ThaiPublica > เกาะกระแส > อดัม สมิท มีทัศนะอย่างไร เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่า Harley-Davidson ต้องผลิตในอเมริกา 100%

อดัม สมิท มีทัศนะอย่างไร เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่า Harley-Davidson ต้องผลิตในอเมริกา 100%

3 กรกฎาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : motorcycle-usa-com

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 หนังสือพิมพ์ New York Times เปิดเผยว่า ฮาร์เลย์-เดวิดสัน (Harley-Davidson) ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ชื่อดัง ที่เป็นธงนำอุตสาหกรรมสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า จะสร้างโรงงานผลิตรถมอเตอร์ไซค์ในประเทศไทย เพื่อผลิตขายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรงงานในไทยจะช่วยให้ฮาร์เลย์ฯ แข่งขันได้ในอาเซียนและจีน และการเปิดโรงงานในไทยจะไม่ทำให้การผลิตของฮาร์เลย์ฯ ในสหรัฐฯ ลดลง ในปี 2017 ฮาร์เลย์ฯ มียอดขายรถมอเตอร์ไซค์ 147,972 คันในสหรัฐฯ 39,773 คันในอียู 20,842 คันในเอเชียแปซิฟิก และ 9,506 คันในญี่ปุ่น

ทางฮาร์เลย์ฯ กล่าวว่า รถมอเตอร์ไซค์ที่ผลิตในไทยจะมี “รูปทรง เสียง และความรู้สึก” แบบของแท้ เหมือนกับที่ผลิตในสหรัฐฯ ในปี 2011 ฮาร์เลย์ฯ เปิดโรงงานประกอบรถมอเตอร์ไซค์ในอินเดีย และต่อมาในบราซิล โรงงานในไทยจะทำให้ฮาร์เลย์ฯ ไม่ต้องเสียภาษี 60% หากนำเข้ามาทั้งคัน และยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เมื่อส่งออกไปประเทศอาเซียน

แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวโจมตีฮาร์เลย์ฯ โดยเขียนในทวิตเตอร์ว่า “ฮาร์เลย์-เดวิดสันควรจะอยู่ในอเมริกา 100% อยู่กับคนที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จ ผมได้ทำอะไรไปมากเพื่อพวกคุณ แล้วก็มาเป็นแบบนี้” แต่นาย Matthew Levatich ซีอีโอของฮาร์เลย์ฯ เคยกล่าวว่า การลงทุนสร้างโรงงานในไทย เพราะในปี 2017 ทรัมป์ให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงกลุ่มการค้า TPP

การฟื้นฟูอุตสาหกรรมขึ้นใหม่

ในปัจจุบัน ประเทศพัฒนาแล้วล้วนประสบปัญหาที่เศรษฐกิจเติบโตน้อยลง จนต้องหาโมเดลใหม่ๆ มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตสูงขึ้น วิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่ติดตามมาทำให้สหรัฐฯ อังกฤษ กลุ่มอียู ญี่ปุ่น และจีน ล้วนเผชิญปัญหาท้าทายว่า ทำอย่างไรจะให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น

แม้ประเทศที่มั่งคั่งจะก้าวพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว แต่การหันมาฟื้นการผลิตอุตสาหกรรม ก็เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง ที่จะทำให้เศรษฐกิจโตเติบโตสูงขึ้น นโยบายของทรัมป์ที่จะทำให้ “อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง” คือ ความพยายามที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมดั้งเดิม โดยชักจูงให้บริษัทอเมริกันย้ายโรงงานในต่างประเทศกลับมายังสหรัฐฯ หรือหาทางไม่ให้อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ย้ายโรงงานไปตั้งในต่างประเทศ

อังกฤษเป็นประเทศอุตสาหกรรมชาติแรกในโลก ตามมาด้วยเยอรมัน และสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงใน 3 ประเทศนี้เกิดขึ้นในศตวรรษ 19 ที่เรียกว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” เศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้าง เปลี่ยนจากจากเกษตรกรรมาเป็นอุตสาหกรรม แต่นับจากทศวรรษ 1980 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเศรษฐกิจภาคบริการมีสัดส่วนและมูลค่ามากกว่าภาคอุตสาหกรรม

การผลิตอุตสาหกรรมทำให้ประเทศมั่งคั่ง เศรษฐกิจมีมูลค่าสูงขึ้น และประชาชนส่วนใหญ่กลายเป็นคนชั้นกลาง แต่สิ่งที่พัฒนาต่อเนื่องถัดมาคือ การลดสัดส่วนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม หรือ deindustrialization การลดสัดส่วนภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับมูลฐานด้านโครงสร้างเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งของประเทศที่ร่ำรวยแล้ว ภาคบริการ เช่น การค้าปลีกและการเงิน มีฐานะนำทางเศรษฐกิจ การจ้างงานย้ายจากโรงงานมาอยู่ที่สำนักงานหรือร้านค้า ในปัจจุบัน ประเทศอุตสาหกรรมชาติแรกอย่างอังกฤษ อุตสาหกรรมสร้างมูลค่าเพียง 11% ของเศรษฐกิจ ส่วนภาคการเงิน 8%

คำถามมีอยู่ว่า “นโยบายอเมริกาต้องมาก่อน” หรือ “อังกฤษต้องมาก่อน” จะสามารถทวนกระแสได้หรือไม่ ต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่การผลิตอุตสาหกรรมลดสัดส่วนลง นโยบายทวนกระแสของประเทศที่ร่ำรวยนี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก ประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน สามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้ถูกกว่า เทคโนโลยีด้าน IT ยังทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ถูกลงอีกด้วย ทำให้ประเทศมั่งคั่งไม่สามารถแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาที่ผลิตสินค้าได้ถูกกว่า

แม้แต่ Dani Rodrik นักเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด ก็กังวลว่า การฟื้นฟูการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้วจะส่งผลต่อประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ประเทศยากจนต้องลดการผลิตด้านอุตสาหกรรมก่อนที่จะถึงเวลาอันควร เรียกว่า premature deindustrialization ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องก้าวจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคบริการ โดยก้าวข้ามการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาลักษณะนี้ เกิดขึ้นก่อนที่ประเทศยากจนเหล่านี้จะมีรายได้ระดับปานกลาง

Dani Rodnik เห็นว่า หากประเทศกำลังพัฒนาขาดฐานการผลิตอุตสาหกรรมระดับหนึ่ง ก็ต้องไปค้นหาโมเดลใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภาคบริการ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการเงิน อาจจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เหมือนกับภาคอุตสาหกรรม แต่เศรษฐกิจพวกนี้ต้องอาศัยแรงงานมีฝีมือ ไม่สามารถดูดซับแรงงานไร้ฝีมือ เหมือนการผลิตอุตสาหกรรม แรงงานจากชนบทต้องไปทำงานใน “เศรษฐกิจนอกระบบ” เศรษฐกิจจะเติบโตได้ ก็ต้องอาศัยเงินทุนไหลเข้า และราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ขาดการผลิตอุตสาหกรรม ไม่ยั่งยืน

การปรับตัวให้สมดุล

แต่ในสหรัฐฯ หรืออังกฤษ การฟื้นฟูการผลิตอุตสาหกรรมกำลังกลายเป็นประเด็นที่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว วิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ที่เริ่มต้นจากธุรกิจภาคการเงิน ทำให้ประเทศร่ำรวยต้องการจะปรับบทบาทภาคเศรษฐกิจต่างๆ ให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยไม่พึ่งพิงภาคบริการหรือภาคการเงินเป็นหลัก แต่ต้องการให้อุตสาหกรรม ขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ รัฐบาลอังกฤษเองก็มีนโยบายเรียกว่า “การเดินทัพของผู้ผลิต” (March of the Makers)

ที่มาภาพ : Penguin Books

Linda Yueh อาจารย์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เขียนไว้ในหนังสือ What Would the Great Economist Do? ว่า หากรัฐบาลประเทศที่ร่ำรวยแล้วอย่างสหรัฐฯ หรืออังกฤษ มีนโยบายที่จะปรับเศรษฐกิจให้สมดุล โดยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ในอดีตอย่าง อดัม สมิท (Adam Smith) จะมีทัศนะและมองเรื่องนี้อย่างไร

อดัม สมิท (ค.ศ. 1723-1790) ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ เจ้าของผลงาน The Wealth of Nations ที่เสนอแนวคิดเรื่อง “มือที่มองไม่เห็น” ซึ่งหมายถึงกลไกตลาด ที่จะเป็นตัวกำหนดราคาสินค้า เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปทานกับอุปสงค์ แนวคิดของอดัม สมิท จึงเป็นที่มาของแนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม และการจำกัดบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจ อดัม สมิท จึงมีทัศนะที่ตั้งข้อสงสัยเรื่องที่ผู้มีอำนาจรัฐจะเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด

อดัม สมิท มีชีวิตอยู่ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่อังกฤษกลายเป็นชาติอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลก แนวคิดเศรษฐศาสตร์ของเขาตั้งอยู่บนเสาหลัก 3 อย่าง คือ ระบบการแบ่งงาน กลไกราคา และเงินตราที่เป็นสื่อการแลกเปลี่ยน กลไกราคาหรือมือที่มองไม่เห็น จะเป็นตัวกำหนดราคาสินค้าบริการ และค่าจ้าง สินค้าต่างๆ มี “ราคาธรรมชาติ” คือต้นทุนที่ผลิตขึ้นมา มีราคาที่กำหนดจากกลไกตลาด และราคาที่ผู้บริโภคยินดีจ่าย ดังนั้น เป็นเรื่องดีที่สุดที่รัฐจะปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ

ดังนั้น ตามทฤษฎีของอดัม สมิท ผลลัพธ์ที่เกิดจากกลไกตลาดคือ การผลิตและบริโภคที่มีประสิทธิภาพ โดยปล่อยให้ผลประโยชน์ของผู้ผลิตและของผู้บริโภค เป็นตัวกำหนดการผลิตและบริโภค อดัม สมิท เขียนถึงถึงแนวคิดนี้ เป็นข้อความที่โด่งดัง มีการนำมาอ้างอิงมากมายว่า “ในอาหารมื้อเย็น เราไม่ได้คาดหมายเรื่องการมีคุณธรรมจากคนขายเนื้อสัตว์ คนต้มเหล้า หรือคนทำขนมปัง แต่จากการที่คนเหล่านี้คิดถึงผลประโยชน์ของเขา”

การมีผู้ผลิตหลายราย ที่ต้องการขายสินค้า จะทำให้เกิดการแข่งขัน การแข่งขันจะทำให้ราคาไปสู่ภาวะดุลยภาพ รายได้จากการขายถูกนำไปจ่ายเป็นค่าแรงให้คนงาน เศรษฐกิจจึงได้ประโยชน์จากการที่ทุกคนในสังคมทำในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ตัวเอง สิ่งที่รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงคือคือจำกัดการเคลื่อนย้ายของแรงงานและทุน รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่ไปขัดขวางการแข่งขัน

อดัม สมิท ยังเชื่อว่า การจำกัดเสรีภาพในการค้าและนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่บางภาคส่วนเศรษฐกิจ เป็นการบังคับให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เดินไปสู่ช่องทางที่ไม่มีประสิทธิภาพ การแทรกแซงจากรัฐที่ฝืนกลไกตลาด จะทำให้เกิดผลิตภาพที่ด้อยกว่าการปล่อยให้ผู้ประกอบการที่ยึดผลประโยชตัวเองว่า จะเริ่มธุรกิจที่ไหน จะผลิตอะไร และจะค้าขายที่ไหน

อดัม สมิธ นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก ที่มาภาพ : youtube

หนังสือ What Would the Great Economists Do? กล่าวสรุปว่า อดัม สมิท จึงไม่เชื่อว่า การที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะปรับภาวะเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุลมากขึ้นนั้น รัฐบาลจะสามารถเลือกภาคเศรษฐกิจที่จะมีผลิตภาพมากที่สุด

เอกสารประกอบ
Even Harley-Davidson Can’t Resist the Tug of Overseas Factories, May 23, 2017, The New York Times.
What Would the Great Economists Do? Linda Yueh, 2018, Picador.