ThaiPublica > คนในข่าว > คน 14 ตุลา “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” คลี่คำตอบ – คลายข้อสงสัย (ตอน2): เมื่อ “ศรัทธา” ในระบอบประชาธิปไตยสั่นคลอน

คน 14 ตุลา “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” คลี่คำตอบ – คลายข้อสงสัย (ตอน2): เมื่อ “ศรัทธา” ในระบอบประชาธิปไตยสั่นคลอน

14 กรกฎาคม 2018


ปาฐกถาวาระ 45 ปี 14 ตุลาคม หัวข้อ “ประชาธิปไตยกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ

ต่อจากตอนที่แล้ว

  • คน 14 ตุลา “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” คลี่คำตอบ – คลายข้อสงสัย (ตอนที่1) : ประชาธิปไตยกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
  • 3. ประชาธิปไตยในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

    มองย้อนกลับไปอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงหลังตุลา 2516 จนเหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ ที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทย นำมาสู่การผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุด จนมีการเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
    แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ฉันทามติร่วมกันของคนในสังคมที่ว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่จะนำพาประเทศไปสู่สังคมที่พึงปรารถนานั้น เริ่มไม่ชัดเจน

    ท่ามกลางปัญหาการเมืองภายในประเทศกว่าสิบปี คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกกังวลใจ และหดหู่กับสภาวะบ้านเมืองที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย และคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยก็อาจรู้สึกอึดอัดที่เหมือนถูกบังคับต้องให้เลือกข้าง ระหว่างข้างหนึ่งที่เชื่อว่า ประชาธิปไตยยังเป็นคำตอบของประเทศและอีกข้างที่อาจเริ่มเสื่อมศรัทธากับประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้นักการเมืองที่ขาดความรับผิดชอบเข้ามากุมอำนาจรัฐ มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ในลักษณะเผด็จการทางรัฐสภาที่อ้างเสียงส่วนใหญ่จากประชาชน

    คำถามคือ แนวคิดประชาธิปไตยผิด? หรือพวกเราประยุกต์ใช้ประชาธิปไตยกันไม่ถูก?

    3.1 ประชาธิปไตยในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

    ถ้ามองกว้างขึ้นในบริบทการเมืองโลก ผู้คนทั่วโลกจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามในทำนองเดียวกันว่า ประชาธิปไตยสิ้นมนต์ขลังแล้วหรือ?

    นิตยสาร Economist ขึ้นปกหน้าว่า What has gone wrong with democracy? หรือ ประชาธิปไตยขณะนี้เกิดความบิดเบี้ยวที่จุดใดกันแน่?

    งานวิจัยของ Roberto Stefan Foa และ Yascha Mounk ชี้ว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนคนในสหรัฐและยุโรปเห็นว่า “ผู้นำที่เข้มแข็งมีความสำคัญ โดยไม่สนใจว่า ผู้นำคนนี้จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่” เพิ่มสูงขึ้น สะท้อน “ความเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตยลดลง”

    นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งในสหรัฐและอิตาลีที่นักการเมืองซึ่งเสนอนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบกลับได้รับชัยชนะ หรือผลการทำประชามติ Brexit ที่คนส่วนใหญ่ต้องการเห็นอังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยคิดว่า อาจไม่ใช่ choice ที่ดีที่สุด ก็สะท้อน “ศรัทธา” ของชาวโลกที่มีต่อประชาธิปไตยลดลง

    ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

    ผมคิดว่า การที่ “ศรัทธา” ในระบอบประชาธิปไตยสั่นคลอน เกิดจากปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ

    ประการแรก ผลของกระบวนการโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่แม้ในภาพรวมจะช่วยให้การค้าโลกดีขึ้น แต่ผลดีไม่ได้กระจายและกระจุกที่เพียงบางกลุ่ม คนจำนวนมากรู้สึกว่าตนไม่ได้รับประโยชน์ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความเห็นของบริษัท YouGov ที่พบว่า 3 ใน 4 ของคนเยอรมัน 2 ใน 3 ของอังกฤษ และมากกว่าครึ่งของคนอเมริกันเห็นว่า “ผลการพัฒนาภายใต้ระบบทุนนิยมเสรี ทำให้คนจนยิ่งจนลง ขณะที่คนรวยยิ่งรวยขึ้นอีก”

    ประการต่อมาคือ วิกฤตการเงินโลก (Global Financial Crisis) เมื่อ 10 ปีก่อน รัฐบาลในหลายประเทศทุ่มงบประมาณเพื่ออุ้มภาคการเงิน ขณะที่ประชาชนกลุ่มอื่นรู้สึกไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และความไม่พอใจสะสมจนเกิดการประท้วงภาคการเงินในสหรัฐ หรือ “Occupy Wall Street” และการประท้วงในลักษณะเช่นนี้กระจายไปกว่า 950 เมือง ใน 82 ประเทศทั่วโลก

    นอกจากนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก เศรษฐกิจโลกใช้เวลานับสิบปีกว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน หนังสือเรื่อง Edge of Chaos ที่พยายามตอบคำถามว่า ทำไมประชาธิปไตยล้มเหลวในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Why democracy is failing to deliver economic growth?) พบว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถือเป็นปัจจัยจำเป็นที่เอื้อให้เกิดประชาธิปไตย แต่ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ถือเป็นภาวะอันตรายที่ไม่เอื้อให้เกิดเสรีภาพ และช่วง 10 ปีหลังวิกฤติการเงิน เศรษฐกิจชะลอตัวก็มีผลให้เสรีภาพในการแสดงความคิดลดลง

    ประการที่สามคือ การแบ่งขั้วทางความคิดในสังคมชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น World Inequality Report ปีล่าสุดชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ระดับการเร่งตัวของปัญหาในแต่ละประเทศต่างกัน การแบ่งขั้วในสังคม (Polarization) จึงชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าระหว่างขั้วการเมืองที่ต่างกัน ขวา-ซ้าย กลุ่มอนุรักษ์นิยม – กลุ่มสมัยใหม่ก้าวหน้า รวมทั้งการกลับมาให้ความสำคัญกับความเป็นรัฐชาติ ทั้งที่พัฒนาการของโลกเดินมาถึงจุดที่ทุกคนยอมรับว่า “ไร้พรมแดน” แล้ว

    3.2 ประชาธิปไตย: คุณค่า เป้าหมาย และ ข้อจำกัด

    คงยากที่จะปฏิเสธว่า ประชาธิปไตยนั้นมีจุดอ่อน แต่โลกก็ใช่ว่าจะมีอะไรที่สมบูรณ์แบบ และข้อวิจารณ์เกี่ยวกับประชาธิปไตยจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องใหม่

    นับตั้งแต่ยุคกรีกที่แนวคิดประชาธิปไตยถือกำเนิด นักปรัชญา เช่น Plato ก็เคยเตือนเราว่า “ประชาธิปไตยอาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพ และสุดท้ายอาจเป็นเพียงกฎของคนหมู่มาก” ซึ่งความคิดนี้มาจากประสบการณ์ที่ขมขื่น เมื่อเห็น Socrates อาจารย์ของเขาถูกประหารชีวิต เนื่องจากเสียงคนส่วนใหญ่เห็นว่า Socrates สอนเยาวชนในสิ่งที่ขัดกับหลักศีลธรรมในยุคนั้น อุทาหรณ์นี้คล้ายๆ กับที่ผู้ใหญ่หลายท่านเคยปรารภให้ฟังบ่อยๆ ว่า “ขอให้จำไว้ว่า ความถูกต้องไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ ที่อาจไม่ได้สะท้อนความถูกต้องก็ได้”

    Winston Churchill อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ไม่มีใครกล้าที่จะพูดว่าประชาธิปไตยนั้นสมบูรณ์ไร้ที่ติ หรือไม่มีข้อบกพร่อง แต่ประชาธิปไตยก็เป็นรูปแบบการปกครองที่นับว่าแย่น้อยที่สุดในบรรดารูปแบบการปกครองที่เคยลองใช้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน”

    นัยคือ เราต้องมองประชาธิปไตยอย่างรู้ข้อจำกัด

    ผมคิดว่า คุณค่าและความสง่างามของประชาธิปไตย เกิดจากการผ่านพัฒนาการทางความคิด ผ่านร้อนหนาว และผ่านการทดสอบข้ามห้วงเวลาของประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งเป็นระบบที่ถูกออกแบบให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หรือประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองและจำกัดอำนาจของรัฐ เพราะประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอยู่บ่อยๆ ว่า การปกครองโดยคนคนเดียวอาจฉ้อฉล และอาจมีการใช้อำนาจที่มิชอบ

    ดังที่ Lord Action กล่าวประโยคอมตะในเรื่องนี้ไว้ว่า “Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely”

    ในทัศนะส่วนตัว ผมยังเชื่อว่า ถ้าออกแบบให้ดี “ประชาธิปไตย” ยังเป็นระบอบการเมืองที่มีพลังหรือ powerful เนื่องจากเปิดกว้างให้สามารถดึงเอาความหลากหลายทางความคิดของคนในสังคมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้ง มีกลไกที่จะช่วยป้องกันสิ่งร้ายที่อาจเกิดขึ้น

    ดังนั้น การที่ “ศรัทธา” ในประชาธิปไตยสั่นคลอน อาจจะไม่ใช่เพราะเนื้อแท้ของประชาธิปไตย เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความเข้าใจในประชาธิปไตยของเราอาจไม่สมบูรณ์ และประยุกต์ใช้แบบขาดๆ วิ่นๆ

    เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย คำที่มักมาคู่กันคือ รัฐธรรมนูญหรือการเลือกตั้ง ที่อาจทำให้หลายคนรวมทั้งตัวผมเองเคยเข้าใจผิดว่า ประชาธิปไตยคือการมีการเลือกตั้งหรือรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นเช่นนั้น รัสเซียซึ่งมีทั้งสองอย่างก็คงเป็นประเทศประชาธิปไตย กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งจะสำคัญแต่เป็นแค่ ‘วิธีการ’ หรือ “means” ที่จะช่วยนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ ‘เป้าหมาย’ หรือ “ends” ในตัวเอง

    อดนึกถึงตัวเองเมื่อสมัยปี 2516 ไม่ได้ ตอนนั้นในวัย 20-21 ปี ไม่ได้มีความรู้ กำลังหรือแม้แต่อุดมการณ์อะไร ในด้านหนึ่งก็มีความตั้งใจบริสุทธิ์ อยากเห็นบ้านเมืองก้าวหน้า แต่อีกด้านก็ naïve หรือไร้เดียงสา ตอนนั้นได้แต่อ้างว่า ต้องมีรัฐธรรมนูญ ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่า “ถ้าได้รับรัฐธรรมนูญ ประเทศจะเป็นประชาธิปไตย แล้วปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไข” ซึ่งโลกความจริง ไม่ได้เป็นแบบนั้น

    45 ปีให้หลังมองย้อนกลับไป รู้สึกว่าเราไร้เดียงสามาก เพราะแม้จะมีรัฐธรรมนูญแล้ว มีผู้แทน มีการเลือกตั้ง แต่ปัญหาของบ้านเมืองหลายเรื่องไม่ได้น้อยลง แต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป แต่จะว่าไปความไร้เดียงสาใช่จะเลวร้าย เพราะตอนนั้นหากคิดมากไป คงไม่กล้าทำอะไร

    เพียงแต่ในชีวิตจริงปัญหาซับซ้อนมากกว่าที่เราคิด เช่น เผด็จการมาได้หลายรูปแบบ ไม่เฉพาะทหารอย่างเดียว อาจมาในรูปแบบที่แยบยลไม่น้อยกว่ากัน อาทิ อำนาจในเชิงเศรษฐกิจ หรือความได้เปรียบทางสังคม การมีส่วนร่วมในเรื่องประชาธิปไตยนั้น จะดูเชิงปริมาณอย่างเดียวไม่ได้หาก ต้องเชิงคุณภาพด้วย

    ตัวที่สะท้อนความซับซ้อนได้ดีอย่างหนึ่งคือ ตอนนี้เฉพาะคนเดือนตุลาคม ก็มีความคิดแตกต่างกันมาก หลายคนยืนอยู่คนละขั้ว สะท้อนว่าปัจจุบันปัญหาซับซ้อนและไม่ง่ายเหมือนปี 2516

    ถ้าเป้าหมายของประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งหรือการมีรัฐธรรมนูญแล้ว

    เป้าหมายของประชาธิปไตยคืออะไร?

    สำหรับผู้ที่รักประชาธิปไตย คำถามนี้มีความสำคัญ เพราะการรู้หรือตั้งเป้าหมายให้ถูก เหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก
    Abraham Lincoln อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่ “เลิกทาส” จนเป็นต้นแบบการเลิกทาสของโลก และยังทำให้สิทธิเสรีภาพในสหรัฐเบ่งบาน ได้ “ตรึง” ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยผ่านประโยคอมตะว่า “Democracy is the government of the people, by the people, for the people” หรือประชาธิปไตย คือ ระบอบการปกครอง “ของ” ประชาชน “โดย” ประชาชน และ “เพื่อ” ประชาชน

    ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยให้ข้อคิดทำนองเดียวกันว่า “ประชาธิปไตย คือ ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ต้องให้ประชาชนได้ประโยชน์เต็ม อย่างนั้นถึงจะเรียกประชาธิปไตย”

    เป้าหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นไปเพื่อ “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” หรือเป็นไปเพื่อ “การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร์” พูดง่ายๆ คือ การจะพิจารณาว่า เป็นประชาธิปไตยหรือไม่? ก็ต้องดูว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่หรือไม่

    โดยสรุป ผมคิดว่า ประชาธิปไตยไม่ perfect แต่ยัง powerful ในฐานะระบอบการเมืองที่จะนำสังคมไปสู่สังคมที่พึงปรารถนา แต่มีความสำคัญที่เราต้องมองประชาธิปไตยอย่างเข้าใจและรู้ข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น ข้อจำกัดที่ Plato เคยเตือนไว้ ถึงการใช้อำนาจโดยเสียงส่วนใหญ่ที่ทำให้ Socrates ถูกฆ่า และเราต้องมองประชาธิปไตยอย่างมีพลวัต รวมทั้งต้องออกแบบและปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ให้เท่าทันกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง

    3.3 การขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง

    คำถามที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ เราจะขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงได้อย่างไร?

    ถ้าการปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งให้งอกงาม นอกจากต้องอาศัยเมล็ดพันธุ์ที่ดี แสงแดดและน้ำ ดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวย ประกอบกับความเอาใจใส่ของผู้ปลูกร่วมด้วยแล้ว ผมคิดว่า การสร้างประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานมั่นคงในสังคมไทย ก็ต้องอาศัยทั้งสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมที่เอื้ออำนวย โครงสร้างและกระบวนการที่พร้อม ประกอบกับวัฒนธรรมทางการเมืองของคนในสังคมที่เปิดกว้าง

    ปัจจัยแรกคือ สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้ออำนวย

    ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวไว้อย่างชวนคิดว่า “ประชาธิปไตยจะเกิดและดำรงอยู่ได้ในสังคมใดก็ต้องอาศัยฐานทางเศรษฐกิจและสังคมรองรับ การที่ประชาธิปไตยจะเป็นอุดมคติทางการเมืองต่อไปได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ว่าประชาธิปไตยจะสามารถยุติและบรรเทาความเหลื่อมล้ำที่มีได้หรือไม่”

    เราจะสร้างประชาธิปไตยทางการเมืองได้อย่างไร ถ้าในภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจหรือ economic landscape ของประเทศ ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเป็นอยู่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราจะสร้างประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานได้อย่างไร ถ้าระบบเศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำสุดโต่ง ผมชอบคำบรรยายถึงความสุดโต่งที่ ดร.เสกสรร ประเสริฐกุล พูดไว้อย่างเห็นภาพว่า “ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องโกงก็สามารถที่จะรวยได้อย่างเหลือล้น ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจนได้อย่างเหลือเชื่อโดยไม่ได้เกียจคร้าน”

    ผมคิดว่าเสถียรภาพทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าประเทศยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับสูง การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งมิติทางเศรษฐกิจ และมิติด้านโอกาสที่เท่าเทียมในด้านสังคม ถือเป็นเรื่องสำคัญในลำดับต้นๆ ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไขให้ดีขึ้น ถ้าอยากเห็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคม

    อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบกับสมัย 14 ตุลา ผมคิดว่าปัจจุบันฐานของคนชั้นกลางที่เข้าใจและสนใจความเป็นไปของบ้านเมืองกว้างขึ้นมาก พัฒนาการทางเศรษฐกิจในสี่ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เกิดคนชั้นกลางในชนบทจำนวนมาก ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ก็จะมีกำลังใจว่า ประชาธิปไตยมีโอกาสจะลงหลักปักฐานมากกว่าเมื่อก่อน

    และถ้าเหตุการณ์ 14 ตุลา เตือนให้ผู้มีอำนาจทราบถึง การเกิดขึ้นและความต้องการของชนชั้นกลาง การเรียกร้องของพ่อแม่พี่น้องจากชนบทช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า เราต้องมีพื้นที่ให้พ่อแม่พี่น้องเหล่านี้มากขึ้น อันที่จริงฐานของคนชั้นกลางในชนบทที่กว้างขึ้นถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะหมายถึงฐานอันมั่นคงของประชาธิปไตยในอนาคต

    ปัจจัยที่สอง คือ โครงสร้างและกระบวนการที่พร้อม ผมคิดว่า มีหลายเรื่องที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายประชาธิปไตยได้

    เรื่องแรกคือ การถ่วงดุลการใช้อำนาจ (checks and balances) มีกลไกตรวจสอบที่เหมาะสม ระหว่างรัฐบาล ตุลาการ นิติบัญญัติ และหน่วยงานอิสระ ตัวอย่างเช่น การถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐบาลกับธนาคารกลาง แม้ธนาคารกลางจะเป็นกลไกหนึ่งของภาครัฐ แต่หลักสากลจะให้ความสำคัญกับกลไกถ่วงดุล เพื่อให้ธนาคารกลางมีอิสระในการดำเนินงาน (operational independence) ด้วยเหตุผลสำคัญอย่างน้อย 3 ข้อคือ

      (1) จำเป็นต้องแยกคนพิมพ์แบงก์ออกจากผู้ใช้เงิน ซึ่งผู้ใช้รายใหญ่ที่สุดคือรัฐบาล

      (2) ภารกิจของรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ขณะที่ภารกิจของธนาคารกลางคือ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว

      (3) ธนาคารกลางจึงมักต้องทำเรื่องที่ไม่ popular

    อีกเรื่องซึ่งถือเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยที่สำคัญมากคือ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางให้ท้องถิ่นมากขึ้น (decentralization) ซึ่งจำเป็นต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งในมิติภารกิจและงบประมาณที่ให้ท้องถิ่นสามารถ “ยืน” บนขาตัวเอง การกระจายอำนาจนั้นเปรียบเสมือน ‘infrastructure ของระบอบประชาธิปไตย’ ถ้าท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินภารกิจในหลายเรื่องได้เอง ก็จะคล้ายกับร่างกายส่วนล่างที่เลือดไปเลี้ยงไม่พอ และอาจกลายเป็นอัมพาตได้ในที่สุด

    นายพลแม็คอาร์เธอร์ พูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจไว้เมื่อครั้งเข้าไปช่วยพัฒนาประชาธิปไตยในญี่ปุ่นว่า “การกระจายอำนาจเปรียบเสมือนถนนที่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย” (decentralization is the road to democracy) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้ฐานล่างของสังคมแข็งแรง

    ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจของไทยที่ยังไม่คืบหน้านัก เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่การพัฒนากระจุกอยู่รอบกรุงเทพและปริมณฑล และเมืองใหญ่ไม่กี่เมือง เชื่อหรือไม่ครับว่า ทุกวันนี้ กรุงเทพและปริมณฑลใช้ไฟฟ้ามากกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าของภาคเหนือ อีสานและใต้รวมกัน และถ้าท่านได้มีโอกาสดูภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงกลางคืน จะเข้าใจและเห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพและภูมิภาคชัดเจน

    นอกจากนี้ การทำให้หลักนิติธรรม (rule of law) และความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ถือเป็นอีก agenda สำคัญในเรื่องนี้ กล่าวคือ ข้อกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความผาสุกของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรด้านๆ (rule by law) ที่ล้าสมัยขาดการปรับปรุง และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ต้องทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือคนยากจน คนมีสีหรือชาวบ้าน และต้องไม่ใช่ระบบยุติธรรม ในลักษณะที่ท่านจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรียกว่า “ใยแมงมุมจับได้แต่แมลงหวี่แมลงวัน แต่ด้วงขี้ควายไม่เคยได้เลย มันทะลุทลายใยแมงมุมของเราไปหมด”

    ปี 2516 พวกเราหลายท่านคงจำเหตุการณ์ที่คณะนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ใช้อาวุธสงครามและยานพาหนะของทางราชการเข้าไปล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร จนนำไปสู่การท้วงติงของนิสิตนักศึกษาและประชาชน เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจถึงความสำคัญของการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น

    ในระบอบประชาธิปไตย นอกจากเสรีภาพทางการเมืองแล้ว เสรีภาพในการประกอบธุรกิจอย่างเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ต้องมีการติดตามดูผลการบังคับใช้ กฎหมายแข่งขันทางการค้า (unfair competition law) ฉบับใหม่ ว่าจะช่วยทำให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมระหว่าง ผู้ค้ารายเล็ก-รายใหญ่ ระหว่างภาคเอกชน-รัฐวิสาหกิจ ไม่ให้มีการผูกขาดตัดตอนหรือไม่ ซึ่งถ้าสำเร็จจะทำให้ “โอกาส” ทางเศรษฐกิจมีความเท่าเทียมมากขึ้น

    ปัจจัยที่สามคือ วัฒนธรรมทางการเมืองที่เสรีและเปิดกว้าง

    ซึ่งหมายถึง การที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีทัศนคติที่เสรีเปิดกว้าง มีความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง เคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของตน การมีภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนที่เข้มแข็ง และ ประชาชนที่มีภาวะผู้นำ ไม่นิ่งดูดายในการปฏิบัติหน้าที่พลเมืองที่ดี

    ความสามารถยอมรับความแตกต่างทางความคิด (political tolerance) เป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่เปรียบเหมือนจิตวิญญานที่เป็นฐานสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย เพราะถ้าสังคมใดทนรับฟังความคิดเห็น การตรวจสอบจากคนนอก คนเห็นต่างไม่ได้ สังคมนั้นก็จะไม่สามารถเห็นความเป็นไปได้อื่นหรือทางเลือกอื่นที่มีความหลากหลาย

    ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันเตือนและระมัดระวังมากๆ คือ เผด็จการโดยเสียงส่วนใหญ่ (majoritarianism) ที่ละเลยและไม่ให้ความสำคัญกับความเห็นต่างของคนส่วนน้อย

    หลายปีก่อน Tony Blair อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ มากล่าวปาฐกถาที่เมืองไทย มีสาระชวนคิดแปลได้ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรลงคะแนน แต่หมายความรวมถึงวิธีคิดที่เปิดกว้าง และประชาธิปไตยที่มักมีปัญหาส่วนหนึ่งเพราะมีลักษณะผู้ชนะกินรวบ (winner takes all) หรือคนส่วนใหญ่เสียงดัง ในขณะที่คนส่วนน้อยในสังคมรู้สึกว่าพวกเขาถูกกันออกไป”

    วัฒนธรรมที่จะเอื้อให้เกิดประชาธิปไตยอีกเรื่อง คือ ‘ความรับผิดชอบ’ (accountability) ซึ่งมาพร้อมกับ ‘เสรีภาพ’ กล่าวคือ เสรีภาพในการพูดแสดงความเห็นต้องมาพร้อมกับการรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูด และที่สำคัญคือ ความรับผิดชอบของฝ่ายการเมืองที่ต้องมีต่อประชาชนไม่เฉพาะในวันนี้ แต่รวมถึงประชาชนใน generation หน้าด้วย บทเรียนจากนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบของกลุ่มประเทศ Latin America และกรีซ ก็ส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะที่คนใน generation หน้าต้องแบกรับ และกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

    ท้ายที่สุด ผมคิดว่า ประชาธิปไตยจะเข้มแข็ง ต้องอาศัยภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนมาช่วยตรวจสอบถ่วงดุล และภาวะผู้นำของประชาชน ไม่เฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งสูง แต่หมายถึงประชาชนในทุกระดับที่ต้องตระหนักรู้ความสำคัญของการทำหน้าที่ต่อแผ่นดินเกิดในฐานะพลเมืองที่จะไม่นิ่งดูดาย ช่วยบ้านเมืองในทุกโอกาสตามศักยภาพและโอกาสที่ตนมี

    ผมนึกถึงที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดไว้ว่า

    “เรื่องของบ้านเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญแก่ชีวิต อิสรภาพของคนและชาติมาก พวกเราแต่ละคนไม่ควรจะมัวถือลัทธิไทยมุงอยู่ร่ำไป การมุงดูเขาทำอะไรกันนั้น มักจะสนุกดีและไม่เสี่ยงอันตรายด้วย เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำไป ไทยมุงก็แผ่เมตตาให้โดยบ่นว่าสงสาร เมื่อสงสารแล้วก็สบายใจแก่ตนเอง ถ้าใครเขาโกงกินกันหรือใช้อำนาจเป็นอธรรม เราก็ย้ายสังกัดจากไทยมุงเป็นไทยบ่น หรือผสมกันเป็นไทยมุงบ่น …

    … ถ้ารักจะให้ดุลแห่งชีวิตของประชาชาติไทยเคลื่อนสูงขึ้นไปโดยไม่ทิ้งเสถียรภาพ ไม่มีทางอื่น ต้องร่วมกันมากๆ เลิกลัทธิไทยมุง ไทยบ่น ไทยมุงบ่นเสีย ชวนย้ายสังกัดเป็นไทยสน ไทยร่วม ไทยเรียกร้อง แล้วไทยจะเจริญ”

    สำหรับผู้นำในระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่า คุณสมบัติที่เป็นหัวใจสำคัญคือ ความสามารถในการหาจุดร่วมในความต่าง และประสานจุดแข็งของแต่ละคนเข้าหากัน ซึ่งการที่จะแสวงหาจุดร่วม-ประสานจุดแข็งของแต่ละคนได้ ผู้นำจำเป็นต้อง “ฟัง” โดยเฉพาะฟังกลุ่มผู้ที่เห็นต่าง

    Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ โดยยกตัวอย่างความต่างระหว่าง Abraham Lincoln และ Jefferson Davis ว่า

    Davis ชอบที่จะชนะการถกเถียง ขณะที่ Lincoln เลือกที่จะชนะสงคราม
    และเขาตั้งคำถามผู้ฟังว่า ท่านเลือกที่จะชนะการโต้เถียงหรือเลือกที่จะเปลี่ยนโลก?

    4. การขับเคลื่อนประชาธิปไตยทางการเมืองพร้อมเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและเป็นธรรม

    มาถึงส่วนสุดท้ายที่ผมจะร่วมแสดงความเห็นในวันนี้ ซึ่งผมอยากสรุปอีกครั้งว่า เศรษฐกิจและการเมือง ทุนกับรัฐ เป็นสองเรื่องที่สัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน

    การสร้างการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและการมีเศรษฐกิจที่เปิดกว้างเป็นธรรมเป็นสองเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป ยากที่จะแก้เรื่องหนึ่งเรื่องใดเพียงลำพัง เช่น ความพยายามจะแก้ปัญหาประชาธิปไตย ถ้ากลุ่มทุนที่ครองอำนาจเดิมขัดหรือฐานเศรษฐกิจยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากก็ยากจะสำเร็จ ในขณะเดียวกัน สถาบันทางการเมือง ภาครัฐ ถ้าไม่ปรับบทบาท กรอบกติกา กฎหมายให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ก็ยากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะให้ก้าวไปข้างหน้าได้ราบรื่น

    โจทย์นี้จึงเป็นโจทย์ที่ยากที่ต้องการการรวมพลังของสังคมในทุกภาคส่วน ไม่ใช่การแบ่งแยก เพื่อนำประเทศไทยสู่ “ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ” และท้ายที่สุดนี้ผมอยากจบปาฐกถาในวันนี้ด้วยปรัชญาข้อคิดของเต๋า 3 ข้อ ซึ่งผมคิดว่า น่าจะสามารถนำมาปรับใช้ได้กับเรื่องที่คุยในวันนี้

    1. สรรพสิ่งในโลกล้วนเปลี่ยนแปลง

    การเดินทางของประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมา อาจเร็วบ้าง ช้าบ้าง มีขัดแย้ง มีวิกฤต ซึ่งก็เป็นความปกติธรรมดา เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีความขัดแย้ง วุ่นวาย สับสน ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนผ่าน ดังเช่นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็ต้องใช้เวลากว่าเหตุการณ์คลี่คลาย หลังจากนั้น ผู้คนก็ยอมรับระเบียบและการจัดสรรอำนาจใหม่ นี่คือธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง

    ผมคิดว่า เราควรมองประชาธิปไตยในลักษณะกระบวนการพัฒนาที่มีความต่อเนื่อง (on going process) ไม่ใช่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ไม่ใช่แค่เพียงการเลือกตั้ง หรือ การเปลี่ยนรัฐบาล หากมองให้ลึกถึงปัจจัยที่จะนำประชาธิปไตยไปสู่เป้าหมายได้ หมายความถึงการสร้างความเป็นธรรม ความรับผิดชอบ การถ่วงดุลและการตรวจสอบ ที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่

    ในมิติทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ในลักษณะที่ต้อง ‘วิ่งเพื่ออยู่กับที่’ และการก้าวออกจากสิ่งที่คุ้นชิน ไม่ใช่ “choice” หรือ “ทางเลือก”

    หากแต่เป็นความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวและพัฒนาอย่างมีพลวัตที่ต่อเนื่อง เพื่อให้เกิด ‘การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง’ ไม่ใช่การพัฒนาอย่างหยาบ แต่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่มี ‘การกระจายผลประโยชน์ไปสู่คนส่วนใหญ่ – แข่งขันได้ – ยั่งยืน’

    2. ในขาวมีดำ ในดำมีขาว

    แม้ความเห็นที่แตกต่างเป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกสังคม แต่ความเห็นที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว ในลักษณะ ฉันถูก เธอผิด และมุ่งเพียงที่จะหาจุดด้อยของอีกฝ่ายว่า ร้ายแรงกว่าจุดด้อยของตน เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เพราะทำให้ไม่สามารถเห็นข้อดีของฝ่ายตรงข้าม และขัดกับปรัชญารากฐานของประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับการยอมรับความแตกต่างทางความคิดแม้จะเป็นของคนส่วนน้อย และมุ่งหาฉันทามติในการก้าวไปร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งอุปสรรคที่สำคัญ คือ “อคติในใจ” ที่อาจทำให้มองไม่เห็นว่า ในขาวอาจมีดำ และในดำอาจมีขาว

    ผู้ที่รู้จักกฎธรรมชาติจะเป็นอิสระ เมื่อเป็นอิสระก็จะไม่มีอคติ
    เมื่อไม่มีอคติก็จะเข้าใจในสิ่งทั้งปวง
    เมื่อเข้าใจในสิ่งทั้งปวงก็จะกว้างขวาง และ
    เมื่อกว้างขวางก็จะเข้าถึงความจริง

    ในมิติด้านเศรษฐกิจเช่นกัน เราต้องมองให้เห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของทุนนิยม กลไกตลาด กระแสโลกาภิวัฒน์ การจัดการของภาครัฐ และที่จะยังประโยชน์ให้บ้านเมืองคือ “การรู้จักที่จะประสานข้อดีของแต่ละระบบ” แทนที่จะต้องสุดขั้วไปด้านใดด้านหนึ่ง

    ดังที่ประธานาธิบดี Xi Jinping พูดไว้อย่างน่าคิดว่าเกี่ยวกับ trade protectionism ว่า “การใช้นโยบายกีดกันการค้าก็เหมือนปิดตัวเองไว้ในห้องมืด อาจจะดูเหมือนปลอดจากลมและฝน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการขังตัวเองจากแสงแดดและอากาศ”

    3. ท่ามกลางความซับซ้อน มีความเรียบง่าย

    ในความขัดแย้งทางการเมืองของเราที่ดูซับซ้อน ด้านหนึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความสำคัญของตัวละครหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่อีกด้านถ้ามองลงไปให้ลึกซึ้งกว่าในระดับบุคคลจะเห็นถึงปัจจัยในระดับรากฐานที่เป็นต้นสายปลายเหตุของเรื่อง

    พระไพศาล วิสาโล ได้ให้ความเห็นไว้อย่างแตกฉานในปาฐกถา 14 ตุลาเมื่อหลายปีก่อนว่า

    “สถานการณ์บ้านเมืองที่เผชิญอยู่ ไม่ใช่ผลพวงของการต่อสู้ของคนไม่กี่คน หรือคนในระดับชั้นนำเท่านั้น หากเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในประเทศที่มีการสั่งสมต่อเนื่องมานาน รวมทั้งผลปัจจัยจากสถานการณ์โลก

    การมุ่งเน้นที่จะจัดการปัญหาในระดับบุคคล ไม่ว่าพูดคุย ประนีประนอม หรือแม้แต่กำจัดตัวบุคคลไปเลย วิธีการดังกล่าวไม่ช่วยแก้ปัญหา ตราบใดที่มองข้ามปัจจัยที่ใหญ่กว่านั้นคือ การเปลี่ยนที่ทั้งภายในและภายนอกที่ทำให้ประเทศไทยอยู่กับที่ไม่ได้ หากต้องปรับกติกาทั้งในแง่ความสัมพันธ์ของการจัดสรรอำนาจ และ การเปิดพื้นที่ให้รองรับคนกลุ่มใหม่ที่กว้างขึ้น เช่นเกิดขึ้นในช่วงหลัง 14 ตุลาคม”

    ในด้านการปกครอง เล่าจื้อศาสดาของเต๋าพูดไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในบริบทสังคมที่มีความหลากหลายซับซ้อน ผู้ปกครองควรคิดถึงหน้าที่ที่จะ ‘ไม่กระทำ’ หรือ ‘ปกครองแบบไม่ปกครอง’ ด้วย เพราะว่า ความยุ่งยากในโลกนี้มิได้เกิดขึ้นเพราะการที่ยังไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ เท่านั้นแต่เกิดขึ้นเพราะการทำสิ่งต่างๆ มากเกินไปด้วย”

    ยิ่งมีกฎเกณฑ์และข้อบังคับมากเท่าใด ประชาชนก็ยิ่งยากจนลงเท่านั้น
    ยิ่งมีอาวุธมากเท่าใด ประเทศก็ยิ่งจะมีความยุ่งยากมากเท่านั้น
    ยิ่งมีผู้ชำนาญงานที่ฉ้อฉลมากเพียงใด ก็จะยิ่งมีโครงการที่ร้ายกาจเกิดขึ้นเพียงนั้น
    ยิ่งออกกฎหมายมากเท่าใด โจรผู้ร้ายและคนคดโกงก็ยิ่งจะมีมากเท่านั้น

    ในบริบทของโลกและสังคมไทยในปัจจุบันที่ซับซ้อนมากขึ้น ผมคิดว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้น หลังจากที่ได้เตรียมการเรื่องนี้มานับสิบปี การกระจายอำนาจจะเอื้อให้การปกครองมีความเป็นประชาธิปไตยและเศรษฐกิจเปิดกว้างและเป็นธรรมขึ้น ในโลกที่ซับซ้อนเช่นนี้ แทบเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลส่วนกลางจะสามารถตอบโจทย์ท้องถิ่นที่แตกต่างหลากหลายได้ตรงจุด

    ท่ามกลางความซับซ้อนของโลกในปัจจุบัน การกลับไปหาความเรียบง่ายอาจจะเป็นคำตอบ

    ผมหวังว่า ปาฐกถาวันนี้ จะช่วย “คลี่คำตอบ-คลายข้อสงสัย” ที่อยู่ในใจหลายท่านได้บ้าง และผมยังคงเชื่อมั่นเต็มหัวใจว่า ประชาธิปไตยบนเป้าหมายที่ถูกต้องจะเป็นเส้นทางที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมสู่ความยั่งยืนได้