ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้โจทย์ใหญ่ของประชาคมโลก ความท้าทายของการพัฒนาให้ยั่งยืน ไม่ใช่เพื่อเท่ แต่เป็น “license to grow”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้โจทย์ใหญ่ของประชาคมโลก ความท้าทายของการพัฒนาให้ยั่งยืน ไม่ใช่เพื่อเท่ แต่เป็น “license to grow”

17 กรกฎาคม 2018


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนาและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ปาฐกถาหัวข้อ “Thailand’s Sustainable Business”

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนาและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาหัวข้อ “Thailand’s Sustainable Business” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยกล่าวว่า “ผมขอขอบคุณท่านเลขาธิการ ก.ล.ต. คุณรพี สุจริตกุล ที่ให้เกียรติผมมากล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Thailand’s Sustainable Business” เพื่อปูประเด็นก่อนการเสวนาภายใต้ประเด็น “Driving business value & sustainability through active investors” ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญในการนำแนวคิดความยั่งยืนมาใช้ดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็น “เส้นทางหลัก” ที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าไป”

ในวันนี้ถือโอกาสร่วมพูดคุยแสดงความเห็นใน 3 ส่วน

    1.พัฒนาการของภาคธุรกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยสังเขป
    2.ความท้าทายของการพัฒนาให้ยั่งยืน โจทย์ใหญ่ของประชาคมโลก
    3.ธุรกิจกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน

1. พัฒนาการของภาคธุรกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

มองย้อนกลับไปวิกฤติต้มยำกุ้ง ผมคิดว่าภาคธุรกิจไทยเดินทางมาได้ไกลพอสมควร โดยเฉพาะในมิติด้านธรรมาภิบาล หลายท่านในที่นี้อาจจะยังจำได้ หลังจากที่วิกฤติเริ่มปะทุ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกต่อเนื่องจนเหลือแค่ 215 จุด ในช่วงกลางปี 1998 วันนี้ก็ครบ 20 ปีพอดี

ช่วงนั้นสถาบันการเงินและบริษัทหลายแห่งต้องปิดตัวลง และเกือบ 100 บริษัทต้องออกจากตลาดหลักทรัพย์ วิกฤติที่เกิดขึ้นจะเปรียบไปก็เป็นแค่ “ฟางเส้นสุดท้าย” เท่านั้น เพราะปัญหาที่กัดกร่อนบริษัทเหล่านี้จนมีสภาพง่อนแง่น เหมือนตึกสูงที่สร้างบนฐานคอนกรีตที่ผุๆ คือ การขาดธรรมาภิบาลที่ดี หลายท่านซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่อาจนึกไม่ถึง สมัยนั้น มีบริษัทที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้บริหารนำเงินบริษัทไปหาประโยชน์ส่วนตัว ตั้งบริษัทส่วนตัวรับช่วงผลประโยชน์ บันทึกค่าใช้จ่ายสูงเกินจริง สร้างหลักฐานเท็จ หรือแม้กระทั่งโยกของเน่าเข้าบริษัท

สถานการณ์ขณะนั้นหนักหนาขนาด CalPERS หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐแคลิฟอร์เนียไม่ใส่ชื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไว้ในลิสต์ที่เขายอมรับมีผลให้นักลงทุนประเภทสถาบันหรือ Institutional Investors ไม่มาลงทุนด้วย แม้ผู้เกี่ยวข้องจะพยายามอธิบายถึง ความตั้งใจ และแผนการปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร นับเป็นบทเรียนราคาแพง

วิกฤติครั้งนั้น สร้างแรงสะเทือนเหมือน “แผ่นดินไหว” และตามด้วย “สึนามิ” ที่ทุกคนพยายามเอาตัวรอดแต่ไม่รู้จะเดินหน้าไปในทิศทางใด ขณะที่ภาครัฐก็มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตไม่เพียงพอ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทาน “สติ” เรื่อง “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นแนวทางให้พวกเรา “ฝ่า” วิกฤติไปด้วยกัน

ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกำกับดูแลและภาคธุรกิจ ซึ่งหลายท่านอยู่ในที่ประชุมวันนี้ด้วย ต่างร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหา ภาคธุรกิจเร่งยกระดับการดำเนินงาน โดยยึดหลักเหตุผลและมีความรอบคอบมากขึ้น ผู้บริหารพยายามปรับปรุงกระบวนการภายในและฐานะการเงิน การลงทุนก็ทำอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งก็คือ “ความพอเพียง” นั่นเอง

ในด้านตลาดทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้ง สมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย สถาบันกรรมการบริษัทไทย สมาคมนักลงทุนไทย ก็ช่วยกันวางโครงสร้างพื้นฐานการกำกับดูแลที่จำเป็น เรื่องสำคัญได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้แก่กรรมการและผู้บริหารบริษัทว่า เงินที่พวกเขาได้สิทธิระดมผ่านตลาดทุนนั้น “ไม่ใช่เงินส่วนตัว” แต่เป็น “เงินของประชาชน” ที่ต้องดูแลและบริหารด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งเป็น “หมุดแรก” ที่ต้องตรึงความคิดไว้ให้ถูก ควบคู่กับยกระดับการกำกับดูแลให้ครอบคลุม การให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อย การเปิดเผยข้อมูล บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่พึงมีของกรรมการบริษัท และการสร้างกลไกการคุ้มครองผู้ลงทุน รวมถึง การสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายอยากทำดี ซึ่งก็คือการสร้าง “Good corporate governance” นั่นเอง โดยหวังว่าตลาดทุนจะเป็นกลไกที่จะช่วยระดมทุนให้ภาคธุรกิจได้สมบูรณ์ขึ้น นอกเหนือจากการพึ่งพาเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก หัวใจสำคัญคือ “ความไว้วางใจของนักลงทุน”

ความเพียรพยายาม บากบั่น ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้วันนี้ภาคธุรกิจไทยและตลาดทุนไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ผมคิดว่าภาคธุรกิจไทยก้าวหน้ามากพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีก่อน ปัจจุบันฐานะการเงินของธุรกิจไทยอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง ซึ่งเกิดจากการปรับตัวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง

  • สถาบันการเงินที่เคยมีหนี้เสีย หรือ NPLs สูงกว่าร้อยละ 40 ปัจจุบันปรับลงเหลือร้อยละ 2-3
  • สัดส่วนหนี้ต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนปรับลดลงจากประมาณ 5 เท่า เหลือเพียง 1.2 เท่า
  • หนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนที่เคยสูงและทำให้เกิดปัญหา currency mismatch ก็ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ภาคส่วนอื่นในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ภาคครัวเรือนที่แม้หนี้ปรับสูงขึ้นแต่ก็เริ่มชะลอลงบ้างแล้ว ฐานะด้านต่างประเทศก็มีความมั่นคง เกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องหลายปี และเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเพียงพอ ต่างจากช่วงวิกฤตที่เรามีเงินสำรองน้อยจนต้องกู้จาก IMF

เศรษฐกิจไทยในวันนี้มีเสถียรภาพ มั่นคง และยังมีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งมีส่วนสำคัญช่วยรองรับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก ตามการปรับ Portfolio ของนักลงทุนทั่วโลก จากการที่ดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงขาขึ้น และคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรปจะหยุดทำมาตรการ QE ในช่วงสิ้นปี จนเงินไหลออกจากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่หรือ emerging markets

สำหรับประเทศไทย แม้ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติอยู่ในสถานะขายสุทธิ แต่ไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคทำให้นักลงทุนและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือยังเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย ต่างกับบางประเทศที่ปัญหาภายในทำให้เงินไหลออก เงินสำรองที่ไม่เพียงพอ จนต้องขอกู้จาก IMF

การก้าวข้ามวิกฤติจนมายืนในจุดที่ปลอดภัยพอสมควรเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เรายืนในจุดที่เรียกว่า “พ้นปากเหว” หรืออยู่ในจุดที่ “ยั่งยืน”แล้ว ซึ่งต้องเตือนกันไว้ไม่ให้ประมาท

โจทย์สำคัญคือ “ทำอย่างไรจึงจะไปยืนในจุดที่ “ยั่งยืน” ได้?”

2. ความท้าทายของการพัฒนาให้ยั่งยืน โจทย์ใหญ่ของประชาคมโลก

ควรเดินหน้าการพัฒนาอย่างไร? ให้เกิดความยั่งยืน นับเป็นโจทย์ร่วมสำคัญของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และไทย กล่าวคือ แม้ที่ผ่านมาการพัฒนาจะช่วยให้หลายประเทศสามารถขยับฐานะจากที่เคยยากจนสู่ประเทศร่ำรวย ประชาคมโลกมีสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งในรายละเอียดของหลายปัญหา ก็ยากที่จะปฏิเสธว่า โลกที่เราอยู่กำลังเผชิญปัญหา และถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ก็ยากที่จะมั่นใจว่า การพัฒนาต่อไปจะเป็นไปอย่างยั่งยืน พูดง่ายๆ คือ เดินหน้าต่อไปโดยไม่สะดุดขาตัวเอง หรือโดนคนอื่นเกี่ยวให้ล้ม

ปัญหาที่ท้าทายและอาจฉุดรั้งพัฒนาการของโลก แบ่งได้ 4 กลุ่ม หรือ 4 Ps

P แรกคือ Planet คือ โลกกำลังเผชิญวิกฤติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชื่อหรือไม่ครับว่า

  • พลาสติกซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความสะดวกของคนเมือง ถูกผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง จากปี 1950 ผลิตเพียง 2 ล้านตัน เป็น 8,300 ล้านตัน ในปี 2015 จำนวนนี้ร้อยละ 79 หรือ 6,300 ล้านตัน กลายเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้หรือต้องใช้เวลาหลายร้อยปีและ
  • แต่ละปีเราทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล 12 ล้านตัน น้ำหนักคิดเป็น 5,000 เท่าของจำนวนวาฬสีน้ำเงินที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้ มีการประเมินว่า ในแต่ละปีมีนกและสัตว์ในทะเลมากกว่า 1 ล้านตัว ตายจากการกินพลาสติกเข้าไป
  • ที่น่าตกใจไม่น้อยคือ ทุกๆ 1 นาทีมีป่าไม้ทั่วโลกถูกทำลาย ขนาดเท่า 40 สนามฟุตบอล และ
  • คาดกันว่า ภายในปี 2100 โลกจะร้อนขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียส และทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร ไม่เพียงจะทำให้เมืองและพื้นที่หลายแห่งหายไปจากแผนที่โลก แต่จะทำให้คน 150 ล้านคน ไม่มีผืนแผ่นดินอยู่ และยังเป็นอันตรายต่อแนวปะการัง ซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลกด้วย

P ที่สอง คือ Prosperity แม้การพัฒนาที่ผ่านมาจะทำให้หลายส่วนของโลกเจริญรุ่งเรือง แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธอีกเช่นกันว่า โลกกำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำแทรกซึมในทุกมิติ จนบางครั้งก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่บนโลกใบเดียวกันหรือเปล่า เชื่อไหมครับว่า

  • Oxfam คาดว่า ความมั่งคั่งในโลกที่จะเพิ่มขึ้นเกือบ 8 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.ในปี 2017 แต่น่าเสียดายที่ 82% ของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นจะตกอยู่ในมือคนเพียง 1% เท่านั้น
  • ระหว่างที่เรากำลังนอนอย่างสุขสบายในบ้าน ทั่วโลกมีคนที่ไม่มีบ้านที่จะซุกหัวนอนถึง 1,600 ล้านคน มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรโลก และ 3 ใน 10 เมืองที่มีคนกลุ่มนี้มากที่สุดในโลกอยู่ในสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และมีรายได้ต่อหัวค่อนข้างดี

P ที่สาม คือ People คือ ชาวโลกนับล้านไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล อาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานและเป็นทุนชีวิตที่จะช่วยให้แต่ละคนดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี เชื่อไหมครับว่า ประชากรโลก 7.58 พันล้านคน ในจำนวนนี้

  • ประมาณ 700 ล้านคน เผชิญกับการขาดสารอาหารเรื้อรัง หมายความว่า พวกเขาไม่เคยได้อิ่มท้อง
  • เด็ก 264 ล้านคน ไม่มีโอกาสไปโรงเรียน
  • เกือบ 900 ล้านคน เข้าไม่ถึงน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาดเพียงพอ
  • ประมาณ 2.4 พันล้านคน อยู่ในที่ที่สุขอนามัยไม่ได้มาตรฐาน

P ที่สี่ คือ Peace ความขัดแย้งและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ของโลก การก่อการร้ายยังกระจายตัวเป็นวงกว้าง และเกือบ 70 ล้านคนที่ไม่มีแผ่นดินหรือประเทศเป็นของตนเอง ในจำนวนนี้ มากกว่า 25 ล้านคนกลายเป็นผู้อพยพ พวกเราคงจำภาพชาวโรฮิงยาที่หนีตายจากพม่าไปบังคลาเทศ หรือข้ามน้ำ ข้ามทะเลไปยังที่ต่างๆ ของโลก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนความห่างไกลของสันติสุขในโลก

จากปัญหาใน 4 กลุ่มข้างต้นที่มีผลต่อความมั่นคงและคุณภาพชีวิต ซึ่งในที่สุดจะสามารถกลับมาเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั่วโลกจึงประกาศเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ประการ ให้สำเร็จภายในปี 2030

ประเทศไทย คะแนน SDGs อยู่ในอันดับที่ 55 จาก 157 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่กลางๆ สะท้อนว่า บางเรื่องทำได้ดี แต่บางเรื่องก็ต้องปรับปรุง โดยเรื่องที่ไทยทำได้ดี อาทิ การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเท่าเทียมทางเพศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มีหลายเรื่องที่เราต้องเร่งปรับปรุง อาทิ

ความเหลื่อมล้ำในระดับต้นๆ ของโลก เชื่อหรือไม่ครับว่า

  • คนไทย 10% ที่มีรายได้สูงสุดและต่ำสุด มีรายได้ห่างกันถึง 22 เท่า
  • คนไทยมากกว่า 75% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ขณะที่โฉนดกว่า 61% อยู่ในมือคนแค่เพียง 10% และ
  • เด็กไทยกว่า 6 แสนคน ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา เพียงเพราะผู้ปกครอง ไม่มีเวลาหรือเงินไม่พอส่งลูกเรียน ทั้งที่เด็กมีศักยภาพไม่ด้อยกว่าใคร ขณะที่เด็กไทยอีกกลุ่มหนึ่งพ่อแม่ “ทุ่มไม่อั้น” แค่ให้ลูกยอมไปโรงเรียน ตัวอย่างนี้สะท้อน“ทุนชีวิต” ที่คนไทยมีไม่เท่ากัน

การคุกคามสัตว์และพันธุ์พืช ไทยที่เคยได้ชื่อว่า มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ในปีที่ผ่านมา ธนาคารโลก ชี้ว่า พันธุ์พืช 152 ชนิด นก 54 ชนิด ปลา 106 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 58 ชนิด ในไทยถูกคุกคาม เรียกว่า เสือดำในป่าสงวนยังไม่ปลอดภัย ไม่ต้องคิดถึงสัตว์ที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์

การตัดไม้ทำลายป่า ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจคือ ทุก 1 ชั่วโมง มีป่าไม้ในไทยถูกทำลายไปเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 26 สนาม และหากยังเป็นอยู่เช่นนี้ อีก 100 ปี ป่าไม้จะหมดไปจากประเทศไทย

ความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย เกือบ 45 ปีที่ผ่านมา ไทยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 และ 2535 ที่มีหลักการคือ “ผู้ก่อมลพิษคือผู้จ่าย” หรือ Polluter pays principle แต่ในความเป็นจริง เราแทบไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ และถ้าเอาผิดได้ ก็ได้เงินชดเชยต่ำกว่าข้อเรียกร้องมาก โดยเฉพาะในเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ที่มักเป็นการต่อสู้ระหว่างคนตัวใหญ่กับคนตัวเล็กที่เสียเปรียบในเรื่องอำนาจต่อรอง

อาการเหล่านี้ สะท้อนว่า “กลไกภาครัฐ” และ “กลไกตลาด” ไม่ได้รับใช้หรือดูแลประชาชนส่วนใหญ่ดีพอ ซึ่งมีนัยถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย ทั้งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ

3. ธุรกิจกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน

ธุรกิจ กับ ความยั่งยืน เป็นสองส่วนที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน หลายท่านคงสงสัยว่า เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? ผมคิดว่าเรื่องนี้มีคำถามสำคัญ 2 ข้อ ที่อยากร่วมแสดงความคิดเห็น คือ

ทำไมภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน? และ ทำไมการขับเคลื่อนความยั่งยืนจึงต้องอาศัยภาคธุรกิจ?

เริ่มจากคำถามที่สองก่อน

ทำไมการขับเคลื่อนความยั่งยืนจึงต้องอาศัยภาคธุรกิจ?

ในภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ถ้าถามว่าเราพอที่จะฝากความหวังไว้กับภาคส่วนใดของสังคมได้บ้าง? ผมคิดว่า ภาคธุรกิจมีศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านทรัพยากร ทักษะประสบการณ์ บุคลากรที่มีความสามารถ และเข้าใจพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

เรามักได้ยินบ่อยๆว่า ผู้ขับเคลื่อนที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยคือ ภาคธุรกิจ

ภาพในระดับโลก ไม่ต่างกัน UNDP ประเมินว่า ภาคธุรกิจเป็นกำลังหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตถึงประมาณ 60% และสร้างการจ้างงาน 90%

ปี 2015 หลังจากสหประชาชาติเผยแพร่วิสัยทัศน์นี้ บริษัท PWC ได้สำรวจประชาชนใน 16 ประเทศครอบคลุม 5 ทวีป พบว่า 90% เห็นว่า การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ ในการขับเคลื่อน SDGs มีความสำคัญ-สำคัญมาก

และในวันนี้ประชาคมโลกรู้สึกขาดที่พึ่ง โดยเฉพาะความต่อเนื่องด้านนโยบายของประเทศมหาอำนาจ หลังจากสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลง “ข้อตกลงปารีส” (Paris Agreement) ที่มุ่งลดภาวะโลกร้อน ทั้งที่เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน เนื่องจากเห็นว่าต้องใช้เงินสนับสนุนสูงมาก และจะทำให้ภาคธุรกิจเสียเปรียบและแข่งกับประเทศอื่นไม่ได้

เดิมเราอาจเคยเชื่อว่า ธุรกิจและความยั่งยืนอาจเคยเป็นสองเรื่องที่แยกจากกัน คล้ายแนวคิดที่เรียนกันตอนเด็กๆ เรื่อง Private benefit เป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจสนใจ ส่วน Social cost เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องดูแลและคอยเก็บภาษีชดเชย แต่ทุกวันนี้กลับมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะภาครัฐอาจมีข้อจำกัดและไม่สามารถดำเนินภารกิจเกี่ยวกับการลด social cost ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงต้องหันมาพึ่งภาคธุรกิจ และหวังให้ CEOs ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ที่สำคัญคือ พวกเขารู้ว่า ข้อเรียกร้องของเขาเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญและจะได้รับการตอบสนองในที่สุด ต่างจากภาครัฐที่เสียงประชาชนมักจะดังเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง

ปัญหาหลายเรื่อง เช่น ปัญหา 4 Ps ที่โลกกำลังเผชิญเป็น “โศกนาฏกรรมร่วมของมนุษยชาติ” หรือ “Tragedy of the Commons” ที่หากเราไม่ช่วยและร่วมมือกันแก้ไขแล้ว ท้ายที่สุดผลเสียที่เกิดขึ้นจะย้อนกลับมากระทบภาคธุรกิจ อาทิ

  • ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ งานวิจัยโดย ClimateWise ซึ่งเป็นการร่วมมือของกลุ่มบริษัทประกัน 29 แห่งทั่วโลก ชี้ว่า ภัยธรรมชาติเกิดถี่ขึ้น และ โดยตั้งแต่ทศวรรษ 1980s มูลค่าความเสียหายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5 เท่า และความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่ามูลค่าการทำประกัน (insurance protection gap) ถึง 4 เท่า หรือประมาณ แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี
  • ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในโลก (violence) เฉพาะปี 2017 มีมูลค่าเกือบ 15 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณ 12% ของ GDP โลก เหมือนประชากรโลกต้องจ่าย “ค่าคุ้มครอง” หัวละ 2 พันดอลลาร์ สรอ.โดยเฉลี่ยต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านการทหาร การดูแลระบบรักษาความปลอดภัยในที่สาธารณะหรือในบริษัท ความกลัว และการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้น
  • คอร์รัปชัน ที่เป็นต้นทุนแฝงสำคัญของภาคธุรกิจ IMF ประเมินว่าในแต่ละปีคอรัปชั่นอาจสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. เราอาจจะไม่รู้สึกอะไรมากกับตัวเลขนี้ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เราจะตกใจ เมื่อรู้ว่า เงินจำนวนนี้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง อาทิ
    26 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จะช่วยยกระดับการศึกษาเด็กทั่วโลกได้
    116 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จะช่วยให้ขจัดความหิวโหยให้ประชากรอีกฟากหนึ่งของโลกได้
    1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. จะช่วยปิดช่องว่างโครงสร้างพื้นฐานของโลกได้

และนี่คือ ค่าคุ้มครองและต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เราถูกบังคับจ่ายมานานแล้ว โดยไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร แต่ต้องไม่ลืมว่า ภาคธุรกิจ เป็นภาคส่วนที่มีความพร้อมที่สุด หากตื่นตัวที่จะทำหน้าที่ “active corporate citizen” ในส่วนที่ธุรกิจของท่านจะทำได้ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ดูแลและไม่ซ้ำเติมปัญหา ในที่สุด ไม่เพียงต้นทุนแฝงที่เคยถูกบังคับจ่ายจะลดลง แต่ยังสามารถได้ผลตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่ใช่ตัวเงินด้วย

กลับมาคำถามที่สำคัญอีกข้อ

ทำไมภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน?

ผมคิดว่ามาจากหลายปัจจัย ปัจจัยแรกคือ ทิศทางการกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น อาทิ กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันที่เป็นธรรม กฎระเบียบด้านธรรมาภิบาล หรือการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งแต่ละนโยบายล้วนลดผลกระทบที่เกิดจากการแข่งขันแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” มาเป็นการแข่งขันแบบ “รับผิดชอบ” ต่อผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้

ขนาดธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BOE) ยังระบุว่า การเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของผู้ลงทุนที่ต้องพิจารณานโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย Mark Carney ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน Green Finance Study Group ของกลุ่มประเทศ G20 พูดถึง Green Finance หรือ บทบาทของภาคการเงินในการสนับสนุนเงินลงทุนที่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและเอื้อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายถึงในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่โครงการลงทุนต่างๆ ต้องนำผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพิจารณาด้วย หรือ “internalise environmental externalities” เพราะปัญหานี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะกลายเป็น “โศกนาฏกรรมที่รออยู่เบื้องหน้า” หรือ “Tragedy of the Horizon”

ปัจจัยที่สองคือ ระบบเฝ้าระวังสิ่งที่มีผลต่อ “ความยั่งยืน” และการตรวจสอบจริยธรรมในทุกสังคมเข้มแข็งขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการมีหน่วยงานอิสระตรวจสอบมากขึ้น และประชาชนมี Social network เป็นเครื่องมือ หมายความว่า โอกาสที่ความบกพร่องทางจริยธรรมจะเล็ดลอดจากกระบวนการตรวจสอบภาคสังคมยากขึ้น เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น และเมื่อพบว่า จะสร้างความเสียหายหนักเพราะสามารถเป็นข่าวที่ทั่วโลกรับรู้ได้ในเสี้ยววินาที

ตัวอย่างค่ายรถยักษ์ใหญ่ ติดตั้งซอฟต์แวร์ลงในรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลที่ช่วยให้แสดงค่าปล่อยมลพิษที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อหลอกให้ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ได้ยาวนานถึง 10 ปี ระหว่างปี 2006-2015 แม้ว่า ทางการจะเพิ่มเพดานมาตรฐานให้สูงขึ้นแล้วก็ตาม เรียกว่า ดีผิดปกติ หรือ Too good to be true! จนนำมาสู่การตรวจสอบขยายผล ทันทีที่ข่าวนี้ออกไปใน Social network ราคาหุ้นนี้ลดลงทันที 22% และถูกเรียกค่าปรับจำนวนมหาศาลในเวลาต่อมา หรือ

เหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต เมื่อไม่นานมานี้ ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนหลายสิบคนเสียชีวิตจากมาตรการรักษาความปลอดภัยหละหลวม ข่าวแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และสร้างความไม่พอใจแก่คนจีนจำนวนมาก ถึงขนาดยกเลิกการจองทัวร์ไว้ล่วงหน้า และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวม

ภายใต้การกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น ระบบเฝ้าระวังที่เข้มข้น และความคาดหวังของประชาคมโลกต่อภาคธุรกิจเช่นนี้ หมายความว่า เมื่อใดเราไปทำอะไรที่กระทบกับ stakeholders ก็จะเสียหายในวงกว้าง หรือแม้สังคมยังไม่รับรู้ถึงผลกระทบ แต่แค่รู้สึกว่า ธุรกิจเราไม่ค่อย Healthy ต่อสังคม ย่อมมีผลกระทบถึงธุรกิจเราได้ เพียงแต่ในระยะเวลาอันสั้นหรือยาว หรืออาจทำให้เราหมดโอกาสแก้ตัวก็ได้

ดังนั้น การไม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความยั่งยืน” จึงเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic risk ที่สำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาจำนวนมากที่ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกันว่า นักลงทุนให้คุณค่ากับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” เพราะการที่บริษัทมีนโยบายเช่นนี้ เสมือนบริษัทเหล่านี้ได้ป้องกันความเสี่ยงสำคัญให้กับธุรกิจแล้วระดับหนึ่ง ราคาหุ้นของบริษัทกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนจึงเพิ่มขึ้นมากกว่าบริษัทในกลุ่มเดียวกันที่มองข้ามความยั่งยืน

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญ คือ “ความยั่งยืน” ไม่ใช่เรื่องที่ทำเพื่อเท่หรือให้ดูดี แต่เป็นเรื่องที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตระยะยาว เช่น การลดของเสียย่อมหมายถึงการลดต้นทุนการผลิตในอีกทางหนึ่งด้วย เป็นต้น ความยั่งยืนจึงเป็น “license to grow” แน่นอนว่า หากธุรกิจใดเติบโตโดยเพิ่มภาระหรือเบียดเบียนสังคม ชุมชนรอบข้าง ย่อมไม่มีใครยินดีหรืออนุญาตให้เราเติบโตหรือขยายผลกระทบ และ license ที่เคยได้รับก็จะ expire โดยปริยาย

และนี่คือพลังของ “stakeholders” ที่พร้อมจะเป็น “แบตเตอรี่” ร่วมสนับสนุนให้ธุรกิจมุ่งเดินหน้าเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ถ้าเขารู้สึกว่า ธุรกิจไม่ Healthy “stakeholders” ก็พร้อมแปรเป็น “โหลด” ถ่วงไม่ให้เติบโต

นอกจากนี้ ภาคการเงิน ที่เหมือนจะห่างไกลกับแนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ต้นเดือนนี้ Sovereign Wealth Fund ที่ใหญ่ที่สุดของโลก 6 แห่ง ซึ่งมีทรัพย์สินรวมกัน 3 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ได้ประกาศแนวทางการบริหารสินทรัพย์ใหม่ โดยจะใส่ตัวแปรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาในการประเมินความเสี่ยงทางการเงิน เหตุผลที่ระบุในการแถลงข่าวคือ “แนวทางเช่นนี้จะส่งผลดีต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาว (long-term value creation) การบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ (risk-return profile) และช่วยยกระดับการบริหารกองทุนให้มีความยั่งยืนในระยะยาว (long-term portfolio resilience)”

ความตื่นตัวเช่นนี้ สะท้อนว่า ภาคธุรกิจเริ่มตระหนักว่า Social cost ที่เกิดขึ้นสูงจนทำให้โลกไม่อยู่ในจุดที่ยั่งยืน และเบียด Private benefit แน่นอนว่า เมื่อสถานการณ์โลกไม่ยั่งยืน ธุรกิจเขาจะยั่งยืนไม่ได้ ที่สำคัญ เขาประเมินแล้วว่า ไม่สามารถพึ่งพิงภาครัฐได้ จึงต้องลุกขึ้นมาส่งสัญญาณ ประกาศตัวเป็นแนวร่วมเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน มองผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

คณะกรรมการพัฒนาธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Business and Sustainable Development Commission ได้ออกรายงานระบุว่า ธุรกิจสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืน 4 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร ความยั่งยืนของชุมชนและเมือง การใช้พลังงานสะอาดและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่สำคัญ เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งอาจเป็น blue ocean ที่จะสร้างรายได้สูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ภายในปี 2030 นอกจากนี้ ในรายงาน Better Business, Better World พบว่า ต้นทุนที่เราประหยัดได้จากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้น้ำและทรัพยากรอื่นๆ อาจสร้างกำไรให้กับภาคธุรกิจโดยรวมสูงถึง 17 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ.

การพัฒนาจะเป็นไปได้อย่างยั่งยืน จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับต้องมี “ค่านิยมและทัศนคติที่ถูกต้อง” ไม่ว่าจะเป็นระดับคณะกรรมการบริษัท CEO ผู้บริหารทุกระดับ พนักงาน ลูกจ้าง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หัวใจอยู่ที่การปรับเปลี่ยนวิถีและรูปแบบความคิดของคนในบริษัทให้ถูกต้อง นัยคือ “ผู้นำองค์กร” (Leader) ทั้งคณะกรรมการบริษัทและ CEO ต้องให้ความสำคัญและกำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินธุรกิจ สามารถอธิบายเหตุผลและยุทธศาสตร์ที่จะใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงสามารถชักจูงให้ผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ธุรกิจ ยอมรับ จึงจะมีพลังในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย

และก่อนจะจบปาฐกถานี้

อดีตที่เคยสร้างบทเรียนอันเจ็บปวดให้กับประเทศและเป็นแรงผลักดันให้เราเร่งพัฒนาตัวเอง จนอยู่ในระดับแถวหน้าของภูมิภาค แต่เมื่อประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทจดทะเบียนที่แท้จริง คาดหวังให้บริษัทท่านเดินหน้าบนเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงเป็นภารกิจที่กว้างขวางขึ้น แต่ผมเชื่อว่า เราเคยผ่านจุดที่ยากที่สุดมาแล้ว และมีประสบการณ์ความสำเร็จมากมายที่ช่วยชี้นำให้เราเดินหน้าบนเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่จะทำให้ทุกท่านสามารถนำองค์กรบรรลุความคาดหวังของประชาชน และนำความเจริญอย่างยั่งยืนมาสู่ธุรกิจของท่านได้