ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > #BeatPlasticPollution วันสิ่งแวดล้อมโลก – ลดมลพิษจากพลาสติก – งดพลาสติกใช้แล้วทิ้ง

#BeatPlasticPollution วันสิ่งแวดล้อมโลก – ลดมลพิษจากพลาสติก – งดพลาสติกใช้แล้วทิ้ง

5 มิถุนายน 2018


วันสิ่งแวดล้อมโลกตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี นับตั้งแต่มีขึ้นครั้งแรกในปี 1974 เพื่อส่งเสริมให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกันคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และหาแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบนบก ทางน้ำ และทางอากาศ ที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ

วันสิ่งแวดล้อมโลก ยังถือเป็น People’s Day เพราะเป็นวันที่พลเมืองโลกทุกคนที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมลงมือทำบางอย่างในวันนี้ ที่เห็นว่าจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันมี 100 กว่าประเทศทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับวันสิ่งแวดล้อมโลก และต่างรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในแต่ละปี แนวคิดการประชุมจะเปลี่ยนไปทุกปี โดยเน้นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติหรือ กำลังเป็นปัญหาที่น่าวิตก เพื่อดึงความสนใจจากทั่วโลก และในปี 2018 นี้แนวคิดคือ BeatPlastic Pollution และเจ้าภาพจัดการประชุม คือ อินเดีย

วันสิ่งแวดล้อมโลกเป็นวันที่รวมพลังพันธมิตรจากทั่วทุกมุมโลก ทุกสังคม ที่จะยกระดับความตระหนักและสร้างแรงกระตุ้นให้มีการลงมือปฏิบัติเพื่อลดภาวะมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่มาจากพลาสติก โดยในเว็บไซต์ worldenvironmentday.global ได้จัดทำเนื้อหาเกี่ยวแนวคิดหลักและข้อเสนอแนะใน World Environment day Key Messages

#BEAT PLASTIC POLLUTION

แนวคิดการประชุมวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้คือ Beat Plastic Pollution ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติก ที่เป็นปัญหาหลักของสิ่งแวดล้อมโลกมาตลอด เพื่อให้ร่วมกันหาแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนหรือลดการใช้พลาสติก เพื่อลดผลกระทบจากพลาสติกต่อธรรมชาติ ต่อสุขภาพ และสัตว์ป่า แม้พลาสติกจะมีประโยชน์ แต่ทุกวันนี้มีการใช้พลาสติกกันมาก โดยเฉพาะการใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง หรือใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง

อินเดียเจ้าภาพจัดการประชุมในปีนี้ได้ขยับขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม เพราะได้แสดงให้เห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) และภาวะแวดล้อมจากพลาสติก

ข้อมูลสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุจากพลาสติก

  • มีการใช้ถุงพลาสติกถึง 5 ล้านล้านใบในแต่ละปี
  • ปริมาณพลาสติกรั่วไหลลงทะเลถึง 13 ล้านตันต่อปี
  • ต้องใช้น้ำมันในปริมาณถึง 17 ล้านบาร์เรลล์ต่อปีเพื่อผลิตพลาสติก
  • ทุกๆ 1 นาทีมีการซื้อขวดพลาสติก 1 ล้านใบ
  • สัตว์น้ำตายไปปีละ 100,000 ตัวต่อปีจากขยะพลาสติก
  • ใช้เวลาถึง 100 ปีกว่าพลาสติกจะสลาย
  • 90% ของน้ำขวดปนเปื้อนพลาสติกขนาดเล็ก (Plastic Particles)
  • 83% ของน้ำประปาปนเปื้อนพลาสติกขนาดเล็ก (Plastic Particles)
  • 50% ของพลาสติกที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคเป็นประเภทใช้แล้วทิ้ง
  • พลาสติกมีสัดส่วน 10% ของขยะที่มนุษย์สร้าง

เป้าหมายขจัดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากพลาสติก

ในเว็บไซต์ระบุเป้าหมายของปีนี้ว่า เพื่อต้องการกระตุ้นให้หาแนวทางที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน รวมทั้งจะสร้างกระแสในโลกเพื่อขจัดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากพลาสติกให้ได้ โดยจะใช้วันสิ่งแวดล้อมโลกเป็นจุดหักเหที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่านักประดิษฐ์ นักกิจกรรม ผู้นำทั่วโลก ให้ทำมากขึ้น มากกว่าการกำจัดขยะพลาสติก แต่เน้นการปฏิบัติตั้งแต่ต้นทางการผลิต ตลอดจนริเริ่มให้มีการหารือเพื่อนำไปสู่โมเดลใหม่ในการผลิตพลาสติก การใช้ ซึ่งทั้งบุคคลทั่วไป ภาคเอกชนและผู้กำหนดนโยบายต่างมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยกัน เนื่องจากว่า

  • บุคคลทั่วไป เอกชนและรัฐต่างมีบทบาทสำคัญ
  • มลพิษจากพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมมาตลอด
  • ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า การผลิตพลาสติกจะเพิ่มเป็น 2 เท่า
  • การหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น จะต้องใช้แนวคิดใหม่ในการผลิต การใช้และการจัดการกับพลาสติก
  • บุคคลทั่วไปเริ่มแสดงพลังผู้บริโภคมากขึ้น โดยเริ่มที่จะไม่ใช่หลอดดูด มีดพลาสติก เก็บขยะบนชายหาดและริมฝั่ง รวมถึงเริ่มปรับเปลี่ยนการซื้อสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งหากเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ได้ ผู้ประกอบค้าปลีกหรือร้านค้าก็จะส่งต่อผลนี้ไปยังผู้จัดจำหน่าย
  • แม้แนวทางนี้จะน่าชื่นชมแต่คนเพียงคนเดียว หรือแม้ทุกคนร่วมกันทำไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะต้องแก้ไขที่สาเหตุ
  • ผู้บริโภคเองต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยรวม นอกเหนือจากการลงมือทำด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดผลตั้งแต่ต้นทางการผลิต
  • ผู้บริโภคเองต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยรวม นอกเหนือจากการลงมือทำด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดผลตั้งแต่ต้นทางการผลิต
  • ความเคยชินกับวิธีการแบบเดิม คือ ใช้แล้วทิ้ง กำลังจะล้าสมัย การบริโภคแบบนี้ต้องยุติลง
  • ประเด็นสำคัญก็คือ ต้องขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ให้รับผิดชอบไปตลอดอายุการใช้งานของสินค้าอุปโภคบริโภค และในขณะเดียวกันบริษัทที่มีการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ควรที่จะได้รับการยกย่อง หากมีการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์แบบหมุนเวียน เพื่อจูงใจบริษัทอื่นให้ทำตาม
  • แนวปฏิบัติเพื่อปรับเปลี่ยนผู้บริโภคและธุรกิจต้องได้รับการสนับสนุนหรือบางครั้งเป็นการเริ่มจากระดับนโยบาย
  • ผู้วางนโยบายและรัฐบาลทั่วโลกต้องปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีค่า รวมทั้งสุขภาพของประชากร ด้วยการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้กฎหมาย
  • เพื่อจำกัดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต้องอาศัยความเป็นผู้นำจากรัฐบาล และในบางกรณี หลายประเทศได้เริ่มใช้มาตรการสำคัญๆ ไปแล้ว
  • การห้ามใช้ถุงพลาสติกในกว่า 100 ประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการดำเนินงานของรัฐบาลว่ามีมากแค่ไหนต่อพลาสติก

ข้อเสนอแนะ

  • รัฐบาลต้องเป็นผู้นำ ด้วยการใช้มาตรการอย่างเข้มงวด เพื่อผลักดันให้การออกแบบการผลิตพลาสติกอยู่ในรูปแบบหมุนเวียน และเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศออกกฎหมายห้ามผลิตและห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง
  • ภาคเอกชนต้องมีนวัตกรรม ปรับโมเดลธุรกิจที่จะลดผลกระทบจากอุตสาหกรรมปลายทางต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์
  • ในวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ ขอเรียกร้องให้ผู้ผลิตพลาสติกทุกรายแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้น และเริ่มลงทุนกับการออกแบบที่ยั่งยืนตั้งแต่วันนี้เพื่ออนาคต
  • พลเมืองเองก็ต้องทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้บริโภคและพลเมืองที่มีความรู้ เรียกร้องผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน และปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
  • เรียกร้องให้ผู้บริโภคแสดงพลังแห่งการซื้อ ด้วยการปฏิเสธไม่ใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง

ผลักดันการเปลี่ยนแปลง

วันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้คาดหวังที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

ปรับปรุงวิธีการจัดการขยะ

ประมาณ 1 ใน 3 ของพลาสติกที่ใช้จะหลุดไปจากการจัดเก็บ และเมื่อเข้าไปสู่ในสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็จะไม่หายไป แต่จะค่อยแตกย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ และใช้เวลานานถึง 100 ปีหรือนานกว่านั้นกว่าจะย่อยสลาย รวมทั้งวันกลับมาสู่วงจรอาหารของคนอีกครั้ง การจัดการกับขยะและการรีไซเคิล จึงมีความจำเป็นต่อการสร้างระบบเศรษฐกิจพลาสติกใหม่

ลดพลาสติกขนาดเล็ก

งานวิจัยล่าสุดพบว่ามากกว่า 90% ของน้ำบรรจุขวด และ 83% ของน้ำประปาปนเปื้อนพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีใครมั่นใจว่า จะมีผลต่อสุขภาพคนอย่างไร แต่กลับตรวจพบในเลือด ท้อง และปอด และมีการเพิ่มขึ้นจนเป็นเรื่องปกติแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาจาก micro-bead ที่เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและวัตถุดิบชนิดไม่คืนตัว

ส่งเสริมงานวิจัยเพิ่มทางเลือก
ทางเลือกของการผลิตพลาสติกจากน้ำมันมีข้อจำกัดและขยายได้ยาก ดังนั้น งานวิจัยจึงมีความจำเป็นเพื่อให้มีทางเลือกในการผลิตพลาสติกแบบยั่งยืน ที่มีความเป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจและเปิดกว้างในการเข้าร่วม