ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > “ดร.จื้อกัง หลี่” ประธานแบงก์ไอซีบีซีไทย มองการลงทุนจีน – ไทยผ่าน One Belt, One Road เชื่อมต่อ EEC

“ดร.จื้อกัง หลี่” ประธานแบงก์ไอซีบีซีไทย มองการลงทุนจีน – ไทยผ่าน One Belt, One Road เชื่อมต่อ EEC

21 มิถุนายน 2018


ดร.จื้อกัง หลี่ ประธานกรรมการ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จีนกับไทยทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มีบันทึกไว้มากมาย

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างไทยและจีนในปี 1975 เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เจริญงอกงามในระยะต่อมาที่จีนเริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างกันขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีมูลค่าสูง แม้สถานการณ์ทางการเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ แต่สามารถรักษาความสัมพันธ์กับจีนได้อย่างต่อเนื่อง

ดร.จื้อกัง หลี่ ประธานกรรมการ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ตัวแทนจาก Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) ของจีนที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) มาร่วม 5 ปี ได้สะท้อนมุมมองและแนวคิดในฐานะนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย โดยสัมภาษณ์กับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในเครือของ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) ของจีน ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดในโลกด้วยขนาดของสินทรัพย์ 3.45 ล้านล้านดอลลาร์ จากการจัดอันดับของ S&P Global Intelligence ในปี 2017 และได้สร้างความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจการเงินไทยด้วยการซื้อกิจการธนาคารสินเอเซียในปี 2010

“คนจีนส่วนหนึ่งได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานมาแล้ว แม้ผมจะไม่รู้จำนวนที่แน่นอน แต่ไทยกับจีนนั้นมีความสัมพันธ์กันมายาวนานตั้งแต่ประวัติศาสตร์ คนไทยส่วนหนึ่งมีสายเลือดจีน บรรพบุรุษมาจากกวางตุ้งบ้างแต้จิ๋วบ้าง”

ดร.หลี่กล่าวว่า เมื่อมองจากเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ไม่คิดว่ามีประเด็นใดที่จะมีผลต่อความสัมพันธ์ไทยจีน เพราะเห็นแล้วว่าคนไทยกับคนจีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก แม้ไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง แต่คณะรัฐมนตรีทุกชุดได้รักษาความสัมพันธ์ต่อเนื่อง เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะจีนคือแหล่งส่งออกสินค้าขนาดใหญ่ของไทย และเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยมากที่สุด ดังนั้น ความสัมพันธ์ไทย-จีนจึงมีความสำคัญมาก นอกจากนี้ ในแง่ลักษณะที่ตั้ง ไทยกับจีนก็มีที่ตั้งไม่ห่างกันมาก

ดร.หลี่กล่าวว่า ไทยเองก็มีข้อได้เปรียบ ข้อดีคือ มีความเป็นมิตร ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ไม่แบ่งแยกว่าเป็นคนชาติใด ดังนั้น สำหรับคนต่างชาติที่เข้ามาพำนักในไทยแล้วก็มีความรู้สึกสบายใจ เพราะคนไทยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ อีกทั้งคนไทยเป็นคนที่มารยาทดี ให้ความเคารพคนต่างชาติเท่าเทียมกับเคารพคนในชาติ ให้เกียรติคนอื่น

ดร.หลี่กล่าวว่า สิ่งที่ชอบมากที่สุดคือ วัฒนธรรมของไทย ที่ inclusive ไม่แบ่งแยก ยอมรับคนชาติอื่นในอยู่ร่วมในสังคมได้ ต่างจากประเทศอื่นที่จะเห็นว่า คนจีนถูกกีดกันและไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีนั้น ขณะที่ไทยนั้นให้เกียรติคนต่างชาติ รวมทั้งคนจีน

“ผมได้เข้ามาใช้ชีวิตและทำงานในไทยมา 5 ปี ไม่เคยถูกแบ่งแยกจากคนไทยเลย ไม่ว่าจะเป็นการพบกับลูกค้าคนไทยหรือกับคนอื่นๆ ซึ่งสำหรับคนจีนแล้วการให้เกียรติหรือเคารพกันและกันมีความสำคัญมาก ผมมีความรู้สึกที่ดีกับไทย ผมคิดว่าไทยเป็นประเทศที่ดีในหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และผมก็แนะนำคนจีนที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ว่าให้เที่ยวประเทศไทยเป็นที่แรก”

กระชับสัมพันธ์ผ่านลงทุนโครงการ

ในยุคโลกาภิวัตน์ที่กระแสการค้าการลงทุนไหลเวียนไปทั่วโลก ทั่วทุกภูมิภาค จีนกับไทยได้กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นไปอีก เมื่อจีนประกาศโครงการ One Belt, One Road หรือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่ เพราะไทยไม่เพียงมีทำเลที่ตั้งบนเส้นทาง One Belt, One Road เท่านั้น แต่ One Belt, One Road ยังทาบทับลงบนยุทธศาสตร์ EEC ของไทย และเสริมความร่วมมือกันได้อย่างลงตัว

One Belt, One Road ที่มาภาพ: https://www.chinadailyasia.com/nation/2016-12/18/content_15544222.html

ดร.หลี่กล่าวว่า One Belt, One Road ของจีนและ EEC ของไทย สามารถเชื่อมโยงกันได้ เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ตอบรับเข้าโครงการ One Belt, One Road อีกทั้งไทยมีที่ตั้งอยู่บนแผนที่ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

“One Belt, One Road ไม่เพียงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่สร้างสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย ไทยกับจีนเองมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์มายาวนาน และทั้งสองประเทศเองก็ได้กระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นมาตลอด”

One Belt, One Road (OBOR) คือ เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จีนฟื้นฟูขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 2013 โดยมีแผนลงทุน Belt and Road Initiatives (BRI) ที่มุ่งสร้างครือข่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก (Road) และทางทะเล (Belt) ที่ครอบคลุมตั้งแต่เส้นทางถนน ทางรถไฟ โทรคมนาคม ท่อส่งน้ำมัน และท่าเรือ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคครอบคลุมตั้งแต่ยูเรเชีย แอฟริกาตะวันออก และอีกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

“เส้นทางสายไหมในประวัติศาสตร์ทางบกเริ่มจากซีอานไปยุโรปและทางทะเลที่เริ่มจากฝูเจี้ยนเพื่อการส่งออกสินค้าจีนผ่านทะเลจีนใต้ ผ่านช่องแคบมะละกา ไปสู่อินเดีย ได้สร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ บนเส้นทางนี้ เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ก็เช่นเดียวกัน จีนต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเหล่านี้ไว้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม”ดร.หลี่กล่าว

  • เต๋อโจว เมืองแห่งอนาคตภายใต้ One Belt, One Road โอกาสทางธุรกิจในจีนของนักลงทุนไทย
  • Connecting Asia ทาบ One Belt, One Road ทับ EEC โอกาสร่วมทางยุทธศาสตร์ไทย-จีน เชื่อมโลกเชื่อมไทย 5 ด้าน
  • One Belt One Road: “Marshall Plan” ของจีน?
  • เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 “One Belt, One Road” จะเปลี่ยนโฉมหน้าเส้นทางการค้าโลกอย่างไร
  • On the New Silk Road กิจการที่บริษัทจีนกำลังกว้านซื้อในต่างประเทศ
  • ดร.หลี่กล่าวต่อว่าจีนมีการพัฒนาที่เร็วมาก จึงต้องการที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกับประเทศพันธมิตร ไม่เพียงการส่งออกสินค้าจากจีนเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการนำเข้าสินค้ามาจีนด้วย ธุรกิจจีนเองก็ต้องการที่จะขยายการลงทุนไปยังประเทศพันธมิตรที่อยู่บนเส้นทาง หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้

    หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมีทั้งเส้นทางบกและเส้นทางน้ำหรือทางทะเล มีทั้งรถไฟ เรือ ที่มีเป้าหมายเพื่อความเชื่อมโยงกับภูมิภาคไม่เฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ ซึ่งเป็นเส้นทางบกเท่านั้น แต่เชื่อมโยงทางน้ำหรือทางทะเลอีกด้วย จากแผนที่หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะเห็นว่ามีหลายท่าเรือที่อยู่บนเส้นทาง ในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงท่าเรือเหล่านี้ด้วย เพราะเป็นเส้นทางที่สำคัญไม่เฉพาะกับจีนเท่านั้น แต่สำหรับประเทศที่อยู่บนเส้นทางนี้ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางไปจีนที่จะใช้การขนส่งทางเรือเป็นหลัก การเชื่อมโยงท่าเรือบนเส้นทางจะช่วยย่นระยะทางและเวลาได้มาก

    หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะส่งผลดีต่อภูมิภาคอาเซียน เพราะข้อแรก ความต้องการสินค้าของประเทศอาเซียนจากจีนมีมาก และเป็นโอกาสที่ประเทศในอาเซียน จะได้ขยายการส่งออกสินค้าไปจีน ข้อสอง รัฐบาลจีนต้องการส่งเสริมให้ธุรกิจจีนขยายการลงทุนออกนอกประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อาเซียนมีโอกาสได้รับการลงทุนจากจีนมากขึ้น ข้อสาม ชาวจีนต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการมีการขยายตัวมีการพัฒนามากขึ้น เห็นได้ชัดกรณีของประเทศไทยที่มีคนจีนมาเที่ยวเกือบปีละประมาณ 10 ล้านคน มีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวและจะมีผลต่อธุรกิจกลุ่มอุปโภคบริโภคในไทยอย่างมาก

    ดร.จื้อกัง หลี่

    ดร.หลี่กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญในอาเซียน และอยู่บนแผนที่หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่มีความเชื่อมโยงกับอาเซียน ซึ่งรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทยได้หารือต่อเนื่องเกี่ยวกับโครงการรถไฟไทย-จีน และ ASEAN Railway ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่อ One Belt, One Road

    รัฐบาลไทยได้อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) หรือรถไฟไทย-จีน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ด้วยความคาดหวังว่าจะเชื่อมโยงไทยกับภูมิภาคและสอดรับกับโครงข่ายคมนาคมตามนโยบาย One Belt, One Road ของรัฐบาลจีนด้วย โดยการก่อสร้างช่วงแรกที่มีระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (บ้านกลางดง-บ้านปางอโศก) ได้เริ่มขึ้นแล้วในช่วงปลายปี 2560

    “โครงการรถไฟไทย-จีน และอาเซียนเรลเวย์ เป็นโครงการขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่อ One Belt, One Road ซึ่งโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เพิ่งเริ่มต้นและยังไม่เสร็จสิ้น มีบริษัทจีนให้ความสนใจจำนวนมาก รวมทั้งได้เดินทางเข้ามาไทยเพื่อหาข้อมูลต่อเนื่อง เพราะมีแผนที่จะลงทุนในโครงการ และพยายามหาโอกาสที่จะร่วมลงทุนในโครงการนี้”

    ดร.หลี่กล่าวว่า โครงการรถไฟไทย-จีนเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตาม การเปิดประมูลทั้ง 14 ตอนน่าจะเสร็จสิ้นภายในครึ่งแรกของปีนี้ และปีหน้าจะเห็นความชัดเจนของการก่อสร้างมากขึ้น

    ดร.หลี่เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้สนับสนุนให้บริษัทจีนเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อศึกษาและหาข้อมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เพราะคาดว่าคงมีนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติให้ความสนใจที่จะยื่นซองประกวดราคาจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโครงการก่อสร้างที่เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน จากการที่เชื่อม 3 สนาม คือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมืองและสนามบินอู่ตะเภา และจะมีเอื้อผลต่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)อีกด้วย

    เมื่อวันที่18 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา รฟท. ได้เปิดขายซองเอกสารโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงทพ-ระยองเชื่อม 3 สนามบินเป็นวันแรก โดยจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าซื้อซองเอกสาร (TOR) ไปจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2561

    นอกจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นหนึ่งของโครงการลงทุนในไทยที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจแล้ว ดร.หลี่กล่าวว่า ยังมีโครงการอื่นที่นักลงทุนจีนสนใจด้วยเช่นกัน คือ หนึ่ง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะ 2 ซึ่งมีบริษัทก่อสร้างจีนให้ความสนใจและเข้าซื้อซองประกวดราคา และสอง โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

    ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า วิสาหกิจของจีน 2 แห่งจากปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประสบการณ์ในการก่อสร้างสนามบิน ได้แสดงความสนใจงานก่อสร้างที่เกี่ยวกับอาคารที่จะยื่นซองประกวดราคาภายใต้โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะ 2

    “บริษัทจีนที่เข้ามาไม่ได้เป็นคู่แข่งบริษัทในประเทศของไทย แต่บางครั้งก็ร่วมเป็นพันธมิตร เพราะบริษัทก่อสร้างจีนมีจุดเด่นตรงที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลนีขั้นสูง จึงสามารถนำเทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ ขณะที่บริษัทในประเทศก็มีข้อได้เปรียบตรงที่มีความรู้ความเข้าใจที่ดีความคุ้นเคยต่อกฎระเบียบที่จะต้องปฏิบัติตาม และไม่กระทำการใดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย”

    ถึงเวลานักลงทุนจีนมองไทย

    ดร.หลี่กล่าวว่า นับตั้งแต่จีนมีการผลักดัน One Belt, One Road ธุรกิจของจีนได้ขยายการลงทุนตามแนวเส้นทางสายไหมใหม่มากขึ้น เห็นได้จากจำนวนบริษัทของจีนที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมระยอง (ไทย-จีน) ตั้งโรงงานผลิตเกือบ 100 บริษัท ซึ่งมีทั้งโรงงานยางรถยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่รถ ด้านการสื่อสารเทเลคอม พลังงานโซลาร์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีขั้นสูง

    ดร.หลี่กล่าวว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลไทยจะเพิ่มโอกาสให้กับนักลงทุนจากจีนมากกว่าเดิม เพราะ EEC จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ ที่ให้สิทธิภาษี ให้สิทธิคนต่างชาติเข้ามาทำงานได้มากกว่ากฎหมายเดิม โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) ซึ่งจะดึงนักลงทุนจากจีนให้ขยายธุรกิจมามากขึ้น

    โครงการ EEC ยังได้ส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เอกชนจีนมีความถนัด ก็คาดว่าน่าจะดึงความสนใจจากนักลงทุนจีนได้มาก

    สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนและมีการดำเนินการแล้วในปัจจุบัน (First S-curve) และ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) โดยกลุ่มอุตสาหกรรม First S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (next generation automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronics) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลุ่มที่สร้างรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (affluent, medical and wellness tourism) อุตสาหกรรมการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (agriculture and biotechnology) และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (food for the future)

    EEC โรดโชว์ ที่ปักกิ่ง 24-25 กรกฎาคม 2560 ที่มาภาพ:
    https://www.eeco.or.th

    ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (robotics and automation) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (aviation and logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (biofuels and biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (medical hub)

    ดร.หลี่กล่าวว่า จากการติดตามโครงการ EEC ของรัฐบาลก็เห็นได้ชัดว่า โครงการมีการดำเนินการที่คืบหน้า ตั้งแต่การให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออกหรือกฎหมายอีอีซี ที่มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย การขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว ส่วนแผนขยายสนามบินแห่งอื่น ทั้งดอนเมือง อู่ตะเภา ก็อยู่ในกระบวนการและล่าสุดมีการเปิดให้ซื้อซอง TOR โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง

    ดร.หลี่กล่าวว่า โครงการ EEC เปิดโอกาสให้กับทั้งนักลงทุนจีนและธนาคารไอซีบีซีไทยเอง เนื่องจาก ไอซีบีซีในฐานะที่เป็นธนาคาร พร้อมสนับสนุนบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในไทย มีการให้บริการทางการเงินผ่านผลิตภัณฑ์และบริการหลากลายทั้งเงินกู้ ตราสารหนี้ หรือเงินกู้ร่วม (syndicated loan) เพื่อให้ธุรกิจนำไปลงทุนพัฒนากิจการ

    “ตั้งแต่ไทยประกาศโครงการ EEC มีนักลงทุนจีนแสดงความสนใจผ่านธนาคารที่จะเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก และธนาคารไอซีบีซีไทยให้การต้อนรับนักธุรกิจจีนมากขึ้น นักธุรกิจจีนเดินทางเข้ามาไทยมากขึ้น และในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนนี้ไอซีบีซีไทยได้ต้อนรับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและนักลงทุนจากจีน 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้เข้ามาหาข้อมูลเพื่อการลงทุน”

    ดร.หลี่เปิดเผยต่อว่า ธนาคารไอซีบีซี ได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของโครงการ EEC จึงได้ทำงานร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมาต่อเนื่อง โดยได้จัดโรดโชว์นำตัวแทนสำนักงานเดินทางไปปักกิ่งเพื่อแนะนำโครงการ EEC กับนักธุรกิจจีนได้แล้ว 2 ครั้ง และได้จัดนักธุรกิจจีนเดินทางมาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ประเทศไทย รวมทั้งได้จัดการประชุมระหว่างนักธุรกิจจีนกับฝ่ายไทย ไปแล้ว 4-5 ครั้ง

    ดร.หลี่กล่าวว่า ไม่สามารถประเมินมูลค่าการลงทุนของธุรกิจจีนที่จะเข้ามาลงทุนใน EEC ได้ แต่เชื่อว่าโครงการลงทุนที่สำคัญคือโครงการรถไฟความเร็วสูง และหากโครงการนี้พัฒนาได้สำเร็จก็จะดึงการลงทุนจากจีนได้มากขึ้น เฉพาะมูลค่าลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงก็มีมูลค่าสูงถึง 200 พันล้านบาท เป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงมาก

    บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ของจีนน่าจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสขยายการลงทุนมายังไทยมาก เพราะบริษัทใหญ่ของจีนนั้น ได้มีการใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ มีศักยภาพมีความสามารถมากพอที่จะขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ จำนวนบริษัทจีนที่รู้จักประเทศไทยมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ประเมินจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยที่มีจำนวน 10 ล้านคน ก็แสดงให้เห็นว่าคนจีนรู้จักไทยมากขึ้น

    “สำหรับธุรกิจจีนผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มพิจารณาการลงทุนในไทย”

    ดร.หลี่กล่าวต่อว่า แต่ละประเทศก็มีข้อได้เปรียบที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยนั้น มีข้อดีของตัวเอง เพราะตั้งอยู่ในใจกลางอาเซียน จึงเป็นทั้งศูนย์กลางส่งออก ศูนย์กลางการผลิต นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาตั้งโรงงานในไทย เพื่อการผลิตสินค้าและส่งออกจากไทยไปยังประเทศอื่น เช่น CLMV ได้โดยตรง หรือส่งไปประเทศใกล้เคียงได้อย่างสะดวก ประหยัดต้นทุนด้วย นอกจากนี้ไทยยังมีการปลูกยางพาราจำนวนมาก ซึ่งเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ นำไปเป็นวัตถุดิบ สามารถนำไปใช้การผลิตชิ้นส่วน ประหยัดต้นทุนได้เช่นกันและยังสามารถส่งออกไปยังยุโรป สหรัฐอเมริกา ได้โดยตรง

    ดร.หลี่กล่าวย้ำว่า ทั้งโครงการ One Belt, One Road และ EEC เป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศ และจะมีผลดีต่อไอซีบีซีด้วย ซึ่งสิ่งที่ไอซีบีซีทำคือ แนะนำ EEC ให้กับนักธุรกิจจีน นำทีม EEC ไปให้ข้อมูลถึงเมืองจีน และขณะเดียวนำนักธุรกิจจีนเข้าทำความรู้จักกับ EEC และประเทศไทยมากขึ้น

    “ไอซีบีซีทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนักลงทุนกับประเทศเป้าหมายการลงทุน เป็นการทำหน้าที่แนะนำให้เจอกัน ทั้งนักธุรกิจและประเทศเป้าหมายก็จับคู่กันเอง และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้น”

    นับตั้งแต่ธนาคารไอซีบีซีได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ได้แนะนำนักธุรกิจจีนให้เข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจในไทยมากขึ้น รวมทั้งให้ความสนับสนุนทางการเงิน ยกตัวอย่างเช่น การร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มซีพีกับกลุ่มเซี่ยงไฮ้ ออโต้โมบิล เพื่อผลิตรถยนต์แบรนด์ MG ซึ่งการดำเนินงานเฟสแรกได้สิ้นสุดลงแล้ว และขณะนี้กำลังเริ่มเข้าสู่เฟส 2 ซึ่งไอซีบีซีเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน

    สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ร่วมลงนามกับ สมาคมธนาคารไทย และธนาคาร Industrial and Commercial Bank of China Limited (ICBC) เพื่อสนับสนุนให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ที่มาภาพ : https://www.eeco.or.th

    “ธุรกิจจีนที่ลงทุนหรือทำธุรกิจในไทยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของธนาคารไอซีบีซี รวมไปถึงธุรกิจจีนที่ได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีนด้วย เนื่องจากว่าไอซีบีซีเป็นธนาคารที่มีพื้นฐานธุรกิจจากจีน และได้ขยายธุรกิจธนาคารมายังไทยระยะหนึ่งแล้ว มีข้อมูลเศรษฐกิจการเงิน ภาวะธุรกิจในไทย ทำให้นักธุรกิจจีนซึ่งต้องการข้อมูลเหล่านี้ต้องการให้ไอซีบีซีสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวไทยทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม นโยบายรัฐบาล ไอซีบีซีไทยจึงมีโอกาสสนับสนุนด้านข้อมูลและการเงินให้กับนักธุรกิจจีนมากขึ้น” ดร.หลี่กล่าว

    นโยบายของธนาคารไอซีบีซีไทยปี 2561 มีเป้าหมายจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายไอซีบีซีเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ต้องการขยายตัวไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม ASEAN ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการการทำหน้าที่แนะนำนักลงทุนจีนที่มีความสนใจจะลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศไทยในอนาคต กลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เชื่อว่าธนาคารเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้งและสามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความพร้อมของบุคลากรทั้งสัญชาติจีนและสัญชาติไทยที่มีประสบการณ์ด้านสินเชื่อ และมีความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมไทยและจีนเป็นอย่างดี

    สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะเน้นกลุ่มธุรกิจที่มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับจีน เช่น การนำเข้าและส่งออกสินค้ากับประเทศจีน มีธุรกิจเกี่ยวกับจีน นอกจากนี้ธนาคารยังเน้นกลุมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่