ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ภารกิจ “ปิดหีบ” งบประมาณปี 2561 เมื่อ “สรรพากร” เก็บภาษีหลุดเป้า – ไม่มีรายได้จากการประมูลคลื่น 1800

ภารกิจ “ปิดหีบ” งบประมาณปี 2561 เมื่อ “สรรพากร” เก็บภาษีหลุดเป้า – ไม่มีรายได้จากการประมูลคลื่น 1800

16 กรกฎาคม 2018


หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 มีมติผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2561 หรือที่เรียกว่า “งบกลางปี” วงเงิน 150,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรวงเงิน 100,358 ล้านบาท และอีกส่วนนำไปชดใช้เงินคงคลัง 49,642 ล้านบาท จึงไม่สามารถรอ การจัดสรรงบประมาณในปี 2562 ได้ โดยการจัดทำงบกลางปีครั้งนี้ ระบุแหล่งที่มาของรายได้ที่นำมาใช้จ่ายภายใต้งบกลางปี ว่ามาจากการจัดเก็บภาษีและรายได้รัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท ที่เหลือออกพันธบัตรรัฐบาลมากู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 100,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณปี 2561 เดิมแล้ว ทำให้ปีนี้ยอดวงเงินรายจ่ายรวมอยู่ที่ 3,050,000 ล้านบาท มากกว่าปี 2562 ประมาณ 50,000 ล้านบาท หรือ 1.6% ปีนี้จึงเป็นปีที่รัฐบาลตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้สูงที่สุด

แต่ถ้าดูเอกสารงบประมาณ ปี 2562 ฉบับปรับปรุงใหม่ จะพบว่าแหล่งเงินที่นำมาจัดงบกลางปี 2561 ในวงเงิน 49,642 ล้านบาท ถูกโยกมารวมอยู่ในหมวดรายได้ของส่วนราชการอื่น จากเป้าหมายเดิม 156,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 205,641.9 ล้านบาท โดยเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ขณะที่กรมจัดเก็บภาษีและรัฐวิสาหกิจ ยังคงใช้เป้าหมายเดิม กล่าวคือ กรมสรรพากร ได้รับมอบหมายให้จัดเก็บภาษี 1,928,000 ล้านบาท กรมสรรพาสามิต 600,000 ล้านบาท กรมศุลกากร 110,000 ล้านบาท และ รัฐวิสาหกิจ 137,000 ล้านบาท

แต่พอลงมือปฏิบัติ ปรากฏการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ล่ม ครบกำหนดวันยื่นซองประมูล ไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ทำให้ กสทช. จึงออกประกาศเชิญชวนใหม่ คาดว่าจะประกาศชื่อผู้ชนะการประมูลได้ในเดือนสิงหาคมนี้

ขณะที่ภาพรวมผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2560 – พฤษภาคม 2561) รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 1,571,788 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 60,008 ล้านบาท หรือสูงกว่าประมาณการ 4% โดยมีสาเหตุมาจากการที่ส่วนราชการจัดเก็บรายได้ 141,198 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 28,887 ล้านบาท หรือ สูงกว่าประมาณการ 25.7% และรัฐวิสาหกิจส่งรายได้เข้าคลัง 125,931 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,629 ล้านบาท หรือสูงกว่าประมาณการ 25.6% โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้าคลังสูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. สํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 3. ธนาคารออมสิน 4. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ 5. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

ส่วนกรมจัดเก็บภาษีในสังกัดกระทรวงการคลังทั้ง 3 กรม จัดเก็บภาษีได้ 1,576,196 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 17,507 ล้านบาท หรือ ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.1 % โดยเฉพาะกรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่เก็บภาษีให้รัฐบาล จัดเก็บภาษีได้ 1,131,629 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 10,811 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าฯ 0.9% ล่าสุด ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์ว่า ปีนี้กรมสรรพากรน่าจะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 40,000 ล้านบาท เนื่องจากประมาณการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร 1,928,000 ล้านล้านบาท เป็นเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2560 เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยน ตัวเลขก็ต้องเปลี่ยน แต่อย่างไรก็ตาม ตนก็จะพยายามเก็บภาษีได้ให้ตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเน้นขยายฐานภาษีทั้ง 2 ประเภท กล่าวคือ ผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ในระบบภาษีแล้ว ต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง และทำบัญชีเล่มเดียว ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่ระบบภาษีก็พยายามดึงเข้าสู่ระบบ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล Big Data มาใช้ในการจัดเก็บภาษี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสอบถามนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกรณีกรมสรรพากรเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าฯ 40,000 ล้านบาท และรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ไม่เป็นไปตามเป้าหมายจะส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า “ตอนนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ยังสูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แม้กรมจัดเก็บภาษีจะเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้าคลังสูงกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก ขณะนี้กระทรวงการคลังยังคงยืนยันให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีตามเป้าหมายเดิมคือ 1,928,000 ล้านบาท ตัวเลข 40,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขประมาณการรายได้ที่ใช้กันภายในกรมสรรพากร ยังไม่มีการปรับลดเป้าฯ ส่วนการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณนั้น นอกจากในส่วนของการจัดเก็บรายได้แล้ว คงต้องรอดูผลการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจประกอบด้วย หากเบิกจ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจไม่จำเป็นต้องออกพันธบัตรรัฐบาลมากู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจนครบวงเงินตามที่กำหนดในเอกสารงบประมาณก็ได้ ขณะนี้ทางกรมบัญชีกลางและสศค.ยังคงติดตามตัวเลขและประเมินสถานการณ์รายรับ – รายจ่ายของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา”

สำหรับฐานะการคลังของรัฐบาลช่วง 8 เดือน ของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีรายได้ทั้งสิ้น 1,490,389 ล้านบาท รายจ่าย 2,034,150 ล้านบาท ขาดดุล 543,761 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลนอกงบประมาณ ซึ่งขาดดุลอีก 24,486 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดของรัฐบาลมียอดขาดดุลทั้งสิ้น 568,247 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลไปแล้ว 361,655 ล้านบาท ดุลเงินสดของรัฐบาลยังคงติดลบอยู่อีก 206,592 ล้านบาท โดยเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 317,166 ล้านบาท