ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > รู้จัก Blockchain เทคโนโลยี

รู้จัก Blockchain เทคโนโลยี

9 มิถุนายน 2018


Blockchain เทคโนโลยีใหม่ที่ถูกกล่าวขานว่าจะปฏิวัติโลกการเงิน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังสกุลเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) หรืออีเทอเรียม (Ethereum) ซึ่งทุกคนเห็นอยู่แล้วว่า ‘ฮอต’ เพียงใดในโลกการลงทุนดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่น Blockchain ไม่ได้เหมาะกับการนำไปใช้ในทุกด้านของโลกการเงิน แต่จะมีประโยชน์มากหากเลือกวิธีใช้ได้ถูกต้องเหมาะสมกับธรรมชาติของมัน ด้วยเหตุนี้จึงต้องเข้าใจวิธีการทำงานของ Blockchain

แนวคิดหลัก

เดิมเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูล (Data) จะเป็นการบันทึกในที่เดียวแบบรวมศูนย์ (Centralized Ledger) ซึ่งหมายถึงว่า ผู้ที่ต้องการจะใช้ข้อมูลที่บันทึกไว้ที่ระบบกลางนี้ต้องเชื่อมั่นและไว้ใจในระบบกลางว่าเก็บเฉพาะข้อมูลที่เป็นจริง ระบบกลางบันทึกไว้ว่าอย่างไรสิ่งนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี Blockchain จะต่างออกไป เพราะ Blockchain เป็นการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger) โดยที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน (peer) หรือผู้ที่ต้องการเก็บการทำรายการจะเก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ ไว้ด้วยตนเอง และช่วยกันตรวจสอบยืนยันและทำสำเนาข้อมูลเก็บไว้ ไม่ใช่เพียงโดยผู้ใดผู้หนึ่งเหมือนอย่างระบบรวมศูนย์ โดยข้อมูลใน Blockchain จะไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือลบได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากสมาชิกทุกคนในเครือข่าย กระทั่งการจะเจาะระบบทุกคนเพื่อล้วงเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะต้องใช้ขุมกำลังคอมพิวเตอร์มหาศาล จนไม่คุ้มค่ากับเวลาและทรัพยากรที่ลงไป นอกจากนั้น ข้อมูลที่บันทึกไว้โดย Blockchain นี้ สามารถเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนกัน (Distributed) ได้แบบ peer-to-peer โดยไม่มีศูนย์กลาง

การที่ข้อมูลถูกบันทึกแบบ Distributed Ledger และมีการเชื่อมต่อกันแลกเปลี่ยนมีการยืนยันความถูกต้องร่วมกันแบบนี้ ส่งผลให้มีความโปร่งใสของข้อมูล และสร้างความเชื่อมั่นแบบ Distributed Trust ซึ่งจะช่วยลดการฉ้อโกงและข้อผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า Centralized Ledger, Centralized Trust, Distributed Ledger หรือ Distributed Ledger ล้วนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ เช่น การฝากเงินกับธนาคารปัจจุบันนี้ เป็นระบบบันทึกข้อมูลแบบ Centralized Ledger และมีการเก็บเงินไว้ที่ธนาคาร การฝาก การถอน ก็เชื่อมั่นในการบันทึกของธนาคารเพียงผู้เดียว (Centralized Trust) ต่อมาถึงธนาคารจะเปลี่ยนเทคโนโลยีบันทึกข้อมูลเป็นแบบ Distributed Ledger แต่ธนาคารอาจยังคงเก็บเงินไว้ที่ธนาคารได้ เช่น เมื่อมีใครมาฝาก หรือถอนเงิน ธนาคารก็แจ้งให้ทุกคนทราบและให้ทุกคนบันทึกข้อมูลไว้ด้วย ตามหลักการของ Distributed Ledger แต่ในเมื่อธนาคารยังเป็นผู้รวมเงินอยู่ผู้เดียว แสดงว่าทุกคนยังให้ความเชื่อมั่นอย่างรวมศูนย์แก่ธนาคาร ธนาคารจึงคงเป็น Centralized Trust เทคโนโลยี Blockchain จึงไม่ได้หมายถึงการมาแทนที่ระบบรวมศูนย์ในทุกมิติอย่างที่เข้าใจกันเสมอไป

ข้อดีของ Blockchain

  • การร่วมกันเก็บรักษาข้อมูลแบบไม่มีศูนย์กลางที่เดียว ทำให้มั่นใจว่า ข้อมูลมีความปลอดภัย ไม่มีการแอบแก้ไขย้อนหลัง มีความโปร่งใส Blockchain จึงเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ด้วยความมั่นใจ
  • การกระจายของการบันทึกข้อมูลที่ไม่มีศูนย์กลางนี้ จะช่วยให้ระบบสามารถดำเนินการต่อได้ต่างจากการบันทึกข้อมูลแบบมีศูนย์กลางที่หากระบบล่ม ก็จะดำเนินการต่อไม่ได้

การนำ Blockchain ไปใช้

Blockchain เป็นเทคโนโลยีบันทึกข้อมูลทั่วไปจึงสามารถนำมาใช้ได้หลายด้านหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการยืนยันข้อมูลสำหรับการใช้งานในวงกว้าง เพราะจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา เช่น

  • Digital Identity
  • เทคโนโลยี Blockchain จะช่วยลดขั้นตอนการระบุตัวตนในระบบดิจิทัลเพื่อการทำธุรกรรมออนไลน์และช่วยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ผู้ใช้บริการมีความสะดวกมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การขอสินเชื่อออนไลน์ ที่ต้องขอข้อมูลเครดิตจากเครดิตบูโร หากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่บันทึกไว้ด้วยเทคโนโลยี Blockchain มีการยืนยันความถูกต้องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบข้อมูลที่กำหนดให้เข้าถึงข้อมูลได้ จะทำให้เชื่อได้ว่าผู้ที่ขอสินเชื่อออนไลน์นั้นเป็นคนทำธุรกรรมจริง พิสูจน์ตัวตนได้และการยินยอมให้เอาข้อมูลของเขาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ไปยังคนที่ต้องใช้ข้อมูล คือ ธนาคารที่ขอกู้ ทำให้สะดวก ประหยัดเวลาและต้นทุน ผู้ขอสินเชื่อไม่ต้องเดินทางไปแสดงตัวตนกับธนาคารหรือเครดิตบูโร หรือจัดส่งเอกสารอีก

  • สัญญาระหว่างประเทศ
  • ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้มีความเหมาะสม เพราะแก้ไขปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นได้ เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ทั้งผู้ใช้บริการ ธนาคาร คู่ค้า ธนาคารของคู่ค้า เดิมการเปิด L/C การแก้ไขปัญหาความเชื่อมั่นของข้อมูลจะอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์เป็นคู่ๆ และต่อกันเป็นทอดๆ เริ่มจากผู้ใช้บริการกับธนาคารของตัวเอง จากนั้นธนาคารของผู้ใช้บริการก็จะติดต่อกับอีกธนาคารหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นธนาคารของคู่ค้า หรือธนาคารเป็นตัวแทนทางธุรกิจของธนาคารผู้ใช้บริการ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์ข้อมูลจึงสูง แต่ Blockchain จะมีประสิทธิภาพช่วยลดขั้นตอนในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การพิสูจน์ข้อมูลคู่ค้า การชำระเงิน การขนส่ง

    ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ของ Blockchain ที่แม้จะอยู่ในเพียงขั้นเริ่มต้น ก็เริ่มมีการนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรมแล้ว เพียงแต่สำหรับประเทศไทยยังมีข้อจำกัด คือ การยอมรับทางกฎหมาย การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้จึงอาจอยูในวงจำกัดระหว่างองค์กรธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกันมาก่อน มากกว่าจะเป็นวงกว้างทั่วไป

    อย่างไรก็ตาม แม้ Blockchain ยังเพิ่งเริ่มพัฒนา และอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ในยุคที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การศึกษา ความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างทันการณ์ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร

    ซีรีส์ Financial Literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร