ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยืนยัน ใช้ระบบ “PSC” ประมูลแหล่ง “เอราวัณ-บงกช” เหมาะสมที่สุด

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยืนยัน ใช้ระบบ “PSC” ประมูลแหล่ง “เอราวัณ-บงกช” เหมาะสมที่สุด

29 มิถุนายน 2018


การเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (แปลง G1/61) และบงกช (แปลง G2/61) ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้นำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) หรือ “ระบบ PSC” มาใช้แทนระบบสัญญาสัมปทานเดิมที่ใช้มานานกว่า 40 ปี

เหตุผลที่ต้องนำระบบ PSC มาใช้ สืบเนื่องจากสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่บังคับใช้ในปัจจุบันกำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2565 ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ต่อหรือขยายอายุสัญญาแก่ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้อีก แต่ยังมีความจำเป็นต้องผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องจากทรัพยากรที่ยังมีเหลืออยู่ นอกจากนี้ เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่ง ต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้กับรัฐ เพื่อนำมาบริหารจัดการร่วมกับผู้รับสัญญารายใหม่ ขณะที่ระบบสัมปทานไม่ได้กำหนดให้รัฐต้องเป็นผู้ลงทุนและบริหารความเสี่ยงร่วมกับผู้รับสัมปทาน

ดังนั้น ระบบ PSC จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่ง โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการ ในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตนั้น ภาครัฐจะมีส่วนร่วมในการอนุมัติแผนงาน งบลงทุน ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆ ร่วมกับผู้ได้รับสัญญา ซึ่งข้อดีคือ ภาครัฐสามารถเข้าไปกำกับดูแลเรื่องการลงทุนได้อย่างชัดเจน

สำหรับผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐจะได้รับจากระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตนั้น ภาครัฐจะได้รับค่าภาคหลวงปิโตรเลียมในอัตรา 10% ของผลผลิตรวม, ส่วนแบ่งผลผลิตปิโตรเลียมไม่น้อยกว่า 50% หลังหักค่าใช้จ่าย และยังมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอีก 20% ของกำไรสุทธิ

การประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยภายใต้ระบบ PSC ครั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ทั้งในด้านความมั่นคงทางด้านพลังงาน รายได้รัฐ และชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน เช่น การมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพลังงานในประเทศใช้อย่างต่อเนื่องในราคาที่ไม่สูงกว่าปัจจุบัน, ราคาไฟฟ้าไม่แพงจนเกินไป, เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนไทยทั้งในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยตรง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง