ThaiPublica > คอลัมน์ > Disruption: ทำลายล้างหรือสร้างโอกาส?

Disruption: ทำลายล้างหรือสร้างโอกาส?

19 มิถุนายน 2018


อริญญา เถลิงศรี
กรรมการผู้จัดการบริษัท SEAC : ศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูง

“กลัวได้ แต่ไม่ต้องตกใจ ทำความเข้าใจ เพื่อความสำเร็จในโลกใบใหม่”

ในแวดวงธุรกิจ เราคงเคยได้ยินคำว่า disruption กันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายของคำคำนี้อย่างแท้จริง ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทำให้เราไม่รู้ว่าจะเตรียมรับมือกับ disruption อย่างไรถึงจะช่วยให้ธุรกิจของเราอยู่รอดในยุคนี้ได้ และเราจะต้องติดอาวุธแบบไหนให้กับองค์กรเพื่อเป็นผู้ชนะในสมรภูมิของ disruption

“เมื่อได้ยินคำว่า disruption เชื่อว่าความรู้สึกแรกของคนทั่วไป โดยเฉพาะเจ้าของกิจการ คือความกลัวและความกังวล ทำให้ความหมายของคำนี้เป็นไปในด้านลบมากกว่าด้านบวก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น สมัยก่อนเราได้ยินคำว่า change หรือการเปลี่ยนแปลงกันบ่อยมากในแวดวงธุรกิจ ซึ่ง disruption ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่ง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงที่ทำให้สิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่บางสิ่งบางอย่างล้มหายตายจากไป”

disruption ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันประกอบไปด้วยสี่ด้านหลักๆ ดังต่อไปนี้

ด้านที่หนึ่ง ความเร็ว การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอดีต แต่ในวันนี้ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก

สอง สิ่งหนึ่งเกี่ยวกับ disruption ที่คนวิตกกังวลกันมากคือ วิธีการมอง จากคนรุ่นใหม่ ที่มาจากการศึกษาใหม่ๆ มาจากการมองโลกใหม่ คนกลุ่มนี้ไม่เชื่อในการมองแบบเดิม คนกลุ่มนี้ใช้เลนส์ในการมองแบบใหม่ หลายธุรกิจในปัจจุบัน มีการใช้เลนส์ใหม่เช่นนี้และทำให้เกิดผลกระทบที่แรงมหาศาลไปทั่วโลก กระจายไปในหลายด้าน

สาม คือ startup ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ต้องการเดินตามแนวทางเดิมที่สังคมกำหนดมา ความคิดแบบ startup ไม่ได้เกิดขึ้นกับองค์กรขนาดเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่เท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับองค์กรใหญ่ระดับโลกที่มีการใช้เลนส์แบบใหม่ในการทำงาน เช่น Alibaba, Zara หรือ Adidas คนที่มีความคิดแบบ startup คือคนที่ไม่เชื่อในสิ่งที่สังคมกำหนดและมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ในจุดนี้ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างคำว่า SME กับ startup เพราะ SME เดินตามแนวทางการทำธุรกิจแบบเดิมที่โลกนี้เคยมีมา แต่ startup “รื้อ” สิ่งเดิมและการทำแบบเดิมๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนที่เปลี่ยนไป

สี่ คือ การที่คนได้รับข่าวสารข้อมูลมากขึ้นอย่างรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ได้ที่อยากรู้ผ่านแค่ใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต คนจึงมีความต้องการที่เปลี่ยนไป และด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่ส่งผ่านกันอย่างเสรีอย่างในทุกวันนี้ ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้รับว่ายังคงเป็นสิ่งที่ใช่ เป็นสิ่งที่พวกเขายังต้องการอยู่หรือเปล่า

แม้ disruption จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เราต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านของรูปแบบและแนวทางในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แก่นหรือตัวตนของสิ่งนั้นไม่ได้เปลี่ยนไป เช่น โซเชียลมีเดียอาจจะกำลัง disrupt ธุรกิจหนังสือสิ่งพิมพ์ แต่อย่างไรเสีย คนยังคงต้องเสพข่าว คนไม่มีวันที่จะไม่ต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้น ซึ่งโซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่คนเลือกที่จะใช้บริโภคข่าวสาร ในประเด็นนี้ ธุรกิจที่ถูก disrupt จึงต้องกลับมาคิดว่า เราจะ transform ตัวเราเองอย่างไรเพื่อรองรับกับภาพใหม่ของโลกนี้ ต้องทำการบ้านใหม่ว่าคนต้องการอะไร หาว่าตัวตนใหม่ของเราในวันนี้คืออะไร ลมหายใจของเรายังเหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนคือ เลนส์ในการมองและ paradigm ในการคิด disruption ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เราถึงจุดที่ต้องหารูปแบบใหม่ในการทำธุรกิจแล้ว

หากจะถามว่าประเทศไหนในโลกที่เป็นตัวอย่างที่ดีของ disruption คงหนีไม่พ้น สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยของเราและอีกหลายประเทศ เรายังคุ้นเคยกับแนวทางเดิมๆ เรายังไม่ก้าวข้ามความแตกต่างระหว่างคำว่า change หรือการเปลี่ยนแปลงกับคำว่า disruption ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือ เราจะต้องทำให้คนเข้าใจและตระหนักเรื่อง disruption เสียก่อน

นอกจากนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า คำว่า disruption และ transformation ในยุคนี้อาจมีความหมายไม่ต่างจาก do or dieหรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า disrupt or Be disrupted ซึ่งพอสื่อความหมายได้ว่าถ้าไม่เริ่มวันนี้ก็อาจไม่มีวันหน้า และที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้จะไม่ใช่เพียงแค่การขยับเล็กๆ แบบที่เราทำกันอยู่ทั่วไป แต่ต้องขยับให้แรงและเร็ว เพื่อก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนไปของสภาพแวดล้อม หรือที่เรียกว่าการสร้างให้เกิด breakthrough innovation นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เรื่องการนำองค์กรเพื่อให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องล้มเลิกสิ่งเดิมๆ ที่ทำไปเสียทุกอย่าง แต่ต้องพิจารณาสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมต่อยอดให้องค์กรแข็งแกร่ง Learn-Unlearn-Relearn ยังคงเป็นทักษะที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีกับโลกปัจจุบัน

  • Learn-Unlearn-Relearn กลยุทธ์แห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้นำอย่างแท้จริง
  • การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการทางธุรกิจถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่แน่นอนว่ามันอาจไม่สำคัญหรือไม่ได้ส่งผลลัพธ์ที่เราต้องการหากองค์กรไร้ซึ่งการพัฒนาพนักงาน ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ที่ส่งเสริมเรื่องนวัตกรรม สนับสนุนให้พนักงาน “กล้า” มากกว่า “กลัว”

    แน่นอนว่าทุกคนต้องการอยู่รอดและประสบความสำเร็จในยุค disruption องค์กรต่างๆ ไม่เพียงต้องอยู่รอดผ่านพ้นช่วงการ disruption แต่ยังต้องพร้อมพัฒนาและเติบโต รายงานล่าสุดของ Accenture ชี้ว่า disruption คือสิ่งที่องค์กรใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญ ผลการศึกษาพบบริษัทเกือบ 2 ใน 3 (ร้อยละ 63) กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับรุนแรง แล้วธุรกิจของคุณอยู่ตรงไหน?

    สิ่งสำคัญตอนนี้คือผู้บริหารต้องเข้าใจ disruption เริ่มจากเปลี่ยน mindset ตัวเองก่อนและยอมรับผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่อย่าทำเพียงเชิงรับ ต้องมีการเสริมเชิงรุก ตรงไหนที่ต้องปรับก็ปรับ ต้องไหนที่ต้องเปลี่ยนหรือยกเลิกก็ต้องทำ ทำความเข้าใจกับลูกค้าให้มากขึ้น อย่ายึดติดกับความเชื่อหรือแนวทางการทำธุรกิจแบบเดิมๆ เพราะภูมิทัศน์ทางธุรกิจมันเปลี่ยนไปแล้ว และมันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ด้วยพลวัตที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สิ่งที่เคยทำให้เราสำเร็จในอดีต ไม่ได้การันตีอะไรเลยกับความสำเร็จในอนาคต

    สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่าเราเห็นตัวอย่างมามากมายแล้วกับองค์กรที่ไม่ยอมรับและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น Blockbuster, Nokia หรือ Kodak ประเด็นคือกลัวได้ แต่ไม่ต้องตกใจ ตอนนี้มันไม่ใช่ความกังวลว่าจะ disruption จะเกิดกับเราหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจ ปรับตัวให้ได้เพื่อความสำเร็จ…