ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แผนฟื้นฟู “สหกรณ์คลองจั่นฯ” สะดุด สภาพคล่องขาดมือ หวั่นงวดที่ 5 ไม่มีเงินชำระเจ้าหนี้

แผนฟื้นฟู “สหกรณ์คลองจั่นฯ” สะดุด สภาพคล่องขาดมือ หวั่นงวดที่ 5 ไม่มีเงินชำระเจ้าหนี้

2 กรกฎาคม 2018


นายประกิต พิลังกาสา ประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

นายประกิต พิลังกาสา ประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เปิดเผยถึงสถานการณ์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หลังศาลล้มละลายกลางผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบันว่า สามารถจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้และผู้ฝากเงินไปแล้ว 3 งวด ได้ตรงตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟู แต่พอครบกำหนดชำระหนี้งวดที่ 4 เกิดปัญหาสภาพคล่องติดขัด ชำระหนี้คืนได้แค่ 75% ของวงเงินที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูฯ ที่เหลืออีก 25% ขอเวลาหาเงินมาใช้หนี้ 2 เดือน ส่งผลให้การชำระหนี้ งวดที่ 5 ซึ่งครบกำหนดในเดือนมิถุนายน 2561 ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่ฝ่ายบริหารของสหกรณ์ฯ ก็ยังไม่มั่นใจ งวดที่ 5 จะไปหาเงินจากไหนมาจ่ายให้เจ้าหนี้และสมาชิกอีก 600 ล้านบาท

นายประกิตกล่าวต่อว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเกิดปัญหาสภาพคล่องขาดมือ ไม่สามารถชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ตรงตามกำหนดเวลา มาจากแผนการฟื้นฟูกิจการที่สำคัญๆ หลายเรื่องไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูฯ ประการแรก คือ ข้อตกลงกับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ที่ว่าจะหาแหล่งเงินทุนใหม่มาสนับสนุนกิจการสหกรณ์ ไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดตั้ง “โครงการบัญชีร่วมเพื่อรักษาเสถียรภาพของสหกรณ์ทั้งระบบ” ตามหลักการที่เคยตกลงกันไว้ คือ ให้ธนาคารรัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมกันปล่อยเงินกู้ให้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ 28 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ (ยกเว้น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น) ภายใต้วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้สหกรณ์เจ้าหนี้กลุ่มนี้นำไปใช้ในการปล่อยกู้ต่อกับสมาชิกสหกรณ์นั้น โดยมีเงื่อนไขว่า สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ ต้องนำกำไรส่วนที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แบงก์รัฐ โอนเข้า “บัญชีร่วมเพื่อรักษาเสถียรภาพสหกรณ์ทั้งระบบ” ที่มีตัวแทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์เจ้าหนี้ และจากแบงก์รัฐ เป็นคณะกรรมการ ทำหน้าที่จัดสรรเงินทุนไปช่วยเหลือสหกรณ์ที่มีปัญหา เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยเฉพาะสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลอง คาดว่าจะได้รับการจัดสรรเงินส่วนนี้ปีละ 450 ล้านบาท

“เรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ผ่านโครงการบัญชีร่วม พูดกันมาตั้งแต่ปี 2557 แต่ลงมือศึกษาอย่างจริงจังในปี 2559 ช่วงที่นายอำนวย ปะติเส เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายสมชัย สัจจพงษ์ เป็นปลัดกระทรวงการคลัง ทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรฯ ต่างยอมรับนอกจากวิธีนี้แล้ว มันไม่มีวิธีอื่นที่ใดที่จะหาแหล่งเงินใหม่มาช่วยสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และสหกรณ์อื่นที่มีปัญหาได้ ช่วงปลายปี 2560 กระทรวงการคลังยังทำหนังสือมาถึงผมว่าท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการคลังหามาตรการช่วยเหลือ ต่อมาอีกไม่นานก็มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ปรากฏว่าที่เคยหารือกันมาตั้งแต่ปี 2559 กลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ เนื่องจากกระทรวงเกษตรเกิดข้อสงสัย โมเดลของการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน จึงจัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้กันใหม่ ดังนั้น ความหวังที่ว่าจะมีแหล่งเงินทุนใหม่ เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องสหกรณ์ฯ ปีละ 450 ล้านบาท ตอนนี้ก็ไม่มี” นายประกิตกล่าว

นายประกิตกล่าวต่อว่า เรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่มาเสริมสภาพคล่องให้สหกรณ์ ประเด็นนี้มีการหารือกันมา 2 ปี นอกจากการจัดตั้งโครงการบัญชีร่วมฯ มันไม่มีวิธีอื่นใดที่จะช่วยสหกรณ์ฯ ได้ เนื่องจากสหกรณ์ฯ เป็นกิจการเอกชน ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือสหกรณ์ฯ โดยตรง ไม่สามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นก็ยังพอมีความหวัง โดยจะนำเรื่องการจัดตั้งโครงการบัญชีร่วมฯ ไปหารือกับดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอคำแนะนำ และเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านกฎหมายปฏิรูปสหกรณ์ เชื่อว่านายกอบศักดิ์น่าจะช่วยสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้

ประการที่ 2 การดำเนินคดีเพื่อติดตามทรัพย์คืน และนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินส่งคืนสมาชิกและเจ้าหนี้ ก็ไม่เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ ภายหลังศาลแพ่ง ตัดสินให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นชนะคดี โดยสั่งให้นายศุภชัยและพวก นำเงินมาคืนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หากหาเงินมาคืนไม่ได้ ให้นำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด ปรากฏว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อายัดทรัพย์นายศุภชัยและพวกจำนวน 299 รายการต่อไป โดยให้เหตุผลว่าเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีฟอกเงิน ต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุดก่อน จึงนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดได้

“ประเด็นนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อแผนฟื้นฟูกิจการ ประมาณการรายรับจากการติดตามทรัพย์คืน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนฟื้นฟู กล่าวคือ ฟ้องชนะแล้ว แต่นำทรัพย์สินขายทอดตลาดไม่ได้ ผมอยากจะบอก DSI ว่าจะดำเนินคดีอาญาหรือฟอกเงินก็ทำไป แต่อย่ามายึดอายัด หน่วงเหนี่ยวทรัพย์สินของสหกรณ์ฯ ซึ่งศาลแพ่งก็ตัดสินแล้วให้คืนทรัพย์ทั้งหมด 299 รายการ ให้สหกรณ์ฯ ผมก็ได้ให้ทนายความแจ้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หากไม่ปล่อยทรัพย์ออกมา สหกรณ์ฯ จะฟ้องศาลอาญา ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ล่าสุดผมได้หารือกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว ตกลงว่าจะคืนทรัพย์ให้สหกรณ์ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะถอนอายัดเมื่อไหร่” นายประกิตกล่าว

นายประกิตกล่าวต่อว่า อย่างโครงการ World Peace Valley ของมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง มูลค่า 1,585 ล้านบาท ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง หลังศาลแพ่งพิพากษาให้นำทรัพย์สินตัวอาคาร และสิ่งปลูกสร้างบางส่วนจำนวน 9 รายการ จาก 12 รายการไปขายทอดตลาด และให้นำเงินประมาณ 599 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย คืนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ขณะนี้ทางมูลนิธิฯ ให้ทนายความยื่นอุทธรณ์ต่อศาล หากคดีถึงที่สุดถ้าหากสหกรณ์เป็นฝ่ายชนะคดี ตนก็ยังไม่รู้ว่าจะนำทรัพย์สินดังกล่าวไปขายทอดตลาดได้อย่างไร เพราะสหกรณ์ฯ มีกรรมสิทธิเฉพาะตัวอาคารและสิ่งปลูกสร้างบางส่วนเท่านั้น แต่ที่ดินทั้งแปลงเป็นกรรมสิทธิของมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง คำถามคือ ใครจะซื้อ

ประการที่ 3 แผนการขายทรัพย์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ ภายหลังสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง ให้นำที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินรอง 2 แปลง ขายทอดตลาด โดยกรมบังคับคดี คือ ที่ดินตำบลแพรกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ กับที่ดินตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏว่าขายไปได้ 1 แปลง คือ ที่ดินตำบลแพรกษา ได้เงินมาแล้ว 106 ล้านบาท ส่วนที่ดินตำบลไทรโยค ประกาศขายไป 267 ล้านบาท มีผู้ซื้อ 1 ราย นำเงินมาวางมัดจำ 14 ล้านบาท ครบกำหนดเวลาชำระเงิน ผู้ซื้อไม่มาติดต่อ กรมบังคับคดีจึงยึดเงินมัดจำ นำส่งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ขณะนี้กรมบังคับคดีกำลังจะนำที่ดินแปลงนี้ประกาศขายใหม่อีกรอบ

นายประกิตกล่าวว่า คณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมีภารกิจสำคัญ 2 ด้าน คือ 1. บริหารกิจการสหกรณ์ฯ ให้เดินหน้าต่อไปได้ ทั้งในเรื่องของการรับฝากเงิน ปล่อยสินเชื่อ ชำระค่าหุ้น 2. หาเงินมาคืนเจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน ปีละ 2 ครั้ง (แผนฟื้นฟูกิจการ) เริ่มชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน ชำระหนี้แล้ว 4 งวด คิดเป็นเงิน 2,600 ล้านบาท โดย 3 ครั้งแรก ชำระหนี้ได้ตรงตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟู แต่พอมาถึงงวดที่ 4 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เริ่มขาดสภาพคล่อง จึงทำข้อตกลงกับเจ้าหนี้ ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ งวดที่ 4 ออกเป็น 3 ครั้งย่อย ซึ่งในขณะนี้ชำระหนี้ไปแล้ว 75% ส่วนที่เหลืออีก 25% คิดเป็นเงิน 124 ล้านบาท ครบกำหนดชำระหนี้ปลายเดือนสิงหาคม 2561

  • ตำนานคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
  • “สหกรณ์คลองจั่น” คาดจ่ายหนี้งวดที่ 4 ต้องเลื่อน ระบุเจ้าหนี้บางรายค้านขายที่ดิน 2 แปลง ชี้ราคาต่ำไป
  • ข่าวซีรีย์ “สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น”
  • “งวดที่ 4 ผมมั่นใจว่าจะหาเงินมาคืนเจ้าหนี้ได้ตามที่ตกลงกันไว้ แต่งวดที่ 5 ไม่มั่นใจว่าจะหาเงินมาคืนเจ้าหนี้ได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ ครบกำหนดชำระหนี้ งวดที่ 5 สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 จึงต้องเลื่อนออกไป เพราะตอนนี้ยังไม่รู้จะไปเอาที่ดินหรือทรัพย์ตรงไหนมาขายทอดตลาด หาเงินมาคืนเจ้าหนี้ปีละ 1,200 ล้านบาท ขายที่ดินอำเภอไทรโยค คาดว่าได้เงินแค่ 267 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ ความหวังของผมตอนนี้อยู่ที่ DSI จะถอนอายัดทรัพย์สิน 299 รายการได้เมื่อไหร่ ผมก็จะทยอยนำทรัพย์เข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดภายใน 6 เดือน แต่ถ้า DSI ไม่ถอนอายัด ก็ยังไม่รู้จะเอาทรัพย์ที่ไหนมาขายทอดตลาดต่อไป เพราะตอนนี้หมดหน้าตักแล้ว นายประกิตกล่าว

    ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมีวงเงินสูงถึง 17,000 ล้านบาท สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ DSI ติดตาม ยึดอายัดทรัพย์มาได้ 3,800 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นทรัพย์สินประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 2,800 ล้านบาท น่าจะนำมาขายทอดตลาดได้เงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นหุ้นสามัญ ไม่มีมูลค่า ขายไม่ได้ ส่วนทรัพย์สินที่ยังตรวจสอบไม่พบอีกประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ DSI ขยายผลการตรวจสอบเส้นทางเงินกันต่อไป ใครรับเงินก็ต้องถูกดำเนินคดีอาญาหรือคดีฟอกเงิน

    “ผมดูแล้ว ทั้งเจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน สุดท้ายคงได้เงินคืนไม่ครบ เพราะยอดความเสียหายมันสูงถึง 17,000 ล้านบาท แต่ตรวจพบและยึดอายัดมาได้ 3,800 ล้านบาท ที่เหลืออีก 13,000 ล้านบาท ตอนนี้ยังหาไม่เจอ วันนี้สมาชิกสหกรณ์หลายคนยอมรับสภาพว่ามีจ่ายเงินคืนก็ดีแล้ว จ่ายได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ปัญหาตอนนี้คือ ทรัพย์ที่เราตรวจพบ หรือติดตามคืนมาได้เท่าไหร่ ก็ต้องส่งคืนสมาชิกทั้งหมด เพราะเป็นเงินของสมาชิกที่ถูกยักยอกไป จึงไม่เหลือเงินที่จะนำมาใช้ขยายกิจการ หรือใช้เป็นทุนหมุนเวียน ประเด็นนี้ผมก็อยากจะถามรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรงๆ ว่าจะช่วยสหกรณ์ฯ หรือไม่ช่วย หากจะช่วยสหกรณ์ฯ ผมขอมาตรการที่เป็นรูปธรรม พูดกันมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งใหม่ เรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ ยังไม่มีความคืบหน้าเลย หากรัฐบาลสมัยหน้า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็ไม่รู้จะเดินต่อไปอย่างไร” นายประกิตกล่าว