ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ทวงพื้นที่จุดส่งมอบสินค้า “ดิวตี้ฟรีในเมือง” จากสนามบินสุวรรณภูมิ สะเทือนทำเนียบรัฐบาล

ทวงพื้นที่จุดส่งมอบสินค้า “ดิวตี้ฟรีในเมือง” จากสนามบินสุวรรณภูมิ สะเทือนทำเนียบรัฐบาล

17 กรกฎาคม 2018


กรณีสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Pick-up Counter) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร ใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าร่วมกันที่เงียบหายไปพักใหญ่ วันนี้กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง ภายหลังผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือถึง ทอท. เสนอแนะทางออกในการแก้ปัญหาจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ โดยให้ ทอท. เลือกดำเนินการได้ 2 แนวทาง ดังนี้

    1. ให้ ทอท. หาพื้นที่นอกสัญญาโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะเพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถประกอบกิจการได้

    หรือ

    2. ให้ ทอท. ประสานกับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด หรือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด คู่สัญญา เปิดจุดส่งมอบสินค้าให้ผู้ประกอบการรายอื่น

ทั้งนี้ หนังสือผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า ให้ ทอท. ดำเนินการตาม ข้อ 1 หรือ ข้อ 2 ภายใน 30 วัน ยกเว้น ทอท. เห็นว่า หากดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวขัดกฎหมาย กฎ คำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงาน ให้แจ้งผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 30 วัน

ปรากฏว่า นายธเนศ โกละกะ ทนายความ ออกมาให้ความเห็นผ่านไทยรัฐออนไลน์ว่า ตามมาตรา 37 (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ระบุ “ห้ามมิให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัย เสร็จเด็ดขาดแล้ว” และวรรคสุดท้าย “กรณีที่ความปรากฏในภายหลังว่าเป็นเรื่องที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน สั่งยุติเรื่อง” (วรรคหนึ่ง เรื่องที่เป็นนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกําหนด เว้นแต่นโยบายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือมีผลให้มีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ)

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 18 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560

ข้อคิดเห็นดังกล่าว อาจเป็นประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องพิจารณา กล่าวคือ 1. กรณีนางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน ช่วงปลายปี 2559 จนกระทั่งผู้ตรวจแผ่นดินมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ให้ ทอท. จัดหาพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ ให้ผู้ประกอบการรายอื่นใช้ร่วมกัน และ 2. กรณี นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 กล่าวหากรรมการบริษัท ทอท. และพวกรวม 18 คน ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่เรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ครบถ้วน ตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งกำหนดให้จ่าย 15% ของรายได้จากยอดขาย

ทั้ง 2 กรณี เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ โดยนางรวิฐาเรียกร้องผู้ตรวจการแผ่นดินในประเด็นที่ให้ ทอท. หาพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ ส่วนนายชาญชัย ไปฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในประเด็นกล่าวหาคณะกรรมการ ทอท. เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอนแทนจากผู้รับสัมปทานไม่ครบ โดยเชิญผู้ตรวจการแผ่นดินมาให้ปากคำต่อศาลในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2561 จึงมีประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน อาจต้องวินิจฉัยว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ เข้าข่ายมาตรา 37 (1) และ (2) ตามที่กล่าวข้างต้นหรือไม่ อย่างไร

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งหนังสือถึง ทอท. แนะนำให้เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือ โดยนายวิษณุกล่าวว่า “หาก ทอท. ทำตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ ควรทำหนังสือตอบกลับผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมชี้แจงเหตุผล ถ้าเข้าใจก็จบ แต่ถ้าไม่เข้าใจ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะทำหนังสือทักท้วงอีกครั้ง หากยังไม่ดำเนินการ ก็ฟ้องผู้บังคับบัญชาและรายงานต่อไป” การไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดิน ถือเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า “ต้องรอให้ถึงจุดสุดท้ายเสียก่อน”

ส่วนนางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย กล่าวว่า ตอนนี้ยังให้ความเห็นอะไรไม่ได้ เนื่องจากต้องรอดูว่า ทอท. จะทำหนังสือตอบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าอย่างไร เลือกดำเนินการ ตามข้อ 1 หรือ ข้อ 2 หรือ มีเหตุผลประการใดที่ไม่สามารถดำเนินการตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ ซึ่งคำตอบของ ทอท. จะแสดงให้เห็นถึงเจตนา โดยผู้ตรวจการแผ่นดินให้เวลา ทอท. ทำตามข้อเสนอแนะภายใน 30 วัน ซึ่งตนเข้าใจว่านับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2561 หาก ทอท. ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะดำเนินการตามกฎหมายของผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ คงต้องรอหนังสือแจ้งจากผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ทอท. มีเหตุผลในการปฏิเสธข้อเสนอแนะอย่างไร ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป