ThaiPublica > เกาะกระแส > เจ้าชายโมฮัมเมด บิน ซัลมาน ผู้นำพาซาอุดีอาระเบียสู่ยุคสมัยใหม่

เจ้าชายโมฮัมเมด บิน ซัลมาน ผู้นำพาซาอุดีอาระเบียสู่ยุคสมัยใหม่

6 มิถุนายน 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

หน้าปกนิตยสาร Vogue ฉบับมิถุนายน 2018

นิตยสาร Vogue ฉบับล่าสุดเดือนมิถุนายน ที่ขายในประเทศอาหรับ ขึ้นปกเป็นรูปเจ้าหญิงซาอุดีอาระเบีย ชื่อ เฮย์ฟา บินต์ อับดุลเลาะห์ อัล-ซาอุด (Hayfa bint Abdullah al-Saud) กำลังนั่งอยู่บนรถยนต์เปิดประทุน ภาพนี้ถ่ายในทะเลทราย นอกเมืองเจดดาห์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ผู้หญิงในประเทศนี้จะสามารถขับรถยนต์เองได้แล้ว เจ้าหญิงเฮย์ฟาเป็นธิดาของกษัตริย์ซาอุฯ องค์ที่แล้ว เธอกล่าวว่า “ในประเทศเรา มีคนหัวเก่าบางคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลง”

ก่อนหน้านี้หลายเดือนมาแล้ว มกุฎราชกุมาร โมฮัมเมด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) ที่มีพระนามเป็นตัวย่อว่า เจ้าชาย MBS ได้เสนอวิสัยทัศน์ 2030 ที่จะทำให้ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นประเทศมุสลิมสายกลางที่มีความทันสมัย โรงภาพยนตร์และการแสดงคอนเสิร์ตกลับมาเปิดใหม่ ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้เข้าไปชมการแข่งขันฟุตบอล เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เจ้าชาย MBS ประกาศจะยกเลิกการห้ามไม่ให้ผู้หญิงขับรถยนต์ โดยให้มีผลในวันที่ 24 มิถุนายน 2561 นี้

แต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า มีนักเคลื่อนไหวที่เป็นสตรีหลายคนถูกจับกุม นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำการรณรงค์ ไม่ใช่เรื่องให้ผู้หญิงขับรถยนต์ได้เท่านั้น ยังรณรงค์ให้มีการยกเลิกระเบียบการปกครองดูแล ที่กำหนดให้ผู้หญิงซาอุฯ ต้องได้รับอนุญาตจากญาติฝ่ายชาย ก่อนที่จะสามารถทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การเดินทาง การจับกุมนักเคลื่อนไหวสตรีครั้งนี้ แสดงว่า การพยายามปฏิรูปของเจ้าชาย MBS อาจเผชิญกับการต่อต้านจากกลุ่มคนบางส่วน เพราะซาอุฯ เป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นฝ่ายมีอำนาจนำ

ความฝันของเจ้าชาย MBS

เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โรงแรมหรูหราระดับ 5 ดาว ริตซ์ คาร์ลตัน นครริยาร์ด ถูกเปลี่ยนให้เป็นสถานที่กักกันกลุ่มคนชั้นนำของซาอุดีอาระเบีย เมื่อบรรดาเจ้าชายเชื้อสายราชวงศ์ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงและมหาเศรษฐีจำนวนร้อยกว่าคน ถูกกักขังในข้อหาคอร์รัปชัน บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการจับกุมครั้งนี้คือเจ้าชาย MBS ที่มีอายุเพียงแค่ 32 ปี และเป็นพระโอรสของกษัตริย์ซัลมานองค์ปัจจุบัน การดำเนินการของเจ้าชาย MBS คือ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า “การปฏิวัติจากข้างบนลงมา” เพื่อเปลี่ยนซาอุฯ ให้กลายเป็นสังคมสมัยใหม่

นักวิเคราะห์เห็นว่า ความพยายามจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่อนุรักษนิยมอย่างซาอุดีอาระเบีย ก็มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของประเทศ ที่ผ่านมา ระบอบปกครองของซาอุฯ อาศัยความเห็นพ้องกันในหมู่สมาชิกราชวงศ์ที่ปกครองประเทศ องค์กรทางศาสนา และบรรดาผู้นำทางเศรษฐกิจ ระบอบดังกล่าวถูกหล่อเลี้ยงด้วยความมั่งคั่งจากน้ำมัน ที่เป็นเงินทุนในการสร้างสวัสดิการด้านต่างๆ แก่ประชาชน

Karen Elliott House อดีตบรรณาธิการ Wall Street Journal เขียนไว้ในหนังสือชื่อ On Saudi Arabia โดยอ้างความเห็นของ Samuel Huntington นักรัฐศาสตร์ชื่อดังของอเมริกาว่า ระบอบกษัตริย์ของประเทศอย่างซาอุดีอาระเบีย ที่มีนโยบายสร้างความทันสมัยให้ประเทศ ในระยะแรก ระบบนี้จะสามารถดูดซับการเลื่อนชั้นของคนในสังคม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะไม่สามารถจะดูดซับกลุ่มคนมีการศึกษาที่เป็นผลผลิตจากนโยบายสร้างความทันสมัย ทำให้คนชั้นกลางและคนชั้นล่างเกิดความไม่พอใจ ในที่สุดก็ต้องชะลอการปฏิรูป แล้วหันไปร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษนิยมทางศาสนาแทน

มกุฎราชกุมาร โมฮัมเมด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) ที่มีพระนามเป็นตัวย่อว่า เจ้าชาย MBS ที่มาภาพ: thenational.ae

เดือนมิถุนายน 2017 เมื่อกษัตริย์ซัลมาน แต่งตั้งให้เจ้าชาย MBS ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร ทำให้เจ้าชาย MBS กลายเป็นบุคคลที่มีอำนาจมากสุดในซาอุฯ สื่อตะวันตกมักจะรายงานข่าวการเคลื่อนไหวของเจ้าชาย MBS ว่า ทำทุกอย่างเพื่อรวบอำนาจ รวมทั้งการใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย เช่น การซื้อเรือยอชต์หรูหรา และปราสาทในฝรั่งเศส แต่ผู้เชี่ยวชาญตะวันออกกลางอย่าง Bernard Haykel กล่าวว่า เจ้าชาย MBS กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่คับขันของซาอุดีอาระเบีย เพราะประเทศนี้กำลังมุ่งไปสู่จุดที่เป็นอันตรายทางการเมืองและเศรษฐกิจ

เจ้าชาย MBS ได้รับมรดกในยามที่ประเทศกำลังอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต ระบบราชการมีสมรรถนะที่จำกัด และเศรษฐกิจก็อิงอาศัยรายได้ส่วนใหญ่จากน้ำมัน ที่นับวันจะลดน้อยลง ภาคราชการจ้างงาน 70% ของแรงงานทั้งหมด ประเทศแทบไม่มีการเก็บภาษี รัฐบาลให้สวัสดิการแก่ประชาชน ที่นโยบายนี้ต้องอาศัยรายได้จากน้ำมันในราคาที่สูง ส่วนผู้หญิงล้วนมีการศึกษาดี แต่ทว่าถูกกีดกันออกจากการจ้างงานทางเศรษฐกิจ และผู้นำทางศาสนาก็ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อรักษาฐานะและอภิสิทธิ์ของตัวเอง

ก่อนที่เจ้าชาย MBS จะขึ้นมามีอำนาจ ระบอบปกครองของซาอุฯ อาศัยระบบฉันทานุมัติ ระหว่างสมาชิกราชวงศ์ องค์กรทางศาสนา และผู้นำทางเศรษฐกิจ ระบบแบบนี้จึงปฏิรูปตัวเองไม่ได้ ที่จะให้ประเทศอยู่รอดจากปัญหาที่กำลังประสบอยู่ ความจำเป็นที่ประเทศต้องปฏิรูปทำให้เกิดผู้นำที่จะต้องเข้ามาลดบทบาทสมาชิกราชวงศ์จำนวนมาก บังคับให้องค์กรทางศาสนาต้องเลิกการผูกขาดเรื่องศีลธรรมของสังคม และแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะต่างๆ รวมทั้งต้องดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ

Karen Elliot House เขียนไว้ใน On Saudi Arabia ว่า ทุกวันนี้ ซาอุดีอาระเบียมีสภาพคล้ายๆ กับอดีตสหภาพโซเวียตก่อนจะล่มสลาย ผู้นำประเทศที่มีอายุมากผลัดกันขึ้นมามีอำนาจ ก่อนที่จะเกิดผู้นำรุ่นใหม่อย่างกอร์บาชอฟ ที่จะเข้ามาดำเนินการปฏิรูปประเทศ แต่ก็สายเกินไป ในสมัยของอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ชั่วเวลาไม่ถึง 3 ปี เรแกนต้องติดต่อกับผู้นำโซเวียตถึง 4 คน จนเรแกนเองกล่าวประโยคโด่งดังว่า “พวกเขาตายแล้วตายอีกต่อหน้าต่อตาผม”

Karen Elliot House กล่าวว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีสภาพเหมือนกับ “บริษัทครอบครัว” กรรมการบริษัทแต่งตั้งโดยเจ้าของประเทศ ที่บางส่วนเป็นผู้นำศาสนาถึง 20 คน โดยเป็นคนวางกฎระเบียบทางศีลธรรมของบริษัท สมาชิกราชวงศ์ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารระดับสูง จนถึงระดับกลาง ผู้ว่าราชการทั้งหมด 13 จังหวัด ล้วนเป็นเจ้าชายในราชวงศ์ ในสภาพเช่นนี้ พนักงานระดับล่างของบริษัทไม่มีแรงใจจะทำงาน เพราะแม้แต่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับกลางก็หมดโอกาส

MBS เป็นผู้นำแบบไหน

ที่ผ่านมา เจ้าชาย MBS ประสบความสำเร็จอะไรไปบ้าง การจับกุมสมาชิกราชวงศ์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแสดงว่า ต่อไปนี้ ซาอุฯ จะไม่มีวัฒนธรรมที่ผู้นำระดับสูง สามารถพ้นผิดในทางกฎหมายและทางการเงินอีกต่อไป เจ้าชาย MBS ให้สัมภาษณ์แก่ Thomas Friedman คอลัมนิสต์ชื่อดังของ New York Times ว่า “คนที่ถูกจับกุม เมื่ออัยการนำข้อมูลที่เรามีให้พวกเขาดู 95% ยินยอมที่จะทำข้อตกลง” อัยการรัฐคาดว่า รัฐจะได้เงินคืนมาประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์

เจ้าชาย MBS กล่าวกับ Thomas Friedman อีกว่า “ประเทศเรามีปัญหามากจากคอร์รัปชัน นับจากทศวรรษ 1980 จนถึงทุกวันนี้ ผู้เชี่ยวชาญของเราคำนวณว่า ในแต่ละปี 10% ของงบประมาณรัฐถูกดูดออกไปโดยการคอร์รัปชันที่มีตั้งแต่ระดับสูงลงไประดับล่าง ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามทำสงครามกับคอร์รัปชัน แต่ล้มเหลวหมด เพราะเป็นการเริ่มต้นจากระดับล่าง”

ในทางสังคม ซาอุฯ กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เดือนมิถุนายนนี้ ผู้หญิงจะสามารถขับรถยนต์ได้แล้ว ในอนาคตอันใกล้ จะมีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นมากมาย ส่วนช่วงสุดสัปดาห์ มีการแสดงดนตรีเกิดขึ้นแล้ว โดยมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากไปเข้าชม คนรุ่นใหม่คือกลุ่มคนที่เจ้าชาย MBS ต้องการเสียงสนับสนุน และเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคม เจ้าชาย MBS เองเห็นว่า แนวคิดอนุรักษ์สุดโต่งคือสิ่งที่ทำลายพลวัตและความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน เจ้าชาย MBS จึงกล่าวถึง “การย้อนกลับไปในสิ่งที่เราเคยเป็นอยู่ คือเป็นอิสลามที่มีความอดทนอดกั้น เดินสายกลาง ที่เปิดประตู่กับโลก”

ผู้หญิงซาอุดิอาระเบียกลุ่มแรกที่ได้ใบขับขี่ ที่มาภาพ: https://www.nbcwashington.com/news/national-international/First-Saudi-Women-Receive-Driving-Licenses-484576581.html

คนซาอุฯ ล้วนมีความพร้อมอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมา ผู้นำประเทศขาดความกล้าหาญทางการเมือง ที่จะเปลี่ยนประเทศ แต่เจ้าชาย MBS มีความมุ่งมั่นดังกล่าว การที่ผู้หญิงสามารถขับรถยนต์ได้จะทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนงานต่างชาติหลายแสนคนหมดความจำเป็นที่จะทำงานเป็นคนขับรถยนต์ในครอบครัว ผู้ชายไม่เสียเวลาทำงานเพราะต้องมาขับรถยนต์ให้ผู้หญิงในครอบครัว ไปพบแพทย์ หรือการนัดหมายอื่นๆ

แต่การเปลี่ยนแปลงที่ยากสุดคือเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากการตัดทอนเงินสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้งบประมาณสมดุล เจ้าชาย MBS ต้องการให้ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา ภาคเอกชนของซาอุฯ มีบทบาททางเศรษฐกิจ ที่อิงการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ

บทบาทของเจ้าชาย MBS จะทำให้ซาอุฯ เปลี่ยนแปลงไปทางไหน ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าชาย MBS จะเป็นผู้นำแบบไหน หากเป็นผู้นำแบบสี จิ้นผิง เจ้าชาย MBS จะทำให้การรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน นำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจ และผลักดันให้ภาคเอกชน กลายเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจ หากเป็นผู้นำแบบวลาดิเมียร์ ปูติน ก็อาจเพียงแค่ทำให้พวกผู้นำกลุ่มเก่าถูกแทนด้วยผู้นำกลุ่มใหม่

เมื่อ Thomas Friedman ถามว่า ทำไมจึงดำเนินการเหมือนกับเวลาใกล้จะหมดลงแล้ว เจ้าชาย MBS กล่าวตอบว่า “ผมเกรงว่า หากเกิดตายขึ้นมา ผมคงจะตายไปโดยไม่บรรลุความสำเร็จในสิ่งที่ผมมีอยู่ในใจ ชีวิตนั้นสั้นมาก และหลายอย่างอาจเกิดขึ้นได้ ผมต้องการเห็นสิ่งนี้ด้วยตาตัวเอง สิ่งนี้คือทำไมผมจึงต้องรีบดำเนินการ”

เอกสารประกอบ
Saudi Arabia’s Arab Spring, at Last, Thomas Friedman, The New York Times, November 23, 2017.
The rise of Saudi Arabia’s crown prince reveals a harsh truth, Bernard Haykel, The Washington Post, January 22, 2018.
On Saudi Arabia, Karen Elliott House, Alfred A Knopf, 2012.