ThaiPublica > คอลัมน์ > “คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (2) มอง “สมาร์ทซิตี้” สิงคโปร์

“คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (2) มอง “สมาร์ทซิตี้” สิงคโปร์

25 มิถุนายน 2018


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงแนวคิด “สมาร์ทซิตี้” (smart city) ว่าสามารถแบ่งได้เป็นสองแบบหลักๆ ได้แก่ “มโนทัศน์เน้นเทคโนโลยี” (technology-oriented mindset) กับ “มโนทัศน์เน้นคน” (people-oriented mindset)

ผู้เขียนเชื่อว่า มีเพียง “มโนทัศน์เน้นคน” เท่านั้น ที่จะเอื้อให้การพัฒนาสมาร์ทซิตี้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ยั่งยืน และสร้างประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง เพราะเราจะมีเทคโนโลยีไฮเทคมากมายขนาดไหนก็ไร้ประโยชน์ ถ้าหากมันไม่ตอบโจทย์ประชาชนส่วนใหญ่ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง

ต่อให้เมกะโปรเจ็คหมื่นล้านแสนล้านแห่งใหม่โฆษณาว่าเป็น “สมาร์ทซิตี้” มีเทคโนโลยีทันสมัยมากมายที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้เช่าฐานะดี แต่ถ้าแย่งน้ำแย่งไฟคนอื่นใช้ สร้างขยะที่เทศบาลต้องมาจัดการ (ด้วยศักยภาพที่จำกัดจำเขี่ยอยู่แล้ว) ก่อมลพิษ ทำให้รถติดมหาวินาศกว่าเดิม โปรเจ็คนี้ก็ไม่อาจเรียกได้ว่า “ฉลาด” เพราะไม่ได้ช่วยทำให้เมืองดีขึ้น

ต่อให้ซื้อกล้องวงจรปิดหรือซีซีทีวีรุ่นล่าสุดมาติดทั่วทั้งเมือง หรือติดเซนเซอร์ทุกสี่แยกเพื่อเก็บข้อมูลการจราจรในเวลาจริง เทคโนโลยีเหล่านี้มีไปก็เท่านั้น ถ้าหากมันไม่นำไปสู่ความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น อาชญากรรมที่ลดลง และรถติดน้อยลง (เอาจริงๆ ด้วยระดับรถติดมหาประลัยของกรุงเทพฯ ผู้เขียนไม่เชื่อว่าเทคโนโลยีอย่างเซนเซอร์เก็บ big data จะช่วยแก้ปัญหาได้เท่าไร ถ้าไม่ไปแก้ปัญหาที่รากสาเหตุ คือลดจำนวนรถยนต์ส่วนตัวบนท้องถนนลงอย่างฮวบฮาบให้ได้)

ป้ายประกาศ กทม. ติดกล้อง CCTV แทนกล้องดัมมี่ครบ 10,000 ตัว
ป้ายประกาศ กทม. ติดกล้อง CCTV แทนกล้องดัมมี่ครบ 10,000 ตัว

เมืองจะ “สมาร์ท” หรือฉลาด ไม่ใช่เพราะใช้เทคโนโลยีที่จัดว่าฉลาด แต่ฉลาดเพราะใช้เทคโนโลยี ‘เป็น’ ในทางที่ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากร ทำให้เมืองยั่งยืนกว่าเดิม (more sustainable) และทิ้งคนไว้ข้างหลังน้อยลง (more inclusive) โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในเมืองที่มาจากภูมิลำเนาอื่น หรือเป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเมือง แต่มักจะถูกทอดทิ้ง ผู้มีอำนาจไม่เหลียวแลในการกำหนดนโยบาย

สาเหตุที่เมืองจำเป็นจะต้องยั่งยืนมากขึ้นและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังก็คือ เรามีบทเรียนมาแล้วมากมายถึงปัญหานานัปการที่เกิดจากความไม่ยั่งยืนของเมือง และความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสังคม การเมือง หรือสิ่งแวดล้อม

การวัดผลลัพธ์ของสมาร์ทซิตี้ จึงต้องไปวัดกันที่ “ผลลัพธ์ทางสังคม” (social impact) ที่เทคโนโลยีเอื้อให้เกิด เช่น คนมีความปลอดภัยมากขึ้น การจราจรคล่องตัวมากขึ้น หรือแรงงานข้ามชาติมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ใช่ดูแค่ “ผลผลิตของโครงการ” (project output) เช่น ติดกล้องซีซีทีวีไปแล้วกี่ตัว มี big data กี่เซตะไบท์ มีเซนเซอร์กี่ตัว ฯลฯ

ถ้าใช้ “มโนทัศน์เน้นเทคโนโลยี” ในการทำโครงการสมาร์ทซิตี้ ก็มีแนวโน้มจะวัดแต่ผลผลิต เพราะยึดติดกับตัว “เทคโนโลยี” เท่านั้นว่าไฮเทคขนาดไหน ไม่ใส่ใจผลลัพธ์ทางสังคม ในขณะที่ “มโนทัศน์เน้นคน” จะตามดูไปถึงผลลัพธ์ทางสังคม เพราะรู้ดีว่าเทคโนโลยีเป็นเพียง “เครื่องมือ” นำทางไปสู่เป้าหมายสุดท้าย นั่นคือการทำให้ชีวิตคนเมืองดีขึ้น

วันนี้ลองมาเริ่มดูแนวคิดและรูปธรรมของ “สมาร์ทซิตี้” ในสิงคโปร์ เมืองที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสมาร์ทซิตี้ต้นแบบแห่งแรกๆ ของโลก

หน้าเว็บ Smart Nation ของสิงคโปร์
หน้าเว็บ Smart Nation ของสิงคโปร์

สิงคโปร์อาจเรียกว่า ‘ได้เปรียบ’ กว่าเมืองอื่นๆ ที่พยายามทำสมาร์ทซิตี้ ตรงที่เมืองมีสถานะเท่ากับ “รัฐชาติ” หรือประเทศทั้งประเทศ รัฐตัดสินใจดำเนินนโยบายได้อย่างฉับไว อีกทั้งมีประชากรไม่กี่ล้านคน

แต่สิงคโปร์มองว่า ตัวเองก็ประสบความท้าทายหลายด้านที่คาดหวังให้ “สมาร์ทซิตี้” มาช่วยรับมือ ตั้งแต่ความหนาแน่นของประชากร (ซึ่งสิงคโปร์สูงที่สุดในโลก โดยมีคนมากถึง 8,000 คนต่อตารางกิโลเมตร)

สังคมสูงวัยเป็นความท้าทายที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของสิงคโปร์ วันนี้ประชากรกว่าร้อยละ 11 เป็นผู้สูงอายุ (ราว 300,000 คน) คาดว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 หรือ 900,000 คน ภายในปี ค.ศ. 2030 รัฐบาลรวบรวมสถิติว่าผู้สูงอายุใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้นร้อยละ 30 ในรอบหลายปีที่ผ่านมา อัตราการใช้ห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐวันนี้สูงกว่าร้อยละ 90

รถยนต์ในสิงคโปร์มีมากถึง 1 ล้านคัน และถนนหนทางทั้งหมดกินเนื้อที่ร้อยละ 12 ของที่ดินทั้งเกาะ ความต้องการพลังงานจะเพิ่มกว่าร้อยละ 30 ในปี 2050 เทียบกับปัจจุบัน

สิงคโปร์ดำเนินนโยบายสมาร์ทซิตี้ภายใต้สโลแกน “สมาร์ท เนชั่น” (เว็บไซต์ Smart Nation) ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ล่าสุดเป็นสมาร์ทซิตี้อันดับหนึ่งใน “ดัชนีผลประกอบการสมาร์ทซิตี้โลก” (Global Smart City Performance Index) ประจำปี 2017

ดัชนีตัวนี้และรายงานประกอบจัดทำโดยบริษัท Juniper Research โดยการสนับสนุนของยักษ์ไอที อินเทล (Intel) จัดอันดับเมืองต่างๆ ทั่วโลก 20 เมืองที่จัดว่าเป็นผู้นำด้านสมาร์ทซิตี้ อาทิ โซล ลอนดอน ซานฟรานซิสโก และนิวยอร์ก ประเมินว่าเมืองเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีช่วยคนเมืองในสี่มิติได้ดีเพียงใด มิติเหล่านั้นได้แก่ mobility (การเคลื่อนที่) health (สุขภาพ) safety (ความปลอดภัย) และ productivity (ผลิตภาพ)

สิงคโปร์ได้อันดับหนึ่งทั้งสี่มิติที่มีการวัดผล โดยในด้านการเคลื่อนที่ รายงานฉบับนี้ยกย่องรัฐบาลสิงคโปร์ว่า ใช้ “เทคโนโลยีฉลาดที่เชื่อมโยงถึงกัน” ประกอบกับนโยบายเข้มงวดเพื่อลดอัตราการเป็นเจ้าของรถยนต์ เป้าหมายสุดท้ายคือการลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน

ด้านสุขภาพ สิงคโปร์เริ่มใช้เทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อรับมือกับสังคมสูงวัย อาทิ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และอุปกรณ์ติดตามจากทางไกล (remote monitoring) ส่วนในด้านความปลอดภัย สิงคโปร์เริ่มทดลองใช้เทคโนโลยีสอดแนมแบบฉลาด (smart video surveillance) มาตรวจจับอาชญากรรม

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นผู้นำในการส่งเสริมให้พลเมืองเข้าถึงบริการดิจิทัล และข้อมูลที่เกี่ยวกับเมืองในด้านต่างๆ ผ่านการจัดทำและเผยแพร่ถังข้อมูลเปิด (open data stores) ขนาดใหญ่จำนวนมาก มีกลยุทธ์ส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเมือง เช่น การสร้างสนามทดลองเฉพาะด้าน (test-bed environment) เชื้อเชิญให้เอกชนมาใช้

สมาร์ทซิตี้ที่ได้คะแนนสูงสุดใน 4 มิติ ปี 2017 จากการประเมินโดย Juniper Research
สมาร์ทซิตี้ที่ได้คะแนนสูงสุดใน 4 มิติ ปี 2017 จากการประเมินโดย Juniper Research

สมาร์ทซิตี้ใช้เทคโนโลยีจำนวนมาก โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตของทุกสิ่ง (Internet of Things – IoT) ที่แทรกซึมทุกหัวระแหง ส่งผลให้หลายคนเริ่มกังวลเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว การจัดสรรคลื่นความถี่และทรัพยากรอื่นๆ รวมถึงการสร้างความมั่นใจว่าประโยชน์จากสมาร์ทซิตี้จะกระจายอย่างทั่วถึง

รัฐบาลสิงคโปร์รับมือกับประเด็นเหล่านี้อย่างไร?

โปรดติดตามตอนต่อไป.