ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โค้งสุดท้าย คสช. ปรับกลยุทธ์งบปี’62 อัดพื้นที่อีสาน 1.1 แสนล้าน ตั้ง “งบกลาง” 4.7 แสนล้านสูงสุดประวัติการณ์

โค้งสุดท้าย คสช. ปรับกลยุทธ์งบปี’62 อัดพื้นที่อีสาน 1.1 แสนล้าน ตั้ง “งบกลาง” 4.7 แสนล้านสูงสุดประวัติการณ์

18 มิถุนายน 2018


เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นำเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2562 ณ ห้องประชุมรัฐสภา อาคารรัฐสภา 1
www.thaigov.go.th/

หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท วาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 197 ต่อ 0 และงดออกเสียง 3 จากนั้นที่ประชุม สนช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2562 มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน กมธ. ทำหน้าที่พิจารณารายละเอียดการใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นรายกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน – วันที่ 3 สิงหาคม 2561 ก่อนที่จะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีนี้ เสนอให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 วันที่ 30 สิงหาคม 2561

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปีนี้ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงใช้นโยบายขาดดุลกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนๆเป็นปีที่ 12 (นับจากปี 2550) โดยกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3,000,000 ล้านบาท ประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาลอยู่ 2,550,000 ล้านบาท ที่เหลือใช้วิธีการออกพันธบัตรกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบฯ 450,000 ล้านบาท

โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 3 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยงบประจำ 2,261,489 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75.4% ของวงเงินงบประมาณโดยรวม, งบลงทุน 660,305.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22% ของวงเงินงบประมาณโดยรวม และงบฯ ชำระคืนต้นเงินกู้ 78,205.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.6% ของวงเงินงบประมาณโดยรวม โดยมีแหล่งเงินที่จะนำใช้สนับสนุนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในปีนี้จาก 2 ส่วน คือ

    1. การจัดเก็บรายได้ รวม 3,032,600 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมสรรพากร 2,000,000 ล้านบาท กรมสรรพสามิต 622,600 ล้านบาท กรมศุลกากร 100,000 ล้านบาท และหน่วยงานอื่นอีก 310,000 ล้านบาท แต่เมื่อหักยอดคืนภาษีทุกประเภทและการจัดสรรเงินให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว เหลือรายได้สุทธิ 2,550,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 85% ของประมาณการรายได้รัฐบาลในปีนี้

    2. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล วงเงิน 450,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ของประมาณการรายได้รัฐบาล

การจัดสรรเงินงบประมาณปีนี้ มุ่งเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาล 7 ด้าน ประกอบด้วย

    1. การจัดสรรเงินงบประมาณตามยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 329,239 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11% ของวงเงินงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท

    2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 406,496 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.5%

    3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 560,840.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.7%

    4. ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน 397,581.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.3%

    5. ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 117,260 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.9%

    6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 838,422.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 27.9%

    7. รายการดำเนินการภาครัฐ 350,109.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.7%

การจัดสรรงบประมาณปี 2562 แตกต่างจากที่ผ่านมา คือรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ให้น้ำหนักการจัดสรรเม็ดเงินประมาณที่กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ไปลงตามพื้นที่ในระดับภาค เช่น ภาคอีสาน 113,480 ล้านบาท, ภาคเหนือ 78,144 ล้านบาท, ภาคกลาง 94,562 ล้านบาท, ภาคตะวันออก 54,658 ล้านบาท และภาคใต้ 70,708 ล้านบาท คิดเป็นเม็ดเงินรวมทั้งสิ้น 411,552 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2558 เพิ่มขึ้น 76.6%

หากจำแนกตามหน่วยงาน พบว่า งบประมาณมากที่สุด 5 อันดับแรกนั้นกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ดังนี้

    อันดับ 1 กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการจัดสรรงบฯ 489,798.60 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.3% ของงบประมาณโดยรวม

    อันดับ 2 งบกลาง วงเงิน 468,032 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.6%

    อันดับ 3 กระทรวงมหาดไทย 373,519.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.5%

    อันดับ 4 กระทรวงการคลัง 242,846 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.1%

    อันดับ 5 กระทรวงกลาโหม 227,671.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.6%

แต่ถ้าไปดูที่อัตราการเพิ่ม พบว่า กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มมากที่สุด คือ

    อันดับ 1 “งบกลาง” ได้รับการจัดสรรงบฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 47,848.8 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณในหมวดนี้ ให้เห็นเฉพาะตัวเลขวงเงินรวมเท่านั้น ไม่มีทั้งชื่อโครงการและรายละเอียดของแผนการใช้จ่ายเงิน ตามหลักการการใช้ “งบกลาง”เตรียมไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน เช่น กรณีเกิดภัยพิบัติ อาทิ น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว งบกลางเป็นเสมือน “ตีเช็คเปล่า” เพียงแค่ใส่ตัวเลขก็สามารถนำไปใช้จ่ายอะไรก็ได้ และปีนี้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ตั้งวงเงินงบกลางเอาไว้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

    อันดับ 2 กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรรงบฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14,964.5 ล้านบาท

    อันดับ 3 กระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรรงบฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9,168.3 ล้านบาท

    อันดับ 4 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับการจัดสรรงบฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6,959.7 ล้านบาท

    อันดับ 5 องค์กรอิสระและอัยการ ได้รับการจัดสรรงบฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6,235.6 ล้านบาท