ThaiPublica > คอลัมน์ > ยุคต่อจากสมาร์ทโฟน

ยุคต่อจากสมาร์ทโฟน

15 มิถุนายน 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/80/Samsung_Android_Smartphone.jpg/1200px-Samsung_Android_Smartphone.jpg

ผู้ที่ติดสมาร์ทโฟนเป็นยาเสพติดบางคนอาจสงสัยว่าเราเป็นขี้ยากันมาประมาณ 10 ปีแล้ว ต่อจากนี้ไปจะมีอะไรให้เราเสพอีก ข้อสงสัยนี้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ IMF และ Morgan Stanley ที่ว่าโลกกำลังอยู่ในขั้นแรกของการเปลี่ยนผ่านจากปลายยุคของอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ (mobile internet ซึ่งครอบคลุมทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป และเครื่องมือชนิดอื่น) สู่ยุคใหม่ของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง (data-centered computing era) หลักฐานที่เริ่มเห็นก็คือ ขณะนี้ยอดขายสมาร์ทโฟนในระดับโลกไม่ขยายตัวร้อนแรงดังที่เคยเป็นมา

ปรากฏการณ์นี้เป็นข่าวดีสำหรับบางเศรษฐกิจในเอเชีย ซึ่งได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเทคโนโลยีไอทีมานาน การขยายตัวอย่างร้อนแรงของอุปกรณ์ยุคใหม่ซึ่งได้แก่เครื่องมือหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีที่พกติดตัวได้ และเครื่องใช้ไฟฟ้าประจำบ้านที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตช่วยคานยอดขายสมาร์ทโฟนที่เย็นลงไปพอควร ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศเหล่านี้อยู่ในปัจจุบัน

อุปกรณ์ยุคใหม่กำลังปรากฏตัวชัดขึ้นมาทุกขณะโดยกำลังแข่งขันและกำลังทดแทนอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ ซึ่งสิ่งใหม่เหล่านี้รวมเทคโนโลยีหลายอย่างเข้าด้วยกันในตัวของมันเองโดยอาศัยข้อมูลเป็นหัวใจ เช่น AI (Artificial Intelligence), IOT (Internet Of Things ซึ่งหมายถึงการเชื่อมต่ออุปกรณ์หรือชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่ฝังตัวอยู่ในสิ่งรอบตัวเข้าด้วยกันผ่านอินเทอร์เน็ตโดยสามารถส่งและรับข้อมูลถึงกันได้), Virtual Reality (เช่น สวมหมวกที่มีแว่นตาซึ่งเมื่อมองเข้าไปแล้วจะเห็นเสมือนว่าตนเองอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย) และ Augmented Reality (เช่น ภาพในสมาร์ทโฟนที่ปรากฏข้อมูลบอกอายุของตึก สถานที่ของห้องน้ำ ภาพรถที่กำลังวิ่งมาจากอีกถนนหนึ่ง ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ฯลฯ Google Glass คือประดิษฐกรรมที่รู้จักกันดี)

ตัวอย่างของอุปกรณ์ที่ขายดีอย่างมากในปัจจุบัน ได้แก่ กล้องถ่ายรูปที่ติดอยู่กับตัวผู้ถ่ายตลอดเวลา (ที่สร้างสำหรับตำรวจและทหารสามารถบันทึกวีดีทัศน์และภาพถ่ายของผู้คนและสถานที่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นหน้าคน ป้ายทะเบียนรถ ข้อมูลที่ได้รับจาก IOT ในกล้องจะส่งไปวิเคราะห์หาความผิดปกติของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น หรือตรวจจับบุคคลหลบหนี หรือรถที่คดีค้างอยู่โดยเทียบกับข้อมูลที่เก็บไว้)

ยอดขายทั่วโลกของกล้องติดตัวดังกล่าวคาดว่าจะถึง 5.6 ล้านหน่วยในปี 2021 ซึ่งเป็นสามเท่าของยอดขายประมาณ 1.6 ล้านหน่วยในปี 2018

อุปกรณ์อื่นได้แก่สมาร์ทวอทช์ ซึ่งให้ข้อมูลสุขภาพ การออกกำลังกาย จำนวนก้าวที่เดิน แคลอรี่ที่เผาผลาญ การเต้นของหัวใจ ตลอดจนข้อมูลต่างๆ จากสมาร์ทโฟน ฯลฯ นั้นคาดว่าจะขายได้ 81 ล้านเรือนในปี 2021 โดยเพิ่มขึ้นจาก 48 ล้านเรือนในปี 2018

การใช้โดรนและหุ่นยนต์เพื่อรับใช้มนุษย์ ได้แก่ การสำรวจพื้นที่เกษตรกรรมทางอากาศการพยากรณ์ผลผลิต ความบันเทิง การถ่ายภาพมุมไกล ฯลฯ ของโดรน และเครื่องดูดฝุ่น อุปกรณ์ทุ่นแรงในบ้านในการยกหรือแบกหาม การเป็นเพื่อนมนุษย์ในรูปของคนหรือสัตว์เลี้ยง ฯลฯ ของหุ่นยนต์ ก็จะขยายตัวเช่นเดียวกัน โดยคาดว่ายอดขายจะเพิ่มอีกหนึ่งเท่าตัวในปี 2021

เทคโนโลยีทั้ง AI, IOT, Virtual และ Augmented Reality ตลอดจนเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์จะเชื่อมประสานกันเป็นอุปกรณ์ใหม่ที่รับใช้มนุษย์ไม่ว่าในการทำงานหรือบันเทิงได้อย่างน่าพอใจมากกว่าการเป็นเพียง mobile internet เท่านั้น

ดีมานด์ของอุปกรณ์เหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อผู้บริโภคเห็นประโยชน์ (ซัพพลายเป็นตัวสร้างดีมานด์) และจะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า derived demand ของอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของสินค้าใหม่เหล่านี้ตามมา ซึ่งกลุ่มประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่มีความเชี่ยวชาญและมีฐานการผลิตเดิมอยู่แล้วจะได้ประโยชน์ ส่วนใครจะได้จะเสีย จะได้มากกว่ากันนั้น ยากที่จะหยั่งรู้ได้เนื่องจากเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าตลอดเวลาจนมีสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอยู่เสมอ (Sony กำลังพัฒนา เซ็นเซอร์สำหรับเทคโนโลยี 3D ที่มีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมต่อกับ IOT กล่าวคือสามารถ “อ่าน” สิ่งที่เป็น 3 มิติ และนำไปประยุกต์ต่อได้อย่างคล่องตัว) ในขณะที่ดีมานด์ของผู้บริโภคในโลกก็พลิกผันอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

นอกเหนือจากการเป็นอุปกรณ์ใหม่ที่หวือหวาและ “ทันสมัย” กว่าสมาร์ทโฟนแล้ว การที่คนในโลกมีสมาร์ทโฟนกันมากขึ้นทุกที (มีประมาณการว่ามีคนใช้ 2.1 พันล้านคนในประชากรโลก 7 พันล้านคน) มีผลทำให้ยอดขายไม่พุ่งขึ้นมากเหมือนที่ผ่านมา จนเชื่อกันว่าธุรกิจภาคสมาร์ทโฟนจะไม่รุ่งเหมือนที่เคยเป็นมา ถึงแม้ว่าในแต่ละปีจะมีจำนวนการผลิตมากมายกว่าอุปกรณ์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นก็ตามแต่ประเด็นที่กล่าวถึงในที่นี้คือแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจเทคโนโลยีสมัยใหม่

ก้อนหินทุกก้อนที่ขว้างขึ้นไปแล้วต้องตกลงมาฉันใด สรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นความนิยมของสินค้า ลาภ ยศ และสรรเสริญ ตลอดจนสังขาร ก็ฉันนั้น ทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามเวลาซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญที่สุดของมนุษยชาติเพราะมันทำลายทั้งความงามและความสุข การยอมรับสัจธรรมของเวลาเท่านั้นที่จะทำให้พอรับเอามันมาเป็นเพื่อนได้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่อังคาร 12 มิ.ย. 2561