ThaiPublica > เกาะกระแส > ลาวเขื่อนแตกประสบภัยกว่า 1,000 ครอบครัว รัฐบาลประกาศภัยพิบัติระดับชาติ – สถานฑูตไทยเปิดบัญชีรับบริจาคช่วยเหลือ

ลาวเขื่อนแตกประสบภัยกว่า 1,000 ครอบครัว รัฐบาลประกาศภัยพิบัติระดับชาติ – สถานฑูตไทยเปิดบัญชีรับบริจาคช่วยเหลือ

25 กรกฎาคม 2018


ที่มาภาพ:เฟซบุ๊กสำนักข่าวเอบีซีลาว

เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ของประเทศลาว เกิดน้ำท่วมกะทันหันที่เมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ ส่งผลให้ประชาชนหลายร้อยครัวเรือนได้รับผลกระทบและสูญหายหลายร้อยคน หลังจากที่น้ำจากลำน้ำเซเปียนเอ่อล้นไหลท่วมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตก

สำนักข่าวสารประเทศลาว(Khaosan Pathet Lao:KPL)หรือ Laos News Agency รายงานว่า วิกฤติน้ำท่วมเกิดจากสันเขื่อนเซเปียน – เซน้ำน้อย ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแตก มวลน้ำปริมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไหลท่วมบ้านเรือนในแขวงอัตตะปือ ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 6,600 คน และมีจำนวนกว่าหลายร้อยคนสูญหาย บ้านเรือนถูกกระแสน้ำพัดพาจมหายไป ระดับน้ำในหลายพื้นที่สูงจนมิดหลังคาเรือน

ที่มาภาพ:เพจLaoFAB
สันเขื่อน ที่มาภาพ:
https://www.idsala.com/2018/07/5000.html
ที่มาภาพ:เฟซบุ๊กสำนักข่าวเอบีซีลาว

รัฐบาลประกาศเขตประสบภัยระดับชาติ

สำนักข่าวสารประเทศลาวรายงานว่า ในเบื้องต้นมีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 1,005 ครอบครัว มีผู้สูญหายประมาณ 34 คน ขณะนี้รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนทั้งด้านอาหาร ที่พักอาศัย เครื่องนุ่งห่ม สิ่งของจำเป็น โดยได้ร่วมกับกองทัพ สำนักงานตำรวจ พร้อมระดมยานพาหนะในทุกช่องทางเพื่อช่วยผู้ที่ยังติดค้าง

สำนักข่าวเอบีซีลาว(ABC Laos News) รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทางการได้เร่งใช้เรืออพยพผู้ประสบภัยออกจากเมืองสันไชย ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย หลังจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเตือนให้อพยพอยู่ที่สูง

รัฐบาลได้ประกาศให้พื้นที่น้ำท่วมเมืองสนามไชยเป็นเขตประสบภัยฉุกเฉินระดับชาติ พร้อมทั้งมอบให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ร่วมมือกับกระทรวงป้องกันประเทศ แขวงอัตตะปือ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งตั้งตั้งคณะรับผิดชอบ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ระดมทุน พร้อมรับความช่วยเหลือและบริจาคเงิน สิ่งของ ของจำเป็นจากทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่มีน้ำใจช่วยเหลือ พร้อมกับได้เปิดศูนย์รับบริจาคขึ้น

ที่มาภาพ:เพจ LaoFAB

เช้าวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 แขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ออกจดหมายแจ้งวิกฤติน้ำท่วม อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุของโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ทำให้น้ำไหลลงลำน้ำเซเปียน เมืองสะนามไชย แขวงอัตตะปือ นับตั้งแต่เวลา 20.00 น.ของวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 และสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ โดยให้หน่วยงานทุกฝ่ายให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมเร่งอพยพประชาชนเร่งด่วน

ที่มาภาพ:เฟซบุ๊กสำนักข่าวสารประเทศลาว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัท SK Engineering & Construction ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์ว่า สาเหตุของการทรุดตัวเกิดจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องและน้ำท่วม บริษัทฯได้ตั้งทีมงานเฉพาะกิจขึ้นและวางแผนช่วยเหลืออพยพประชาชนในหมู่บ้านใกล้เคียง รวมทั้งได้ร่วมกับรัฐบาลลาวให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย

นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ได้งดการประชุมคณะรัฐมนตรีและนำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ที่ประสบภัยเพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดพร้อมพิจารณามาตรการให่ความช่วยเหลือเพิ่มเติม

นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ลงพื้นที่ประสบภัยติดตามการให้ความช่วยเหลือ ที่มาภาพ:เฟซบุ๊กสำนักข่าวเอบีซีลาว

สถานฑูตไทยเปิดรับบริจาค

สถานทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ เปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวลาวจากเหตุเขื่อนแตกน้ำท่วมบ้านเรือน ผ่าน บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขานครหลวงเวียงจันทน์ ชื่อบัญชี Royal Embassy – Donation เลขที่บัญชี 945-1-03-115-4 ในสกุลเงินบาท และยังสามารถบริจาคที่แขวงอัตตะปือได้ผ่าน 3 บัญชีทั้งสกุลกีบและสกุลดอลลาร์ โดยสกุลกีบ ได้แก่บัญชีธนาคารการค้า เลขที่ 080110000058308001 บัญชีธนาคารพัฒนาลาว เลขที่ 0301800100000004 ส่วนสกุลดอลลาร์ผ่านบัญชีธนาคารการค้า เลขที่ 080110100021371001

ที่มาภาพ:http://vientiane.thaiembassy.org/th/news/announce/detail.php?ID=580

ราชบุรีโฮลดิ้งชี้แจง

บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีการทรุดตัวของเขื่อนดินย่อยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ว่า บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25 เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ตั้งอยู่ที่แขวงจำปาสัก ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขา ส่วน D (Saddle Dam D) ขนาดสันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 770 เมตร และสูง 16 เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเสริมการกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เกิดการทรุดตัว ส่งผลให้สันเขื่อนดินย่อยดังกล่าวเกิดรอยร้าว และน้ำไหลออกไปสู่พื้นที่ท้ายน้ำ และลงสู่ลำน้ำเซเปียน ที่อยู่ห่างจากพื้นที่เขื่อนประมาณ 5 กิโลเมตร โดยเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลเข้าสู่พื้นที่กักเก็บน้ำของโครงการฯ

ขณะนี้บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบเพื่อความปลอดภัยไปยังสถานที่พักพิงชั่วคราวตามแผนฉุกเฉินที่กำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้เร่งดำเนินการประเมินสถานการณ์ เพื่อที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนเมื่อปริมาณน้ำในเขื่อนดังกล่าวลดลง หากมีความคืบหน้าประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างมีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 90 และกำหนดจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2562

ที่ตั้งโครงการไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่มาภาพ:https://www.idsala.com/2018/07/5000.html

ปัจจุบันลาวมีเขื่อนไฟฟ้า 54 แห่ง ปี 2021 จะเพิ่มเป็น 100 แห่ง

ที่มาภาพ:http://raosukunfung.com/2018/07/25

นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ เปิดเผยในโอกาสเฉลิมฉลองความสำเร็จของการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ส่วนขยายที่มีกำลังการติดตั้ง 80 เมกะวัตต์ ว่า ปัจจุบันลาวแหล่งผลิตไฟฟ้าแล้ว 54 แห่ง รวมมีกำลังการติดตั้ง 7,162 เมกะวัตต์ สามีรถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 37,086 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี

สำหรับโครงการเชื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ส่วนขยายเพิ่มเป็นโครงการของรัฐบาล โดยขยายออกจากโครงการเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ทั้งเป็นการรองรับการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศให้เพียงพอ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มศึกษาสำรวจในปี 2012 และเริ่มก่อสร้างในปี 2015 มีมูลค่าลงทุนประมาณกว่า 122 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ

โครงการนี้นอกจากสร้างผลประโยชน์ทางการเงินให้กับรัฐบาลแล้ว ยังเป็นโครงการที่มีประสิทธิภาพสูง สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มาก และสามารถค้ำประกันด้สนพลังงานภายในประเทศให้เพียงพอด้วย

องค์กรแม่น้ำนานาชาติให้ข้อมูลเพิ่ม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มได้สะท้อนความวิตกมาในหลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานของลาว เพราะนอกจากนี้กังวลผลต่อแม่น้ำโขงแล้วยังกังวลต่อชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจในท้องถิ่น
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2019 และขายไฟในสัดส่วน 90% ให้กับประเทศไทย ภายใต้ข้อตกลงรับซื้อกระแสไฟฟ้าระหว่าง PNPC กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ EGAT ส่วนที่เหลือ 10% จะจำหน่ายผ่านเครือข่ายระหว่าง PNPC กับ Electricite du Laos

PNPC ก่อตั้งในปี 2012 โดย SK Engineering & Construction Co.,Ltd.,Korea Western Power Co., Ltd.(KOWEPO), บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ Lao Holding State Enterprise (LHSE)องค์กรแม่น้ำนานาชาติให้ข้อมูลว่า เขื่อนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนขั้นบันไดเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมดห้าเขื่อน เป็นเขื่อนลักษณะที่เรียกว่า เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ (saddle dam) หมายถึงเป็นเขื่อนเสริมพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรวบรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่เกิดจากเขื่อนหลัก เพื่อให้สามารถยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและเก็บน้ำได้

โครงการแม่น้ำเซเปียนนี้ ไหลลงแม่น้ำเซกอง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ลงสู่แม่น้ำโขง ที่สตึงเตรง กัมพูชา

จากข้อมูลที่องค์กรแม่น้ำนานาชาติมีอยู่ บริเวณเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ ‘D’ ของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยได้แตกออกประมาณสองทุ่มเมื่อคืนนี้ เขื่อนแห่งนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 410 เมกะวัตต์ โดยจะขายให้ประเทศไทย 370 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่มีสัญญาก่อสร้างในลักษณะ “สร้าง-โอนให้-ให้บริการ” (build operate transfer – BOT) โดยมีอายุสัมปทาน 27 ปี เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัทจากเกาหลีใต้และไทย ได้แก่ บริษัท SK Engineering and Construction (SK E&C) – จากเกาหลีใต้; บริษัท Korea Western Power (KOWEPO) – จากเกาหลีใต้; บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) – จากไทย และ Lao Holding State Enterprise (LHSE)

เมื่อวานนี้ (23 กรกฎาคม) หัวหน้าโครงการจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้ประชาชนของโครงการนี้ส่งจดหมายไปถึงหัวหน้าแผนกจัดสรรที่อยู่ใหม่ของโครงการที่แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ โดยระบุว่าสภาพการณ์อันตรายอย่างมาก เนื่องจากมีน้ำหลากจากแนวสันเขื่อน และเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D ใกล้จะแตกออก จดหมายระบุว่า หากเขื่อนแตก น้ำปริมาณห้าพันล้านตันจะไหลไปด้านท้ายน้ำเข้าสู่แม่น้ำเซเปียน ในจดหมายระบุให้มีการเร่งเตือนฉุกเฉินแจ้งให้หมู่บ้านด้านท้ายน้ำอพยพและย้ายไปอยู่ในที่สูง

ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังมีการออกจดหมาย (ในค่ำของวันจันทร์) เขื่อนได้แตกออก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมทะลักในปริมาณมหาศาลไปด้านท้ายน้ำการแตกของเขื่อนเป็นผลมาจากฝนที่ตกหนักตามฤดูอย่างต่อเนื่อง และฝนที่ตกหนักโดยเฉพาะในพื้นที่นี้เมื่อวันจันทร์

ส่งผลให้กว่า 4,000 ครอบครัว (บางตัวเลขระบุว่ากว่า 6,600 ครอบครัว) ต้องสูญเสียบ้านเรือนและทรัพย์สินเนื่องจากถูกน้ำท่วม และมีผู้สูญหายกว่า 200 คนมีหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมอย่างน้อย 7 แห่ง ประกอบด้วย บ้านท่าบก หินลาด สมอใต้ ท่าแสงจัน ท่าหินใต้ ท่าบก ท่าม่วง เขต สนามชัย แขวงอัตตะปือ

ชาวบ้านจำนวนมากเหล่านี้ได้ถูกอพยพมาที่อยู่ใหม่ก่อนหน้านี้ หรือที่ผ่านมาได้รับผลกระทบด้านการทำมาหากินเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อน มาในคราวนี้ยังต้องได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต้องสูญเสียบ้านเรือน ทรัพย์สิน และสมาชิกในครอบครัวไป

บทเรียนเขื่อนแตก

ความเสี่ยงที่สำคัญจากการออกแบบเขื่อน ซึ่งไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและอุบัติภัยได้ อย่างกรณีที่เกิดฝนตกหนักมาก ๆ ปัจจุบันความผันผวนด้านสภาพอากาศที่ยากต่อการพยากรณ์และรุนแรง เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในลาวและในภูมิภาคนี้ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ

ทั้งยังแสดงให้เห็นข้อบกพร่องของระบบเตือนภัยสำหรับการสร้างและการเดินเครื่องเขื่อน เนื่องจากมีการเตือนภัยที่ดูเหมือนจะล่าช้ามากและไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้ามากเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว ทั้งสองประเด็นต่างทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานของเขื่อนและความปลอดภัยของเขื่อนในประเทศลาว รวมทั้งความเหมาะสมของโครงการเหล่านี้ในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ทั้งยังมีคำถามเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบ การตรวจสอบได้และความสามารถในการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในโครงการที่เป็นของและดำเนินการโดยเอกชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล

เนื่องจากในปัจจุบันมีการก่อสร้างหรือมีแผนที่จะก่อสร้างโครงการพลังงานไฟฟ้ากว่า 70 แห่งตลอดทั่วสปป.ลาว โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการของและดำเนินการโดยบริษัทเอกชน (ในรูปแบบสัญญา “สร้าง-โอนให้-ให้บริการ”) เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนและการบริหารจัดการเขื่อน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบโดยทันที

อนึ่งก่อนหน้านี้ ทีมงานขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ ได้เคยลงพื้นที่เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย ในปี 2556 และได้เขียนงานไว้ว่า…

ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ต้องการให้มีการปรึกษาหารือก่อนการก่อสร้าง
เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2556

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้ไปพักกับครอบครัวชนเผ่ายาหวน (Nya Heun) ในพื้นที่รองรับผู้อพยพที่หนาแน่นบริเวณแขวงปากซอง ลาวใต้ ประชาชนหลายพันคนถูกบังคับให้อพยพมาที่นี่ระหว่างปี 2539-2544 เพื่อปูทางให้มีการสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยและห้วยห้อ ที่มีการวางแผนก่อสร้างในช่วงนั้น บริเวณพื้นที่ที่ตกทอดมาแต่บรรพชนของพวกเขาตามริมฝั่งแม่น้ำเซเปียนและเซน้ำน้อย แม่น้ำและลำห้วยใกล้กับถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเขาเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำจืดไหลอย่างเสรี พวกเขาสามารถเก็บของป่าได้จากในป่า มีพื้นที่เพื่อทำการเกษตรบนพื้นที่สูงโดยปลูกพันธุ์ผักต่าง ๆ ผสมกับผลไม้ กาแฟ และข้าว

แต่ในพื้นที่รองรับผู้อพยพที่ดิฉันไปพัก เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการถางป่า และมีหน้าดินตื้นไม่เหมาะสมกับรูปแบบการเกษตรบนพื้นที่สูงที่พวกเขาคุ้นเคย ทั้งไม่มีแม่น้ำบริเวณใกล้เคียงที่สามารถจับปลา หรือสามารถนำน้ำสะอาดมาใช้งานได้เหมือนที่เคยเป็นมา ชาวบ้านเหล่านี้กลับต้องกลายเป็นคนซื้อข้าว ซื้อเนื้อ และซื้อปลาจากตลาดซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 5-8 กม. โดยมีระบบส่งน้ำแบบใช้แรงโน้มถ่วงของโลกเพียงเครื่องเดียวเพื่อจ่ายน้ำสำหรับใช้งานประจำวันทั้งชุมชน ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างเป็นแรงงานรายวันในแปลงปลูกกาแฟบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นของบริษัทจากลาวและต่างชาติ รวมทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟจากแปลงปลูกเล็ก ๆ ในที่ดินซึ่งได้รับมาใกล้กับบ้าน เพื่อส่งขายให้กับบริษัท

ชาวบ้านบอกว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกเจ็บปวดจากความหิวโหยอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้เลย แม้ว่าในหมู่บ้านเดิมที่พวกเขาอยู่ เด็กอาจต้องเสียค่าเล่าเรียน และคนป่วยอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลบ้าง แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายในระดับที่ชาวบ้านจ่ายได้ เนื่องจากไม่มีรายจ่ายในด้านอื่น ๆ มากนัก แต่ในปัจจุบัน ครอบครัวเหล่านี้บอกว่ากำลังประสบปัญหาไม่มีเงินส่งลูกไปโรงเรียน หรือไม่มีเงินรักษาตัวยามเจ็บป่วย เนื่องจากเงินที่เก็บสะสมได้ต้องนำไปใช้ซื้ออาหาร

การหาทางแก้ปัญหาและอยู่รอดในที่ดินใหม่

ชาวบ้านทุกคนต่างต้องปากกัดตีนถีบในสภาพที่แร้นแค้น แต่พวกเขาต้องประหลาดใจว่า ที่ดินเดิมของพวกเขาส่วนใหญ่กลับไม่ถูกน้ำท่วม กว่า 10 ปีที่แล้ว ชาวบ้านได้รับการแจ้งเตือนว่า น้ำจากแม่น้ำจะหลากท่วมบ้านเรือนของตนโดยเร็ว เนื่องจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย

เพราะอันที่จริงยังไม่มีการสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยขึ้นมาในตอนนั้น เนื่องจากแผนก่อสร้างเดิมของบริษัทจากเกาหลีใต้ประสบปัญหาจากวิกฤตการเงินในเอเชีย ทำให้ชาวบ้านรู้สึกโกรธ สับสน และกังวลใจพร้อมกับตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงถูกบีบให้อพยพออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง

ปัจจุบันครอบครัวส่วนใหญ่ได้กลับเข้าไปจับจองที่ดินเดิมของตน พวกเขาเริ่มเพาะปลูกและเก็บของป่าอย่างที่เคยทำมา แต่ก็เพิ่งทำได้ไม่นานมานี้เอง เนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ขัดขวางไม่ให้พวกเขาเข้าไปในที่ดินของตน แต่ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ทางการบอกว่าหลายครอบครัวที่ต้องการกลับไปที่ดินเดิม ต้องสามารถจำแนกได้ว่าที่ดินของตนอยู่ที่แปลงไหน และต้องจ่ายเงินจำนวนมาก ในปัจจุบัน ถนนที่จะนำพวกเขากลับไปสู่บ้านเกิดของตนมีเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งด่านตรวจเต็มไปหมด แต่ถ้าครอบครัวเหล่านี้สามารถจ่ายค่าผ่านทางให้กับเจ้าหน้าที่ได้ พวกเขาก็สามารถกลับไปบ้านเกิดของตนเองได้

ชาวบ้านแสดงจุดยืนอย่างหนักแน่นและภูมิใจที่จะต่อต้านการบังคับให้อพยพ

แม้ว่าครอบครัวส่วนใหญ่จะย้ายรวมกันไปอยู่ในพื้นที่รองรับผู้อพยพ แต่มีสองหมู่บ้านที่ไม่ยอมย้าย ได้แก่บ้านห้วยโจดและบ้านหนองผานวน แม้จะถูกข่มขู่จากทางการ แต่ทุกครอบครัวในหมู่บ้านตัดสินใจร่วมกันกับผู้ใหญ่บ้าน ที่จะไม่ยอมรับข้อเสนอให้อพยพโยกย้าย แม้จะถูกทางการตัดบริการสาธารณูปการทั้งหลาย แต่ชาวบ้านยืนยันจะไม่ยอมละทิ้งถิ่นฐานของตนในป่าบนพื้นที่สูง ช่วงที่ดิฉันไปเยี่ยมพวกเขา ๆ ประกาศอย่างภูมิใจว่า สามารถเก็บเกี่ยวธัญญาหารจากในป่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บน้ำผึ้งป่าและการทำแปลงเกษตรขนาดเล็กเพื่อการพึ่งตนเองของครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถทำได้บนพื้นที่ที่แห้งแล้งในแปลงอพยพ

ชาวบ้านที่ห้วยโจดตระหนักดีถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนที่ถูกโยกย้ายไปแล้ว พวกเขาอธิบายกับดิฉันว่า ได้เริ่มโครงการถ่ายภาพ เพื่อบันทึกข้อมูลพันธุ์พืชและสัตว์ท้องถิ่นบริเวณภูเขาและแม่น้ำรอบชุมชน ในเวลาอันรวดเร็ว พวกเขาสามารถอธิบายถึงตัวอย่างพันธุ์ปลาที่แตกต่างกันกว่า 20 ชนิด ซึ่งจับได้จากลำห้วยและแม่น้ำบริเวณใกล้เคียง และกับข้าวอีกหลายสิบอย่างที่พวกเขาปรุงขึ้นมาจากของที่หาได้จากธรรมชาติที่มีความสำคัญเช่นนี้ ในปัจจุบันพวกเขาต้องการบันทึกข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพตอนที่บริษัทที่ทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่หรือบริษัทที่สร้างเขื่อนเริ่มเข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินของพวกเขา

อนาคตร่วมกันที่ถูกคุกคาม

บรรดาผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านที่ดิฉันได้พบต่างบอกว่า ในช่วงหกสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนของบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) และที่ปรึกษาโครงการจากประเทศไทย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้เข้ามาหาพวกเขาในหมู่บ้าน มีการถ่ายภาพบ้านเรือนของชาวบ้าน ที่ดินทำกิน และครอบครัวของพวกเขา มีการสอบถามชาวบ้านเกี่ยวกับอาหารและรายได้หลัก และเริ่มจะมีการปักป้ายชื่อของบริษัทจากเกาหลีใต้ SK Construction and Engineering บริเวณพื้นที่หน้าแคมป์คนงาน

ในตอนนี้ดูเหมือนว่าหลังจากล่าช้าไปหลายปี คงจะมีการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยเสียที ทั้งนี้ด้วยเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย และมีการลงนามสัญญาสัมปทานเมื่อเดือนตุลาคม 2555 มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จากไทย บริษัทจากเกาหลีใต้สองแห่งได้แก่ SK Engineering & Construction Company และ Korea Western Power Company และรัฐบาลสปป.ลาว โดยคาดว่า 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งออกไปประเทศไทย

โครงการที่ครอบคลุมหลายลุ่มน้ำประกอบด้วยเขื่อนหกแห่งที่จะก่อสร้างขึ้นในแม่น้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย และแม่น้ำห้วยหมากจัน โดยจะมีการผันน้ำผ่านระบบท่อและคลองเข้าไปสู่แม่น้ำเซกง คาดว่าโครงการนี้จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณป่าต้นน้ำ ซึ่งยังคงเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับชาวบ้านชนเผ่ายาหวน ซึ่งอยู่ในพื้นที่รองรับผู้อพยพ ทั้งยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการประมงในภูมิภาค ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าที่ผ่านมาได้มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนแล้วหรือไม่ แม้ว่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายพันคนในกัมพูชาซึ่งอาศัยอยู่ด้านท้ายน้ำของแม่น้ำเซกง

อันที่จริง ชาวบ้านในชุมชนที่ดิฉันได้พบใกล้กับแขวงปากซองหรือัตตะปือ ต่างไม่เคยได้ทราบเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการนี้ที่จะมีต่อผืนดิน แม่น้ำ และสัตว์น้ำรอบตัวพวกเขาเลย เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ถูกโยกย้ายมาแล้วครั้งหนึ่ง พวกเขาจึงรู้สึกโกรธและต้องการทราบว่า บริษัทจากไทยและเกาหลีใต้มีแผนการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการดำรงชีพของพวกเขา ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งบอกกับดิฉันว่า “บริษัทที่ต้องการสร้างเขื่อนเซน้ำน้อย ควรมาพูดคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านเสียก่อน พวกเขาไม่ควรเริ่มก่อสร้างเขื่อนโดยที่ยังไม่ได้พูดคุยกับชาวบ้าน พวกเราที่เป็นชาวบ้านต้องการทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเกิดขึ้นเมื่อไร… พวกเรากังวลมากในตอนนี้ ที่ผ่านมาได้มีการเริ่มจัดเตรียมพื้นที่ก่อสร้างของบริษัท SK แล้ว แต่พวกเขาไม่เคยเข้ามาที่หมู่บ้านเพื่ออธิบายอะไรเลย พวกเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เรายังคงรอคอยข้อมูลเหล่านี้”

หากสถาบันระหว่างประเทศซึ่งมีขั้นตอนปฏิบัติเพื่อคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อย่างเช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย พิจารณาที่จะลงทุนในโครงการนี้ พวกเขาจำเป็นต้องรับฟังข้อกังวลอย่างจริงจังของชาวบ้านเกี่ยวกับช่องว่างที่ชัดเจนในแง่การปรึกษาหารือและความโปร่งใสของโครงการ เรากำลังรอดูอยู่ว่าพวกเขาจะแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ English Version









ที่มาภาพ:เฟซบุ๊คสำนักข่าวเอบีซีลาว,เพจLaoFAB,