ThaiPublica > คอลัมน์ > Legal Literacy : ประโยชน์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม Level the Playing Field Through Class Action

Legal Literacy : ประโยชน์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม Level the Playing Field Through Class Action

3 กรกฎาคม 2018


T.Rex

หลายท่านอาจได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการฟ้องคดีและการที่ศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีที่บริษัทยานยนต์ บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก เพราะเป็นการฟ้องบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาด บางรายถึงกับเป็นผู้ผูกขาดในตลาดนั้นๆ และการดำเนินการทางคดีด้วยวิธีการที่กฎหมายในบ้านเราเพิ่งมีการตื่นตัวหลังจากที่กฎหมายได้บังคับใช้มาประมาณสองสามปีแล้ว

ท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมคดีเหล่านี้ถึงได้มีการลงข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ หรือเป็นที่กล่าวถึงกันมาก ในบทความนี้จะขออธิบายสั้นๆ ถึงการดำเนินการทางกฎหมายโดยอาศัยเครื่องมือตัวใหม่ที่เรียกว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) และยกตัวอย่างคดีทั้งในและต่างประเทศพร้อมทั้งกล่าวถึงประโยชน์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่า ทำไม การดำเนินคดีแบบกลุ่มถึงได้รับและควรจะได้รับความสนใจจากสาธารณะ

เชื่อหรือไม่ว่า ขณะที่ท่านกำลังอ่านบทความ หรือแม้กระทั่งผู้เขียนกำลังเขียนบทความ เราอาจจะกำลังจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินคดีแบบกลุ่มในบางคดีโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย อย่างไรก็ดี มีบางช่วงบางตอนที่เราต้องแสดงตนเพื่อใช้สิทธิหรือให้ได้รับประโยชน์ จึงเป็นการดีที่เราจะเริ่มทำความรู้จักเครื่องมือทางกฎหมายนี้ และเรื่องรอบๆ ตัว ที่เราอาจจะโดนละเมิดสิทธิอยู่อย่างไม่รู้ตัว กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อให้ประชาชนหรือผู้บริโภครวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับผู้เล่นในตลาดไม่ว่าจะเป็นผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการที่ในโลกแห่งความเป็นจริง ดูจะตัวใหญ่กว่าเรามากเหลือเกินในความพร้อมไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและกฎหมาย ได้อย่างดีขึ้น แม้จะไม่เท่าเทียมแต่เราจะโดดเดี่ยวน้อยลง

ผู้เขียนจะอธิบายและขอยกตัวอย่างหลายๆ คดีของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อแสดงให้เห็นถึงกลไกและประโยชน์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมายของบ้านเราและแทบจะเรียกว่าหลักการส่วนใหญ่เหมือนกัน

ประโยชน์ข้อแรกที่อยากจะกล่าวถึงคือ การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นการทำให้เกิดการเข้าถึงความยุติธรรมหรือสิทธิทางศาลเพื่อให้ได้รับการเยียวยาของผู้เสียหายรายย่อย (Access to justice, right of day in court of small claimant) จินตนาการง่ายๆ ว่าหากอยากฟ้องร้องคดีจำเลยที่ละเมิดสิทธิของเราแต่มีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงิน ระยะเวลา หรือความยุ่งยากเหนื่อยใจ เมื่อเทียบกับค่าเสียหายที่จะได้รับจากจำเลยแม้ชนะคดี ก็อาจไม่คุ้มค่ากับที่ลงแรงไป เราก็จะไม่ฟ้องร้องคดี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิตในหลายๆ เรื่อง รวมถึงแนวความคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์ในการฟ้องร้องคดีด้วย การที่เราไม่ใช้สิทธิเป็นเรื่องปกติเพราะมันไม่คุ้ม ทางวิชาการเรียกว่า เฉื่อยหรือเนือยแบบมีเหตุผล (rational apathy) เพราะในเมื่อมันไม่คุ้มก็ไม่รู้จะทำไปทำไม แต่ความเฉื่อยนี้เองอาจเป็นลักษณะของผู้บริโภคที่ผู้ให้บริการหรือผู้เล่นในตลาดเอาเปรียบ (take advantage) แล้วก็จะกลายเป็นว่าคนผิดลอยนวลหรืออยู่เหนือกฎหมายไป

เหตุการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบันที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลายเรื่องที่ก่อความเสียหายต่อประชาชนและสาธารณะ หากเทียบเคียงกับประเภทคดีที่เคยเกิดการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มในสหรัฐอเมริกาก็สามารถที่จะฟ้องศาลและขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มในประเทศไทยได้ เช่น คดีบริษัทยานยนต์จำหน่ายรถยนต์ที่มีความชำรุดบกพร่องหรือไม่ปลอดภัยให้แก่ลูกค้า โดยอาจจะมีความบกพร่องในเรื่องของระบบเกียร์ ระบบเบรก ระบบเซ็นเซอร์แบตเตอรี่ บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่โฆษณาขายโครงการคอนโดมิเนียมที่ไม่สามารถส่งมอบโครงการที่มีลักษณะดังที่ระบุไว้ในสัญญาให้กับลูกบ้าน เช่น มีความบกพร่องในเรื่องของระบบสาธารณูปโภค ร้านค้าภายในโครงการ ลักษณะของส่วนกลาง สายการบินที่ยกเลิกเที่ยวบิน บริษัทให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่คิดค่าบริการลูกค้าไม่เป็นไปตามกฎหมาย บริษัทบัตรเครดิตที่คิดค่าธรรมเนียมไม่เป็นไปตามกฎหมาย ท่อน้ำมันแตกรั่วทำให้น้ำมันดิบที่รั่วไหลลงในทะเลก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ที่พักอาศัยและประกอบธุรกิจต่างๆ ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้น อุบัติเหตุที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

หรือในคดีแรงงาน เช่น ในส่วนของค่าตอบแทนนอกเวลาหรือนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนนอกเวลาที่ผิดกฎหมาย กรณีสถาบันการเงินที่เปิดบัญชีใหม่ให้ลูกค้าโดยไม่ได้รับความยินยอมและความรับรู้ของลูกค้าทำให้ลูกค้าไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมที่เกิดจากบัญชีนั้นๆ ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลต่อ credit score ของลูกค้าที่ต่ำลงจากการกระทำของสถาบันการเงินนั้น ทำให้เดือดร้อนที่หากจะต้องไปกู้ยืมเงินในภายภาคหน้าจะต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ที่มากขึ้น เป็นต้น

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม ออกแบบมาให้ผู้เสียหายที่ไม่ประสงค์จะเป็นคนออกโรงไปฟ้องคดีนั่งอยู่เฉยๆ กับบ้าน อาศัยการทำงานแบบผู้แทนของทนายความของกลุ่ม (class counsel) (กลุ่มบุคคลที่เสียหายเหมือนกัน) และผู้เสียหายที่พร้อมจะลงแรง ออกโรงเป็นโจทก์ในคดี (named plaintiff/class representative) แทนผู้เสียหายรายอื่นรวมถึงเราที่ไม่อยากเข้ามาในคดี การดำเนินคดีแบบกลุ่มขับเคลื่อนด้วยทนายความ (lawyer-driven litigation) เนื่องจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและจะได้รับค่าตอบแทนต่อเมื่อชนะคดีเท่านั้นหรือที่เรียกว่าได้รางวัลทนายความ และหากคดีชนะ ผลของคดีจะผูกพันเราด้วย หมายความว่า หากคดีชนะ เราก็จะได้เงินจากจำเลยด้วย แม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าไปในคดี

อย่างไรก็ดี อาจมีหน้าที่ออกมาแสดงตัวตนตามที่กฎหมายเพื่อพิสูจน์ว่าเราเป็นผู้เสียหายเช่นเดียวกับผู้เสียหายที่ออกหน้าไปในคดี ได้รับความเดือดร้อนจากจำเลยเช่นกัน เป็นสมาชิกกลุ่ม (class member) เหมือนกัน อย่างไรก็ดี หากคดีแพ้ก็จะแพ้ด้วย ในโอกาสหน้าจะเขียนถึงข้อเสียหรือข้อควรระวังในการใช้เครื่องมือทางกฎหมายตัวนี้ด้วยเช่นกัน ว่าไม่ได้มีแต่ข้อดีหรือประโยชน์เท่านั้น ข้อควรระวังก็มี

ปรากฏการณ์ที่เริ่มเห็นขึ้นหากอยู่ในแวดวงขณะนี้ คือ นักกฎหมายบางท่านเริ่มสั่งสมและสร้างประสบการณ์ในการทำคดีประเภทนี้ ซึ่งน่าตื่นเต้นและจับตามองความสำเร็จและการเริ่มทำหน้าที่อันท้าทายนี้

และในบางคดีเริ่มมีการเจรจาต่อรองกับจำเลย ทนายความของกลุ่ม และในส่วนการสิ้นสุดลงของคดีโดยสัญญายอม สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาเองนั้น คดีแบบกลุ่มมักจะจบด้วยสัญญายอม (settlement) ตกลงกันโดยศาลไม่ต้องพิพากษาหรือศาลอนุญาตให้ยอมกันโดยไม่ต้องมีการพิจารณาคดี แต่การทำงานของทนายความและสัญญายอม บางครั้งสร้างปัญหาให้กับการดำเนินคดีแบบกลุ่มเพราะผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม คงต้องติดตามรอดูกันไปว่า ในประเทศไทยระบบจะพัฒนาไปในทิศทางและรูปแบบใด ปัญหาที่เกิดขึ้นสหรัฐอเมริกาอาจไม่เกิดขึ้นกับเราก็ได้ แต่ก็เป็นเพียงข้อระมัดระวังให้คอยดูเป็นข้อสังเกต เป็นต้น

ทีนี้เราจะทราบได้อย่างไรว่ามีการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มอะไรที่เกี่ยวข้องกับเราที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล กฎหมายกำหนดว่า หากศาลอนุญาตให้คดีหนึ่งๆ ดำเนินไปแบบกลุ่ม คือ ทำแทนกันได้แล้วนั้น จะต้องมีการส่งคำบอกกล่าว (notice) แก่สมาชิกกลุ่มและสาธารณะเพื่อให้รับรู้กันถึงคดีเหล่านี้กันโดยทั่ว ต้องประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายเป็นเวลาสามวันติดต่อกัน บางครั้งอาจมีการประกาศในเว็บไซต์ของศาล หรือวิธีอื่นที่เชื่อว่าสารนี้จะไปถึงผู้ที่น่าจะเป็นผู้เสียหายหรือสมาชิกกลุ่มในคดีนั้นๆ เช่น คดีสิ่งแวดล้อมอาจมีการประกาศในวิทยุชุมชน คดีผิดสัญญาบริษัทให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก อาจให้ขึ้นตัววิ่งในรายการโทรทัศน์ คดีขายสินค้าไม่ปลอดภัย อาจมีการให้จำเลยประกาศในรายการวิทยุของทางร้านค้าของตน เป็นต้น

การที่จะต้องประกาศทางหนังสือพิมพ์นี้รวมถึงวิธีอื่นๆ อาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ตกเป็นจำเลยไม่ชอบใจนัก เนื่องจากเป็นการบอกต่อสาธารณะว่าถูกฟ้องจากกระทำอะไร ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์ และน่าจะเสียหายต่อบริษัททางการเงิน จากประสบการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทจำเลยจะพยายามประนีประนอมยอมความ ยุติการเป็นคดีเพื่อรักษาภาพพจน์โดยเร็ว

การประกาศหนังสือพิมพ์หรือการส่งคำบอกกล่าวถึงคดีและการอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม จะเป็นจุดให้สมาชิกกลุ่มที่ไม่อยากผูกพันในผลคำพิพากษาที่จะเป็นผลลัพธ์ของการพิจารณาคดีต่อไป หรือเนื้อหาของสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทนายความของกลุ่มและผู้เสียหายที่มีชื่อเป็นโจทก์จำเลยตกลงกัน สามารถแสดงความต้องการออกจากกลุ่มได้เช่นกัน การส่งคำบอกกว่านี้จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้สมาชิกกลุ่มทางบ้านอย่างเราๆ ทราบถึงคดีความที่มีขึ้น และตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็จะอยู่ในกลุ่มเหมือนเดิม กฎหมายกวาดหมด หากอยากออกจากกลุ่ม (opt out) ต่างหากที่ต้องกระตือรือร้นสื่อกับทางศาลไป วิธีการ สิทธิต่างๆ จะเป็นอย่างไรก็จะมีการกำหนดไว้ในประกาศหรือคำบอกกล่าวนั่นเอง

ย้อนกลับมาในส่วนของประโยชน์ข้อต่อมาเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อแรก เมื่อมีการใช้กฎหมายกับทุกคนอย่างเท่าเทียม สังคมจะไว้วางใจในระบบการอำนวยยุติธรรม ว่ากฎหมายไม่ได้โอบอุ้มแต่ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจหรือพวกขาใหญ่เท่านั้น หากพวกเขาเหล่านั้นฝ่าฝืนกฎหมาย รัฐก็ยังมีกลไกให้ประชาชนตัวเล็ก (small guys v. big guy) นำผู้ฝ่าฝืนกฎหมายมาถึงมือศาลได้ บริษัทหลายบริษัทที่คุ้นเคย เคยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแบบกลุ่มมาแล้ว เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทเจเนรัลมอเตอร์ หรือจีเอ็ม บริษัทผลิตรถยนต์ เจ้าของแบรนด์ เชฟโรเล็ต บิวอิค ถูกดำเนินคดีเนื่องจากรถยนต์รุ่นหนึ่ง จำนวนหนึ่งที่ออกขายมีความบกพร่องในระบบสตาร์ทเครื่องยนต์ โดยแนวโน้มของคดีน่าจะตกลงกันโดยอาจจะทำให้จำเลยต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายอยู่ที่หลักพันสามสิบล้านเหรียญสหรัฐ

อีเลคโทรลักซ์ บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า ถูกดำเนินคดีและอยู่ในขั้นตอนการประนีประนอมยอมความ ถูกกล่าวหาว่า เครื่องซักผ้าที่ทำการจำหน่ายนั้นบกพร่องในส่วนของฟังก์ชันการทำความสะอาดตัวเครื่องทำให้เกิดเชื้อราและกลิ่นไม่พึงประสงค์ ทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายกับเสื้อผ้าหรือผ้าที่ซักโดยเครื่องซักผ้าที่ซักนั้นเอง ซึ่งหากชนะคดีค่าเสียหายของผู้บริโภคอาจได้รับอาจจะเป็นรายละ ประมาณ 50 เหรียญสหรัฐ (1,500 บาท นี้ อาจจะเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า หากไม่มีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ค่าเสียหายที่ผู้บริโภคจะได้รับจากจำเลยอาจไม่คุ้มค่ากับการออกโรงฟ้องบริษัทจำเลยโดยลำพัง)

นอกจากนี้ ในส่วนของเนื้อหาเมื่อมัดหลายๆ เรื่องมาให้อยู่ในคดีเดียวกันก็จะเป็นการขจัดปัญหาคำพิพากษาทั้งในส่วนเนื้อหาและค่าเสียหายที่อาจจะต่างให้กลับกลายเป็นเท่ากันและอยู่ในแนวเดียวกัน (consistency) ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ประชาชนคงความศรัทธาในระบบการอำนวยยุติธรรม ทั้งจะเกิดประโยชน์เชิงความประหยัดหรือคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรทั้งในส่วนค่าใช้จ่ายและเวลาทั้งของผู้เสียหาย ทนายความ ศาลหรือแม้กระทั่งจำเลยที่ถูกฟ้องด้วยเช่นกัน แทนที่จะต้องไปจัดการเป็นเรื่องๆ ไปสำหรับผู้เสียหายแต่ละราย ก็นำมารวมกันดำเนินการกันไปแบบกลุ่ม

ประโยชน์ข้อสุดท้ายคือ การสร้างธรรมาภิบาล (good governance) ในการประกอบธุรกิจ นอกจากการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นเครื่องมือให้ได้รับการเยียวยาแล้ว ผลของคดีก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานและการเชือดไก่ให้ลิงดู เกิดผลในทางปรามการกระทำในรูปแบบต่างๆ ของการกระทำทางธุรกิจด้วยเช่นกัน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยจะไม่สามารถเอาเปรียบหรือเอาประโยชน์จากการเฉื่อยอย่างมีเหตุผลของเราได้อีกต่อไป ค่าเสียหายสำหรับผู้เสียหายรายหนึ่งอาจจะน้อย แต่หากนำค่าเสียหายของผู้ที่เดือดร้อนทั้งหมดจากการกระทำของจำเลยอาจจะกระตุกความสนใจของจำเลยได้

ผู้ที่สนใจจะเรียนรู้เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้นสามารถทำได้จากการดูภาพยนตร์สามเรื่องซึ่งสร้างมาจากเหตุการณ์จริงในคดีสิ่งแวดล้อมทั้งสามคดีในสหรัฐอเมริกา Erin Brockovich (2000) หรือคดีที่ฟ้อง Pacific Gas & Electric ซึ่งค่าเสียหายในคดีประมาณสามร้อยกว่าล้านเหรียญสหรัฐ เรื่องที่สอง คือ Civil Action (1999) The Woburn Water Case ที่ฟ้อง W.R. Grace and Beatrice Foods เป็นจำเลย ค่าเสียหายประมาณแปดล้านเหรียญสหรัฐ เนื้อหามาจากคดีที่เกิดขึ้นจริงในเมือง Massachusetts โดยทั้งสองเรื่องเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคลาสสิกเพราะปริมาณค่าเสียหายและค่าทำความสะอาด (clean-up cost) ที่สูงเป็นประวัติการณ์ เนื้อหาคล้ายกัน คือ ผู้เสียหายเจ็บป่วย ได้รับผลกระทบ บางคนเสียชีวิต เนื่องจากดื่มหรือสัมผัสน้ำที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันซึ่งน่าจะปนเปื้อนสารพิษจากโรงงานที่ใช้กรรมวิธีการกำจัดสารพิษ หรือใช้สารเคมีส่วนหนึ่งในการประกอบธุรกิจส่งผลให้น้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ผู้เสียหายใช้อุปโภคบริโภคนั้นปนเปื้อน

สองคดีนี้ให้ความรู้ในเรื่องของการว่าความแบบที่ทนายความออกค่าใช้จ่ายไปก่อน (consistency fee) ในกรณีที่เป็นคดียุ่งยากซับซ้อน หากทนายความสู้ไม่ไหวในเรื่องของการเงินจะเป็นอย่างไร หรือหากสู้ไหว ชัยชนะจะเป็นเช่นไร ส่วนหนังที่ใหม่ที่สุดน่าจะเป็น Deepwater Horizon (2016) ซึ่งมาจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของคดีสิ่งแวดล้อมอีกคดีหนึ่งค่าเสียหายประมาณพันล้านเหรียญสหรัฐกันเลยทีเดียว โดยเกิดการระเบิดของ Deepwater Horizon แท่นขุดน้ำมันของบริษัท BP ส่งผลให้ เกิดการรั่วของน้ำมันใน Gulf of Mexico ในปี 2010 เป็นเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างมากในเชิงสิ่งแวดล้อม เกิดความเสียหายรวมถึงมีผู้เสียชีวิต 11 ราย ใช้เวลาประมาณสี่เดือนในการยับยั้งของการรั่วของน้ำมันปริมาณกว่าหลายร้อยล้านลิตรสู่ทะเล สัตว์ทะเลหลายพันตัวได้รับผลกระทบ คาดว่าคราบน้ำมันปกคลุมชายฝั่งประมาณพันกว่ากิโลเมตรและกินพื้นที่ความเสียหาย 5 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วน Jurassic World: Fallen Kingdom (2018) นั้นแม้ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ในตอนต้นของเรื่องมีการกล่าวถึงหนังในภาคที่แล้วว่าผู้คนที่เดินทางมาเที่ยวสวนสนุกไดโนเสาร์ครั้งที่แล้วได้รับความตื่นตระหนกและตกอยู่ในอันตรายจากไดโนเสาร์หลุดออกจากการควบคุมและทำให้ปาร์คต้องปิดตัวลงนั้น ยังคงรวมตัวกันและฟ้องคดี มีการพิจารณาอยู่ในศาลโดยการดำเนินคดีแบบกลุ่มอีกด้วย (Class Action Lawsuit) จะเห็นได้ว่าการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มเหมาะกับการที่เกิดอุบัติเหตุหรือการละเมิดของจำเลยที่ทำให้เกิดผู้เสียหายเป็นจำนวนมากโดยเป็นที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักในสังคมอเมริกันค่อนข้างมาก

หากเป็นคดีแพ่งแล้วนั้น เช่น ละเมิด สัญญา กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า สามารถขออนุญาตศาลดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ทั้งสิ้น หากคดีเข้ากับลักษณะที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น สมาชิกกลุ่มหรือผู้ที่เสียหายจากการกระทำอย่างเดียวกันของจำเลยมีจำนวนมาก ยุ่งยากและไม่สะดวกที่จะให้ทุกคนเข้ามาในคดีมาปรากฏตัว ทนายความของกลุ่มแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ การทำงาน และความสามารถทางด้านกำลังทรัพย์ ความเต็มที่ในการสื่อสาร รวบรวมสมาชิกกลุ่ม ทำเพื่อสมาชิกกลุ่ม ศักยภาพของสมาชิกกลุ่มหรือผู้เสียหายที่ยอมออกชื่อมาเป็นโจทก์ในคดีรู้เรื่องคดีและไม่ได้มีผลประโยชน์ขัดกับสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่ม อาสามาทำการเป็นผู้แทนไปกับทนายความของกลุ่ม เป็นต้น

การดำเนินคดีแบบกลุ่มสร้างแรงการกดดันทางเศรษฐกิจซึ่งอาจจะเป็นภาษาหรือการสื่อสารที่ภาคธุรกิจสนใจ เข้าใจ จึงเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ทำให้คนทำธุรกิจเริ่มจะสนใจคนธรรมดา คนอีกปลายข้างหนึ่งของสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างกัน ซึ่งปกติสัญญามาตรฐาน บริการที่อาจจะไม่ประทับใจแต่เรียกร้องไปก็ไม่ได้อะไร เสียเวลา ทนๆ ไป ช่างมัน แต่ผลการดำเนินคดีแบบกลุ่มมีปริมาณสูงเพราะไม่ใช่ตัวเงินหรือค่าใช้จ่ายสำหรับลูกค้าคนเดียว แต่เป็นลูกค้าทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของจำเลย ความพิเศษต่างๆ ของกฎหมายตัวนี้ที่ทำให้การต่อสู้หรือการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ นักธุรกิจ นักพัฒนาอยู่ในระนาบเดียวกัน ต้องใส่ใจกัน Level the Playing Field Through Class Action รวมทั้งยังอาจจะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ทำให้ผู้ประกอบการหันมาสนใจสังคมและทำในสิ่งที่ถูกต้องและควรทำมากขึ้นด้วย