ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB Analytics ประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง เอกชนกลับมาลงทุน -กระตุก กนง. “ขึ้นดอกเบี้ย-เตรียมกระสุน” รับมือความผันผวน

TMB Analytics ประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง เอกชนกลับมาลงทุน -กระตุก กนง. “ขึ้นดอกเบี้ย-เตรียมกระสุน” รับมือความผันผวน

1 มิถุนายน 2018


นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนของเอกชนที่กลับมาขยายตัว มีการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นแตะระดับ 70% จากที่ก่อนหน้านี้ 2 ปีเฉลี่ยอยู่เพียง 65% เท่านั้น นอกจากนี้ หากดูรายละเอียดของการลงทุนจากการนำเข้าจะพบว่ามีการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนไปถึงการยกระดับสายพานการผลิตของประเทศใหม่จากเดิมที่จะเน้นเพียงการซ่อมแซมบำรุงรักษา เพื่อรอจังหวะการลงทุน

ทั้งนี้ หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่ากลุ่มที่อิงกับการส่งออกจะได้รับอานิสงจากการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมไปถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นกว่า 30% ในช่วงที่ผ่านมาและส่งผลให้ภาคส่งออกไทยกลับมาขยายตัว เช่น กลุ่มเคมีภัณฑ์ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมขาลง เช่น เหล็ก สิ่งทอ กลับสะท้อนภาพการใช้กำลังการผลิตที่ลดลง

“ประเด็นสำคัญคือถามว่าอีก 30% ที่เหลือถ้านำมาใช้สินค้าที่ผลิตออกมาจากขายได้หรือไม่ เพราะช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกสินค้าที่ไม่ค่อยตรงกับความต้องการของตลาดโลกมากนัก อย่างเช่นอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกเป็นฮาร์ดดิสก์ ไม่ใช่สมาร์ทโฟนซึ่งเป็นที่ต้องการ ดังนั้น พอกำลังการผลิตขึ้นมาถึง 70% และต้องการลงทุนเพิ่ม ก็อาจจะแปลได้ว่าเป็นการลงทุนที่อัปเกรดยกระดับสายพานการผลิตใหม่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่อีกด้านรัฐบาลได้ผลักดันโครงการอีอีซี โดยประกาศใช้กฎหมายแล้วก็จะมาเป็นปัจจัยหนุนนที่สำคัญในระยะข้างหน้าว่าจะทำให้การลงทุนฟื้นตัวได้หรือไม่ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจก็กลับขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 50 มาสักพักแล้ว” นายนริศ กล่าว

เตรียมรับมือส่งออกชะลอตามเศรษฐกิจการค้าโลก

นายนริศ กล่าวต่อไปถึงภาวะการส่งออกในระยะข้างหน้าว่า แม้จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ฟื้นตัว แต่คาดว่าภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาอาศัยการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ขณะที่ยุโรปยังคงทรงตัวและต้องกำลังเผชิญปัญหาการเมืองในอิตาลี เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจยังคงซึมๆ ทำให้ระยะต่อไปเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวไม่เพียงพอที่จะฉุดดึงภาวะเศรษฐกิจโลกให้เติบโตสูงขึ้นต่อไปได้ สอดคล้องกับภาคการผลิตที่ดัชนีการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2561 เริ่มชะลอตัวลงหลังจากปรับตัวดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคของเอกชนมีเพียงสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่จีนจะต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ภาคเอกชนในระดับสูง และจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในอนาคต

ปัจจัยเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ภาคการค้าโลกที่แม้ว่าช่วง 5 ปีหลังจะฟื้นตัวกลับมาขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 5% เทียบกับช่วงก่อนวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ที่การค้าโลกแตะระดับ 10-20% และคิดว่าคงจะไม่ได้เห็นการเติบโตของการค้าโลกในระดับเดิมอีกแล้ว ซึ่งส่งผลให้การส่งออกไทยได้รับผลการทบตามไปด้วยในที่สุด

“การส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาต้องบอกว่าการเติบโตมาจากราคาถึง 25% ของกลุ่มสินค้า ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากระดับ 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้สินค้าส่งออกที่เกียวข้องกับน้ำมันเติบโตขึ้นมาก เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ยางพารา สินค้าเกษตรบางประเภท ขณะที่อีก 75% ของสินค้าส่งออกเป็นการเติบโตของปริมาณ กลุ่มที่เห็นว่าเติบโตได้ดีคือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็โชคดีของไทยที่กระแสบิ๊กดาต้าเกิดขึ้นมา เพราะการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่เป็นศูนย์ข้อมูลจะยังต้องใช้ฮาร์ดดิสก์เก็บอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ จะเป็นกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร” นายนริศ กล่าว

นักท่องเที่ยวเฉียด 40 ล้านคน แต่รายได้กระจุกตัว

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหรือการส่งออกภาคบริการยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและกระจุกตัว โดยในปี 2561 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 38.5 ล้านคน โดยกลุ่มหลักคือจีนและยุโรป และมีรายได้จากนักท่องเที่ยงกลุ่มนี้ 2 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 9.6% และมีนักท่องเที่ยวภายในประเทศ 1 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 7.5% รวมเป็นมีรายได้จากภาคท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 8.9%

อย่างไรก็ตาม รายได้กว่า 80% หรือ 2.4 ล้านล้านบาทกลับตกอยู่กับ 6 จังหวัด ซึ่งมีอัตราการเข้าพักมากกว่า 80% ได้แก่ กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, ชลบุรี, กระบี่, สุราษฎร์ธานี, เชียงใหม่  รองลงมาจะเป็นกลุ่มศักยภาพปานกลาง 8 จังหวัด มีอัตราเข้าพัก 70-80% ได้แก่ สงขลา, พังงา, ประจวบคีรีขันธ์, เชียงราย, กาญจนบุรี, ระยอง, นครราชสีมา และเพชรบุรี มีส่วนแบ่งรายได้ 10% หรือ 300,000 ล้านบาท ขณะที่ที่เหลืออีก 63 จังหวัด มีอัตราเข้าพักน้อยกว่า 70% และมีส่วนแบ่งเพียง 10% หรือ 300,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรมมีสัดส่วนของเม็ดเงินที่หมุนเวียนมากที่สุดถึง 25% ของเม็ดเงินหมุนเวียนทั้งหมด รองลงมาคือธุรกิจสถานบันเทิงและสันทนาการ 22%, ธุรกิจร้านอาหาร 21%, ธุรกิจร้านขายของที่ระลึก 18% และธุรกิจขนส่ง 14%

รายได้เกษตรฟื้นตัวหนุนการบริโภค

นายนริศ กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจัยพื้นฐานทางด้านเกษตรฟื้นตัวตัวเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมและภาคส่งออก โดยสินค้ากลุ่มข้าวและมันสำปะหลังซึ่งราคาปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยางพารา อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน แม้ราคาจะลดลงบ้าง แต่ปริมาณก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าพืชเศรษฐกิจ 5 ประเภทน่าจะมีมูลค่าทั้งปี 745,000 ล้านบาท เติบโต 3.2% และกระจายตัวไปยังภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเป็นหลัก ส่งผลให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในระดับภูมิภาค

จากปัจจัยพื้นฐานทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตร ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยวัฏจักรการบริโภคสินค้าคงทน ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและมักจะชี้นำการบริโภคโดยรวมมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งมีผลจากมาตรการรถคันแรกที่หมดไป ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยตรงก็ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณต่ำกว่าระดับ 75 ในช่วง 2 ปีก่อนหน้ามาเป็นระดับ 80 ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนแม้จะชะลอตัวลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป

ชง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย เตรียมรับมือความผันผวน

สำหรับประเด็นดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะขึ้น 1 ครั้ง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% เพราะภาพเศรษฐกิจช่องว่างผลผลิตเริ่มกลับมาขยายตัวสูงกว่าศักยภาพ ส่งผลให้เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นคิดว่าเอื้อต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย

“ถ้าถามว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ปกติผมควรจะพูดเรื่องการค้าโลก เรื่องหนี้ในจีน แต่ผมถามว่าตอนต้นปี ผมพูดเรื่องเกาหลี ตอนนี้เราคุยกันหรือไม่ครับ ไม่คุย วันนี้เราคุยเรื่องอิตาลี แล้วมันก็จะผ่านไป ไม่ได้บอกว่าไม่ใช่ความเสี่ยง เป็นความเสี่ยง แต่ประเด็นคือความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจคือดอกเบี้ยที่มันต่ำเกินไป” นายนริศ กล่าว

นายนริศ อธิบายต่อไปถึงเส้นทางดอกเบี้ยไทยว่าตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ดอกเบี้ยเราลงไป 1.25% ด้วยจีดีพีติดลบ 7-8%  เศรษฐกิจตอนนั้นย่ำแย่มาก จนมาก่อนจะวิกฤติการเงินโลกตอนปี 2551 ดอกเบี้ยนโยบายไทยเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 3.5% และพอเข้าสู่วิกฤติ ธปท. ตอบสนองเร็วต้องชื่นชม ลดลงมาจนเหลือ 1.25% แล้วหลังจากนั้นมีปรับขึ้นปรับลงบ้าง แต่เรายังไม่เคยขึ้นไปถึงระดับเดิมได้อีกเลย มาถึงปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.5% และด้วยอัตราดอกเบี้ยเท่านี้ ถ้าเกิดมีความผันผวนหรือวิกฤตครั้งต่อไป ธปท. บอกขอลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% เท่ากับวิกฤติปี 2540 ที่จีดีพีติดลบ 7-8% คิดว่าภาคธุรกิจตอบสนองหรือไม่?

“แบบนี้ภาคเอกชนและตลาดปรับตัวไปแล้ว เพราะชินกับภาวะดอกเบี้ยต่ำ พูดง่ายๆ คือเราไม่มีกระสุน ฉะนั้น ถ้าจะทำให้มีการตอบสนองก็ต้องลดดอกเบี้ยเยอะ ไม่ใช่ 0.25% ต้องลด 1% ก็เหลือแค่ 0.5% ต่ำที่สุดในโลกแล้ว ถามว่าได้ผลหรือไม่ ผมก็ว่าไม่ได้ผล เพราะมันไม่ใช่ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงไป แต่เป็นจำนวนดอกเบี้ยที่ลด คือการเปลี่ยนแปลงที่เยอะจะส่งสัญญาณไปที่การคาดการของตลาด ถ้าลดไม่เยอะ เอกชนก็ไม่ฟังไม่ปรับตัว”

แล้วเรื่องสวัสดิการของคนไทย คนไทยได้ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำแค่นี้ เราก็นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม ไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นการเอาเงินออมไทยไปหนุนการลงทุนของประเทศอื่น ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดก็กำลังขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ยิ่งทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยมีความน่าลงทุนมากขึ้น คนเอาเงินย้ายกลับไป สินทรัพย์เสี่ยงที่เราซื้อไว้ก่อนหน้านี้จะลำบาก สิ่งเหล่านี้เป็นผลข้างเคียงของดอกเบี้ยที่ต่ำ เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย แล้วประกอบกับเราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกผ่านจุดสูงสุดแล้วจะชะลอลง ถ้า ธปท. บอกว่าค่อยปรับขึ้นสู่ระดับปกติ เทียบกับเป้าหมายดอกเบี้ยนโบยายปกติของเฟดอยู่ที่ 3% เราตั้งต่ำกว่านั้นก็ได้ แต่ถามว่าตอนนั้นที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอเราจะมีโอกาสหรือไม่ เราอาจจะต้องอาศัยโอกาสที่ปรับขึ้นตามในจังหวะที่ทำได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท TMB Analytics มองว่ายังคงเป็นไปในทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องจากปีก่อน สิ้นปีมีโอกาสอยู่ที่ 31.15
บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่เข้มแข็งที่ได้รับอานิสงส์จากภาคส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนและคาดว่าดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ณ ปัจจุบันอยู่ในช่วง 31.9-32.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะเป็นในระยะสั้นสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีและแนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงขึ้นแต่มีแนวโน้มที่ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของปีจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเรื่องการขาดดุลงบประมาณและดุลการค้า

เศรษฐกิจฟื้นกดดันแบงก์แข่งขัน

ส่วนการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 2561 นายนริศ กล่าวว่ามีแนวโน้มดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ โดยสินเชื่อโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 5.5% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมเล็กน้อยที่ 5.3% จากยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6.9% และ 7.3% ตามลำดับ โดยมีปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นตามการบริโภคภาคเอกชนและการทยอยลงทุนปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มยอดขายมากขึ้น

ด้านสินเชื่อรายย่อยนำโดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจากสิ้นสุดผลของมาตรการรถคันแรก และรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ทยอยกลับมาเติบโตโดยได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี อย่างไรก็ดี ต้นทุนดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำอาจทำให้บริษัทขนาดใหญ่ออกพันธบัตรตราสารหนี้แทนที่จะใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์

ในด้านคุณภาพสินเชื่อ เรามองว่าสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2561 โดย 78% ของมูลค่าเอ็นพีแอล อยู่ที่สินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่เอ็นพีแอลจะลดลงตามการปรับดีขึ้นของเศรษฐกิจในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ขณะสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลของการเร่งปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ด้านเงินฝากมีแนวโน้มขยายตัว 5.6% ปรับเพิ่มจากคาดการณ์เดิมเล็กน้อยที่ 5.5% โดยเงินฝากประจำกลับมาเติบโตที่ 3% หลังจากหดตัวมา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปี 2561และความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตเงินฝากที่มากกว่าความต้องการสินเชื่อในปีนี้คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อมองสภาพคล่องโดยรวมแล้ว เรายังมีสภาพคล่องเหลือกว่า 12 ล้านล้านบาท