ThaiPublica > เกาะกระแส > “พลังงาน” แจงเงื่อนไขประมูลสัมปทานปิโตรเลียม ย้ำ “ซองข้อเสนอ” ต้องมีชื่อ “หน่วยงานรัฐ” ถือหุ้นเอราวัณ-บงกช 25%

“พลังงาน” แจงเงื่อนไขประมูลสัมปทานปิโตรเลียม ย้ำ “ซองข้อเสนอ” ต้องมีชื่อ “หน่วยงานรัฐ” ถือหุ้นเอราวัณ-บงกช 25%

4 มิถุนายน 2018


ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานสัมมนาผู้เข้าร่วมประมูล (Bidder Conference) เพื่อให้ข้อมูล รับฟังความคิดเห็น และเปิดเวทีให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) ได้สอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) โดยมีนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการปิโตรเลียมจำนวน 5 บริษัท เข้าร่วมสัมมนา

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประมูลได้รับทราบรายละเอียดที่เกี่ยวกับการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61 และ G2/61 ได้อย่างเท่าเทียมกันทุกบริษัท เช่น ภาพรวมทางเทคนิคทั่วไปของแปลงสำรวจที่ประมูล, รูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต, เงื่อนไขการประมูล โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ผู้ประกอบการต้องยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานของรัฐ เข้ามาร่วมลงทุนในแหล่งปิโตรเลียม (State Participation) สัดส่วนไม่เกิน 25%, กระบวนการจัดทำเอกสาร และยื่นข้อเสนอการประมูล ชุดข้อมูลของแปลงสำรวจ และการเข้าใช้ห้องศึกษาข้อมูล เป็นต้น

ภายหลังจากการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลจะมีโอกาสได้ศึกษาข้อมูลแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 อย่างเท่าเทียมกัน ก่อนจัดทำข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ โดยมีกำหนดให้ยื่นข้อเสนอต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติภายในวันที่ 25 กันยายน 2561

จากนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการพิจารณาเปรียบเทียบข้อเสนอ เพื่อคัดเลือกผู้ชนะการประมูล ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2561 และจะใช้เวลาในการเจรจาสัญญาแบ่งปันผลผลิตในขั้นสุดท้ายกับผู้ที่ชนะการประมูล โดยมีเป้าหมายจะลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) สำหรับทั้ง 2 แปลงสำรวจได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า สำหรับเงื่อนไขและข้อกำหนดในการที่หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนในการประมูลแหล่งปิโตรเลียม สัดส่วนไม่เกิน 25% นั้น ผู้ประมูลต้องระบุชื่อหน่วยงานของรัฐที่จะให้เข้าร่วมถือหุ้นไว้ในข้อเสนอด้วย หากผู้ประมูลไม่ระบุชื่อหน่วยงานของรัฐ ก็จะถูกตัดสิทธิการประมูล หลังจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว คงต้องทำเรื่องไปหารือกระทรวงการคลังว่าจะให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนได้ในสัมปทานปิโตรเลียมได้ในสัดส่วนเท่าไหร่ (ไม่เกิน 25%) จากนั้น เมื่อได้ข้อยุติ ทางกระทรวงพลังงานก็ต้องทำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ออกประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ตาม TOR ของการประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC)

วันที่ 4 พฤษภาคม 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 เข้ายื่นแสดงความจำนง เพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น และกำหนดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูล เข้ายื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2561

และวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น และมีสิทธิเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยแปลง G1/61 และ G2/61 (แหล่งเอราวัณและบงกช) ดังนี้

    – แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 3. บริษัท MP G2 (Thailand) Limited 4. บริษัท Total E&P Thailand และ 5. บริษัท OMV Aktiengesellschaft

    – แปลง G2/61 (แหล่งบงกช) จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 3. บริษัท MP L21 (Thailand) Limited และ 4. บริษัท OMV Aktiengesellschaft

ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติดังกล่าว มีคุณสมบัติครบถ้วนใน 2 หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ

    1. มีกิจการที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Equity) อย่างน้อย 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2559 หรือ 2560 สำหรับผู้ที่จะร่วมประมูลในแปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และมีกิจการที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Equity) อย่างน้อย 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2559 หรือ 2560 ในแปลง G2/61

    2. เป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินงานการผลิตปิโตรเลียมในทะเล (Offshore Gas Field Operate) อย่างน้อย 1 แหล่ง ที่มีอัตราการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในระหว่างปี 2559 หรือ 2560

จากนั้น ในระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดให้บริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ยื่นเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูล ปรากฏว่า บริษัท OMV Aktiengesellschaft ซึ่งได้ยื่นเอกสารในขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ไม่ได้ร่วมแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูล เมื่อสิ้นสุดกำหนดการในวันที่ 1 มิถุนายน 2561 จึงเหลือบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติและยื่นเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูลแปลง G1/61 จำนวน 4 ราย และ G2/61 จำนวน 3 ราย มีรายชื่อดังนี้

    – แปลง G1/61 (เอราวัณ) 1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 3. บริษัท Total E&P Thailand และ 4. บริษัท MP G2 (Thailand) Limited

    – แปลง G2/61 (บงกช) 1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited และ 3. บริษัท MP L21 (Thailand) Limited

นอกจากนี้ บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมประมูลแปลง G1/61 และแปลง G2/61 ได้รับรองสิทธิให้บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด เข้าร่วมขอรับชุดข้อมูล ทั้ง 2 แปลงด้วย และบริษัท PTTEP Energy Development Company Limited ได้รับรองสิทธิให้บริษัท Total E&P Thailand เข้าร่วมขอรับชุดข้อมูลสำหรับแปลง G2/61 ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะนำส่งรายได้จากการเรียกชำระค่าเข้าร่วมประมูล และผู้ขอรับชุดข้อมูล ชุดละ 7 ล้านบาท จำนวน 10 ชุด เป็นเงินรวม 70 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป