ThaiPublica > Data Visualization > อ่านสปีชนายกฯ ประยุทธ์ คืนความสุขให้คนไทย ใครสุข!!

อ่านสปีชนายกฯ ประยุทธ์ คืนความสุขให้คนไทย ใครสุข!!

27 มิถุนายน 2018


ล่วงมาถึง 4 ปี ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือเท่ากับสมัยการบริหารของรัฐบาลปกติตามระบอบประชาธิปไตย ที่เข้ามาโดยรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และสิ่งหนึ่งที่คณะรัฐประหารในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. ปฏิบัติเป็นสิ่งแรกก่อนการดำเนินการอื่นๆ ทั้งการปฏิรูปหรือแม้แต่การตั้งรัฐบาล คือ “การสื่อสารกับประชาชน” เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจและอาจจะรวมไปถึงการยอมรับคณะ คสช.

การสื่อสารโดยตรงระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ กับประชาชนเริ่มขึ้นจากรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ทุกคืนวันศุกร์ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2557 หรือเพียง 1 สัปดาห์ หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจและดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2559 เปลี่ยนชื่อรายการเป็น “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนา อย่างยั่งยืน” ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559

คำถามสำคัญคือ ตลอดห้วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทุกคืนวันศุกร์ พล.อ. ประยุทธ์ พูดอะไร? คืนความสุขอะไร? และแสดงวิสัยทัศน์ของการพัฒนาและนำพาประเทศไปสู่อนาคตอย่างไร?

ด้วยความร่วมมือด้านการวิเคราะห์และประมวลข้อมูลขนาดใหญ่จากบริษัท เซอร์ทิส จำกัด สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำบทพูดของ พล.อ. ประยุทธ์ ในรายการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2558 จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 เป็นระยะเวลา 2 ปี 5 เดือน 22 วัน หรือประมาณ 128 สัปดาห์ (เนื่องจากภายหลังเปลี่ยนชื่อรายการ เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ รายการเดิมถูกปิดตัวลงไปและไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้) จากตัวบทพูดนับร้อยพบว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้พูดไปมากกว่า 3 ล้านตัวอักษร หรือมากกว่า 700,000 คำ หรือมากกว่า 5,000 ย่อหน้า หรือมากกว่า 30,000 บรรทัด และหากนำมารวมเล่มจะได้หนังสือมากกว่า 800 หน้า มากกว่ายุทธศาตร์ชาติ 20 ปี เกือบ 7 เท่า

ในรายละเอียดการวิเคราะห์จะจำแนกหัวข้อ (Topic Classification) ของเนื้อหาในแต่ละย่อหน้าก่อนเพื่อระบุว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นอะไร โดยอาจจะมีหลายประเด็นใน 1 ย่อหน้า ซึ่ง “ไทยพับลิก้า” กำหนด 10 ประเด็นหลัก ได้แก่1. สถาบันพระมหากษัตริย์หรือศาสตร์พระราชา 2. การเมืองการเลือกตั้ง 3. กฎหมายและสังคม 4. เศรษฐกิจการลงทุน 5. เกษตรกรรมเกษตรกร 6. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7. พลังงานและสิ่งแวดล้อม 8. การพัฒนาการจัดการ 9. การต่างประเทศ 10. การสร้างความร่วมมือกับประชาชนและกระตุ้นวินัยและจิตสำนึกของประชาชน

จากข้อมูลที่ปรากฏพบว่า พล.อ. ประยุทธ์ พูดถึงประเด็นการสร้างความร่วมมือกับประชาชนมากถึง 22.7% ของเนื้อหาทั้งหมด รองลงมาคือกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และศาสตร์พระราชา 13% ใกล้เคียงกับเรื่องสังคมและกฎหมายที่ 12.6% ขณะที่การเลือกตั้ง การเมือง การพัฒนา การจัดการ และเศรษฐกิจการลงทุน กล่าวถึงอย่างละประมาณ 9% กลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ประมาณ 5% และกลุ่มเกษตรกรรม เกษตรกร และการต่างประเทศ ประมาณ 2-3%

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น “ไทยพับลิก้า” ได้วิเคราะห์เจาะใน 4 ประเด็นที่มีปรากฎโดดเด่นขึ้นมาและมีความสำคัญในเชิงนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ 1.การเมืองการเลือกตั้ง 2.เศรษฐกิจการลงทุน 3.การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีหัวข้อเกษตรกรรมเป็นส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งขยายออกไปยังกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการรายย่อย ธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นต้น และ4.การสร้างความร่วมมือกับประชาชน โดยวิเคราะห์กลุ่มของคำ (Keyword Analysis) ที่มีความหมายใกล้เคียงกันหรือเกี่ยวข้องกัน ที่มักจะถูกใช้บ่อยๆในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูว่านายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบ่อยเพียงใดในรายการ

ตัวอย่างกลุ่มคำในประเด็นต่างๆ

ตัวอย่างกลุ่มคำในประเด็นการเมืองการเลือกตั้ง วิเคราะห์โดยใช้กลุ่มคำ เช่น “ประชาธิปไตย-มีส่วนร่วม” “รัฐธรรมนูญ-roadmap” “ทำตามกฎหมาย-ปฏิบัติตามกฎหมาย” “การเลือกตั้ง-เลื่อนเลือกตั้ง” “นักการเมือง-พรรคการเมือง” “มาตรา 44” “ไม่สืบทอดอำนาจ-ไม่อยากเป็นนายกรัฐมนตรี” “ซื้อสิทธิ-ขายเสียง-หาเสียง” และ “การปฏิวัติ-รัฐบาลทหาร”

กลุ่มคำในประเด็นเศรษฐกิจการลงทุน วิเคราะห์โดยใช้กลุ่มคำ เช่น “มั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน” “เทคโนโลยี-นวัตกรรม-สิ่งประดิษฐ์” “เศรษฐกิจไทย” “ลงทุน-ส่งออก-เชื่อมั่นทางธุรกิจ” “ขีดความสามารถ-การแข่งขัน” “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ” “กำลังการผลิต-มูลค่าเพิ่ม” “ยุค 4.0-ไทยแลนด์ 4.0″ “อุปโภค-บริโภค” “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” “รถไฟความเร็วสูง-รถไฟฟ้า” “อุตสาหกรรมการบิน-สนามบินอู่ตะเภา” “PromptPay/e-Payment” “ความร่วมมือระหว่างประเทศ”

กลุ่มคำในประเด็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก วิเคราะห์โดยกลุ่มคำ เช่น “ชุมชน-ท้องถิ่น-หมู่บ้าน” “เกษตรกรรายย่อย-เกษตรกร” “ไทยนิยมยั่งยืน-ประชารัฐ” “กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก-เพิ่มศักยภาพกลุ่มเกษตรกร” “ส่งเสริมสหกรณ์-กองทุนหมู่บ้าน” “ความยากจน” “เศรษฐกิจรายย่อย-SME-ผู้ประกอบการรายย่อย” “เกษตรแปลงใหญ่-เกษตรฟาร์มรวม” “โครงการชุมชน-OTOP” “ผู้นำชุมชน-ปราชญ์ชาวบ้าน” “วิสาหกิจชุมชน-บริการงานชุมชน”

และกลุ่มคำในประเด็นการสร้างร่วมมือกับประชาชน การกระตุ้นวินัยและจิตสำนึกของประชาชน วิเคราะห์โดยใช้กลุ่มคำ เช่น “ช่วยกัน-ร่วมมือ-ร่วมมือกับรัฐบาล” “จิตสำนึก-ปลูกฝัง-พัฒนาตนเอง” “วิสัยทัศน์-ยุทธศาสตร์” “ระเบียบวินัย-สร้างวินัย” “ซื่อสัตย์-เสียสละ-อดทน” “อย่าท้อแท้-อย่าสิ้นหวัง” “จิตอาสา-พลเมืองดี” “อ่านหนังสือ-อ่านหนังสือพิมพ์” “ถ้าไม่ตรวจ-ตรวจตรา-ตรวจสอบ”

ผลการวิเคราะห์พบว่าการสร้างความร่วมมือกับประชาชน การกระตุ้นวินัยและจิตสำนึกของประชาชน มีสัดส่วนการกล่าวถึงค่อนข้างมาก โดยในหลายกลุ่มคำกล่าวบ่อยถึง 70-90% ของจำนวนครั้งที่ออกอากาศทั้งหมด สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์เบื้องต้นที่พบว่ารายการคืนความสุขของนายกรัฐมนตรีมักใช้เพื่อการสื่อสารให้ประชาชนยอมรับและการสร้างความร่วมมือของประชาชนกับรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ มิติทางด้านเศรษฐกิจการลงทุน พบว่านายกรัฐมนตรีกล่าวถึงภาพรวมกว้างๆ อย่างยุทธศาสตร์มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน หรือเทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ เกือบทุกครั้ง ขณะที่นโยบายการลงทุนอื่นๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ระบบการชำระเงินของประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง สตาร์ทอัป กลับมีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม ในมิติเศรษฐกิจ การพูดถึงคำในภาพรวมที่มากกว่า อาจมาจากการที่กลุ่มคำเหล่านี้มีโอกาสพูดถึงง่ายกว่าและบ่อยกว่านโยบายการลงทุนที่เฉพาะเจาะจงลงไป และโดยธรรมชาติกลุ่มคำในภาพรวมมักจะถูกใช้พูดเกริ่นนำ ก่อนจะกล่าวถึงรายละเอียดที่เจาะลึกในแต่ละประเด็น ทำให้มีโอกาสที่วิเคราะห์พบมากกว่า นอกจากนี้ มีโอกาสที่นายกรัฐมนตรีอาจจะเลือกใช้กลุ่มคำที่ไม่ตรงกับคำสำคัญ แต่สื่อความหมายเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่อาจจะเกิดขึ้นในการวิเคราะห์

สำหรับการยกระดับเศรษฐกิจระดับฐานราก พบว่า พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกลุ่มเกษตรกรและชุมชน เช่น ชุมชน ท้องถิ่น หมู่บ้าน เกษตรกรรายย่อย เกษตรกร มากกว่าผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอี ยกตัวอย่าง กลุ่มคำ เช่น ส่งเสริมสหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน เศรษฐกิจรายย่อย ธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย โครงการชุมชน โครงการ OTOP วิสาหกิจชุมชน บริการงานชุมชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงนโยบายหลักที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากโดยตรงคือโครงการไทยนิยมยั่งยืนและประชารัฐ ค่อนข้างบ่อย

สุดท้ายประเด็นการเมืองการเลือกตั้ง พบว่า พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมสูงถึง 87.50% ของจำนวนครั้งที่ออกอากาศทั้งหมด, การเลือกตั้งหรือเลื่อนเลือกตั้ง 42.97%, การกล่าวถึงนักการเมืองและพรรคการเมือง 39.06% , การปฏิวัติหรือรัฐบาลทหาร 3.91%, การจะไม่สืบทอดอำนาจหรือไม่ได้อยากเป็นนายกรัฐมนตรี 9.38% และการใช้มาตรา 44 17.97%

นอกจากนี้ ได้วิเคราะห์ในมิติความเชื่อมโยงของกลุ่มคำระหว่างเศรษฐกิจการลงทุนและการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากที่ถูกพูดถึงด้วยกันหรือเชื่อมโยงกัน เช่น ระหว่างกลุ่มคำ “เทคโนโลยี-นวัตกรรม-สิ่งประดิษฐ์” กับ “เกษตรกรรายย่อย-เกษตรกรรม”, ระหว่างกลุ่มคำ “กำลังการผลิต-มูลค่าเพิ่ม” กับ “เกษตรกรรายย่อย-เกษตรกรรม” และระหว่างกลุ่มคำ “เศรษฐกิจไทย” กับ “กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก-เพิ่มศักยภาพกลุ่มเกษตรกร”

ขณะที่ความเชื่อมโยงภายในกลุ่มคำในหัวข้อเศรษฐกิจการลงทุน พบว่า พล.อ. ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจมหภาคผ่านไปทางการเพิ่มกำลังการผลิตหรือมูลค่าเพิ่ม สำหรับด้านการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก จะพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร/เกษตรกรรมและชุมชนค่อนข้างสูง และเชื่อมโยงไปยังกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก-เพิ่มศักยภาพกลุ่มเกษตรกร โดยมีนโยบายไทยนิยมยั่งยืนและประชารัฐเป็นฐาน

การวิเคราะห์ของไทยพับลิก้าครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “มิติการสื่อสาร” ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุกคืนวันศุกร์ เพื่อสะท้อนภาพโดยรวมว่า ใครสุข!!