ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”จี้ AOT เปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ให้ทางเลือก “ใน-นอก” พื้นที่สัมปทานดิวตี้ฟรีภายใน 30 วัน

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน”จี้ AOT เปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ให้ทางเลือก “ใน-นอก” พื้นที่สัมปทานดิวตี้ฟรีภายใน 30 วัน

5 กรกฎาคม 2018


นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย

จากกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” จัดหาพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Pick-up Counter) เพื่อให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองรายอื่นใช้ส่งมอบสินค้าร่วมกันแล้ว ปรากฏว่า ทอท. ทำหนังสือแจ้งผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ไม่สามารถดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เนื่องจากจุดส่งมอบสินค้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่อยู่ในสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นสิทธิของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) ในฐานะผู้ชนะประมูล

หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินนำหนังสือชี้แจงของ ทอท. มาพิจารณาแล้ว เห็นว่ายังไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใดที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนหน้านี้ได้ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงทำหนังสือยืนยันผลวินิจฉัยดังกล่าวไปถึงนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ทอท. ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป แต่ปรากฏว่า ทอท. ก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน

  • AOT เมินคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินตั้ง “จุดส่งมอบสินค้า” สมาคมดิวตี้ฟรีจี้ “นายกฯ-สนช.-สผผ.” ปฏิบัติตาม รธน.
  • ผู้ตรวจการแผ่นดินยืนคำวินิจฉัย ชง “บิ๊กตู่” สั่ง AOT จัดพื้นที่สนามบิน เปิด “จุดส่งมอบสินค้ากลาง”
  • ผู้ตรวจการแผ่นดิน รายงาน สนช. AOT ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอ-เปิด “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ”
  • สมาคมดิวตี้ฟรีจี้ สนช. เปิดประชุมด่วน กรณี AOT ไม่ทำตามผู้ตรวจการแผ่นดิน-สั่งเปิด “จุดส่งมอบสินค้า”
  • นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จึงทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ซึ่งกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องจัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี, สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภาเป็นการเร่งด่วน หลังจากพิจารณาคำร้องของนางรวิฐาแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นร่วมกัน ให้จัดทำรายงานเรื่องนี้ส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นกรณีเร่งด่วน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 วรรค 2 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินทำเรื่องร้องเรียนไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรณีหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน

    ทั้งนี้ระหว่างรายงานข้อร้องเรียนของผู้ตรวจการแผ่นดิน รอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของ สนช. นั้น เป็นช่วงที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้พอดี ในมาตรา 33 กล่าวถึงกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่ได้รับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในกำหนดเวลา ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ โดยให้ถือว่ารายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้น สนช. จึงทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยขอให้ยืนยันอีกครั้งว่าจะเลือกใช้ช่องทางใด กล่าวคือ ส่งให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนตามกฎหมายฉบับเก่า หรือ จะส่งให้ ป.ป.ช. ตามกฎหมายฉบับใหม่

    วันที่ 26 มีนาคม 2561 นางรวิฐา ทำหนังสือถามผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีที่เคยขอให้นำคำวินิจฉัยดังกล่าวส่งให้ที่ประชุม สนช. มีความคืบหน้าอย่างไร ล่าสุด พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึงนางรวิฐา พงศ์นุชิต ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 32 ที่ระบุว่า ก่อนมีคำเสนอแนะ ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความสามารถ และอุปสรรคของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการตามแนวทางที่เสนอแนะมาประกอบการพิจารณาด้วย ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีการประชุมหารือกับ ทอท., กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 รับทราบรายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2560 โดยให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแล ทอท. และให้ ทอท. นำความเห็นผู้ตรวจการแผ่นดินไปพิจารณาทบทวน และดำเนินการตามให้ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป และที่ประชุมในวันดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีความเห็นดังนี้

      1. ให้ ทอท. จัดหาพื้นที่นอกสัญญาโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบการรายอื่น สามารถประกอบกิจการได้

      2. ให้ ทอท. ประสานกับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด หรือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด คู่สัญญา เปิดจุดส่งมอบสินค้าให้ผู้ประกอบการรายอื่น

    ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 34 ระบุว่า “ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมแก่บุคคลใด ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามคำเสนอแนะนั้นภายใน 30 วัน เว้นแต่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ เห็นว่า การดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงาน ให้แจ้งผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนพ้นกำหนด 30 วัน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อยุติโดยเร็ว”

    ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงทำหนังสือแจ้ง ทอท. ให้ดำเนินการตามข้อ 1 หรือ ข้อ 2 โดยให้รายงานผลการดำเนินงานให้สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 30 วัน

    ด้านนางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เปิดเผยว่า หลังจากได้พิจารณาหนังสือชี้แจงความคืบหน้าเรื่องนี้จากผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วจะเห็นได้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินยังคงยืนยันคำวินิจฉัยเดิมโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ได้เพิ่มทางเลือกให้กับ ทอท. กรณีที่ ทอท. มีความเห็นว่าจุดส่งมอบสินค้าเป็นกิจกรรมที่อยู่ในสัญญาสัมปทาน ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอแนะให้ ทอท. ไปจัดหาพื้นที่ที่อยู่นอกสัญญาสัมปทาน เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ หรือให้ ทอท. ไปเจรจากับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เพื่อแบ่งพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นเป็ดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะด้วย โดยกำหนดให้ ทอท. เลือกดำเนินการตามข้อ 1 หรือ ข้อ 2 ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือจากผู้ตรวจการแผ่นดิน

    “ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือแจ้งสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ตนไม่แน่ใจว่าผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือแจ้ง ทอท. ในวันเดียวกันกับที่แจ้งสมาคมหรือไม่ หากแจ้งวันเดียวกับสมาคมฯ ทอท. ต้องทำหนังสือแจ้งผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 15 กรกฎาคม 2561 ซึ่งตนจะให้เวลา ทอท. ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ทอท. ยังไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะผู้ตรวจการแผ่นดินข้อใดเลย อาจถือได้ว่า ทอท. ให้ความสำคัญกับสัญญามากกว่าข้อบัญญัติของกฎหมาย ขณะที่สัญญาสัมปทาน ข้อ 25 เรื่องข้อสงวนสิทธิ ระบุว่า “การดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานดังกล่าว หากมีปัญหาในทางปฏิบัติ หรือมีการตีความเงื่อนไขสัญญา ให้ ทอท. และผู้รับอนุญาตร่วมหารือเพื่อหาข้อยุติ ทั้งนี้ กรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน ให้ความเห็นหรือทางเลือกของ ทอท. ถือเป็นที่สุด” เป็นเกราะป้องกันตัวผู้บริหาร ทอท. อยู่แล้ว แต่ ทอท. ก็ยังไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทางสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยคงต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรมต่อไป แต่ถ้า ทอท. ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินข้อใดข้อหนึ่ง ทางสมาคมฯ ก็ต้องยอมรับ เพราะถือว่า ทอท. ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว” นางรวิฐากล่าว