ThaiPublica > คนในข่าว > “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” และ 4 ทายาทวังบางขุนพรหม ราชสกุลในพรรค “สุเทพ” สดุดีบิ๊กตู่ “ทำได้เยี่ยม”

“ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” และ 4 ทายาทวังบางขุนพรหม ราชสกุลในพรรค “สุเทพ” สดุดีบิ๊กตู่ “ทำได้เยี่ยม”

7 มิถุนายน 2018


ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

ตำนานพระราชโอรส พระราชนัดดา ราชนิกุล ที่เข้าทำราชการบ้านเมือง มีมาแต่รัชสมัยที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ไว้ว่า พระราชโอรส พระราชนัดดา ในรัชกาลที่ 1 ทรงทำงานให้แก่ประเทศชาติมาถึง 11 พระองค์ ทั้งต้นสกุล เช่น “อินทรางกูร-สุริยกุล-ทัพกุล-พึ่งบุญ-ดวงจักร-อิศรางกูร”

ในรัชกาลที่ 2 พระราชโอรสที่ทรงสามารถทำราชการมี 18 พระองค์ เช่น ต้นสกุล “เดชาติวงศ์-พนมวัน-กุญชร-วัชรีวงศ์-ชุมแสง-นิลรัตน์-อรุณวงศ์-ปราโมช-มาลากุล”

พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 ที่เข้าทำการให้บ้านเมือง มี 9 พระองค์ เช่น ต้นสกุล “คเนจร-ลดาวัลย์-อุไรพงศ์-อรนพ-สุบรรณ-สิงหรา-ชมพูนุท”

พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และเป็นองค์ต้นสกุล มีบทบาทในวงราชการ 17 พระองค์ เช่น ต้นสกุล “นพวงศ์-สุประดิษฐ์-กฤษดากร-คัคณางค์-ทองแถม-ชุมพล-เทวกุล-ภาณุพันธุ์-สวัสดิกุล-ดิศกุล-โสณกุล-จิตรพงศ์-วัฒนวงศ์”

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือ “จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์” มีพระนามพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา ในมหาสาขาต่างๆ รวม 16 มหาสาขา ที่สืบราชสันตติวงศ์จาก “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 5”

ทรงพระราชทาน “ราชสกุล” ให้บรรดาพระราชโอรส 16 มหาสาขา ประกอบด้วย ต้นราชสกุล “กิติยากร-มหิดล-ยุคล-บริพัตร-รพีพัฒน์-จักรพงศ์-ประวิตร์-จิรประวัติ-อาภากร-เพ็ญพัฒน์-วุฒิไชย-สุริยง-รังสิต-จุฑาธุช-ฉัตรไชย”

รวมถึงมหาสาขา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชธิดา 1 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพ็ชรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในพระนางเจ้าสุวัทนา (อภัยวงศ์) พระวรราชเทวี

ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา อย่างน้อย 4 คนในราชตระกูล “โสณกุล-บริพัตร-เทวกุล และสวัสดิวัตน์” ที่สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 4 ปรากฏตัวอยู่ในแวดวงราชการ-การเมือง

จรยุทธ์ในสนามการเมืองอย่างเข้มข้น ไม่พ้นสายตระกูล “เทวกุล” ซึ่ง “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” เข้าประจำการทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ไปไกลถึงรองนายกรัฐมนตรี 2 สมัย หลังเหตุรัฐประหารในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ที่เพิ่งเข้าสู่เวทีการเมืองในนามพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ใหม่-สด-ร้อน เป็น “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” ตามรอยทางที่เคยถางให้ลูกชาย “ม.ล.อภิมงคล โสณกุล” ไปเข้าสังกัดประชาธิปัตย์

ม.ร.ว.จัตุมงคล หรือ “คุณชายเต่า” สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาวาด กัลยาณมิตร (ท่านท้าววรจันทร์) ซึ่งเป็นพระมารดาของพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ต้นตระกูล “โสณกุล” และเป็น “ยายทวด” ของ “คุณชายเต่า”

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุลในวันเปิดตัวผู้ก่อตั้งและสนับสนุน จัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/suthep.fb/

“คุณชายเต่า” ผู้เป็นโอรสของพลตรี หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน

เช่นเดียวกับ สายสกุล “บริพัตร” ที่เคยสังกัดประชาธิปัตย์อย่าง “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” หรือคุณชายหมู ซึ่งนับเป็นญาติที่ใกล้ชิดกับสายสกุล “โสณกุล” อย่างยิ่ง

เพราะทั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน “ท่านแม่” ของ “คุณชายเต่า” กับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ “ท่านพ่อ” ของ “คุณชายสุขุมพันธุ์” ล้วนเป็นโอรสและธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์พินิต สายสกุล “บริพัตร”

“คุณชายเต่า” กับ “คุณชายสุขุมพันธุ์” จึงมีสายสัมพันธ์ระดับ “ลูกพี่ลูกน้อง”

ส่วนสายสกุล “สวัสดิวัตน์” นั้น มีผู้สืบเชื้อสาย คือ “นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” โดย “สายแม่” ของ “ปิยสวัสดิ์” คือ ม.ร.ว.ปิ่มสาย สวัสดิวัตน์ นั้น สืบเชื้อแถวโดยตรงมาจาก “ท่านชิ้น” หรือ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ก่อนที่จะแต่งงานไปร่วมตระกูล “อัมระนันทน์”

เป็นปิยสวัสดิ์ ผู้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในยุคหลังรัฐประหาร 2549 และฝ่ายภรรยา “อานิก อัมระนันทน์” อดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์

ทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ล้วนสืบเชื้อชายมาจากรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาเดียวกันคือ เปี่ยม (สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา)

เพราะทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็น “เสด็จปู่” ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ที่เป็น “เสด็จตาทวด” ของ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ล้วนเป็นโอรสของ “เจ้าจอมมารดาเปี่ยม”

ทั้ง “คุณชายเต่า-คุณชายอุ๋ย-คุณชายหมู และปิยสวัสดิ์” ล้วนเป็นทายาทสาย “วังบางขุนพรหม” วังที่รวบรวมขุนนางสายก้าวหน้ามาตั้งแต่ยุครัชสมัยที่ 5

“คุณชายเต่า” สดุดี “ปิยสวัสดิ์” ไว้ในบทสัมภาษณ์นิตยสาร OPTIMISE ว่า “ดร.ปิยสวัสดิ์ เป็นคนที่ทำอะไรเยอะมาก เขาจบคณิตศาสตร์ระดับเฟิสต์คลาสที่ออกซฟอร์ด เวลาผมทำโจทย์เลข ยิ่งคูณมันยิ่งยาว คูณเลขสามวันสามคืน ได้เป็นเล่มเลย แต่ ดร.ปิยสวัสดิ์จบเฟิสต์คลาส เขาดูโจทย์ปุ๊บ เขี่ยแป๊บเดียวคำตอบมันออกมาเลย มันสมองเขาคนละระดับ ดังนั้นพอเขาเข้ามาทำเรื่องน้ำมัน ผมก็ออกเลย ผมขี้เกียจไปเถียงกับเขา เถียงก็แพ้”

สำหรับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “คุณชายเต่า” บอกว่า “ส่วนตัวผมสดุดีท่านนายกฯ นะ ทั้งที่หลายคนด่า ผมว่าท่านทำได้เยี่ยม ภายใต้กรอบที่ว่าประเทศแตกอย่างเป็นเสี่ยง ชนิดไม่มีวันต่อได้ ท่านยังทำมาได้ขนาดนี้ผมนับถือมาก”

หลังอำลาชีวิตราชการ “คุณชายเต่า” เข้าประจำการที่ บริษัท เอ็ม.ที.อาร์.แอสเส็ท แมนเนเจอร์ เป็นนักธุรกิจมากคอนเนกชันทั้งในและต่างประเทศ

ม.ร.ว.จัตตุมงคล ในร่างนักธุรกิจ พูดถึงตัวเองไว้ว่า “คนชอบว่าผมปากไม่ดี แต่เวลาปากดี ก็ไม่ค่อยมีใครเข้าใจ”

ปีก่อน “คุณชายเต่า” อ่านการเมืองไว้ว่า “การเมืองไทยตอนนี้มันยาก เพราะมันมาไกล มีแต่พรรคการเมืองซึ่งใช้นโยบายที่ไม่ดีกับประเทศในระยะยาว แต่ระยะสั้นประชาชนชอบใจ ติดใจ ทีนี้ใครจะมาใช้นโยบายที่ดีต่อประเทศในระยะยาวมันก็เลยเหนื่อยมาก นโยบายที่ดี 1 วันไม่เกิดผลอะไรหรอก มันต้อง 5 ปี 10 ปี แล้วถามว่าในพรรคการเมือง มีใครไหมที่พร้อมทำแบบนั้น ก็ยังไม่เห็น”

ความเป็น “ผู้นำการเมือง” และ “political will” ในการการขับเคลื่อนนโยบาย ในทัศนะ “คุณชายเต่า” ยังเชื่อว่า “การขับเคลื่อนประเทศจากการเมืองนั้นจริงๆ แล้วก็หมายถึงเบอร์ 1 หรือ เบอร์ 2 นะ ไกลกว่านั้นขับเคลื่อนไม่ได้ การเมืองตอนนี้ยังต้องใช้หัวหน้า หัวหน้าอาจจะมีคนทำ technical works ให้ แต่คนทำ technical works จะไปเป็นใหญ่เองยังไม่ได้ ต้องมีคนคอยดันให้คนทำให้เกิดความสำเร็จ”

คุณชายเต่า-รู้สึกเสียดายจังหวะการขับเคลื่อนของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ทั้งเรื่องรถไฟความเร็วสูง-ท่าเรือ ที่ขาดการสานต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 5

“…รัฐบาลไม่ได้จับอะไรเรื่องเดียวแล้วเข็นลูกเดียว พยายามจับทุกอย่าง หลายอย่าง จริงๆ ในโลกนี้จับเรื่องเดียวแล้วเข็นเรื่องเดียว อย่างอื่นตามมาหมด มันเหมือนช้างวิ่งไป ม้า กวาง อะไรก็วิ่งตามได้ง่าย เพราะป่ามันเรียบ จริงๆ ผมว่าที่น่าทำคือเรื่องรถไฟ เลือกรถไฟในแบบที่มีความพอดีและเป็นไปได้ ไม่ต้องเอาหรอกรถไฟความเร็ว 450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้ไปประชุมปารีสได้ในวันกว่านี่ ไม่เกิดขึ้นในชั่วชีวิตพวกเราหรอก ไปถึงปักกิ่งก็มหัศจรรย์แล้ว เอาแค่คนจีนตอนใต้ลงมาเที่ยวเมืองไทย ไปพม่า ไปลาวได้ แค่นั้นก็เก่งแล้ว”

“อีกอย่างคือรัชกาลที่ 5 ท่านทรงอุตส่าห์จัดการที่ดินที่พังงาไว้ทำท่าเรือน้ำลึก ลงไปสุราษฎร์ธานี เลี้ยวไปอีกร้อยกว่ากิโลเมตร Indian Ocean Port ทำไมไม่ทำ ดันไปออกทวาย ไปประเทศอื่นไม่มีวันเจริญ ทวายอาจจะใกล้กรุงเทพฯ แต่พออยู่คนละประเทศมันทำได้ยาก สู้วิ่งลงไปอีก 500 กิโลเมตรที่สุราษฎร์ฯ และใช้ท่าเรือน้ำลึกพังงาดีกว่า…ไม่มีใครทำ”

คุณชายเต่า ดันลูกชาย “ม.ล.อภิมงคล” ออกจากวงราชการให้เข้าสู่วงการเมืองไปตั้งแต่ปี 2548 “ผมบอกกับลูกเลยว่าต้องออกไปอยู่การเมือง ต่อไปนี้การขับเคลื่อนประเทศต้องมาจากการเมือง”

ผ่านไป 13 ปี “คุณชายเต่า” ไม่อาจปฏิเสธคำเชิญของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เข้าร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชาชาติไทย (รปช.)

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในวันจัดประชุมผู้ก่อตั้งและผู้สนับสนุนพรรครวมพลังประชาชาติไทย “รปช.” เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2561 ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/suthep.fb/

“สุเทพ” อ้างถึงคุณชายเต่าว่า “เขาเป็นคนปากจัด ไม่ค่อยชอบนักการเมือง มาถามว่ามีคนคิดจะตั้งพรรคการเมืองของประชาชนขึ้นในแผ่นดินนี้จริงหรือไม่…ในชีวิตไม่เคยคาดคิดว่าจะเห็นพลังของประชาชนที่รักชาติรักแผ่นดิน กล้าเสียสละมากมายเหมือนการต่อสู้ของประชาชนเมื่อปี 2556-2557 ขอเป็นผู้ร่วมตั้งพรรคการเมืองของประชาชนด้วยคนหนึ่ง”

การกลับเข้าสู่สนามการเมือง “ยุคหลังรัฐประหาร” ของคุณชายเต่า-ราชนิกุลคนล่าสุด ในพรรคฝ่าย “อนุรักษนิยม” จึงไม่เพียงเป็นที่จับตาของคนการเมืองอาชีพ

ทว่า “คุณชายเต่า” กลายเป็นจุดโฟกัส ของพรรคพสกนิกร ที่ตระหง่านคู่อยู่กับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” นักการเมืองที่เก๋าเกมที่สุดในยุค 2 ทศวรรษที่ผ่านมา