ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > การศึกษาสิ่งแวดล้อมในยุค Disruption สร้างความตระหนักจากข้อมูลจริง – เปลี่ยนภาระเป็นภารกิจ – มีจิตสาธารณะ

การศึกษาสิ่งแวดล้อมในยุค Disruption สร้างความตระหนักจากข้อมูลจริง – เปลี่ยนภาระเป็นภารกิจ – มีจิตสาธารณะ

7 มิถุนายน 2018


เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการอาศรมความคิด อรุณ สรเทศน์ ณ ลานเกียร์ (เปิดโลกลานเกียร์) จัดเสวนาเรื่อง “การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมในยุค Disruption” เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการอาศรมความคิด อรุณ สรเทศน์ ณ ลานเกียร์ (เปิดโลกลานเกียร์) จัดเสวนาเรื่อง “การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมในยุค Disruption” เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก มีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“นวัตกรรม” โอกาสในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี จุฬาฯ กำกับดูแลด้านวิชาการ กล่าวว่า คนทุกคนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น การสร้างพื้นฐานความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับคนทุกวัยเข้าใจอย่างถูกต้องตลอดทุกช่วงชีวิตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อจะทำให้เกิดความตระหนักและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ถูกต้อง สอดคล้องกับสิ่งที่จุฬาฯพยายามผลักดันและขับเคลื่อนเรื่อง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ lifelong learning

ดร.ปมทอง มองว่า ในยุคดิสรัปชันถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือ “นวัตกรรม” ที่เกิดจากการคิดวิเคราะห์จนสร้างขึ้นมาได้ และอาจจะเปลี่ยนรูปแบบของการจัดการสิ่งแวดล้อมจากหน้ามือเป็นหลังมือก็เป็นได้

“เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นอาจจะช่วยเอื้อให้เราสามารถจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น หากเราปรับตัวและเลือกที่จะนำมาใช้ได้ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม” ดร.ปมทอง กล่าว

ภาคเอกชนตื่นตัวรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่

นางเกตุวลี นภาศัพท์ ประธานกรรมการบริษัท ส.นภา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ในเครือเอสเอ็นกรุ๊ป ตัวแทนภาคเอกชน เล่าว่า บริษัท ส.นภา ก่อตั้งมาเกือบ 60 ปี ทำธุรกิจด้านน้ำมาตลอด ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนและผู้ประกอบการมีความตื่นตัวเรื่องน้ำอย่างมาก และมีแนวคิดการทำรีไซเคิลน้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งพยายามหาเทคโนโลยีมาบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม ปัญหายังมีอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม แม้จะมีค่าปรับเป็นเกณฑ์ในการควบคุม แต่ก็ไม่ได้เกิดแรงจูงใจว่าจะไม่ปล่อยน้ำเสียออกมา ดังนั้น การศึกษาสิ่งแวดล้อมหรือการที่ภาครัฐดำเนินการเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ให้ชัดเจนจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

นางเกตุวลีกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทมีโอกาสทำงานด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นการต่อยอดทางด้านการศึกษาและทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษากับภาคเอกชน ซึ่งนิสิตนักศึกษาจะมีโอกาสไปฝึกงานจริงกับบริษัทตามไซต์งานทั่วประเทศอีกด้วย

รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

สร้าง “ความตระหนัก” จาก “ข้อมูล” จริง

รองศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เสริมว่า อาร์แอนด์ดีและอินโนเวชันซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของโลกในยุคปัจจุบัน น่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบสำหรับการดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมด้านการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม

“คำว่าอาร์แอนด์ดีและอินโนเวชันจะมีความน่าสนใจเกิดขึ้นในส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์ จะเริ่มมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมบางอย่างเข้ามาเป็นตัวดึง และเมื่อเราเรียนไปพร้อมๆ กันจะมีส่วนซอฟต์แวร์ตามมา ศาสตร์หรือองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ด้านปิโตรเลียม หรือด้านอื่นๆ จะถูกพัฒนาและปรับให้เข้ากับบริบทความเป็นไทยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราได้คนมามำงานด้านนี้”

“เพราะทุกคนมาอยู่เป็นชุมชน มาทำงานร่วมกัน อยู่หน้างานร่วมกันจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการหรือคนที่จะทำนวัตกรรมจะต้องลงไปเห็น เพราะถ้าไม่เห็นหน้างานจริงๆ จะตอบไม่ได้ว่าปัญหาคืออะไร หรือทำไมเราต้องทำแบบนี้” ดร.พิสุทธิ์ กล่าว

ดร.พิสุทธิ์ ยังมองว่า การจะสร้างคนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อมจะต้องเริ่มจากการสร้าง “ความตระหนัก” จาก “ข้อมูล” จริง มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ เพื่อชี้ให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของทุกคนจริง ขณะเดียวกันต้องให้ “ความรู้” หรือสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ผ่านการเรียนการสอนหรือการใช้โซเชียลมีเดียทุกช่องทางให้เป็นประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสร้างทัศนคติและลงมือปฏิบัติผ่านประสบการณ์จริง จนสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกันได้อย่างแท้จริงของทุกภาคส่วน

เปลี่ยนภาระ เป็น “ภารกิจ”- มี “จิตสาธารณะ”

นายสินชัย เทียนศิริ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในอดีตตนเคยมองปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็น “ภาระ” แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมุมมองจากภาระเป็น “ภารกิจ” ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนเปลี่ยนภาระเป็นภารกิจ และทำให้สำเร็จมากกว่าการทำให้เสร็จๆ ไป  ที่สำคัญต้องมี “จิตสาธารณะ” หรือมีจิตสำนึกในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม

“ประเทศที่จะเจริญแล้วมอง public เป็นตัวหลัก แต่เรามอง public เป็นตัวรอง ดังนั้น ผมคิดว่าการที่คนธรรมดา คนที่เป็นปัจเจกชน จะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ต้องเข้าใจและมองบริบทให้ออก ที่สำคัญต้องมีจิตสาธารณะ หรือ public awareness ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

กู้วิกฤติสิ่งแวดล้อมเริ่มต้นจากตัวเรา ด้วยการ “ลงมือทำ”

นางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ ดารานักแสดงและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อได้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกลับพบว่าการรู้ “ข้อมูล” เป็นเรื่องที่สำคัญมาก  เพราะทำให้มีความตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องเริ่มจากการมองให้เห็นก่อนว่า “เราคือหนึ่งในสิ่งแวดล้อม” ซึ่งส่วนตัวเริ่มจากการทำโครงการ Little Forest ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ เพราะมองเห็นปัญหาภัยแล้งที่ค่อนข้างรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเกิดจากการที่เราไม่เคยมอง หรือไม่เคยเอาใจใส่กับปัญหาดังกล่าว

แต่เมื่อได้มองเห็นและเอาใจใส่แล้ว ก็เกิดความสะเทือนใจว่าแม่น้ำกลายเป็นแผ่นดินแห้งผาก หรือป่าไม้ ภูเขา ที่เคยมีต้นไม้สีเขียว กลายเป็นท้องทะเลทรายบนภูเขา ภาพเหล่านี้ได้สร้างความสะเทือนใจ จึงคิดว่าในฐานะประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่แค่เพียงบ่นหรือวิพากษ์วิจารณ์แล้วจบกัน

“เชอรี่ก้าวข้ามความคิดจากที่เคยบอกว่าเราเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ทำอะไรไม่ได้  มาเป็นการเปลี่ยนทัศนคติว่า อย่างน้อยเราทำในสิ่งเล็กๆ และทำไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะเชื่อว่าสิ่งเล็กๆ นี้จะสร้างพลังและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญที่สุดคือต้องลงมือทำ”

“ดังนั้น จากคนที่ไม่มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเลย ก็ใช้การหาความรู้จากการลงพื้นที่จริง ค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ดูสารคดี ถามผู้รู้  และเมื่อเรามีความรู้ในระดับหนึ่งพร้อมกับการลงมือทำควบคู่กันไป จะทำให้เรามีประสบการณ์ ซึ่งจะสอนเราได้ดีมาก” เชอรี่-เข็มอัปสร กล่าว

เข็มอัปสรยังกล่าวว่า ในยุคดิสรัปชันที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ทุกคนสามารถรักษาโลกใบนี้ได้โดยเริ่มจากตัวเอง  เพราะทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีจำนวนมากมายมหาศาลที่จะให้ทุกคนช่วยทำ ซึ่งแต่ละคนสามารถเลือกทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ  ถนัด หรือใคร่อยากจะรู้ ด้วยการหาข้อมูลแล้วลงมือทำ เรียนรู้จากประสบการณ์ มากกว่านั้นต้องประเมินสิ่งที่ทำไปแล้วว่าถูกหรือผิดอย่างไร เพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไข

“เชอรี่เชื่อว่าทุกๆ คนจะเป็นพลเมืองของโลกที่สามารถกู้วิกฤติสิ่งแวดล้อมได้ เพราะเราไม่เหลือเวลาอีกแล้ว ขอให้ลงมือทำเลย โดยเฉพาะน้องๆ เยาวชนจะเป็นพลังที่สำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้”