ThaiPublica > เกาะกระแส > รัฐบาลคิกออฟ “Social Enterprise” ขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สู่ความยั่งยืน

รัฐบาลคิกออฟ “Social Enterprise” ขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สู่ความยั่งยืน

17 มิถุนายน 2018


วันที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน Kick off Social Enterprise : SE เพื่อขับเคลื่อนสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการดำเนินกิจการเพื่อสังคมขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“กิจการเพื่อสังคม” Social Enterprise หรือ SE เป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่หวังผลกำไรสูงสุด  มีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันได้กลายเป็นกระแสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ยกตัวอย่างเช่นในประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2546 มีโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ ประมาณ 5 พันราย ต่อมาได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่ จนทุกวันนี้มีโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ มากถึง 1 แสนราย  เติบโตขึ้น 20 เท่าตัว ภายในระยะเวลา 15 ปี

ส่วนประเทศไทย มีบุคคล หน่วยงาน และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทำกิจการเพื่อสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ “โครงการพัฒนาดอยตุง” จากเดิมราษฎรบนพื้นที่สูงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก มีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่นเพื่อเลี้ยงชีพ

กระทั่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทอดพระเนตรเห็นสภาพความเดือดร้อน จึงพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยในพระอุปถัมภ์ ซึ่งปัจจุบันคือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ สร้าง “ผลิตภัณฑ์ดอยตุง” สร้างอาชีพ สร้างรายได้  และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ราษฎรบนพื้นที่สูงมากว่า 30 ปี

ปัจจุบัน โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์เป็นกระแสที่กำลังมาในหมู่คนรุ่นใหม่ของเมืองไทย ที่อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง สร้างพื้นที่เป็นของตัวเอง  ทว่าไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อหากำไรอย่างเดียว แต่อยากทำธุรกิจตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

ขณะที่รัฐบาลได้เห็นความสำคัญการพัฒนาธุรกิจ ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และสร้างสังคมคุณภาพ จึงผลักดันนโยบายกิจการเพื่อสังคม Social Enterprise

โดยมีการประกาศใช้แผนแม่บทการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553-2557 และแต่งตั้ง “คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ” หรือ คกส. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2554  และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เป็นองค์กรในการกำหนดนโยบายและทิศทางการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมภายในประเทศ

จนกระทั่งเมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมให้เกิดเป็นรูปธรรม

ล่าสุด วันที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา กระทรวง พม. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ได้จัดงาน Kick off Social Enterprise : SE เพื่อขับเคลื่อนสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการดำเนินกิจการเพื่อสังคมขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

พม. ขับเคลื่อน SE สู่ความยั่งยืน

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. กล่าวว่า รัฐบาลและตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและธุรกิจ ดังที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในช่วงหลังบ่อยครั้งว่าอยากให้มีโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์เกิดขึ้นในเมืองไทยมากๆ

ทั้งนี้ กระทรวง พม. พร้อมจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ทั้งด้านนโยบายและกฎหมาย หลังจากได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ… จะผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อทำให้เอสอีเติบโตอย่างยั่งยืนและมีจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“เอสอีที่ผมอยากเห็นมี 3 เรื่อง คือ 1. มีการแบ่งปัน 2.สร้างความเท่าเทียมให้กับสังคม 3.สังคมเกิดความเป็นธรรมมีความสุข ถ้าดำเนินการเรื่องนี้ด้วยใจที่แบ่งปันที่เท่าเทียมและเป็นธรรมซึ่งกันและกัน สังคมก็อยู่ได้อย่างเป็นสุข” พลเอกอนันตพร กล่าว

กิจการแบบไหน เป็นกิจการเพื่อสังคม?

ดร.อภิชน จันทรเสน กรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม อยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขั้นรวบรวมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดหวังว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาได้ในเร็วๆนี้

ดร.อภิชน จันทรเสน

อย่างไรก็ตาม เหตุผลหนึ่งที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีความล่าช้าเนื่องจากต้องพิจารณาหมวดการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมให้ละเอียดรอบคอบ เพราะไม่อยากให้โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์เป็นของเล่นคนรวย หรือแค่มีเงินแล้วจะทำได้ แต่ต้องมีการคิดโปรเจ็กต์ มีการดำเนินการในระยะหนึ่งอย่างเป็นระบบมาก่อน แต่ล้วนต้องใช้เงินทั้งสิ้น

ดังนั้นหากไม่มีกองทุน คาดว่าจะทำได้เพียงบางคนเท่านั้น ส่วนคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย เข้าใจปัญหาสังคม และมีแรงผลักดันอยากจะทำ แต่ขาดเงินสนับสนุน จะไม่มีโอกาส  จึงจำเป็นที่ต้องมีกองทุนขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการหารือในเรื่องดังกล่าว แต่ก็หวังว่าจะไม่ช้าเกินไป

“กิจการเพื่อสังคมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะในแผนงานปฏิรูปประเทศทั้งคณะกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคม มีแผนออกมาตรงกันว่าจะต้องมีการดำเนินการวิสาหกิจเพื่อสังคมให้ประสบความสำเร็จ และต้องมีกฏหมายเรื่องนี้ออกให้ทันในปีนี้” ดร.อภิชน กล่าว

ถามว่ากิจการแบบไหน เป็นกิจการเพื่อสังคม? กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ระบุว่า ต้องมีคุณลักษณะ 5 ประการ ดังนี้

    • 1.กิจการที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม มีผู้รับประโยชน์ มีวิธีสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลง และก่อประโยชน์อย่างชัดเจน

2.มีความยั่งยืนทางการเงิน มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการให้กิจการดำเนินไปอย่างยั่งยืน

3.มีการะบวนการติดตามสังคม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบการค้าที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค

4.มีผลกำไรคืนสู่สังคม เมื่อกิจการมีกำไร เงินส่วนใหญ่จะถูกนำไปลงทุนซ้ำในกิจการ เช่น พัฒนากระบวนการผลิต พัฒนาผู้ได้รับประโยชน์ หรืออื่นๆ

5.โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการจัดเก็บข้อมูลออย่างเป็นระบบ มีการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคม พร้อมเปิดเผยข้อมูลให้หน่วยงานที่ดูแลตรวจสอบได้

หลักเกณฑ์-วิธีการยื่นคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม

นางนภา เศรษฐกร

นางนภา เศรษกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ออกเกณฑ์และประกาศรับคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคมไปแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก ดังนั้นผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลและแบบยื่นคำขอกิจการเพื่อสังคมได้ทางเว็บไซด์ พส.(www.dsdw.go.th)

ทั้งนี้ วิธีการยื่นแบบคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม สามารถยื่นได้ 2 ทาง คือ 1.ด้วยตนเอง ณ กองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม กรมกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และ 2.ส่งทางไปรษณีย์ถึงกองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม กรมกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เลขที่ 1034 ถนนกรุงเกษม แขวงมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพ 10100 โทร 0 2659 6157

และเมื่อยื่นเสร็จเสร็จร้อยแล้ว จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอหนังสือรับรองภายในเดือนกรกฎาคม 2561 เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของกิจการที่ยื่นคำขอ หลังจากนั้นจะมีการประชุม คกส. ภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2561 เพื่อพิจารณารับรองกิจการเพื่อสังคมในล็อตแรก ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สมัครจำนวนไม่น้อย

นางนภา กล่าวด้วยว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการหลายรายเห็นตรงกันว่าอยากให้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้เร็วที่สุด เพราะต้องการให้   โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ประเทศไทยเป็นมาตรฐานเดียวกันและต้องการขยายให้มากขึ้น ถึงแม้กฎหมายจะยังไม่ออกมาบังคับใช้ แต่คิดว่าไม่ต้องเป็นห่วงมากนัก เพราะระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีปี 2554 และปี 2560(ฉบับที่2) มีเนื้อหาครอบคลุมพอสมควรในการจะขับเคลื่อนโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ให้เดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยิ่งในขณะนี้ คกส. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการเสริมสร้างกิจการเพื่อสังคม พ.ศ.2561-2564  ซึ่งเป็นแผนที่สร้างการขับเคลื่อน โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ในอนาคต สอดรับกับกฎหมายเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

สิทธิประโยชน์ทางภาษี สนับสนุนเอสอี

นางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์เมื่อปี 2558 หลังจากที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนและอยากเห็นบริษัทใหญ่ๆในตลาดหลักทรัพย์เข้าไปจัดตั้งโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ เพื่อช่วยเหลือชุมชน สร้างให้สังคมดีขึ้น และดูแลสิ่งแวดล้อม โดยส่งโจทย์มาให้กรมสรรพากรดูเรื่องว่าภาษีควรจะเป็นอย่างไร เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้มีกฎหมายยกเว้นภาษีให้โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ นอกจากมูลนิธิองค์กรสาธารณกุศล

นางแพตริเซีย มงคลวนิช

หลังจากนั้นกรมสรรพากรได้ระดมสมองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว จนกระทั่งออกคำนิยามหลักตามประมวลรัษฎากรสำหรับโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมี 4 องค์ประกอบหลัก ประกอบด้วย

    • 1. เป็นบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

2. ต้องประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการ

3. มิได้มุ่งสร้างกำไรสูงสุด และนำผลกำไรไม่น้อยกว่า 70% ไปลงทุนในกิจการหรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส

4. มุ่งส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นที่เอสอีตั้งอยู่หรือมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม

สำหรับในรายละเอียดสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนเอสอี มี 2 กรณี คือ

1.กรณีเอสอีไม่จ่ายเงินปันผล ซึ่งเอสอีจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ลงทุนในหุ้นของเอสอีและผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่เอสอี สามารถหักรายจ่ายเงินลงทุนในหุ้นสามัญได้ตามจริง และหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ตามจริง

2.กรณีเอสอีจ่ายเงินปันผลไม่เกินร้อยละ 30 กรณีนี้เอสอีจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ผู้ลงทุนในหุ้นของเอสอีและผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่เอสอี สามารถหักรายจ่ายเงินลงทุนในหุ้นสามัญได้ตามจริง และหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ตามจริง

ทั้งนี้ สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ เมื่อจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” อยู่ในชื่อและมีวัตถุประสงค์ตามกำหนด, ได้รับการรับรองเป็นกิจการเพื่อสังคมจาก คกส. ที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด, และยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติเป็นเอสอีจากอธิบดีกรมสรรพากร ผ่านเว็บไซด์กรมสรรพากร (www.rd.go.th)

ความท้าทายของกิจการเพื่อสังคม

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มองว่า โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์คือการใช้ธุรกิจและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนักธุรกิจเพื่อสังคมจะมองไปไกลมากกว่าเรื่องกำไรเป็นหลัก เช่น มองผู้ผลิตหรือสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆในกระบวนการทำธุรกิจเพื่อสังคมได้

โดยในปัจจุบันสิ่งที่กำลังเป็นกระแสในประเทศไทย คือกลุ่มคนรุ่นใหม่มีความต้องการอยากจะทำธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ไม่อยากทำธุรกิจโดยหากำไรเพียงอย่างเดียว และอยากทำธุรกิจตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น

“กระแสนี้กำลังมาค่อนข้างมาก มีนักธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยมากขึ้น มีความพยายามขับเคลื่อนพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมจากรัฐบาล รวมทั้งโครงสร้างภาพใหญ่ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมขึ้นมา ดังนั้นหากทุกฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่สอดคล้องขึ้นมาได้ ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถที่จะเติบโตได้” หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีโจทย์ที่ท้าทายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับกระแสทุนนิยม การทำให้ถึงเป้าหมายที่มองผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ไม่นับรวมความท้าทายในเรื่องของเงินลงทุนที่ยังเป็นช่องว่างสำหรับคนที่อยากทำธุรกิจเพื่อสังคม

“คนในประเทศไทยมีใจอยากทำธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนไม่น้อย แต่ถามว่าสภาพแวดล้อมและระบบต่างๆที่จะมาสนับสนุนมีไม่เพียงพอหรือเปล่า เพราะขณะนี้ธุรกิจเพื่อสังคมอยู่ในช่วงตั้งไข่ มีคนรุ่นใหม่เขาพยายามที่จะหาทิศทาง หาตัวตน หาช่องทางในการทำการตลาด หาการเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ก็นับเป็นความท้าทายในตัวเองอยู่แล้ว โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องเงิน หรือเรื่องภาษี”

ตลท. กับการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม

นางสาวนพเก้า สุจริตกุล

นางสาวนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเพื่อสังคมและสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการภาคเอกชนให้ความสำคัญกับโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์และต้องการเข้ามาต่อยอดการทำงานร่วมกับภาคสังคมมากขึ้น เพราะตระหนักว่าหากสังคมหรือสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง ภาคธุรกิจก็จะได้รับผลกระทบในระยะยาวไปด้วย

และเมื่อมีกฎหมายเข้ามามีบทบาทชัดเจนมากขึ้น ยิ่งทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถได้ประโยชน์หรือได้รับการสนับจากภาครัฐเช่นเดียวกับภาคเอกชน กลายเป็นลักษณะ win-win situation ที่สิ่งแวดล้อมได้ประโยชน์ ธุรกิจได้ประโยชน์ และสังคมได้ประโยชน์ไปด้วยกัน

“ถ้าภาคธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถเชื่อมกันได้ และอยู่ใน value chain ทำให้เกิดผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นได้ ก็จะเป็นอีกแรงหนึ่งที่สามารถต่อขยายการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนได้มากกว่าที่ภาครัฐหรือภาคประชาสังคมทำด้วยตัวเองเพียงลำพังเท่านั้น”นางสาวนพเก้า กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้สนใจเข้าร่วมงาน Kick off Social Enterprise ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก และมีผู้สนใจอยากทำกิจการเพื่อสังคมจำนวนมากเช่นกัน แต่ก็มีการตั้งคำถามและข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประเด็น อาทิ การหักภาษีของนักลงทุนเฉพาะนิติบุคคล ซึ่งผู้ร่วมงานหลายคนเห็นว่าควรจะให้นักลงทุนที่เป็นบุคคลทั่วไปที่ทำกิจการเพื่อสังคมสามารถหักภาษีได้เช่นกัน ซึ่งรองอธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า จะนำเรียนประเด็นดังกล่าวไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าเห็นควรเป็นอย่างไร

หรือข้อสังเกตในประเด็นการตั้งกองทุนเอสอี ที่ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่าควรจะมี เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจการเพื่อสังคมใหม่ๆ แต่อยากให้กองทุนเอสอีกระจายไปทั่วประเทศ ไม่ควรกระจุกอยู่ในเฉพาะกรุงเทพมหานคร เท่านั้น