ThaiPublica > เกาะกระแส > ปิดทริป ครม.สัญจร “บิ๊กตู่” ลั่น “ถ้ารักลุงตู่ ลุงตู่สู้ตาย”- มติ ครม. จัดงบ 62,000 ล้าน พยุงราคาข้าวอุ้มชาวนา

ปิดทริป ครม.สัญจร “บิ๊กตู่” ลั่น “ถ้ารักลุงตู่ ลุงตู่สู้ตาย”- มติ ครม. จัดงบ 62,000 ล้าน พยุงราคาข้าวอุ้มชาวนา

25 กรกฎาคม 2018


นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ประชุม ครม. นอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 ณ จังวัดอุบลราชธานี

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 5 ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยในช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม. มีการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (ราชธานีเจริญศรีโสธร : อุบลราชธานี ยโสธร ศรีษะเกษ อำนาจเจริญ) โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคการเกษตรกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เข้าร่วมประชุม

โดย ครม.สัญจรครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2561 ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร ไร่ภูตะวัน ออร์แกนนิคฟาร์ม บ้านหนองเม็ก การเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์แพทย์แผนไทย พนา

จากนั้นเดินทางไปกราบสักการะพระอัฐิธาตุของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทุโท) ที่วัดหนองป่าพง เยี่ยมชมการปลูกป่าในเมืองและพบปะประชาชนที่สวนพฤกษศาสตร์ดงฟ้าห่วน พร้อมเป็นสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และการมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร) ที่สวนสัตว์อุบลราชธานี และเป็นประธานเปิดงานเทศกาลประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ณ ลานเทียน มณฑลพิธีทุ่งศรีเมือง

และภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีเดินทางเยี่ยมชมแอ่งท่องเที่ยวชีทวน จ.อุบลราชธานี แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จากนั้นเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินฉุกเฉินกู้ชีพองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ณ ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินและสั่งการจังหวัดอุบลราชธานีก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

นายกรัฐมนตรีพบปะประชาชน ร่วมเปิดงานเทศกาลประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จ.อุบลราชธานี ประจำปี 2561
นายกรัฐมนตรี เปิดงานเทศกาลประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จ.อุบลราชธานี ประจำปี 2561

เตรียมจัดงาน “รวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน” เลี้ยงขอบคุณ ช่วย “หมู่ป่า” 13 ชีวิต

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการจัดงานเลี้ยงขอบคุณผู้ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ทีมหมูป่า อะคาเดมี แม่สาย ออกจากวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า งานดังกล่าวใช้ชื่อว่า “รวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน United As One” จะมีขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ระหว่างเวลา 18.00-21.00 น. ที่ พระลานพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นการรับพระราชทานเลี้ยง โดยมีอาหารพระราชทานและการแสดงต่างๆ ที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ซึ่งตนคิดว่าทุกคนมีความภาคภูมิใจด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในการจัดงานดังกล่าวจะต้องดูเรื่องพยากรณ์อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาและการเตรียมจัดงานเพื่อรองรับคนจำนวนมากที่จะมาร่วมงาน ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายฝ่ายต่างๆ ไปดำเนินการ และกำลังประสานงานกันระหว่าง นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานฝ่ายความมั่นคง รวมถึงมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมถึงคณะทูตต่างประเทศ มาร่วมงาน

“ผมได้กล่าวกับ ครม. และทุกคนว่า การช่วยเหลือทีมหมูป่าฯ 13 คนนี้ เป็นเรื่องที่หลายประเทศชื่นชมประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมได้ฟังเสียงสะท้อนจากต่างประเทศที่กล่าวมาว่าไม่มีกิจการใดหรือการช่วยเหลือประชาชนครั้งใดในโลกที่มีความสำเร็จเท่ากับกรณีของประเทศเรา ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ตั้งแต่พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การบริหารจัดการของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือกันจากตำรวจ ทหาร ภาครัฐ ภาคเอกชน และต่างประเทศ แต่มีสิ่งหนึ่งที่อยากทำความเข้าใจกัน คือเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ความผิดของใครเลย เราทุกคนไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เยาวชนทั้ง 13 คน บริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความบังเอิญที่เกิดสภาวการณ์ทางธรรมชาติที่นำไปสู่การแก้ปัญหา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า นอกจากความร่วมมือร่วมใจ การบูรณาการ และการซักซ้อมให้เกิดความแน่นอนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือข้อมูลที่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และการตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้องและเวลาที่ถูกต้อง เพราะหากตัดสินใจผิด ทุกอย่างก็ล้มเหลวและไม่ประสบความสำเร็จอย่างดี ส่วนเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่งมีเพียงกรณีของ น.ต. สมาน กุนัน ที่เสียสละชีวิตในภารกิจนี้ เป็นวีรบุรุษของเราไปแล้ว ซึ่งเขาคงมองว่าจากการเสียชีวิตไปทำให้เกิดคุณค่าอะไรกับประเทศไทยบ้าง

ทั้งนี้ตนขอให้สื่อมวลชนมีความระมัดระวังต่อผู้ปกครองและเด็กทั้ง 13 คนด้วย ซึ่งบางครั้งผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้รู้เท่าไม่ถึงการณ์จากการที่มีคนมาพูดคุยด้วยถึงเรื่องต่างๆ ที่อาจส่งผลไปถึงอนาคตได้ ดังนั้นต้องทำให้เด็กเหล่านี้คิดว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไร ให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ ซึ่งในส่วนของรัฐบาลต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาอย่างนี้

“ผมขอฝากสิ่งเหล่านี้ไว้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ผมขอขอบคุณผู้ปกครองกับเด็กๆ ไม่มีใครโทษใครทั้งสิ้น เป็นเรื่องการสร้างเสริมประสบการณ์ของพวกเรา เป็นเรื่องการแก้ปัญหาภัยพิบัติของเราที่ทั้งโลกติดตาม 190 กว่าประเทศรู้เรื่องหมูป่า และนี่คือการทำงานโดยที่เราไม่ต้องประชาสัมพันธ์อะไรเลย เพราะปรากฏด้วยข้อเท็จจริงและภาพตามสื่อต่างๆ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับกรณีที่มีบริษัทผลิตภาพยนตร์สนใจจะมาทำภาพยนตร์เกี่ยวกับการช่วยเหลือทีมหมูป่าฯ พล.อ. ประยุทธ์ ระยุว่า ได้ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลตรงนี้ซึ่งคงจะมีการพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง

ย้ำเป็นนายกฯแค่หวังให้ประเทศชาติสงบสุข

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการพบนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ว่า การพบปะไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือไม่ใช่นักการเมือง ตนยินดีพบทุกคน ไม่ว่าใครก็ตามที่มีปัญหาตนพบไม่ได้ ซึ่งปัญหาอย่างเดียวคือ เรื่องของกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของส่วนบุคคล ถ้าไม่ใช่เรื่องเหล่านี้ก็พบได้ทุกคน และสิ่งที่ตนพูดไป ต้องการให้ทุกคนเข้าใจว่าไม่ได้ต้องการอะไร การมาทำหน้าที่ตรงนี้ไม่ได้ต้องการอะไรเลย ต้องการเห็นประเทศชาติมีความสงบสุข

“ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดมากี่ปีแล้วก็เกิดมาตลอด ถ้าเราไม่แก้ในสมัยนี้ มันก็ตายไปกับเราอีก วันหน้าก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ รัฐบาลใหม่มาก็เป็นอยู่แบบนี้ แล้วเราจะมาวิพากษ์วิจารณ์ให้เสียหายได้อย่างไร หลายอย่างที่ไม่เคยทำก็ทำเสียหลายหลายอย่างที่ทำแล้วไม่ดีก็ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นให้ดีขึ้น หลายอย่างมีการประเมินผลไม่ใช่เพียงแต่จะจ้องดูว่าวันนี้จะได้เงินเท่าไหร่งบประมาณลงตรงไหน ผมไม่เข้าใจกับสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนกังวลคือ การสร้างการรับรู้ หลายคนอาจจะมองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำล้วนแต่เป็นเรื่องของนักธุรกิจ ยืนยันว่า เรื่องนี้มีความจำเป็น เพราะเป็นเรื่องของการขับเคลื่อนประเทศให้ต่างชาติเห็นศักยภาพของเรา ให้เห็นการพัฒนาในด้านต่างๆ สร้างมูลค่า รายได้ และภาษีเข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม เราต้องสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในประเทศด้วยว่า ระยะ 4 ปี ที่ทำงานมา ประชาชนได้อะไรบ้าง ในอดีตไม่มีความสงบก็บอกอยากได้ความสงบ แต่เมื่อสงบแล้วก็บอกว่าไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นกว่าเดิม

“สิ่งที่ซื้อไม่ได้คือความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จะใช้เงินเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ มันต้องมาจากใจของเราทุกคนที่จะช่วยกันด้วยจิตสำนึกอาสาอะไรต่างๆ อย่าเอาผมไปขัดแย้งกับใครทั้งสิ้นไม่ว่าจะพรรคการเมืองใดก็แล้วแต่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกฯฉุนสื่อถามปมบ้านพักตุลาการ – ชี้ไม่เลิกถามแก้ปัญหาไม่ได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีปัญหาบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ว่า เรื่องนี้ยังไม่จบเสียที ตนยืนยันแต่เพียงว่าสิ่งสำคัญที่สุด รัฐบาลจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่สร้างใหม่ เพราะเขาเป็นข้าราชการ เขามีสิทธิในการพักอาศัย ที่ผ่านมาการอนุมัติเจรจาต่างๆ ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามความต้องการประชาชน ก็ต้องแก้ไขให้เขา เรื่องนี้ถ้าไม่หยุดเรื่องเดิมแล้วเรื่องใหม่จะทำอย่างไร ตอนนี้รัฐบาลได้ให้คณะกรรมการไปศึกษาว่าจะไปสร้างที่ไหนให้เขา คนที่อยู่ก่อนหน้าที่จะมีปัญหาต้องให้เขาอยู่ไปก่อน ส่วนคนใหม่ไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้อยู่แล้ว ขอแค่นี้เมื่อสร้างที่ใหม่เสร็จแล้ว ค่อยให้เขาย้ายออก

“มันอะไรนักหนา ผมไม่เข้าใจ แล้วจะทำอย่างไร คุณไม่มีคดีความ ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกันเลยหรืออย่างไร เขาต้องดูแลประชาชนไม่ใช่เหรอ ไม่ใช่ความผิดของเขา ซึ่งก็ไม่อยากจะกล่าวว่าเป็นความผิดของใคร แต่รัฐบาลจะแก้ไขให้ เมื่อหาที่แล้วก็ขึ้นอยู่กับศาลจะทำอย่างไร ถึงจะขยับคนออกมาได้ ถ้าเล่นกันไม่เลิก ยังทำกันแบบนี้ก็ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ผมถามหน่อยใครจะได้ประโยชน์ ไม่มีใครได้สักคน เรื่องอื่นๆ ก็จะพังวุ่นวายไปหมด พอแล้วเรื่องนี้ผมจะไม่ตอบแล้ว ใครจะทำอะไรก็ระวังกฎหมายให้ดีแล้วกัน พูดก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จักจบ ก็รู้ว่าทุกคนหวังดี” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ปิดทริป ครม.สัญจร “บิ๊กตู่” ลั่น “ถ้ารักลุงตู่ ลุงตู่สู้ตาย”

มีรายงานว่าระหว่างการทักทายชาวบ้านที่มาต้อนรับ ณ บ้านชีทวน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกคนต้องร่วมมือกันทำให้บ้านเมืองสงบสุข ร่มเย็น ปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกต้องเลิกได้แล้ว จะต้องไม่แบ่งพวกแบ่งฝ่ายอีกต่อไป คำว่าประชาธิปไตยต้องเป็นประชาธิปไตยสำหรับทุกคน อย่าให้ใครมาบอกว่าเป็นว่าเป็นประชาธิปไตยสำหรับคนรวยเท่านั้น โดยประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงโอกาส ทำตามกฎหมายและกติกา ซึ่งกติกามีไว้เพื่อไม่ให้สังคมวุ่นวาย อลม่าน เมื่อสังคมไม่อลหม่านไม่ขัดแย้ง ไม่ปลุกระดมให้เกลียดชังกันสังคมก็จะมีความสงบเรียบร้อย

นายกรัฐมนตรีพบปะประชาชนบ้านชีทวน ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

พร้อมขอร้องข้าราชการอย่าปล่อยเงินกู้ หากมีการปล่อยกู้จะโดนลงโทษทางวินัย ซึ่งกฎหมายมีข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยอยู่แล้ว เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ที่มีการชะลอและประนอมหนี้มาตลอด ใครเป็นหนี้ก็ต้องชดใช้ จะยกหนี้ให้ได้อย่างไร เป็นหนี้ก็ต้องทยอยใช้ใครไม่เคยเป็นหนี้บ้างตนเองก็เคยเป็นหนี้

โดยระหว่างที่นายกรัฐมนตรีพูด ได้มีประชาชนยกมือขึ้นไหว้ พล.อ. ประยุทธ์ จึงกล่าวว่า “เอามือลง มือเอาไว้ไหว้พระ ไหว้เจ้านาย นายกฯ เป็นคนรับใช้ อย่าคิดว่าเป็นนายกฯ แล้วจะวิเศษวิโส ขณะเดียวกันคนเราถ้าทำความดีทำสิ่งที่ดีงามก็ไม่ต้องไปหลบตาใคร เพราะดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ วันนี้ไม่ได้มาหาเสียง แต่มาใช้เสียงพูด ถ้าไม่รักนายกฯ ไม่เป็นไร แต่ผมจะทำให้ ถามว่ามีใครพูดได้อย่างผมบ้าง เพราะผมเองสามารถพูดต่อเนื่องได้ 5 ชั่วโมง ที่พูดได้ เพราะอ่านเยอะ และรู้ปัญหาทุกกระทรวง”

ทั้งนี้ตนยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อรัฐบาลหรือ คสช. และขออย่าวนกันอยู่เรื่องเดิมๆ ไม่เช่นนั้นความคิดใหม่ๆ ก็ไม่เกิด และย้ำว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่ได้วางไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ จากนั้นตัวแทนชาวบ้านได้ร่วมกันร้องเพลง สู้เพื่อแผ่นดิน พร้อมตะโกนว่า “พวกเรารักลุงตู่ ลุงตู่สู้ๆ” พล.อ. ประยุทธ์ ถึงกับยิ้มก่อนตะโกนตอบกลับทันทีว่า “ถ้ารักลุงตู่ ลุงตู่สู้ตาย”

จัดสรรที่ดิน 3,000 ไร่ – มอบป่าชุมชน 7,600 ไร่ เอาใจอีสานล่าง

ในการลงพื้นที่ตรวจราชการเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 พล.อ. ประยุทธ์ เป็นประธานสักขีพยานในโอกาสการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชน และการมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีษะเกษ และยโสธร) ให้แก่ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 2 พื้นที่ 1 จังหวัด เนื้อที่กว่า 2,979 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 518 ราย รวม 734 แปลง แบ่งเป็น ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น จังหวัดอุบลราชธานี กว่า 1,459 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 391 ราย รวม 585 แปลง และป่าสงวนแห่งชาติป่าบุณฑริก (บ้านโสกก่อ ตำบลห้วยข่า อำเภอบุณฑริก) จังหวัดอุบลราชธานี กว่า 1,520 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 127 ราย รวม 149 แปลง

พร้อมกันนี้ ยังได้กำหนดพื้นที่รับมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนรอบพื้นที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ใน 4 จังหวัด รวม 20 พื้นที่ รวมเนื้อที่กว่า 7,683 ไร่ คือ จังหวัดอุบลราชธานี กว่า 1,752 ไร่ จังหวัดศรีสะเกษ กว่า 1,586 ไร่ จังหวัดอำนาจเจริญ กว่า 1,977 ไร่ และจังหวัดยโสธร กว่า 2.368 ไร่

ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า ได้แก่ 1) นายเพรียวพันธ์ จันสุพรม ผู้ใหญ่บ้าน ป่าชุมชนบ้านพลาญชัย หมู่ 10 ตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี 2) นายรำพรรณ สัมฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน ป่าชุมชนบ้านแดง หมู่ 3 ตำบลคูซอด อำเภอมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ 3) นายพิทักษ์ อารีภักดิ์ ผู้ใหญ่บ้าน ป่าชุมชนบ้านนาอุดม หมู่ 3 ตำบลหนองไฮ อำเภอเสนานิคม จังหวัดอำนาจเจริญ และ 4) นายอุทัย นามสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้าน ป่าชุมชนบ้านโคกนาโก หมู่ 4 ตำบลโคกนาโก อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 1,000 คน

นายกฯแสดงความเสียใจ เหตุ “เขื่อนแตก” ที่ลาว – ยันไทยพร้อมช่วยเหลือเต็มที่

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เขื่อนเซน้ำน้อยแตกที่ สปป.ลาว ภายหลังเดินทางกลับจากการลงพื้นที่ตรวจราชการและร่วมประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่ท่าอากาศยานทหาร บน. 6 ดอนเมือง ว่า ตนได้รับรายงานแล้ว พร้อมกับได้สั่งการแก้ปัญหา และให้ความช่วยเหลือแล้ว

ทั้งนี้นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ เอกอัครราชทูตไทยประจำลาว เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์คับขันที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่างลาว รัฐบาลไทยและคนไทยทั้งหมดมีความเป็นห่วงและเสียใจอย่างยิ่งที่เกิดเหตุเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ในการนี้พลเอกประยุทธ์ ได้มีสารแสดงความเสียใจมายังนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ของลาว ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ส่งสารแสดงความเสียใจไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศของลาว เพื่อแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งในฐานะประเทศใกล้ชิด โดยไทยพร้อมและมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือลาวอย่างเต็มที่ให้ก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้โดยเร็ว ซึ่งได้มีการแจ้งผ่านไปยังทางการลาวแล้ว โดยทางลาวได้แสดงความขอบคุณในน้ำใจของไทยครั้งนี้

นายเกียรติคุณกล่าวว่านับตั้งแต่มีข่าวเกิดเหตุเขื่อนแตกในลาวตลอดช่วงบ่ายจนถึงขณะนี้มีคนไทยจำนวนมากได้ติดต่อประสานมายัง สถานเอกอัครราชทูตและผ่านโซเชียลมีเดียแสดงความจำนงที่อยากจะช่วยเหลือลาว ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงน้ำใจไมตรีของประชาชนไทยต่อลาวซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ทั้งนี้เห็นว่าสิ่งของที่จะให้ส่งไปช่วยเหลือลาวควรเป็นสิ่งของที่ลาวต้องการ โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม ตนจะได้นำสารของท่านนายกรัฐมนตรีไปมอบให้กระทรวงการต่างประเทศลาวอย่างเป็นทางการ พร้อมกันนี้จะได้มีการมอบเงินช่วยเหลือก้อนแรกที่รวบรวมได้ส่งให้กับทางการลาวผ่านกระทรวงการต่างประเทศลาวด้วย

ขณะที่นายไพทูรย์ รักษ์ประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารได้ตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากเขื่อนเซเปียน-เขื่อนเซน้ำน้อย แตก ณ อาคารศาลากลาง ชั้น 1 ด้านทิศใต้จึงได้เชิญชวน ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน บริษัท ห้างร้าน ร่วมกับบริจาคเงิน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อาหาร สิ่งของจำเป็น เพื่อนำไปส่งมอบให้ผู้ได้รับผลกระทบผ่านสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต และกงสุลลาวประจำจังหวัดขอนแก่น โดยจะเริ่มรับบริจาคเป็นทางการ ในวันที่ 25 กรกฎาคม เวลา 15.00 น.

มติ ครม.มีดังนี้

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ไฟเขียว 19 โครงการ เชื่อม “อีสานล่าง 2” – เดินหน้าสร้างสะพานมิตรภาพฯ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กลุ่มจังหวัดฯลฯ เสนอ ในด้านการพัฒนาด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ประกอบด้วยโครงข่ายคมนาคมทางถนน ทางราง และทางอากาศที่สำคัญ รวม 19 โครงการดังนี้

โดยมีโครงการด้านโครงข่ายทางถนน 12 โครงการ ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมอยู่แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ดำเนินการตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน เช่น การปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 2169 ตอนยโสธร-เลิงนกทา เพื่อเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจเชื่อมต่อกับมุกดาหารและมีโครงข่ายเชื่อมโยงสายหลักไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 โดยขอขยายเป็น 4 ช่องจราจร, การปรับปรุงถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานีฝั่งตะวันออก ทางหลวงหมายเลข 231 ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่ใช้ในการขนส่งสินค้าและเดินทางสู่ด่านชายแดนช่องเม็กขยายเป็น 4 ช่องจราจร, การศึกษาออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานพัฒนามิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 6 ที่ อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ระยะทาง 1 กม. มูลค่าโครงการ 4,300 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งจะได้มีการเจรจาทำข้อตกลงกับ สปป.ลาวต่อไป

สำหรับโครงข่ายคมนาคมทางราง ขอให้เร่งรัดศึกษาโครงการรถไฟทางคู่ วารินชำราบ-ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในปี 2563 รวมทั้งเร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟจากสถานีวารินชำราบ-อำนาจเจริญ-เลิงนกทาเชื่อมโครงการรถไฟทางคู่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน

และโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ จะมีการพัฒนาสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี โดยขยายหลุมจอดเพิ่มเป็น 10 หลุม จากปัจจุบัน 5 หลุม คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 การเพิ่มสะพานเทียบพร้อมส่วนต่อเติมเป็น 4 จุด จากปัจจุบัน 2 จุด ซึ่งจะดำเนินการให้ได้มาตรฐาน ICAO รวมไปถึงการสร้างอาคารจอดรถ 4 ชั้น โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563 ส่วนโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารกลังใกม่คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2565-2567 จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 2,000 คนต่อชั่วโมง จากปัจจุบัน 1,000 คนต่อชั่วโมง

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้เพิ่มเติม สำหรับโครงการก่อสร้างสนามบินในพื้นที่เลิงนกทา จ.ยโสธร ตามที่กลุ่มจังหวัดเสนอขอ โดยให้เปรียบเทียบกับพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ก่อนดำเนินการในขั้นต่อไป และข้อเสนอขอดำเนินโครงการก่อสร้างเกาะกลางถนนเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนนั้นนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ปรับการจัดทำเกาะกลางถนนไปเป็นรูปแบบ Barrier เพื่อนประหยัดงบประมาณ และง่ายต่อการบำรุงรักษาในระยะยาว

“ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557-2561 กลุ่มจังหวัดฯลฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาด้านคมนาคมทางถนนจากรัฐบาลไปแล้ว 26,654 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับขัดสรรงบประมาณในปี 2562 อีก 4,973 ล้านบาท” นายณัฐพรกล่าว

เห็นชอบพัฒนาแหล่งน้ำ “อีสานล่าง 2” กว่า 50 โครงการ

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กลุ่มจังหวัดฯ เสนอขอรับสนับสนุนโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 40 โครงการ และการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย จำนวน 5 โครงการ ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกล่าวชี้แจงว่า โครงการต่างๆ ที่กลุ่มจังหวัดเสนอสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์น้ำ และอยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในแผนแล้ว

สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แบ่งออกเป็นโครงการแก้มลิง 25 โครงการ, อาคารบังคับน้ำ 8 โครงการ, ฝาย 3 โครงการ, สูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ 3 โครงการ และโครงการส่งน้ำและกระจายน้ำ 1 โครงการ อย่างไรก็ตามพบว่าในส่วนของ อ.วารินชำราบ มีโครงการแก้มลิงถึง 8 โครงการ จึงต้องตรวจสอบก่อนว่ามีความซ้ำซ้อนหรือไม่ และที่ดินส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการแก้มลิงเป็นพื้นที่ที่ประชาชนรุกล้ำเข้าไปใช้ประโยชน์อาจต้องมีการเจรจากับชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยจำนวน 5 โครงการ แยกเป็นประตูระบายน้ำ 4 โครงการและระบบการระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำ 1 โครงการ ครม. ตอบรับตามที่ขอรับการสนับสนุนมาหากไม่มีความทับซ้อนเช่นกัน

นอกจากนี้ ขอให้มีการศึกษาความเหมาะสมของ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการศึกษาความเหมาะสมของทางผันน้ำฝั่งขวาลำน้ำมูลเพื่อบรรเทาอุทกภัย จ.อุบลราชธานี, โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง, โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและเพิ่มพื้นที่ชลประทานลำเซบาย, โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและเพิ่มพื้นที่ชลประทานลำเซบก และโครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองยโสธร โดยทั้ง 5 โครงการทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจะรับไปศึกษาโครงการทั้งหมด

“ตั้งแต่ปี 2557 ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศจนถึงปี 2561 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่างนี้ไปแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท และตั้งงบประมาณในปี 2562 ให้อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมทั้งหมด 12,000 ล้านบาท” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ยกระดับการผลิต-เพิ่มมูลค่าเกษตร “อีสานล่าง 2”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการด้านการยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ตามที่กลุ่มจังหวัดฯ เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ เพื่อยกระดับการผลิตและการแปรรูปผลผลิตด้าเกษตรไปสู่การเป็น Smart Farmer โดยมีโครงการที่เสนอขอดังนี้

  • โครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร เนื่องจากกลุ่มจังหวัดฯ สามารถแปรรูปผลผลิตได้เพียงขั้นต้นเท่านั้น จึงขอรับการสนับสนุนในการก่อสร้างโรงงานต้นแบบในกลุ่มเนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง พร้อมทั้งครุภัณฑ์สำหรับโรงงานต้นแบบ

โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาเรื่องงบประมาณในการทำโครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบ โดยเฉพาะโรงงานด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์ ส่วนด้านเครื่องดื่มและเครื่องสำอาง มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์ศึกษาความเป็นไปได้ เน้นผลประโยชน์และความคุ้มค่าเป็นหลัก

  • โครงการยกระดับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ ขอขยายตลาดสำหรับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ขอให้มีใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพื่อให้สะดวกต่อการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ขอให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งขอแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และพัฒนาให้เป็น BIO Hub
  • ขอสนับสนุนระบบการผลิตและเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรที่ตั้งเป้าให้มีพื่นที่เกษตรปลอดภัย (GAP) และเกษตรอินทรีย์  ล้านไร่ ในปี 2564 จากที่ปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรปลอดภัย และเกษตรกรอินทรีย์อยู่ราว 179,000 ไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่คือ ข้าวหอมมะลิ
  • ขอสนับสนุนโครงสร้างพื้นที่สำหรับพัฒนาเกษรบ่มเพาะผู้ประกอบการครบวงจร เป็นการสร้างอาคารเพื่อการวิจัยและพัฒนา การแปรรูปสินค้าทางการเกษตร

เห็นชอบใช้พื้นที่กองทัพ 200 ไร่ ขยาย รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รับผู้ป่วยเพิ่ม

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กลุ่มจังหวัดฯ เสนอขอรับการสนับสนุนในด้านคุณภาพชีวิตรับการสนับสนุน ดังนี้

  • โครงการเพิ่มศักยภาพให้บริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เนื่องจากปัจจุบันมีความแออัดและให้บริการผู้ป่วยได้ไม่เพียงพอ โดยในปี 2560 มีผู้ป่วยนอกถึง 3,500 คนต่อวัน ผู้ป่วยในอีกกว่า 1,500 คน จึงขอแยกไปตั้งหน่วยให้บริการย่อย ในพื้นที่ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 200 ไร่ของมณฑลทหารบกที่ 2 โดยตั้งเป้าดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี
  • ขอรับการสนับสนุนและยกระดับศูนย์การแพทย์แผนไทยพนา เป็นศูนย์การแพทย์ครบวงจรบริการคลินิกแพทย์แผนไทย มีพื้นที่ให้บริการในเขตตัวเมือง เพื่อส่งเสริมสุขภาพ รักษา และฟื้นฟู ผลิต จำหน่ายยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ เน้นการใช้สมุนไพรคุณภาพดีในท้องถิ่นให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น
  • ขอสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม เพื่อรองรับการผ่าตัดเฉพาะทาง ตา หู จอ จมูก มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

เล็งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวรายจังหวัด “ราชธานีเจริญศรีโสธร”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กลุ่มจังหวัดฯ เสนอในด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากกลุ่มจังหวัดฯ มีแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมขอมโบราณ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สถานที่สำคัญทางศาสนา รวมถึงวัฒนธรรมชนเผ่าในพื้นที่หลากหลาย แต่สภาพเส้นทางคมนาคมติดต่อบางช่วงยังเป็น 2 ช่องจราจรและไม่มีเกาะกลางถนน เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยว จึงขอรับการสนับสนุนโครงข่ายคมนาคมรองรับการท่องเที่ยว และการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นรายจังหวัด โดยจังหวัดอุบลราชธานีมีแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ GMS และแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา ด้านจังหวัดศรีสะเกษจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงกีฬา เช่น การปั่นจักรยาน การปีนผา จังหวัดยโสธรพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี ส่วนอำนาจเจริญให้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการดึงจุดแข็งของแต่ละจังหวัดมาพัฒนา

และเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อเชื่อมโยง และอำนวยความสำดวกแก่นักท่องเที่ยวกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้รับผิดชอบ

จัดงบ 62,000 ล้าน พยุงราคาข้าวอุ้มชาวนา

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/2562 ด้านการตลาด ใน 3 โครงการ ตามมติของคณะกรรมการนโยบายและบริการจัดการข้าว (น.บ.ข.) ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา วงเงินจ่ายขาดรวม 62,890 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อรวม 35,060 ล้านบาท

  • โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (จำนำยุ้งฉาง) และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยจะจัดสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก ในวงเงินสินเชื่อ 22,560 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 4,088 ล้านบาท เป็นค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน ซึ่งในส่วนของสถาบันเกษตกรจะต้องแบ่งจ่ายให้แก่สมาชิก 500 บาทต่อตัน ระยะเวลาเช้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561-28 กุมภาพันธ์ 2562 (31 กรกฎาคม 2562 สำหรับภาคใต้)

และได้อนุมัติวงเงิน 57,722 ล้านบาท สำหรับค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว แก่ชาวนาจำนวน 3.7 ล้านครัวเรือน จ่ายตามจำนวนพื้นที่ปลูกข้าว 1,500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 12 ไร่ต่อครัวเรือน คิดเป็นเงินไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสำรองจ่ายไปก่อน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2561-30 กันยายน 2562

  • โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อรวม 12,500 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% คิดเป็นเงินที่รัฐต้องจ่ายชดเชย 507 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย  468 ล้านบาท และค่าเบี้ยประกันและค่าบริหารจัดการโครงการ 39 ล้านบาท โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย 1%  ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561-31 ธันวาคม 2562
  • โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% คิดเป็นเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายชดเชย 572 ล้านบาท ซึ่งโรงสีจะต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรเก็บไว้เป็นระยะเวลา 2-6 เดือน  เป้าหมาย 5 ล้านตันข้าวเปลือก ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561-31 ตุลาคม 2562
ข้อมูลจาก : คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)

ทั้งนี้คาดว่าทั้ง 3 โครงการจะช่วยดึงข้าวเปลือกออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกมามากได้จำนวน 9 ล้านตัน ซึ่งรายได้ที่ชาวนาจะได้รับทั้งการเข้าร่วมโครงการจำนำยุ้งฉางและเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว แบ่งออกเป็น ผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิจะมีรายได้ตันละ 17,050 บาท, ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 15,450 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 12,000 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 12,900 บาท

“สำหรับวงเงินชดเชยส่วนต่าง ระหว่างราคาข้าวที่จ่ายสินเชื่อตามโครงการจำนำยุ้งฉาง กับราคาข้าวที่จะขายได้จากการระบาย ในกรณีไม่มีเกษตรกรมาขอไถ่ถอน ตามที่เสนอขอมาจำนวน 2,698 ล้านบาท สำนักงบประมาณเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามช่องทางที่เหมาะสมไปก่อน แล้วจึงเสนอขออนุมัติงบประมาณต่อไป” นายณัฐพรกล่าว

ต่ออายุโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. – หนุน SME เข้าถึงแหล่งทุน

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบต่ออายุมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้กระกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นจึงต้องขยายระยะเวลาและวงเงินสินเชื่อ ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2  และโครงการ PGS ระยะที่ 6 ที่สิ้นสุดการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เป็นโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3  และโครงการ PGS ระยะที่ 7 ซึ่ง บสย. จะขอวงเงินชดเชยจากรัฐบาลจากสินเชื่อทั้งสองโครงการไม่เกิน 16,500 ล้านบาท ผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 และปีต่อๆ ไป ตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปี

สำหรับโครงการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 มีวงเงินค้ำประกันรวม 15,000 ล้านบาท ซึ่ง บสย. สามารถจัดสรรวงเงินให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการได้ตามความเหมาะสม จากนั้นสถาบันการเงินจะนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับเอสเอ็มอีวงเงินค้ำประกันไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย ระยะเวลาในการค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี โดยเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตรา 1-2% ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ โดยรัฐบาลจะจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ บสย. ในปีแรกของโครงการ

ทั้งนี้ บสย. ขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลในโครงการนี้ 3,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยอัตราค่าธรรมเนียมและชดเชยอัตราค่าประกันชดเชยตั้งแต่ปีที่ 1-5 ของโครงการในอัตรา 18% ของกรณีที่เกิดความเสียหายของวงเงินกู้ยืม อย่างไรก็ตามจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมได้อีกกว่า 1.5 แสนราย (เฉลี่ยรายละ1แสนบาท) และเกิดสินเชื่อหมุนเวียนในระบบเพิ่มเติมอีก 15,000 ล้านบาท

ส่วนโครงการ PGS ระยะที่ 7 มีวงเงินค้ำประกันเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอีรวม 1.5 แสนล้านบาท วงเงินค้ำประกันเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาในการค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี และระยะเวลาในการรับการค้ำประกันไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ ครม. อนุมัติ ส่วนค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ในโครงการนี้อยู่ที่ 1.75% ต่อปี โดย บสย.สามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่รัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้ตามความเหมาะสม โดยรัฐบาลจะรับภาระค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2.25% ตลอดอายุการค้ำประกัน โดยโครงการนี้ บสย. จะขอชดเชยจากรัฐบาล 13,500 ล้านบาท แบ่งเป็นชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 3,375 ล้านบาท และชดเชยค่าประกันตลอดอายุโครงการ 10 ปี เป็นเงินไม่เกิน 10,125 ล้านบาท

การจ่ายค่าประกันชดเชย บสย. จะจ่ายในอัตราไม่เกิน 24.25% ของการค้ำประกันเฉลี่ย ณ วันสิ้นสุดอายุการค้ำประกัน ขณะที่การขอรับการชดเชย รัฐบาลบจะจ่ายชดเชยตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจำนวนไม่เกิน 13,500 ล้านบาท โดยให้ บสย.ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในการเบิกจ่ายต่อไป โดยโครงการ PGS ระยะที่ 7 คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีเข้ารับสินเชื่อได้เพิ่มอีก 4.3 หมื่นราย สัดส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่รับสินเชื่อซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ต่ำกว่า 35% และก่อให้เกิดสินเชื่อหมุนเวียนในระบบอีกไม่น้อยกว่า 2.4 แสนล้านบาท หรือ 1.6 เท่าของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ

อนึ่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่2 ซึ่งมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 1.35 หมื่นล้านบาท สามารถค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 167,946 รายโดยใช้วงเงินเต็มจำนวน ส่วนโครงการ PGS ระยะที่ 6 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 1 แสนล้านบาท โดยสามารถค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีไป 26473 ราย รวมวงเงินกว่า 93,075 ล้านบาท

นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบด้วยว่าปัจจุบันรัฐบาลมียอดหนี้คงค้างที่ต้องรับการชดเชยทั้งสิ้น 771,803 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26.6% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และภายหลังจากที่มีการอนุมัติต่ออายุโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีทั้ง 2 โครงการ รัฐบาลจะมียอดคงค้างที่ต้องรับการชดเชยทั้งสิ้น 788,303 ล้านบาท คิดเป็น 27.2% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งไม่เกินกว่าเพดาน 30% ที่คณะกรรมการนโยบายการคลังของรัฐกำหนด

เห็นชอบกฎกระทรวง เพิ่ม “ไม้มีค่า” เป็นหลักประกันเงินกู้

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สินทรัพย์อื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (ไม้มีค่า) เช่น ต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า รวม 58 ชนิด เช่น สัก พะยูง ชิงชัน แดง เต็ง ฯลฯ เป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558

“นอกจากนี้ ในอีก 2 สัปดาห์จะมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติป่าไม้ฉบับใหม่ที่มีการแก้ไขรายชื่อไม้ควบคุม เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ซึ่งเป็นการเปิดให้ไม้มีค่าสามารถใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้นั้น จะทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรที่มีไม้มีค่าในพื้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น สามารถตัดขาย หรือใช้เป็นสินเชื่อ ให้ไม้มีค่าเหล่านี้เป็นมรดกแก่ลูกหลานได้” นายณัฐพร กล่าว

ตั้งองค์คณะดูแลสื่อ – สร้างหนัง “ถ้ำหลวง”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. เห็นชอบในการจัดตั้งองค์คณะประสานงานและอำนวยความสะดวกสื่อไทยและต่างประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และตำรวจ สำหรับให้ข้อมูลในทิศทางที่เหมาะสม แก่สื่อต่างๆ ที่ต้องการจัดทำสารคดีหรือภาพยนตร์ภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ 13 ชีวิต ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในกรณีที่มีการใช้พื้นที่ในประเทศไทยในการทำสารคดีหรือถ่ายทำภาพยนตร์ โดยยืนยันว่าการจัดตั้งองค์คณะดังกล่าวไม่เป็นการควบคุมสื่อแต่อย่างใด

“การตั้งองค์คณะดังกล่าวไม่เรียกว่าเป็นการควบคุม แต่เป็นการประสานให้มีการนำเสนอเรื่องราวในทิศทางที่เหมาะสม ให้ข้อมูลที่ถูกนำเสนอไปไม่กระทบสิทธิของผู้ประสบภัย และผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากเมื่อต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในไทย มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เช่น ต้องขออนุญาตจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หากต้องการเข้าไปถ่ายทำในพื้นที่ต้องขออนุญาตกรมอุทยานฯ ตลอดจนถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก เป็นต้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

อนุมัติงบกลาง 1,300 ล้าน ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน เหตุอุทกภัยปี 60

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2560 งบกลางวงเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,353 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2560 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยแบ่งเป็น งบประมาณในส่วนของกรมทางหลวง 754 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 599 ล้านบาท

ทั้งนี้ยังคงมีในส่วนที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณอีก 365 แห่ง ประกอบด้วย กรมทางหลวง 243 แห่ง และกรมทางหลวงชนบท 122 แห่ง โดยจะมีการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2562 ต่อไป เพื่อดำเนินการให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทาง การให้บริการคมนาคมขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ โดยการดำเนินงาน ประกอบด้วย การซ่อมสะพานและขยายสะพาน ป้องกันดินสไลด์ ฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ ซ่อมสร้างผิวถนนลาดยางแอลฟัลติกคอนกรีต และการก่อสร้างผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็ก คาดจะใช้เวลาอย่างน้อย 8-12 เดือน

“บิ๊กป้อม” แจงเคลียร์หนี้นอกระบบแล้วกว่าแสนราย

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบต่อที่ประชุม ครม. โดยในภาพรวมทั้งประเทศมีเจ้าหนี้นอกระบบกว่า 12,000 ราย มีวงเงินปล่อยกู้กว่า 52,200 ล้านบาท เบื้องต้นสามารถช่วยเหลือประชาชนในการไกล่เกลี่ยและประนอมหนี้ไปได้แล้วจำนวน 116,338 ราย และจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดกับเจ้าหนี้ที่เอาเปรียบและเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ทั้งทางด้านภาษีและการยึดทรัพย์

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 เพิ่มเติม