ThaiPublica > เกาะกระแส > การประชุมสุดยอด สหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ ทรัมป์ทำให้ “การทูตกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง”

การประชุมสุดยอด สหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ ทรัมป์ทำให้ “การทูตกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง”

14 มิถุนายน 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้พบและเจรจากับ คิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในการประชุมสุดยอด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่สิงคโปร์
ที่มาภาพ: koreatimes.co.kr

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้พบและเจรจากับ คิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในการประชุมสุดยอด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่สิงคโปร์ ก่อนการประชุมสุดยอด เจ้าหน้าที่ของสองประเทศ ใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการประชุมเตรียมการเรื่องสถานที่จัดประชุมสุดยอด และการลดความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นสำคัญที่สุด เรื่อง การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

การประชุมสุดยอดครั้งนี้ ได้มีแถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยผู้นำทั้งสอง และคำมั่นใน 4 เรื่อง คือ (1) สหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ จะสถาปนาความสัมพันธ์ใหม่ (2) สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ จะพยายามสร้างระบอบสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ที่มีความหมายว่า ในที่สุดแล้ว จะมีสนธิสัญญาสันติภาพเกิดขึ้น (3) เกาหลีเหนือจะดำเนินการเพื่อบรรลุ “การปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดในคาบสมุทรเกาหลี” และ (4) สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ จะดำเนินการในการค้นหาและส่งคืนศพของเชลยศึกและทหารอเมริกัน ที่สูญหายในเกาหลีเหนือ

ในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน หลังจากการลงนามในแถลงการณ์ร่วมแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ได้แถลงว่า สหรัฐฯ จะระงับการซ้อมรบประจำปีระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ โดยขึ้นกับการเจรจาด้วย “เจตนาดี” ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องกับเกาหลีเหนือ ทรัมป์ยังกล่าวอีกว่า การเจรจาจะดำเนินต่อไป ระหว่างนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐฯ กับเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ และทางเกาหลีเหนือสัญญาว่า จะทำลายสถานที่ทดลองเครื่องยนต์ขีปนาวุธ ในที่ประชุมครั้งนี้ ได้มีการหยิบยกเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ได้กล่าวไว้ในแถลงการณ์

การประชุมครั้งประวัติศาสตร์

แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่า เนื้อหาของความตกลงมีลักษณะคลุมเครือ ไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่เกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ หรือยอมรับการตรวจสอบ แต่ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ทรัมป์กล่าวว่า “เราจะเริ่มกระบวนการนี้อย่างรวดเร็ว” และทรัมป์ยังกล่าวอีกว่า การปลดอาวุธนิวเคลียร์เป็นกระบวนการ ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้เสร็จในทีเดียว ขณะเดียวกัน ทรัมป์กล่าวว่า มีแผนที่จะยุติการซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ และในที่สุด สหรัฐฯ จะถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากคาบสมุทรเกาหลี

ที่มาภาพ : koreatimes.co.kr

นักวิเคราะห์ของ The Korea Times กล่าวว่า ก่อนการประชุมสุดยอด ทรัมป์ต้องการให้เกาหลีเหนือแสดงพันธะผูกพันที่จะดำเนินการเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ในแบบที่ “สมบูรณ์ (complete) ตรวจสอบได้ (verifiable) และรื้อถอนแบบหวนกลับมาไม่ได้อีก (irreversible dismantling)” ท่าทีสหรัฐฯ นี้เขียนออกมาเป็นคำย่อว่า CVID ถ้าคะแนนเต็ม 10 ทรัมป์ก็ได้ไป 8 เพราะทรัมป์ได้แค่ตัว C แต่ในคำย่อนี้ ตัว C สำคัญที่สุด หากบรรลุ C ก็ไม่จำเป็นต้องมี VID แต่กรณีเกาหลีเหนือต้องมี VID เพราะที่ผ่านมา เกาหลีเหนือหลอกลวงมาตลอด

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเกาหลีต่างก็ยอมรับว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นการประชุมทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ยังดำรงตำแหน่ง มีการประชุมกับผู้นำเกาหลีเหนือแบบตัวต่อตัว ท่ามกลางการจับตามอง และการรายงานข่าวของสื่อมวลชนทั่วโลกกว่า 2 พันคน เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่คิม จอง-อึน อาจสร้างประวัติศาสตร์มากกว่าทรัมป์ เพราะสามารถเจรจาแบบตัวต่อตัวกับผู้นำของประเทศมหาอำนาจโลก

หากจะวัดความสำเร็จจากการประชุมสุดยอด ในแง่ของสงครามหรือสันติภาพ การประชุมครั้งนี้ทำให้โลกเรามีความปลอดภัยมากขึ้น เมื่อเปรียบกับปีที่แล้ว ที่เกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธ 20 ครั้ง และยังทดลองระเบิดไฮโดรเจน จนทำให้ทรัมป์ขู่ว่าจะทำลายเกาหลีเหนือด้วย “ไฟบรรลัยกัลป์” หากว่าเป็นอันตรายต่อสหรัฐฯ แต่การประชุมสุดยอดครั้งนี้ได้กำหนดให้มีการเจรจาการทูตต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ผู้นำสองฝ่ายได้เห็นชอบในกรอบความตกลงกว้างๆ

Center for Strategic & International Studies (CSIS) กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องจับตามองต่อไปคือการเจรจาที่ต่อเนื่องจากการประชุมสุดยอด การเจรจานี้จะต้องทำให้เกิดผลลัพธ์และความก้าวหน้าบางอย่างตั้งแต่แรก เพื่อที่แต่ละฝ่ายจะเกิดความมั่นใจ ก้าวแรกที่สำคัญมากคือเกาหลีเหนือเปิดเผยรายละเอียดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด สถานที่เก็บอาวุธ และสมรรถนะในการผลิตต่างๆ ที่ต่อไปจะถูกตรวจสอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ส่วนเกาหลีเหนือเอง ในระยะแรกก็จะเรียกร้องให้มีการยกเลิกการคว่ำบาตร และการสถาปนาความสัมพันธ์ที่ปกติกับสหรัฐฯ

Victor Cha ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีของ CSIS กล่าวว่า แม้แถลงการณ์ร่วมจะไม่มีการระบุเรื่องระยะเวลาของการปลดอาวุธ แต่ก็สามารถคาดการณ์ได้จากสิ่งที่ทรัมป์กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ทรัมป์จะเชิญคิม จอง-อึน ไปเยือนทำเนียบขาว รวมทั้งระงับการซ่อมรบประจำปีระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ หลังจากที่ไมค์ ปอมเปโอ หารือกับพันธมิตรเกาหลีใต้และญี่ปุ่นแล้ว ก็คงจะเปิดการเจรจากับเกาหลีเหนือทันที จุดทดสอบคือเดือนสิงหาคม เพราะสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ต้องตัดสินใจเรื่องการซ้อมรบประจำปีในเดือนสิงหาคมนี้ว่าจะมีขึ้นหรือไม่

ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ จะเกิดเหตุการณ์สำคัญหลายอย่าง ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน คงจะได้พบปะเจรจากับคิม จอง-อึน สี จิ้นผิง ก็คงจะไปเยือนกรุงเปียงยาง ส่วนเลขาธิการสหประชาชาติ ก็จะเชิญคิม จอง-อึน ไปร่วมประชุมประจำปีของสหประชาชาติ ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นโอกาสเหมาะที่คิม จอง-อึน จะเดินทางไปเยือนทำเนียบขาว ดังนั้น แม้ว่าแถลงการณ์ร่วมจะไม่ได้ระบุระยะเวลาการปลดอาวุธของเกาหลีเหนือ แต่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อคือช่วงฤดูร้อน ที่สหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือจะต้องเจรจาให้ได้ผลออกมาระดับหนึ่ง

ทรัมป์กับ “ศิลปะความเป็นไปได้”

การประชุมสุดยอดครั้งนี้เกิดขึ้นได้ ต้องถือว่าเป็นผลงานความสำเร็จของทรัมป์ ที่เห็นว่าตัวเองเคยเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงเชื่อในเรื่อง “ศิลปะของความเป็นไปได้” การที่ทรัมป์ตกลงที่จะมีการประชุมสุดยอดกับคิม จอง-อึน แสดงให้เห็นว่าทรัมป์เป็นคนที่เชื่อว่าปัญหาต่างๆ สามารถเอาชนะได้ ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ก็ทำให้โลกตกตะลึงมาแล้ว จากชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016

ความสำเร็จของการประชุมสุดยอดกับคิม จอง-อึน สะท้อนความสามารถของทรัมป์ในการใช้ศิลปะความเป็นไปได้ ในการแก้ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนที่ไม่ว่าจะใช้ทางเลือกไหนก็ล้วนแต่เลวร้าย (land of bad options)” ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีทางทหารก่อน หรือการเจรจา

ที่ผ่านมา ในสหรัฐฯ มีอยู่ 2 แนวคิดในเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ แนวคิดหนึ่งเห็นว่า ไม่มีทางที่เกาหลีเหนือจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ จึงต้องใช้การโด่ดเดี่ยวทางเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อให้ประเทศนี้อ่อนแอลง รัฐบาลโอบามาเรียกนโยบายนี้ว่า “ความอดทนทางยุทธศาสตร์” อีกแนวคิดหนึ่งเป็นพวกสายเหยี่ยว ที่เห็นว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถอดทนรอความก้าวหน้าของเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถโจมตีสหรัฐฯ เป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ จึงต้องใช้มาตรการกดดันสูงสุด รวมทั้งการโจมตีทางทหาร เพื่อบังคับให้เกาหลีเหนือยินยอมที่จะปลดอาวุธร้ายแรง

ที่มาภาพ : https://www.theatlantic.com/international/archive/2018/06/donald-trump-actually-seems-to-believe-he-denuclearized-north-korea/562715/

Peter Beinart คอลัมนิสต์ของนิตยสาร The Atlantic กล่าวว่า ทรัมป์เป็นคนที่ไม่ชินกับรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องการปลดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ขณะเดียวกัน ทรัมป์เองก็ต้องการให้ผู้คนชื่นชมต่อเขา ในฐานะคนที่จะสร้างสันติภาพ แต่สิ่งดังกล่าวนี้อาจเป็นคุณสมบัติสำคัญสุด ที่ทำให้ทรัมป์ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเกาหลีเหนือ เพราะสิ่งสำคัญสุดของการประชุมสุดยอดไม่ใช่ก้าวแรกของกระบวนการที่จะทำลายแร่พลูโตเนียมหรือยูเรเนียม ที่เกาหลีเหนือนำมาผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่แบบสิ้นเชิงของสองประเทศ

การที่ทรัมป์ไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องรายละเอียดต่างๆ ของการปลดอาวุธนิวเคลียร์อาจกลายเป็นเรื่องที่ดี สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าทรัมป์ให้ความสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมืองมากกว่าปัญหาเทคนิคด้านนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีมูน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ ก็มีท่าทีแบบเดียวกันนี้ มูน แจ-อิน เห็นว่า ไม่ว่าการประชุมสุดยอดจะทำให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์เร็วขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่การประชุมนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศ อบอุ่นขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของสงคราม นักวิเคราะห์เห็นว่า การทดลองอาวุธของเกาหลีเหนือและการซ้อมรบของสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้เป็นปัจจัยอันตรายมากสุดที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุสงคราม

โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีที่ไม่เหมือนประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่ผ่านๆ มา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรัมป์เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเป็นคนมีชื่อเสียง แต่ที่สำคัญสุด ทรัมป์เป็นคนก้าวข้ามการแบ่งขั้วทางความคิดด้วยการเสนอตัวเองโดยตรงกับคนอเมริกัน ในประเด็นที่เป็นปัญหาหลักๆ ของสหรัฐฯ เช่น คนอพยพ การค้า หรือการจ้างงานกับรายได้ ส่วนในเรื่องต่างประเทศ ทรัมป์จะยึดผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ไม่ใช่ค่านิยมสากล

สำหรับคนที่สนับสนุนทรัมป์ การประชุมสุดยอดครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ทรัมป์ทำให้การเจรจาทางการทูตกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันลงจอดที่สิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารของทำเนียบขาวคนหนึ่งเขียนในทวิตเตอร์ว่า “คลินตันทำไม่ได้ บุชทำไม่ได้ โอบามาทำไม่ได้ ทรัมป์กำลังทำได้”

เอกสารประกอบ
Assessment of the Singapore Summit, Center for Strategic & International Studies, June 12, 2018.
Trump Could Transform the US-North Korea Relationship, Peter Beinart, The Atlantic, June 11, 2018.