ThaiPublica > คนในข่าว > “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” Eisenhower Global Fellow 2018 กับโจทย์ผลักดันสถาบันวิจัยอิสระวิเคราะห์นโยบายรัฐก่อนประกาศใช้

“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” Eisenhower Global Fellow 2018 กับโจทย์ผลักดันสถาบันวิจัยอิสระวิเคราะห์นโยบายรัฐก่อนประกาศใช้

10 มิถุนายน 2018


ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

Eisenhower Fellowships ก่อตั้งขึ้นในปี 1953 เพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ แห่งสหรัฐอเมริกา ผู้นำระดับโลกที่นำสันติภาพและมิตรภาพมาสู่สังคมโลก

ไอเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิป (Eisenhower Fellowships) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างผู้นำคนรุ่นใหม่จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีผลงานหรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อโลก และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่จะช่วยให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลขึ้น ซึ่งจะทำให้การดำเนินการด้านต่างๆ มีประโยชน์ต่อประเทศและสังคมโลก

แต่ละปีจะมีการคัดเลือกผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งอยู่ในช่วงกลางของเส้นทางอาชีพ (mid-career) ประมาณ 25 คนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้เป็น Fellow และเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาประมาณ 7 สัปดาห์ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำในด้านต่างๆ ที่สนใจ ตามกำหนดการที่ออกแบบเฉพาะของแต่ละคน

การคัดเลือก Fellow จากแต่ละประเทศนั้นจะดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกระดับสูงในแต่ละประเทศส่วนการคัดเลือกในขั้นสุดท้ายจะผ่านคณะกรรมการของ Eisenhower Fellowship ที่สำนักงานใหญ่ในฟิลาเดลเฟีย

สำหรับประเทศไทยในปีนี้ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้รับการคัดลือกจากคณะกรรมการ Eisenhower Fellowships ให้เป็น 2018 Global Fellow

2 เป้าหมายหลักการเรียนรู้

ดร.พิพัฒน์ ได้เดินทางไป 12 เมืองในสหรัฐฯ เพื่อพบปะผู้นำในด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลา 7 สัปดาห์ รวมทั้งยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ Fellow อีก 24 คนจากทั่วโลกที่มาจากเอเชีย 6-7 คน ที่เหลือจากยุโรป ลาตินอเมริกา และแอฟริกา เนื่องจากในช่วงสัปดาห์แรกเป็นการแนะนำตัวทำความรู้จัก ซึ่งแต่ละคนได้มีโอกาสบอกเล่าถึงสถานการณ์ของประเทศตัวเองรวมทั้งแผนหรือเป้าหมายที่ต้องการจะทำเมื่อกลับประเทศ

เพียงแค่เริ่มต้นจากการปฐมนิเทศทำความรู้จักกับทุกคน ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า “รู้สึกได้ว่า แต่ละคนมี mission มี passion ที่ต้องการจะ make a change อย่างจริงจัง”

ดร.พิพัฒน์ เล่าว่า Fellow คนหนึ่งตั้งมูลนิธิเพื่อใช้กีฬานำเด็กที่มีความเปราะบางออกจากการใช้ชีวิตบนถนน มาเล่นกีฬา ขณะที่อีกคนเป็นผู้บริหารขององค์กรชื่อ Right to Dream มีเป้าหมายส่งเสริมคนในประเทศกานาให้มาเล่นกีฬาฟุตบอล มีการตั้งโรงเรียนเพื่อฝึกฝนให้เข้าสู่ทีมชาติสร้างผู้นำจากกีฬา ส่วน Fellow จากไต้หวันสนใจที่จะพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะเห็นว่าทุกวันนี้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในมือผู้บริหารสูงวัยเป็นหลัก

ดร.พิพัฒน์ ยังได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงานประชุมประจำปีของ Berkshire Hathaway บริษัทของวอร์เรน บัฟเฟต ที่โอมาฮา รัฐเนบราสกา ซึ่งมีผู้เข้าประชุม 42,000 คน ทั้งผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ สื่อมวลชนและผู้สนใจอื่นๆ ที่น่าสนใจคือคนจีนมาจำนวนมาก เป็นคณะทัวร์ แสดงให้เห็นว่าคนจีนสนใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น

การประชุมของ Berkshire Hathaway มีช่วงถามตอบที่ให้เวลาถึง 7 ชั่วโมง โดยมีวอร์เรน บัฟเฟต อายุ 87 ปี กับ ชาร์ลี มังเกอร์ อายุ 94 ปี (vice chairman ของ Berkshire Hathaway) นั่งตอบคำถามผู้ถือหุ้น ตลอดทั้ง 7 ชั่วโมงโดยไม่ลุกไปไหน

“ที่ประทับใจคือการตอบคำถามของวอร์เรน บัฟเฟต กับชาร์ลี มังเกอร์ ที่แสดงให้เห็นถึงความคิดที่เฉียบคม เป็นการตอบคำถามที่ไม่ได้เตรียมคำตอบไว้ ไม่มีทีมงานคอยให้ข้อมูลอยู่ด้านหลัง วอร์เรนและชาร์ลีจำข้อมูลการลงทุนได้ทุกอย่างแม่นยำ รวมทั้งยังเรียกเสียงหัวเราะจากที่ประชุมเป็นระยะ” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ตลอด 51 สัปดาห์ ดร.พิพัฒน์ ได้เข้าพบปะผู้นำและบุคคลสำคัญรวม 62 นัด ตามโปรแกรมที่ออกแบบของตัวเอง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความสนใจที่จะเรียนรู้และหาประสบการณ์ ใน 2 เรื่องหลักด้วยกัน คือ เป้าหมายแรก ต้องการเรียนรู้เรื่อง การวิเคราะห์นโยบาย (policy analysis) ส่วนเป้าหมายที่สอง คือ เรื่องฟินเทค (Fintech)

เจาะลึกการวิเคราะห์นโยบาย

ดร.พิพัฒน์ เล่าว่า จากความสนใจในเรื่องแรก policy analysis นั้นตามกำหนดการที่ออกแบบ ทำให้ได้พบปะกับผู้กำหนดนโยบาย (policy maker) ทั้งด้านนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง สาขาธนาคารกลางตามเมืองใหญ่ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตอบสนองของเมืองต่างๆ ที่ส่งกลับมาที่ระบบ Federal Reserve และระบบการตัดสินใจ รวมไปถึงระบบการคลัง รวมทั้งได้พบปะกับหน่วยงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (Office of the U.S. Trade Representative: USTR) ที่ทำหน้าที่เจรจาการค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของหลายกลุ่มที่บางครั้งบางกลุ่มอาจจะเสียประโยชน์ บางกลุ่มอาจจะได้ประโยชน์ เพื่อศึกษาว่าน้ำหนักการตัดสินใจอยู่ตรงไหน

นอกจากนี้ได้พบกับองค์กรบริหารด้านความถี่ของสหรัฐฯ (Federal Communications Commission: FCC) โดยได้ซักถามเกี่ยวกับแนวทางการตัดสินการประมูลคลื่น ซึ่งได้คำตอบว่า การตัดสินใจได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มที่คอยดูและคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Advocacy Group) ที่สะท้อนเสียงผู้บริโภคกลับขึ้นมา

ดร.พิพัฒน์ เล่าว่า มีความสนใจเรื่อง policy analysis มาตั้งแต่ช่วงที่ศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เพราะพบว่า policy analysis ที่สหรัฐมีมาก ทุกครั้งที่สหรัฐฯ มีการประกาศนโนยบายหรือโครงการใหม่ จะมีคำถามว่า How much does it cost? หรือ จะใช้เงินเท่าไร How would you finance it? จะเอาจากที่ไหน โดยเฉพาะในนโยบายการคลัง

การหาเงิน (finance) มาใช้ในโครงการเป็นเรื่องใหญ่มาก การที่จะ finance โครงการใหม่ โดยทั่วไปทำได้ 3 วิธี หนึ่ง ตัดงบประมาณจากส่วนงานอื่น สอง ขึ้นภาษี และสาม เพิ่มหนี้ด้วยการกู้ยืม ดังนั้น หากจะทำนโยบายใหม่และเป็นนโยบายที่มีต้นทุนสูง ต้องทำ 3 วิธีนี้ ซึ่งเป็นต้นทุนทั้งนั้น และผูกพันระยะยาวไปจนถึงคนรุ่นต่อไป

ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พยายามจะยกเลิกนโยบายประกันสุขภาพทั่วหน้า Obama Care ซึ่งเมื่อเสนอไปนั้น หน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณของสภาคองเกรส (Congressional Budget Office: CBO) ก็ได้ทำการวิเคราะห์และออกมาให้ข้อมูลว่า การทำแบบนี้จะส่งผลให้ 23 ล้านคนไม่มีประกันสุขภาพ และจำนวนต้นทุนการคลังจะเพิ่มขึ้น

“ดังนั้น จะเห็นว่าเมื่อมีการเสนอนโยบายอะไรขึ้นมาก็ตาม ก็จะมีต้นทุนเกิดขึ้นเสมอ ยิ่งเป็นนโยบายสาธารณะ ไม่มีอะไรที่พิสูจน์ให้เห็นว่าทุกคนดีขึ้นพร้อมๆ กัน เมื่อมีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย แล้วเวลามีคนได้คนเสีย มีการเจรจาต่อรองกันอย่างไร หรือว่าจัดสรรให้ลงตัว (settle) อย่างไร ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยก็จะใช้วิธีกลับไปหาตัวแทนของประชาชน ตัวแทนก็ต้องมาถามประชาชน แล้วนำไปถกเถียงหารือกัน และหากกรณีที่เป็นกฎหมายงบประมาณก็นำเข้าสู่สภา สภาก็เป็นตัวแทนประชาชน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมาถกเถียงกัน ต้องรู้ก่อนว่า ใครได้ ใครเสีย และเสียเท่าไร”

ในประเทศไทยการดำเนินนโยบายไม่มีการวิเคราะห์ ดร.พิพัฒน์ ได้ยกตัวอย่าง โครงการช้อปช่วยชาติที่ประกาศใช้ติดต่อกัน 3 ปี แต่ไม่มีการประเมินผลกระทบว่าเป็นอย่างไร ใครได้ ใครเสีย แต่มีการนำมาใช้ทันที และเมื่อใช้แล้วในปีแรก ก็ไม่มีการประเมินผล และกลับมาใช้อีก ทุกคนก็คิดว่าตัวเองได้หมด เพราะไม่มีใครรู้ว่าต้นทุนเท่าไร และเป็นต้นทุนเท่าไร

“ผมกำหนดเป้าหมายเรื่องนี้ เพราะอยากจะรู้ว่าในสหรัฐฯ ทำอย่างไร มีการทำวิเคราะห์นโยบาย และทำอย่างไรให้ไทยมีการวิเคราะห์ มีการถกเถียง เพื่อให้มีกระบวนการตัดสินใจที่มีส่วนร่วมของประชาชน ผลประโยชน์ของทุกกลุ่มเข้ามารวมกันและถกเถียงกันได้”

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การทำนโยบายนั้นยากที่จะทำให้เป็น win-win ส่วนใหญ่ win-lose คำถามคือ คนที่เสียผลประโยชน์จะทำอย่างไรหากไม่มีตัวแทนประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มที่สามารถเข้าถึงผู้กำหนดนโยบายได้ตลอด

ยกตัวอย่าง การออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินของไทย ในช่วงแรกมีเป้าหมายเก็บภาษีที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม แต่เมื่อมีการถกเถียงกันขึ้น ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ความเห็นยกประเด็นที่กังวลขึ้น ซึ่งหากมีการเพิ่มคำว่า ยกเว้นที่ดินที่เป็น landbank เข้าในกฎหมาย ก็สะท้อนว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เข้าถึงผู้กำหนดนโยบาย ขณะที่กลุ่มอื่น เช่น เกษตรกร ไม่มีโอกาส คำถามก็คือ ต้องมีกระบวนการอย่างไรที่จะทำให้เสียงหรือความเสียหายเหล่านี้ถูกได้ยิน มีการถกเถียง มีการวิเคราะห์

ศึกษารูปแบบ Think Tank

ดร.พิพัฒน์ เล่าต่อว่า ด้านการวิเคราะห์ในสหรัฐมีสถาบันวิจัยระดับมันสมอง (think tank) จำนวนมากเป็น 100 แห่ง ที่ครอบคลุมทุกด้าน มีความเห็นที่หลากหลายในทางการเมือง จึงเป็นแหล่งการจ้างผู้ที่มีความรู้ความสามารถมีความเชี่ยวชาญแห่งหนึ่ง เพราะมีผู้ที่มีประสบการณ์จากองค์กรสำคัญระดับโลกหลายแห่งเข้าร่วม เช่น จากกองทุนการเงินการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเป็นโมเดลที่น่าสนใจ

“ผมอยากรู้มากว่าเขาทำอย่างไรถึงมี think tank ที่สะท้อนความเห็นที่หลากหลายมาก และ think tank พวกนี้จ้างคนที่มีความรู้ความสามารถสุดยอด เช่น Brookings Institution มี อดีตผู้ว่าการธนาคารกลาง 2 คน เข้าร่วม คือ เบน เบอร์นันเก้ และ เจเน็ต เยลเลน แสดงว่ามีทุนมากพอที่จะดึงคนเหล่านี้ ที่มีความรู้ความสามารถ เมื่อพูดออกมาแล้วคนจะเชื่อ”

ดร.พิพัฒน์ เล่าต่อว่า จากการพบปะผู้นำและบุคคลสำคัญหลายด้านได้เรียนรู้ระบบนิเวศของ think tank ในสหรัฐฯ และเรียนรู้โครงการเงินทุน (financial model) ของกลุ่มนี้ โดยพบว่า think tank ในสหรัฐฯ ประกอบด้วย หนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ สอง อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งงานด้านการวิเคราะห์นโยบาย การถกเถียงด้านนโยบาย และสาม สถาบันวิจัยอิสระที่ทำงานด้านวิเคราะห์

ตัวอย่างเช่น CBO เป็นองค์กรที่รายงานตรงต่อสภาคองเกรส รับเงินจากสภาคองเกรส ไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล CBO จะวิเคราะห์นโยบายที่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์แบบเป็นกลาง (non-partisan) ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่เพื่อช่วยสมาชิกคองเกรสมีข้อมูลในการตัดสินใจ

สาเหตุที่สหรัฐอเมริกามี think tank จำนวนมาก เนื่องจากการทำงานยึดหลักการ 2 ข้อ คือ integrity ความซื่อสัตย์ กับ quality คุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้งานวิจัยวิเคราะห์มีผลต่อนโยบายได้

“วิธีที่ think tank จะสามารถมีผลต่อนโยบายได้ เมื่องานที่ผลิตมีคุณภาพและผลิตออกมาแล้ว คนเชื่อว่าจะไม่ผลโน้มน้าวหรือมีอิทธิพลต่อฝั่งใดฝั่งหนึ่งจนเกินไป และมากกว่าจุดยืนที่แสดงออกมา”

ดร.พิพัฒน์ เล่าต่อว่า funding หรือเงินทุนเป็นเรื่องที่สำคัญมากของ think tank ซึ่งจากการพบปะครั้งนี้ได้ข้อมูลว่า 1 ใน 3 ถึง 2 ใน 3 ของ funding ของ think tank ส่วนใหญ่ในอเมริกา ได้เงินจากการรับบริจาค ทั้งองค์กรธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมทั้งอาจจะมาจากกองทุน (endowment) ที่ตั้งขึ้นจากเศรษฐีที่ตั้งใจให้ไว้เพื่อสนับสนุนงานของสถาบันใดสถาบันหนึ่งโดยเฉพาะ

“สถาบันวิจัยหรือ think tank ที่รับเงินบริจาค เมื่อผลิตผลงานวิเคราะห์ออกมาแล้วจะต้องเผยแพร่ต่อประชาชน รวมทั้งห้ามทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ต้องทำวิเคราะห์อย่างเดียว ผู้บริจาคเองก็สามารถหักภาษีได้หากเป็นองค์กรที่เข้าข่ายตามหมวดย่อย 501 C (3) ตามกฎหมายภาษี คือ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ จึงเป็นช่องให้คนบริจาคได้ ทำให้ผมรู้สึกว่าวัฒนธรรมการให้ของอเมริกายิ่งใหญ่มาก”

มูลนิธิ บิลล์และเมลินดา เกตส์ เป็นตัวอย่างของการตั้งมูลนิธิขึ้นแล้วให้เงินแก่องค์กรจำนวนมาก ในเกือบจะทุกด้าน ทั้ง ศิลปะ ดนตรี กีฬา การศึกษา สาธารณสุข รวมไปถึงนโยบายสาธารณะ (public policy) เพราะมองว่าเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) นอกจากนี้คนอเมริกาส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเมื่อจ่ายภาษีไปแล้วรัฐบาลจะไปสร้าง public goods อย่างที่ต้องการ ในเมื่อสามารถหักภาษีได้ ก็นำเงินไปสร้าง public goods ที่ตัวเองต้องการดีกว่า

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า policy analysis นี้เป็น public goods ที่เขาเชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนวาระนโยบายของเขาได้ และบริจาคให้ think tank ที่มีแนวทางการวิเคราะห์ที่สอดคล้องกับความเชื่อความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อด้านใด เช่น เชื่อว่ารัฐไม่ควรจะยุ่งกับเอกชนมากนัก หรือเชื่อว่าควรจะมีรัฐสวัสดิการ เชื่อในระบบที่ให้ผลประโยชน์ต่อประชาชนมากๆ แต่การที่บริจาคให้ think tank ก็จะช่วยพัฒนาและสร้างความเข้าใจสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง และทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนหันมาสนใจประเด็นพวกนี้มากขึ้น

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ที่บริจาคเงินต้องไม่มีอิทธิพลต่อการวิเคราะห์ เพื่อรักษาคุณภาพและความเป็นกลางของงาน จึงมีการกำหนดว่า ผู้บริจาคไม่มีสิทธิตรวจทานงานของสถาบันวิจัย

สำหรับ think tank ส่วนใหญ่ในไทยได้รับทุนจากการวิเคราะห์โครงการต่างๆ ซึ่งมาจากรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัญหาการขัดกันของผลประโยชน์ในการให้ความเห็น

think tank ที่สหรัฐอเมริกามีลักษณะเฉพาะซึ่งไม่มีที่ใดในโลกเหมือน ในยุโรปส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล แม้พยายามทำตัวอิสระ และไม่มีที่ไหนในโลกที่มีวัฒนธรรมการให้ที่หลากหลายและใหญ่เท่ากับอเมริกา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจ แต่ประเทศไทยนำมาใช้ได้หรือไม่ ไม่สามารถบอกได้

5 กลุ่มชี้ทิศทางนโยบาย

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า public analysis เกี่ยวข้องกับ 5 กลุ่มที่จะมีผลต่อนโยบายไปในทิศทางที่เหมาะสม ได้แก่

หนึ่ง policy maker ต้องเป็นคนที่เปิดใจกว้างต้องเชื่อว่าตัวเองทำเพื่อผลประโยขน์ของสังคมโดยรวม ต้องเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นของสังคม รวมทั้งต้องมีการแบ่งปันข้อมูลด้วย เพราะการวิเคราะห์ถ้าไม่มีข้อมูลไม่มีประโยชน์

สอง ผู้ผลิตงานวิเคราะห์ สถาบันวิจัยอิสระ ที่ต้องมีงานวิเคราะห์วิจัยที่เป็นกลางและมีคุณภาพ

สาม สื่อมวลชน เพื่อที่จะนำเสนอประเด็นต่อประชาชน แต่สิ่งสำคัญคือ สื่อต้องมีอิสระ (free press) ที่เป็นหัวใจสำคัญ สามารถหยิบยกประเด็นที่ขัดแย้งกับผู้อำนาจมารายงานได้ และนำมาถกเถียงได้

จากการพบกับสื่อมวลชนที่สหรัฐอเมริกา ได้รับคำถามกลับมาว่า สื่อไทยมีอิสระจริงหรือไม่ และมีอิสระแค่ไหน เพราะที่สหรัฐฯ ไม่มีการถกเถียงในประเด็น free press เพราะเป็นของจริงที่ยอมรับกันอยู่แล้ว รวมทั้งได้มีพูดคุยถึงโมเดลธุรกิจของสื่อในปัจจุบัน โดยรูปแบบระบบสมาชิก (subscription based) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นการตอบสนองผู้อ่าน การที่จะถกเถียงนโยบายอะไร ก็ยึดผู้อ่าน ดังนั้นผู้อ่านต้องจ่าย

สี่ กลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ในสหรัฐอเมริกา interest group ที่มีบทบาทสำคัญคือ Consumer Advocacy Group แต่ในประเทศไทย หอการค้า สมาคมธนาคาร เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่สำคัญ เป็นองค์กรธุรกิจที่ยึดกันอยู่เพราะมีผลประโยชน์ ขณะที่ด้านผู้บริโภค เมืองไทยอาจจะมีบ้าง แต่ความเข้มแข็ง การเข้าถึง การวิเคราะห์ การถกเถียงอาจจะยังจำกัดอยู่

“สิ่งที่สำคัญมากคือ การที่คนอื่นจะมาปกป้องเรา ก็จะต้องมั่นใจว่าเรามีตัวแทน หากปล่อยให้มีแต่คนที่ไปถกเถียงกันเพราะเขาเสียประโยชน์ ผลก็จะเป็นว่า ได้กระจุกเสียกระจาย คนได้ได้ไม่กี่คนแล้วได้มากเทียบกับคนที่เสียประโยชน์คนละเล็กคนละน้อย หรือกับคนที่เสียเยอะมาก เวลาถกเถียงกัน คนที่มีผลประโยชน์เยอะจะได้ เพราะมีเสียงเยอะ”

ดร.พิพัฒน์ เล่าว่า ไฮไลต์ของทริปนี้ คือ การได้พบกับ Academic Opportunity Institute เป็น think tank ด้วย เป็นองค์กรที่ทำเรื่องสิทธิของแรงงาน มุ่งไปที่การปฏิบัติต่อแรงงานในรัฐวอชิงตัน ในปีที่แล้วประสบความสำเร็จในการผลักดันให้รัฐวอชิงตันเป็นรัฐที่ 6 ที่ออกกฎหมาย Paid Family Leave คือ หากภรรยาลาคลอด สามีลาได้ด้วย บังคับให้นายจ้างต้องอนุญาตให้ลาได้ โดยที่รัฐชดเชยให้

สิ่งที่น่าสนใจมาก คือ Academic Opportunity Institute ทำเรื่องนี้มา 19 ปี ต้องทำทั้งงานวิจัย ต้องชักจูงนายจ้างเพราะเป็น interest group ที่สำคัญ

กลุ่มที่ห้า คือ การเมือง หมายถึงการทำให้เสียงของประชาชนกลับไปสู่กระบวนการการออกกฎต่างๆ ซึ่งจากการได้พบกับสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทน ได้ตั้งคำถามในประเด็น นโยบายการค้าของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า ส.ส. ได้ทำอะไรบ้าง ได้คำตอบว่า สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือ สอบถามธุรกิจในเขตเลือกตั้งของตัวเองว่า มีใครเริ่มได้รับผลกระทบแล้วหรือไหมจากมาตรการภาษี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง ปกป้องผลประโยชน์ของคนในเขตเลือกตั้งของเขา เสียงพวกนี้จะกลับมาที่ตัวแทนของคนและตัวแทนจะนำไปเสนอหรือทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน

“สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำตอนนี้ใช้อำนาจบริหาร ยังไม่ได้ออกกฎหมาย แม้สภาคองเกรสจะไม่ได้เห็นด้วยก็อาจจะทำอะไรมากไม่ได้ แต่เป็นกระบวนการหนึ่งของการมีตัวแทนสามารถส่งเสียงไปได้ ถ้าทุกคนในระบบมีความรับผิดชอบ ทำให้เสียงหรือกระบวนการตัดสินใจได้ยินแล้วเข้าไปสู่กระบวนการการออกนโยบาย”

ผลักดันสถาบันวิจัยอิสระวิเคราะห์นโยบาย

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมตลอด 7 สัปดาห์ ตามโปรแกรมได้เขียนรายงานถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้และโครงการที่ต้องการจะทำ พร้อมกำหนดระยะเวลา สรุปส่งให้กับ Eisenhower Fellowship เพื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการจะเห็น ซึ่ง Eisenhower Fellowships พร้อมที่จะสนับสนุนในด้านทรัพยากรและเครือข่ายได้

จากการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผนวกกับความสนใจที่มีอยู่แล้ว ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า ต้องการที่จะผลักดันให้เกิดการวิเคราะห์นโยบายในประเทศไทย แต่ไม่ถึงขั้นที่จะตั้งสถาบันวิจัยขึ้นใหม่ โดยจะใช้วิธีการหาเครือข่ายจากกลุ่มที่มีแนวคิดคล้ายกัน อาจจะเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายอยู่แล้วใน 5 กลุ่มหลัก และจะระดมแนวคิดร่วมกันหาในสิ่งที่เมืองไทยขาดว่าคืออะไร จะปฏิรูปอะไร ด้านใดที่อยากจะผลักดัน

ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย มี สถาบันป๋วย ซึ่งมีสโลแกนว่า research driven policy เป้าหมายคือต้องการให้มีนโยบายที่ผลักดันโดยงานวิจัย งานวิเคราะห์ ซึ่งได้วางแผนไว้ว่าหากมีโอกาสจะเข้าไปหารือ เพื่อจัด session ที่ระดมแนวคิดระหว่างกันได้

ก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พยายามผลักดันการจัดตั้ง Parliamentary Budget Office หรือ PBO เพื่อทำหน้าที่คล้ายกับ CBO ของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใกล้เคียงกัน

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า แม้ในประเด็น think tank ยังหาแนวทางไม่ลงตัว เพราะต้องมีทรัพยากร มีตลาด แต่อย่างน้อยสามารถสร้างความตระหนักรู้ขึ้นมาได้ว่า การดำเนินโยบายจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ มีการถกเถียง แม้กระทั่งสื่อเองก็มีความจำเป็น ทำอย่างไรให้มี free speech มีการวิเคราะห์ตีประเด็นขึ้นมา

“ทำอย่างไรให้รัฐบาลรู้ว่าไม่ว่าทำอะไร ต้องตอบประชาชนว่า นโยบายที่จะเกิดขึ้นกระทบต่อประชาชน วางกระบวนการอย่างไรให้เสียงของประชาชนประสานกันได้ โดยที่มีพื้นฐานจากการถกเถียง เพราะประเด็นที่สำคัญวันนี้ ไม่มีคนรู้ว่านโยบายที่ออกมามีต้นทุน ยกตัวอย่าง ช้อปช่วยชาติไม่มีใครรู้สึกว่ามีต้นทุน ทุกคนรู้สึกว่าได้กันหมด

“การตัดสินใจออกนโยบายควรอยู่บนพื้นฐานการมีข้อมูลการวิเคราะห์ใครได้ใครเสียและเท่าไร เสียเท่าไร เพราะเป็นภาษีที่เราจ่าย ที่อาจจะไปใช้ในนโยบายอื่น ซึ่งไม่ใช่นโนยบายที่เราต้องการหรืออยากได้”

สำหรับเรื่องเงินทุนเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์นโยบาย ของไทยอาจจะต้องหาทางให้คนรวยให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น เช่น การศึกษา ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้กับ think tank โดยเฉพาะ ให้อะไรก็ได้ที่เป็น public goods ในการเพิ่มโอกาส หากเชื่อว่าเป็นประโยชน์ได้กับสาธารณะ

มุ่งหาแนวทางสร้างข้อมูล

ดร.พิพัฒน์ เล่าถึง Fintech เป้าหมายที่สองของการเรียนรู้ว่า ต้องการไปดูภาพรวมว่า Fintech กระทบสถาบันการเงินอย่างไร และสถาบันการเงินปรับตัวอย่างไร รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินจากมุมของสถาบันการเงิน โดยนอกจากได้พบปะกับ Fintech ในเมืองใหญ่ แล้วยังได้พบกับธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ NYSE ธนาคารกลางในฐานะผู้กำกับดูแลและมุมมองที่มีต่อ Fintech

Fintech หลายรายให้ข้อมูลว่า ได้นำจุดอ่อนของสินค้าและบริการของผู้ใช้บริการธนาคารที่ไม่พอใจมาทำเป็นแผนธุรกิจ

สำหรับการส่งเสริมนวัตกรรมของธนาคารจะไม่แตกต่างกันและแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มธนาคารที่พัฒนาทุกอย่างขึ้นจากภายในองค์กร (internal technology group) เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำให้องค์กรจะสามารถแข่งกันกับภายนอกได้ สอง กลุ่มที่ใช้การลงทุนใน Fintech ในรูปแบบ venture capital ซึ่งธนาคารในไทยก็มีการใช้แบบนี้ สาม hybrid model เป็นแบบผสม บางงานก็เรียก startup มาแข่งขันกับเทคโนโลยีที่ธนาคารพัฒนาเอง หากของ Fintech ดีกว่าก็ใช้ระบบ Fintech ซึ่งรูปแบบนี้เป็นช่องทางให้ธนาคารมีส่วนใน Fintech

ดร.พิพัฒน์ เล่าว่า ประเด็นที่สะท้อนชัดเจนความแตกต่างของสหรัฐกับไทย คือ fata หรือข้อมูล โดยสหรัฐฯ มี data มหาศาล ดังนั้นต่อให้มี AI ที่ดีอย่างไรหากไม่มี data ก็ใช้ไม่ได้ เพราะก่อนที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ ต้องมี data

การมี data ที่ดีก็สามารถทำงานวิเคราะห์ที่ดีได้ สหรัฐทุกวันนี้ ธุรกรรมส่วนใหญ่อยู่บนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบออนไลน์ ใช้เงินสดน้อยมาก ข้อมูลจึงมีมาคำถามที่เน้นกันคือ จะเอา data มาใช้อย่างไร แต่ที่ไทย ทำอย่างไรจะให้มี data เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องมาคิดในไทย

ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงแนวคิดที่จะผลักดันด้าน Fintech ในไทยว่า มีด้วยกัน 2 ด้าน ด้านแรก data จะหาแนวทางที่จะสร้างข้อมูล มีแพลตฟอร์มในการแชร์ข้อมูล ซึ่งเข้าใจดีว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นด้วย เพราะคนที่มีข้อมูลก็ไม่อยากจะแชร์ข้อมูล โดยอาจจะต้องศึกษาในประเทศต่างๆ ที่ได้พัฒนามาก่อนว่า ผลักดันให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้นอาจจะเป็นโครงการที่ต้องใช้เวลา

“การแชร์ข้อมูลทุกคนคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ดี ในทางกลับกันทุกคนอาจจะคิดว่าหากข้อมูลรั่วไหล privacy หรือความเป็นส่วนตัวของข้อมูลจะดูแลอย่างไร มีประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควร การแชร์ข้อมูลก็ต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งผมคิดว่าก็ต้องมีการถกเถียงกัน ในยุโรป กำหนดชัดเจนว่าคนที่เป็นเจ้าของข้อมูลมีสิทธิทำอะไรกับข้อมูลนั้นได้บ้าง เช่น ข้อมูลในธนาคารตอนนี้ใครเป็นเจ้าของ ตอนนี้ก็จะเริ่มมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลออกมาเรื่อยๆ ยุโรปก็เพิ่งออก GDPR ที่กำหนดว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลมีสิทธิทำอะไรกับข้อมูล ผู้ที่เอาข้อมูลของเจ้าของข้อมูลไปใช้มีหน้าที่ต้องปกป้องข้อมูลอย่างไร ส่วนของไทยก็มีร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล”

ด้านที่สอง สิ่งที่เห็นในอเมริกาคือ วิธีการใช้ข้อมูลมีมากมาย แม้กระทั่งที่จุดขายซึ่งมีนวัตกรรมเกิดขึ้นส่งผลให้มีข้อมูลมหาศาล ขณะที่เมืองไทยมีการใช้เงินสดมาก แต่หากธุรกรรมในไทยอยู่บนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะมีข้อมูลบันทึกมหาศาล รู้พฤติกรรมลูกค้าทุกคนว่าใช้อะไร ใช้เท่าไร กระแสความเคลื่อนไหวแบบนี้เริ่มเกิดขึ้นในไทย ระบบ request to pay ที่จะเริ่มใช้ จะทำให้ผู้ขายรู้ว่า รายการสั่งซื้อมาจากลูกค้าคนไหน ยอดเงินเท่าไร ไม่ต้องมาทวนรายการกระทบยอดปิดบัญชีสิ้นวันอีก เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ก็จะมีวิธีการใช้ข้อมูลได้มากกว่าเดิม