ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Circular Economy: the Future We Create (2) : แนวคิดเอสซีจีขับเคลื่อนผ่าน 3R

Circular Economy: the Future We Create (2) : แนวคิดเอสซีจีขับเคลื่อนผ่าน 3R

10 กรกฎาคม 2018


เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 เอสซีจี จัดงาน “SD Symposium 2018” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy : The Future We Create” ขึ้น เป็นครั้งที่ 5 เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเด็นต่างๆ โดยมีองค์กรชั้นนำระดับโลก ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ SME สตาร์ทอัป ชุมชน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและต้นแบบความสำเร็จเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค จนถึงการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบ สู่การเติบโตอย่างสมดุลของธุรกิจ คุณภาพชีวิต และอนาคตโลกที่ยั่งยืน

  • Circular Economy: the Future We Create (1) “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ย้ำทางรอดที่ยั่งยืนต้องให้ Circular Economy ระเบิดในใจคนไทยทุกคน
  • นายปีเตอร์ บากเกอร์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development : WBCSD) กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นนวัตกรรม (circular innovation) ที่ปฏิวัติรูปแบบการผลิตและบริโภคครั้งใหญ่ของโลก ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกมีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายในวงการธุรกิจได้ จะต้องเริ่มจากจิตสำนึกของผู้บริหารและคนในองค์กรที่ต้องการขับเคลื่อน ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนก็ต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก

    อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะมีทั้งความต้องการพัฒนาประเทศ การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อีกทั้งเป็นแหล่งผลิตที่รองรับความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ดังนั้น หากมีการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ก็จะช่วยให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมที่สามารถใช้ทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้องค์กรลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรและมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจทั่วโลกเติบโตได้ถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2030 (จาก CEO Guide to the Circular Economy, WBCSD)

    นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีผลทำให้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

    นายปีเตอร์ บากเกอร์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD)

    นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยวัตถุประสงค์การจัดงานว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าในปี ค.ศ. 2030 ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกจะสูงถึง 3 เท่าของปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งนี้ เนื่องจากจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเดินหน้าพัฒนาประเทศและเพิ่มกำลังผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดโลก สวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่ลดลงเรื่อยๆ จากการถูกทำลายและใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ซึ่งความไม่สมดุลนี้ได้ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล

    ขณะเดียวกัน เมื่อทรัพยากรถูกนำไปใช้งานแล้วก็จะกลายเป็นขยะจำนวนมาก โดยคนไทย 1 คน ปัจจุบันจะสร้างขยะเฉลี่ยถึงวันละ 1.1 กิโลกรัม ซึ่งที่จริงแล้วขยะเหล่านั้นสามารถนำกลับไปใช้เป็นทรัพยากรใหม่ได้มากกว่า 60% แต่ทุกวันนี้กลับสามารถนำไปใช้ได้เพียง 31% เท่านั้น จากการที่เราไม่ตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้เสียโอกาสอีกมากที่จะนำทรัพยากรเหล่านั้นกลับมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อไป

    แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ circular economy ที่กำลังจะพูดถึงกันในวันนี้จึงเป็นแนวคิดที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และไม่มีของเหลือทิ้งในกระบวนการตั้งแต่การผลิต การบริโภค จนถึงการจัดการเมื่อสินค้าหมดอายุ

    “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรของโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เป็นเพียงการนำทรัพยากรมาผลิต และจบที่ใช้แล้วทิ้ง (take-make-dispose) ให้เป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้มากที่สุด ด้วยการสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีก เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน”

    อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เอสซีจี ในฐานะภาคธุรกิจ จึงขอเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยจัดงาน SD Symposium 2018 ขึ้น

    การจัดงาน “SD Symposium 2018” ครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ภาคประชาสังคม และภาครัฐ โดยได้รับเกียรติจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ตัวแทนภาครัฐ ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี สตาร์ทอัป และชุมชน เช่น Dow Chemical, DuPont, Michelin และ ธุรกิจแพ็คเกจจิ้งของเอสซีจี ที่จะมาร่วมเสนอตัวอย่างการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ รวมทั้งการนำเสนอตัวอย่างผลสำเร็จ เพื่อให้ผู้ร่วมงานเกิดความตระหนักและเห็นมุมมองใหม่ๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับโลก และเกิดแรงบันดาลใจในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปขับเคลื่อนและขยายผลให้เกิดขึ้นได้จริง

    “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรม และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย 4.0 ได้ต่อไปในอนาคต”

    นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าววัตถุประสงค์การจัดงาน

    สำหรับเอสซีจี ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ โดยมีการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

    หนึ่ง Reduced material use และ Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก green carton ที่ใช้วัตถุดิบลดลง 25% แต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม ทั้งยังทำให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนในการขนส่งมากขึ้น และการลดการผลิตและการขาย single-use plastic ของเอสซีจี จาก 46 %เหลือ 23% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการช่วยให้ลูกค้าลดการใช้พลังงาน เช่น Active AIRflowTM System ระบบระบายอากาศที่ทำให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว ประหยัดค่าไฟจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และการเพิ่มความแข็งแรงทนทานของสินค้า เช่น ปูนโครงสร้างทนน้ำทะเล ที่มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น 2 เท่า

    สอง Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของเอสซีจีที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และปูนโครงสร้างเอสซีจีสูตร Hybrid ที่ใช้ทดแทนปูนโครงสร้างสูตรเดิม ทำให้ใช้วัตถุดิบหินปูนที่ต้องเผาน้อยลง

    สาม Reuse และ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น โรงอัดกระดาษ (paper bailing station) เพื่อรวบรวมเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล การนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน การพัฒนา CIERRATM ซึ่งเป็น functional material ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติกให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว (single-material) แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์ แทนการใช้วัสดุหลายชนิด (multi-material) ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล และการนำขยะพลาสติกในทะเลและชุมชนมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล

    “นอกจากนี้ เอสซีจียังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ โดยล่าสุดได้ร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในการนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนยางมะตอย เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเลและชุมชน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนนจากคุณสมบัติของพลาสติก และช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำถนนได้

    “เอสซีจีหวังเป็นอย่างยิ่งว่างาน SD Symposium 2018 ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรม และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ได้ต่อไป”

    ภายหลังการเปิดงานเอสซีจี กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้แถลงข่าวประกาศโครงการ “ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีสำหรับถนนจากพลาสติกรีไซเคิล” เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นส่วนประกอบในการทำถนนยางมะตอย โดยโครงการนี้จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเลและในชุมชน รวมถึงคุณสมบัติของพลาสติกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนน พร้อมลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำถนน

    ปัจจุบัน ประเทศไทยติดอันดับ 6 ใน 192 ประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผยว่า 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลของไทยมีปริมาณขยะประมาณ 11.5 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 1.5 ล้านตัน ดาวและเอสซีจีได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกรีไซเคิลเพื่อช่วยลดการรั่วไหลของพลาสติกในชุมชนสู่ทะเล โครงการนี้จะต่อยอดเป้าหมายพันธกิจด้านความยั่งยืน พ.ศ. 2568 ของดาว ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนำเสนอโซลูชั่นสำหรับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักในเรื่องการรีไซเคิล การนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ และสร้างบริบทเพื่อส่งเสริมธุรกิจที่ยั่งยืนสำหรับผู้ผลิตพลาสติกและลูกค้า

    นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีมุ่งมั่นที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศเพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน เช่นเดียวกับความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในครั้งนี้ ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา ซึ่งเอสซีจีให้ความสำคัญมาโดยตลอดเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนด้วยการสร้างคุณค่าให้กับพลาสติกที่หมดอายุ ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ นับเป็นนวัตกรรมทางถนนเพื่อสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้คนได้อย่างแท้จริง

    นายเจฟ วูสเตอร์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนของ ดาว เคมิคอล กล่าวว่า“เป้าหมายความยั่งยืน พ.ศ. 2568 ของดาวจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรที่มีเป้าประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อชุมชนและสังคมเฉกเช่นเดียวกับเรา การร่วมมือกับเอสซีจี เพื่อจะหาโซลูชั่นที่เพิ่มคุณค่าให้กับขยะพลาสติกโดยการนำไปใช้พัฒนาเป็นถนนครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากพลาสติกได้อีกทางหนึ่ง”

    กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และเอสซีจี ประกาศโครงการ “ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีสำหรับถนนจากพลาสติกรีไซเคิล”

    เมื่อเร็วๆ นี้ ดาวได้ร่วมกับประเทศอินเดียและอินโดนีเซียจัดทำโครงการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ทำถนนยางมะตอย โดยในประเทศอินเดียนั้นได้สร้างถนนยางมะตอยจากพลาสติกรีไซเคิลในเมืองบังคาลอร์และเมืองปูเณ่รวมความยาว 40 กิโลเมตร ซึ่งใช้ขยะพลาสติกจำนวนกว่า 100 ตัน สำหรับประเทศอินโดนีเซียได้เริ่มสร้างถนนจากพลาสติกรีไซเคิลในเมืองเดป๊อคความยาวกว่า 2 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 9,781 ตารางเมตร จากขยะพลาสติกจำนวนกว่า 3.5 ตัน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่พลาสติกที่จะถูกนำไปฝังกลบและลดการเล็ดลอดออกสู่ทะเล

    นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ดาวได้นำประสบการณ์และองค์ความรู้ที่มีจากการทำถนนยางมะตอยจากพลาสติกรีไซเคิลในประเทศต่างๆ มาร่วมกับความเชี่ยวชาญด้านพลาสติกของเอสซีจี เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการทำถนนยางมะตอยจากพลาสติกรีไซเคิลที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยโซลูชั่นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมประเทศไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ circular economy ได้อย่างเป็นรูปธรรม