแย่ ทำให้นักการเมืองเข้ามาแทรกช่องว่างนี้ นักการเมืองได้ทรัพยากรจากธุรกิจ เอามาใช้เพื่อทำให้ได้รับเลือกตั้ง ส่วนคนที่มีสิทธิ์ลงคะแนน ก็มองข้ามการสมคบกันระหว่างนักการเมืองกับธุรกิจ”

The Billionaire Raj กล่าวว่า อินเดียมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาฐานะการเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่มีรายได้ปานกลาง แล้วก้าวไปสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าในกลางศตวรรษ 21 แต่การไปสู่เป้าหมายดังกล่าวก็เผชิญกับปัญหาท้าทายหลายอย่าง เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยมแบบพวกพ้อง และการสร้างเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม อนาคตเศรษฐกิจอินเดียจึงอยู่ที่ว่า ทำให้ “ยุคที่ฉาบด้วยทอง” เป็นแค่ช่วงเปลี่ยนผ่านชั่วคราว ไม่ใช่ยุคที่ถาวร

การปฏิรูปที่สำคัญคือ การเปลี่ยนผ่านจากโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ข้อตกลงจากดุลพินิจ” (deal-based) มาเป็นแบบ “หลักเกณฑ์” (rule-based) การยึดหลักเกณฑ์จะทำให้นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ มีอำนาจน้อยลงในเรื่องทรัพยากรรัฐ แต่สิ่งนี้เป็นปัญหาการเปลี่ยนผ่านที่ยากที่สุดของประเทศกำลังพัฒนา เพราะต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “ความสามารถของกลไกรัฐ” ที่จะวางนโยบายรัฐอย่างถูกต้อง โดยไม่เข้าข้างกลุ่มสังคมหรือกลุ่มการเมืองใดๆ

เอกสารประกอบ
The Billionaire Raj, James Crabtree, Tim Duggan Books, 2018.