ThaiPublica > คอลัมน์ > Viking Thunder Clap กับ ฟุตบอลโลกครั้งแรกของไอซ์แลนด์

Viking Thunder Clap กับ ฟุตบอลโลกครั้งแรกของไอซ์แลนด์

10 มิถุนายน 2018


Hesse004

Luzhniki Stadium สนามกีฬาแห่งชาติในกรุงมอสโกที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/3c/Luzhniki_Stadium2.jpg

อีกเพียงไม่กี่วัน มหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งที่ 21 ที่ประเทศรัสเซีย กำลังจะมาถึงแล้ว…ว่ากันว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้น่าจะมีไฮไลต์สำคัญหลายเรื่อง ทั้งความก้าวหน้าของเกมลูกหนังที่เอาเทคโนโลยี VAR (video assistant referee) มาช่วยตัดสิน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเจ้าภาพ รวมถึงความพยายามของรัสเซียที่จะหันกลับมาทวงบัลลังก์ชาติมหาอำนาจอีกครั้งในยุควลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin)

ช่วงเวลาการฟาดแข้งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2561 ไปจนกระทั่งนัดชิงชนะเลิศวันที่ 15 กรกฏาคม 2561 โดยฟุตบอลโลกคราวนี้ รัสเซียในฐานะเจ้าภาพจะเปิดสนามกับซาอุดีอาระเบียที่ Luzhniki Stadium สนามกีฬาแห่งชาติในกรุงมอสโก สนามแห่งนี้จุผู้ชมได้มากถึง 81,000 คน

ขณะที่นัดชิงชนะเลิศ สนามแห่งนี้ก็จะเป็นสังเวียนฟาดแข้งนัดสุดท้าย เพื่อหาว่าทีมใดจะได้ครอบครองถ้วย FIFA World Cup ครั้งนี้

รัสเซียได้เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมาตั้งแต่ปี 2010 แล้ว โดยการแข่งขันเพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก (FIFA World Cup bids) ปี 2018 มีประเทศเสนอตัวถึง 13 ประเทศ

การโหวตเจ้าภาพแบ่งเป็น 2 รอบ รอบสุดท้าย คัดเหลือประเทศเสนอตัวเพียง 4 ชาติ ได้แก่ เบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ (เสนอจัดร่วมกันเหมือนเมื่อครั้งจัดฟุตบอลยูโรปี 2000) โปรตุเกสและสเปน (เสนอจัดร่วมกัน) อังกฤษ และรัสเซีย

ผลการโหวตเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะรอบแรกที่รัสเซียเฉือนชนะโปรตุเกสและสเปนที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมไปเพียง 2 คะแนน (9 ต่อ 7)…แต่การโหวตในรอบสอง ปรากฏว่า รัสเซียได้คะแนนเพิ่มเป็น 13 คะแนน และได้รับหน้าเสื่อเป็น “เจ้าภาพ” สมใจ…นับเป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่จัดอยู่ระหว่างแผ่นดินยุโรปและแผ่นดินเอเชีย

ฟุตบอลโลกครั้งนี้มีสนามฟาดแข้งทั้งหมด 12 สนาม จัดขึ้นใน 11 เมือง โดยนักเตะทั้ง 32 ทีม 8 กลุ่ม จะถูกกระจายไปยังเมืองสำคัญๆ ที่รัสเซียต้องการโปรโมตเป็นสถานที่ท่องเที่ยว…แน่นอนว่า ช่วงเวลาการแข่งขัน ทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจต่างๆ แต่ละเมืองย่อม “บูม” แน่นอน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ย่อมตกเป็นของเจ้าภาพเต็มๆ

ทำนองเดียวกัน รัฐบาลปูตินก็จะได้รับเครดิตยิ่งขึ้น หลังจากเพิ่งผ่านการเลือกตั้งรอบใหม่มาได้ไม่นาน สิ่งเหล่านี้ นับเป็นความชาญฉลาดของปูตินที่มองการณ์ไกล เห็นอนาคตล่วงหน้าว่า หากรัสเซียเป็นเจ้าภาพบอลโลก ผลประโยชน์ที่ได้ย่อมมากกว่าเม็ดเงินที่จ่ายไปจากการบูรณะสร้างสนามหรือโปรโมตประชาสัมพันธ์

หันกลับมามอง 32 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายกันบ้าง…ฟุตบอลโลกคราวนี้ บราซิล อังกฤษ เยอรมนี อาร์เจนตินา สเปน ฝรั่งเศส ยังอยู่กันครบ อดีตทีมแชมป์โลกเหล่านี้สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายตามมาตรฐานฟุตบอลของตัวเอง

อย่างไรก็ดี อิตาลีและเนเธอร์แลนด์กลับตกรอบคัดเลือก โดยเฉพาะขุนพล “อัซซูร์รี” อิตาลี อดีตแชมป์โลกสี่สมัย ต้องตกรอบคัดเลือกไปอย่างน่าเสียดาย

…ฟุตบอลโลกครั้งนี้ มีอยู่สองทีมที่เพิ่งได้สัมผัสเวทีลูกหนังโลกเป็นครั้งแรก

ทีมแรก คือ ปานามา ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย โดยชนะคอสตาริกาไปด้วยสกอร์ 2 ประตูต่อ 1 ชัยชนะนัดนั้นทำให้ปานามาผ่านเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายได้ หลังจากพยายามมานานถึง 40 ปี! …จนประธานาธิบดีปานามา นายฮวน คาร์ลอส วาเรลา (Juan Carlos Varela) ประกาศให้วันรุ่งขึ้นหลังจากเข้ารอบสุดท้ายเป็นวันหยุดราชการ

นอกจากปานามาแล้ว ทีมฟุตบอลไอซ์แลนด์ เป็นอีกทีมที่เพิ่งเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกเช่นกัน

ไอซ์แลนด์ เป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 330,000 คน การที่มีประชากรน้อย นอกจากจะทำให้มีตัวเลือกของนักฟุตบอลน้อยตามไปด้วยแล้ว ฟุตบอลยังไม่ใช่กีฬายอดนิยม เพราะด้วยสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ไม่มีใครอยากออกมาเตะฟุตบอล

การเล่นฟุตบอลในไอซ์แลนด์ ต้องเล่นกันในร่ม คล้ายๆ ฟุตบอลอินดอร์ โดยมีสนามในร่มเพียง 11 สนาม ภายในสนามมีเครื่องอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะฮีตเตอร์ ที่ทำให้สภาพอากาศอบอุ่นพอที่จะเตะบอลกันได้

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน อันดับโลกของฟุตบอลไอซ์แลนด์ตาม FIFA ranking ยังอยู่ที่อันดับที่ 130 แต่วันนี้ทีมชาติไอซ์แลนด์ผงาดขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 30 ของโลกแล้ว

“มหัศจรรย์ไวกิ้งในโลกลูกหนัง” เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2013 เมื่อ Heimir Hallgrimsson เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมชาติ โดย Hallgrimsson เป็นคุณหมอฟันที่หลงใหลในเสน่ห์ของเกมฟุตบอล และอยากเห็นทีมชาติไอซ์แลนด์โลดแล่นบนเวทีโลก

Hallgrimsson ได้โค้ชลูกหนังอาชีพตัวจริง คือ Lars Lagerback อดีตโค้ชทีมชาติสวีเดน ที่หันมารับงานคุมทีมเล็กๆ อย่างไอซ์แลนด์

Eiður Smári Guðjohnsen หรือ ที่แฟนบอลคุ้นเคยในชื่อ “ไอเดอร์ กุ๊ดยอห์นเซน”(ซ้ายสุด)ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

สำหรับแฟนบอลไอซ์แลนด์ “เทพเจ้าลูกหนัง” ของพวกเขา คือ Eiður Smári Guðjohnsen หรือ ที่แฟนบอลคุ้นเคยในชื่อ “ไอเดอร์ กุ๊ดยอห์นเซน” อดีตศูนย์หน้าและกัปตันทีมชาติไอซ์แลนด์

กุ๊ดยอห์นเซน นับเป็นนักเตะไอซ์แลนด์ที่กลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้เด็กหนุ่มไวกิ้งอยากเป็นนักฟุตบอล…เขาค้าเริ่มค้าแข้งตั้งแต่ปี 1994 ด้วยวัยเพียง 16 ปี โดยเล่นในตำแหน่งกองหน้า ก่อนจะถูกแมวมองจาก PSV Eindhoven ในลีกดัตช์คว้าตัวไป

หลังจากนั้นกุ๊ดยอห์นเซนถูกขายให้กับโบลตัน แวนเดอเรอร์ (Bolton Wandere)r ในพรีเมียร์ชิพ และเริ่มฉายแววถล่มประตู จนกระทั่งเชลซี (Chelsea) ซื้อตัวไปร่วมทีมเมืองหลวงเมื่อปี 2000

กุ๊ดยอห์นเซน เป็นนักเตะที่ทุ่มเท มีความเร็วและความแข็งแกร่ง เขาช่วยให้เชลซีคว้าแชมป์พรีเมียร์ชิพในยุคของโชเซ่ มูรินโญ่ ก่อนจะถูกบาร์เซโลนา ยอดทีมจากสเปนคว้าตัวไปเล่นในคัมป์นู…หลังจากเล่นให้บาร์ซาอยู่สามปี กุ๊ดยอห์นเซนก็ย้ายไปเล่นต่อในโมนาโก ฝรั่งเศส เบลเยียม กรีก และกลับมาอังกฤษอีกครั้ง ก่อนที่ช่วงสุดท้ายของชีวิตการค้าแข้ง เขาไปเล่นที่ลีกจีน และแขวนรองเท้าที่สโมสรสุดท้ายในนอร์เวย์…นับเป็นนักเตะจอมพเนจรคนหนึ่ง

กุ๊ดยอห์นเซน อำลาชีวิตนักฟุตบอลอาชีพไปเมื่อเดือนกันยายน 2017 แต่ก็ยังวนเวียนอยู่กับวงการลูกหน้งบ้านเกิด โดยเฉพาะฟุตบอลโลกครั้งนี้ กุ๊ดยอห์นเซนจะเป็นแรงบันดาลใจในการลงสนามให้กับนักเตะรุ่นน้องได้ดี

ฟุตบอลไอซ์แลนด์ เริ่มเป็นที่จับตามากขึ้นหลังจากที่ทีมชาติของพวกเขาผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลยูโร 2016 รอบสุดท้ายที่ฝรั่งเศส

ยูโร 2016 ไอซ์แลนด์ อยู่ร่วมสายเดียวกับฮังการี ออสเตรีย และโปรตุเกส…ไม่น่าเชื่อว่า ทีมไวกิ้งชุดนี้จะผ่านเข้ารอบเป็นอันดับที่สองของกลุ่ม พวกเขาเสมอทั้งฮังการีและโปรตุเกส ก่อนจะมาเก็บชัยชนะเหนือออสเตรีย ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายไปพบกับอังกฤษ

แน่นอนว่า ชื่อชั้นอังกฤษกับไอซ์แลนด์นั้น นับว่าคนละคลาส ห่างกันมาก แต่ฟุตบอลลูกกลมๆ มีอะไรที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ… ไอซ์แลนด์ล้มอังกฤษลงด้วยสกอร์ 2 ประตูต่อ 1 ส่งอังกฤษกลับบ้านเพียงรอบสอง

อย่างไรก็ดี พวกเขาแพ้ให้กับเจ้าภาพฝรั่งเศส รอบแปดทีมสุดท้าย…แต่นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของทีมชาติไอซ์แลนด์ชุดนี้แล้ว

ที่มาภาพ : https://www.foxsports.com/soccer/story/watch-iceland-return-home-to-33-000-fans-doing-the-viking-clap-070516

ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนยุโรป ไอซ์แลนด์อยู่ร่วมสายเดียวกับโครเอเชีย ยูเครน ตุรกี ฟินแลนด์ และโคโซโว..เมื่อดูจากชื่อชั้นแล้ว ทีมเต็งที่จะผ่านรอบสุดท้ายน่าจะเป็นโครเอเชียกับยูเครน โดยมีตุรกีเป็นตัวสอดแทรก แต่ไอซ์แลนด์มีทีมเวิร์กที่แข็งแกร่งมาก มีสปิริตทีมที่ยอดเยี่ยม พวกเขาหักปากกาเซียนทุกสำนักและผ่านเข้ารอบสุดท้ายในฐานะแชมป์กลุ่ม

นักวิเคราะห์ฟุตบอลมองว่า ความสำเร็จของไอซ์แลนด์มีปัจจัยสำคัญมาจากการพัฒนาเยาวชนที่ดีและมีระบบการเรียนการสอนแทกติกฟุตบอลที่ยอดเยี่ยม…นักฟุตบอลทีมชาติไอซ์แลนด์แทบทั้งหมดเล่นในลีกต่างแดนยุโรป ทำให้พวกเขาซึมซับลักษณะการเล่นบอลยุโรปในลีกดังๆ ทั้งในพรีมเมียร์ชิพ ลาลีกา บุนเดสลีกา รวมถึงกัลโชเซเรียอา

ขณะเดียวกัน ปัจจัยอีกประการ คือ แฟนฟุตบอลที่ตามเชียร์ฟุตบอลไอซ์แลนด์อย่างเหนียวแน่น หลังจบเกม แฟนบอลไอซ์แลนด์จะปรบมือให้กำลังใจเป็นจังหวะพร้อมกับนักบอล แบบที่พวกเขาเรียกว่า Viking Thunder Clap ซึ่งเป็นการเชียร์ให้กำลังใจนักเตะตัวเอง ไม่ว่าทีมจะแพ้หรือชนะ แต่พวกเขาก็แสดงให้เห็นถึงเลือดนักสู้ของลูกหลานชาวไวกิ้ง

…ฟุตบอลโลกรอบนี้ เราจะได้เห็น Viking Thunder Clap กลับมาอีกครั้ง

https://www.youtube.com/watch?v=uJ_fh_Ks9QY