ThaiPublica > เกาะกระแส > ไทยละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 66% สูงอันดับสามใน SEA – ชี้หน่วยงานรัฐที่คุมข้อมูลประเทศต้องจัดการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง

ไทยละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 66% สูงอันดับสามใน SEA – ชี้หน่วยงานรัฐที่คุมข้อมูลประเทศต้องจัดการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง

7 มิถุนายน 2018


นายดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บีเอสเอพันธมิตรซอฟต์แวร์

นายดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บีเอสเอพันธมิตรซอฟต์แวร์ เปิดผลสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลกประจำปี 2560 ที่บีเอสเอร่วมกับไอดีซี (IDC) บริษัทวิจัยชั้นนำระดับโลกสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ใน 110 ประเทศทั่วโลก ว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หรือการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) ในปี 2560 อยู่ที่ 37% คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 46,302 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 39% ในปี 2558

ในปี 2560 อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ฯ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อยู่ที่ 57% คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 16,439 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 61% ในปี 2558

สำหรับในประเทศไทย อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อยู่ที่ 66% ในปี 2560 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 714 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 69% ในปี 2558 ตัวเลขในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า ในจำนวนคอมพิวเตอร์ 100 เครื่อง มีการติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อน 66 เครื่อง

การลดลงของอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย เป็นผลมาจากการหดตัวของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เรื่องภัยจากการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซนส์อย่างต่อเนื่องของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ เหตุการณ์มัลแวร์เรียกค่าไถ่ระดับโลกอย่าง Wannacry ที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน ทำให้องค์กรธุรกิจเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ซอฟต์แวร์แท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ที่ช่วยเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย

นักวิเคราะห์จากไอดีซี (IDC) ให้ความเห็นว่า การรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปแจ้งเบาะแสการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในองค์กรธุรกิจ ทำให้เกิดความตื่นตัวในการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มากขึ้น โดยเฉพาะในองค์กรธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น

“จีนถือว่าเป็นประเทศที่มีความคืบหน้าในการลดการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซนส์เมื่อวัดจากอัตราลดลงเป็นเปอร์เซนต์ เพราะอัตราละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลงต่อเนื่องจาก 82% ในปี 2003 มาอยู่ที่ 66% ในปี 2017 ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่ำสุดในเอเชียแปซิฟิกและต่ำเป็นอันดับสองของโลกที่ระดับ 16%” อย่างไรก็ตามประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังมีการใช้ใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซนส์สูงถึง 75% เพิ่มขึ้นจาก 70% ในปี 2558” นายดรุณกล่าว

นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์

ไทยสูงอันดับ 3 เอเซียตะวันออกเฉียงใต้

นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์ กล่าวว่า อัตราการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซนส์ในประเทศไทยลดลง 3% ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ 57% แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนยังต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังต่อไป และการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังช่วยลดความเสี่ยงภัยไซเบอร์ เพราะซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มักจะมีจุดอ่อนด้านความปลอดภัย ทำให้ง่ายต่อการติดมัลแวร์

อัตราการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซนส์ในประเทศไทยลดลง เป็นผลจากการทำงานของหน่วยงานรัฐคือ บก. ปอศ. กรมทรัพย์สินทางปัญญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งถือเป็นกลไกที่ค่อนข้างดี

อย่างไรก็ตาม อัตราการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซนส์ในประเทศไทยยังสูงติดอันดับสามในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากเวียดนามที่อยู่ในระดับ 74% และอินโดนีเซีย 83% ขณะที่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ยังมีอัตราการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซนส์ต่ำกว่าประเทศไทย ในอัตรา 27%, 51%, 64% ตามลำดับ

ในประเทศไทยยังพบการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซนส์ในทุกขนาดองค์กรธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดเล็กหรือ SME กลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค รวมไปถึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจจะเกิดจากความบกพร่องของผู้ปฏิบัติ ดังนั้นองค์กรธุรกิจควรมีนโยบายให้ชัดเจน

บีเอสเอได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยจัดสัมมนาปีที่แล้วไป 2 ครั้ง ปีนี้จัดไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งจำนวนผู้เข้าฟังเพิ่มขึ้น โดยมีผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มากขึ้น อาจจะไม่ใช่เรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซนส์โดยตรง แต่เป็นเรื่องความปลอดภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ที่เกี่ยวเนื่องกับซอฟต์แวร์ ที่สหรัฐอเมริกา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (Securities Exchange Commission: SEC) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้นหากเกิดเหตุภัยไซเบอร์ขึ้น

ปีที่แล้วมีกรณีบริษัทที่เจอภัยไซเบอร์ คือ Equifax ที่ทำข้อมูลลูกค้ารั่วไหล 143 ล้านราย แม้ใช้ซอฟต์แวร์ถูกต้องแต่เป็นเวอร์ชันเก่า และเป็นการผิดพลาดของคน ที่ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีมาตรการดูแลที่รอบคอบ จึงทำให้มัลแวร์เข้ามาได้

บีเอสเอไม่ได้บอกว่าการใช้ซอฟต์แวร์ไลเซนส์แล้วจะปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ แต่การใช้ซอฟต์แวร์ไลเซนส์เป็นการป้องกันเบื้องต้น และยังต้องมีการลงทุนป้องกันด้านอื่นๆ อีก เช่น ไฟร์วอลล์ และระบบรักษาความปลอดภัยอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ เพราะหากไม่รู้ว่าองค์กรมีซอฟต์แวร์ที่ไหนบ้าง จะไม่รู้ได้ว่าอาชญากรไซเบอร์เข้ามาในระบบได้อย่างไร

ซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดในประเทศไทยมีทุกประเภทไปจนถึง open source แม้กระทั่งซอฟต์แวร์ แอนตี้ไวรัส และซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยคนไทยที่มีราคาไม่สูง ดังนั้นการที่จะใช้เหตุผลด้านราคาเพื่อที่จะไม่ใช้ซอฟต์แวร์ไลเซนส์จึงฟังไม่ขึ้น

หน่วยงานรัฐใช้ซอฟต์แวร์มากสุด

การสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลกประจำปี 2560 ของบีเอสเอ ใช้วิธีคำนวณจำนวนและมูลค่าของซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ในกว่า 110 ประเทศทั่วโลก และมีการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ใช้ซอฟต์แวร์ พนักงานบริษัท และเจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร จำนวนเกือบ 23,000 คน

ผลการสำรวจและบทวิเคราะห์ พบว่าผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง โดยส่วนใหญ่ในสัดส่วน 54% มีความเห็นว่า หากองค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซนส์ถูกต้อง มีโอกาสสูงที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระบบคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายขององค์กรมีโอกาสถูกจู่โจมจากผู้ประสงค์ร้าย นำมาซึ่งความเสียหายอื่นๆ เช่น สูญเสียข้อมูลสำคัญขององค์กร และการซื้อซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซนส์มีโอกาสที่จะเจอมัลแวร์ถึง 29%

นายดรุณกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังพัฒนาไปสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทำให้มีความต้องการใช้งานเทคโนโลยี โดยเฉพาะซอฟต์แวร์มากยิ่งขึ้น องค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการการใช้งานซอฟต์แวร์เช่นเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ขององค์กร เพราะการบริการจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management: SAM) ตลอดจนการอัปเดตซอฟต์แวร์และระบบรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัยอยู่เสมอ เป็นหนทางหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบความมั่นคงปลอดภัยองค์กร นอกจากนี้ การจัดการที่ดีด้านการใช้งานซอฟต์แวร์ ยังช่วยให้องค์กรลดต้นทุนด้านซอฟต์แวร์ และเพิ่มผลกำไรในการประกอบการได้อีกด้วย

“ในประเทศไทยองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์มากที่สุดคือ องค์กรภาครัฐ และองค์กรภาครัฐไม่ใช่ควบคุมกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลสำคัญของประเทศ และหนึ่งในนั้นคือข้อมูลของคนไทยทั้งหมด ดังนั้น องค์กรภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ไลเซนส์ มีสัญญาลิขสิทธิ์ถูกต้อง และควรจะมีวิธีการบริหารสินทรัพย์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศรวมถึงซอฟต์แวร์ที่ถูกต้อง เพราะหมายถึงการปกป้องข้อมูลคนไทยทุกคนและปกป้องข้อมูลสำคัญของประเทศ” นางสาววารุณี กล่าว

ภาครัฐต้องเป็นตัวอย่างให้กับภาคธุรกิจในการใช้ซอฟต์แวร์ไลเซนส์ ที่จะได้ประโยชน์ด้านการอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นระยะเพื่อความปลอดภัย รวมไปถึงควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้านเทคโนโลยีรองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล

นอกจากนี้ การใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซนส์มีผลเสียต่อเศรษฐกิจ เพราะเป็นรูปแบบหนึ่งของการเลี่ยงภาษี รัฐจะสูญเสียรายได้เก็บภาษีจากซอฟต์แวร์ที่ถูกต้อง และกรณีที่เกิดภัยไซเบอร์ขึ้น ไอดีซี (IDC) ประเมินว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขคอมพิวเตอร์ที่ติดมัลแวร์ถึงเครื่องละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งองค์กรต่างๆ ทั่วโลกต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบ 359,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อแก้ไขปัญหามัลแวร์ที่มาพร้อมกับการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งหากเป็นบริษัทจดทะเบียนผลกระทบจะเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้น

การบริหารจัดการการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องเหมาะสมคือตัวช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจ โดยนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบความมั่นคงปลอดภัยขององค์กรแล้ว โดยไอดีซี (IDC) ประเมินว่าบริษัทที่มีขั้นตอนการปฎิบัติที่ชัดเจนเพื่อบริหารจัดการซอฟต์แวร์ จะสามารถเพิ่มผลกำไรได้มากถึง 11% และผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า องค์กรสามารถประหยัดงบประมาณด้านซอฟต์แวร์ในแต่ละปี ได้มากถึง 30% หากมีวิธีการบริหารจัดการซอฟต์แวร์และการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่ดี