ThaiPublica > เกาะกระแส > มติ กบง. ลดชดเชย “ดีเซล” ชง กพช. เก็บเงิน LPG ส่งออกเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาแก๊สหุ้งต้มถังละ 363 บาท

มติ กบง. ลดชดเชย “ดีเซล” ชง กพช. เก็บเงิน LPG ส่งออกเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาแก๊สหุ้งต้มถังละ 363 บาท

19 กรกฎาคม 2018


ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ติดลบกว่า 100 ล้านบาทว่า ได้รับรายงานจากกระทรวงพลังงานแล้ว ทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้อนุมัติวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาแก๊สแอลพีจีถังละ 363 บาท ไปถึงจนสิ้นปี 2561 ในระหว่างนี้จะมีการพิจารณาปรับโครงสร้างราคา เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ล่าสุด วันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ โดยที่ประชุมฯ ยืนยันว่าสถานภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะดูแลราคาขายปลีกแอลพีจีที่ขายให้กับประชาชน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ และสนับสนุนนโยบายการแข่งขันในกิจการแอลพีจี หากมีการส่งออกให้ดำเนินการได้อย่างจำกัด โดยที่ประชุม กบง. ได้พิจารณาวาระสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

1. การปรับปรุงกลไกราคาแอลพีจี

สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการแอลพีจี แต่จากสถานการณ์ด้านราคาแอลพีจี ตลาดโลกขณะนี้มีความผันผวน เพื่อเป็นการบริหารจัดการสถานการณ์แอลพีจีให้เกิดเสถียรภาพ มติ กบง. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 จึงได้วางกรอบสำคัญไว้ คือ กำหนดให้บัญชีแอลพีจีของกองทุนน้ำมันฯ สามารถติดลบได้ไม่เกิน 3,000 ล้านบาท และขอความร่วมมือ ปตท. งดส่งออกแอลพีจีที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ยกเว้นมีความจำเป็นทางเทคนิค เช่น การ Shutdown และการบำรุงรักษาของหน่วยที่รับก๊าซแอลพีจี เป็นต้น ดังนั้น ที่ประชุม กบง. วันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ได้พิจารณาเพิ่มเติม โดยให้เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับกรณีที่มีการส่งออกด้วย ซึ่งจะนำเสนอที่ประชุม กพช. พิจารณาต่อไป

2. ที่ประชุม กบง. รับทราบสถิติ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2561 พบว่า ปริมาณการนำเข้าแอลพีจีเฉลี่ย 42,120 ตัน/เดือน และปริมาณส่งออกแอลพีจีเฉลี่ยอยู่ที่ 22,876 ตัน/เดือน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศสูงกว่าการผลิตในประเทศอยู่ประมาณ 20,000 ตัน/เดือน ชี้ให้เห็นว่า การนำเข้าแอลพีจีมีปริมาณมากเกินความต้องการ จึงไม่น่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนขึ้น ที่ประชุมเห็นว่าควรเพิ่มระดับการแข่งขันของตลาดในประเทศ โดยให้โรงแยกก๊าซฯ และโรงกลั่นน้ำมัน ลดการส่งอออก และให้เน้นการจำหน่ายแอลพีจีให้ตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น

3. ที่ประชุม กบง. เห็นชอบ ปรับหลักเกณฑ์ราคานำเข้าและราคาแอลพีจี ณ โรงกลั่น จากเดิมที่เปลี่ยนแปลงเป็นรายสัปดาห์ ให้เปลี่ยนแปลงทุก 2 สัปดาห์แทน โดยใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 2 สัปดาห์ก่อนหน้าในการคำนวณราคาที่จะใช้ใน 2 สัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป

4. ปรับลดภาระชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เฉพาะน้ำมันดีเซล

เนื่องจากสถานการณ์ราน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มผันผวนและลดลง โดยราคาน้ำมันตลาดโลก ปิด ตลาด ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 70.43 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 79.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 83.23 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แม้ว่าผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ปรับลดราคาขายปลีกลงแล้ว แต่ยังไม่ทันกับสถานการณ์ราคาตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันอยู่ในระดับสูง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ที่ประชุม กบง. วันนี้ จึงเห็นชอบ ปรับลดอัตราเงินชดเชยกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจาก 0.50 บาทต่อลิตร เป็น 0.13 บาทต่อลิตร และเห็นควรปรับลดอัตราเงินชดเชยกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 จาก 3.51 บาทต่อลิตร เป็น 3.10 บาทต่อลิตร

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2561 มีฐานะเป็นบวกสุทธิ 29,673 ล้านบาท ผลจากการปรับลดอัตราเงินชดเชยกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลฯ นี้จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นประมาณ 724 ล้านบาท/เดือน (หรือ 24 ล้านบาท/วัน) จากเดิมมีรายจ่าย -1,040 ล้านบาท/เดือน (หรือ -35 ล้านบาท/วัน) เป็นมีรายจ่าย -315 ล้านบาท/เดือน (หรือ -11 ล้านบาท/วัน)