ThaiPublica > เกาะกระแส > ทักษะ “อาชีวะ” ยุค S-Curve ที่ผู้ประกอบการไทยอยากได้ไปทำงาน

ทักษะ “อาชีวะ” ยุค S-Curve ที่ผู้ประกอบการไทยอยากได้ไปทำงาน

18 กรกฎาคม 2018


โครงการ Chevron Enjoy Science จัดงานเสวนา “อาชีวะ 4.0 ศักยภาพแห่งอนาคต”
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

หนึ่งในความท้าทายสำคัญของการพัฒนาประเทศเวลานี้ คือการเตรียมกำลัง “คน” ให้พร้อมก้าวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะสาขา “อาชีวะ” ให้มีทักษะตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องยกระดับกระบวนการผลิตสู่ระบบออโตเมชันในอนาคต

คำถามสำคัญก็คือ ทักษะแรงงานหรือบุคลากรแบบไหนที่ภาคการศึกษาจะต้องผลิตออกมาให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve อย่างเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ พลังงาน แปรรูปอาหาร หรือไมโครอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งเทรนด์ของอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา

 “วิศวกรเคมี-ช่างไฟฟ้า-ช่างวัสดุศาสตร์”

นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวในงานเสวนา “อาชีวะ 4.0 ศักยภาพแห่งอนาคต” เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ “ดิสรัปชัน” ครั้งที่สอง จากเครื่องยนต์มาเป็นรถไฟฟ้า เพราะฉะนั้นในยุครถไฟฟ้าจึงต้องใช้ทักษะวิชาชีพใหม่ๆ จากทุกภาคส่วน แต่สิ่งที่เราอยากได้คือ “ช่างเคมี” หรือ “วิศวกรเคมี” เพราะรถใช้แบตเตอรี่ และสิ่งที่อยู่ในแบตเตอรี่ทั้งหมดคือสารเคมี

นอกจากนี้ เรายังอยากได้ “ช่างไฟฟ้า” เพราะในเครื่องยนต์และรถยนต์จะมีระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าในรถยนต์มากขึ้นนั่นเอง  อีกส่วนหนึ่งคือ “ช่างวัสดุศาสตร์” เชี่ยวชาญงานด้านวัสดุศาสตร์ เพราะในรถยนต์จะมีวัสดุที่เปลี่ยนไป ไม่ต่างจากวัสดุใหม่ๆ ในโทรศัพท์มือถือ

“ความท้าทายของรถยนต์ คือทุกวันนี้เราต้องการรถที่เบามากขึ้น เพราะรถที่เบาคือรถที่ประหยัดพลังงาน จะใช้เหล็กหนักๆ เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว แต่ต้องการวัสดุที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างแร่ธาตุหลายอย่าง เพื่อให้ออกมาเป็นวัสดุใหม่ในการทำรถ  ดังนั้นเราต้องการเด็กที่เก่งวิชาเคมีมากๆ ควบคู่กับเด็กที่เก่งสายไฟ”

อย่างไรก็ตาม นอกจากความรู้ในเชิงลึกแล้ว ชนาพรรณบอกว่าช่างเทคนิครุ่นใหม่ก็ยังจะต้องมีความรู้พื้นฐานเป็นหลักสำคัญ โดยเฉพาะความรู้ด้านความปลอดภัย หรือแม้กระทั่งความรู้เรื่อง  5ส. (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย) สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ในจิตสำนึกนอกเหนือจากความรู้ด้านวิชาชีพและวิชาการ ครูต้องช่วยติดเครื่องมือ “ความตระหนักรู้” ให้กับเด็กมาตั้งแต่เรียนจบ ก็จะสามารถช่วยภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมาก

ภาษาอังกฤษต้องได้-ภาษาดิจิทัลต้องเป็น

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล ผู้ประกอบการแปรรูปอาหาร กล่าวว่า ภาคเกษตรเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ที่สำคัญ เพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตอาหารเลี้ยงโลก ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำในอนาคตคือการแปรรูปอาหารแห่งอนาคต เพื่อรองรับประชากรและความต้องการอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยการสร้าง “คน” ให้เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์เพื่อผลิตอาหารได้มากขึ้นแข่งขันกับโลกได้

“เราจะต้องแปรรูปเป็นอาหารสำหรับอนาคต เป็นฟังก์ชันนัลฟู้ด เป็นไบโอเคมิคัล เป็นยารักษาโรค หรือเป็นกลุ่มที่เรียกว่าไบโออีโคโนมี ซึ่งจะต้องกลับมาที่การสร้างคนเพื่อจะเข้าใจในเรื่องเหล่านี้และแข่งขันได้ประชากรที่เติบโตขึ้น ความต้องการอาหารมากขึ้น  อาหารที่มีสุขภาพมากขึ้น คนที่มีอายุมากขึ้น จำเป็นต้องมีอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเราผลิตได้ด้วยคนที่มีความรู้ความเข้าใจ”

ฉะนั้น ภาคเกษตรจึงอยากได้ช่างเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการดูแลเทคโนโลยีเครื่องจักรใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตได้  รวมทั้งมีทักษะความสามารถในด้าน “ภาษา” ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือแม้แต่ภาษาญี่ปุ่น

“…อาลีบาบาที่ยิ่งใหญ่ของแจ็ค หม่า  มาจากประตูสำคัญที่แจ็ค หม่า เปิดได้คือภาษาอังกฤษ  แจ็ค หม่า สามารถสื่อสารแล้วรู้ความเป็นไปของโลกตะวันตกกับจีน”  ประวิทย์กล่าว

นอกจากนี้ยังมี “ทักษะด้านดิจิทัล” ที่จะมีบทบาทอย่างมากและพลิกอุตสาหกรรมในทุกวงการ ไม่ว่าจะวงการเกษตร วงการพลังงาน วงการยานยนต์ ฯลฯ  เพราะดิจิทัลคือหัวใจสำคัญของ New S-Curve ทั้งหมดของวันนี้

“สำหรับอุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องการคือ ความสามารถในการเรียนรู้ ทักษะภาษาอังกฤษ ภาษาดิจิทัล นอกเหนือจากวิชาชีพที่เขาเรียนมา”

รวมทั้งยังมี “กลุ่มไฟฟ้ากำลัง”,  “กลุ่มเทคนิคการผลิต”, “กลุ่มพืชศาสตร์”, “วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์” ซึ่งทางกลุ่มมิตรต้องการและกำลังพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ช่วยเหลือภาคการศึกษาอยู่เช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล “Data Scientist”

นายนรเชษฐ์ แซ่ตั้ง ผู้จัดการโรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์เป็นชิ้นส่วนหลักในการขับเคลื่อนนวัตกรรม ซึ่งต้องมีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้ดาต้าให้มีประโยชน์มากที่สุดในการเพิ่มผลิตผลและตอบสนองกับเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ต้องแข่งขันกับเทคโนโลยีตลอดเวลา เพราะฉะนั้น พื้นฐานสำคัญคือต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างบริษัทซีเกทฯ แต่ก่อนใช้แรงงานคนจำนวนมากถึง 16,000 คน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 พันคน ทว่ากำลังการผลิตกลับเพิ่มขึ้น

“ดังนั้น พื้นฐานสำคัญคือต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญมาก อยากให้น้องๆ อาชีวะรวมทั้งอาจารย์เปิดกว้างว่ามนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีความสามารถมีศักยภาพที่ไม่มีข้อจำกัด”

นอกจากนี้ อีกหนึ่งทักษะที่บริษัทเตรียมรับกับอนาคตคือ “ดาตาอนาไลติกส์” (data analytics) เพราะการเรียนรู้จากประสบการณ์อย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป แต่จะต้องใช้ประสบการณ์บวกกับดาตามาวิเคราะห์ สามารถจัดการข้อมูลอันมหาศาลได้อย่างชาญฉลาด นำมาเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลได้ คนทำงานด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) จึงสำคัญเพราะดาตาอนาไลติกส์เป็นหนึ่งในเทรนด์ของอนาคต

ที่มาภาพ : http://www.uasean.com/kerobow01/1301

ช่าง “multi skill” คนเดียวทำได้หลายอย่าง

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลังงาน บอกว่า แนวโน้มสำคัญของธุรกิจพลังงานคือการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านช่างเทคนิคหรือวิศวกร ทำอย่างไรคนเหล่านี้ถึงจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ นำดิจิทัลมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมพลังงานมีความเกี่ยวข้องกับวัตถุไวไฟ ฉะนั้นทักษะหนึ่งที่เราหาอยู่ก็คือทักษะการทำงานที่ปลอดภัยทั้งกับตัวเองและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งภาพรวมของประเทศยังไม่ค่อยดีมากนัก ความมีจิตสำนึกทางด้านความปลอดภัยไม่ค่อยสูง

มากกว่านั้นคือเราอยากให้ทำได้ 3 อย่างในคนเดียวเป็น “multiskill” คือ ช่างเครื่องกลที่มีความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ โอเปอเรชัน และทำงานปลอดภัย  ซึ่งจะเป็นแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ คนคนหนึ่งเราอยากให้รู้หลายอย่าง

ที่สำคัญคือมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่และเปิดรับว่าตัวเองเปลี่ยนได้ เรียนจบช่างยนต์มาแต่ถ้าให้เรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ก็ทำได้ เป็นเรื่องของ “growth mindset”  คือมีความเชื่อว่าตัวเองพัฒนาได้  รวมทั้งเรื่องภาษาก็เป็นส่วนสำคัญ

“นอกจากรู้ลึกในสิ่งที่ตัวเองเรียนมาแล้ว ยังต้องพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่  เชื่อว่าตัวเองสามารถจะเรียนรู้เรื่องใหม่ได้”  อาทิตย์กล่าว