ข่าวประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดแถลงข่าวการประชุมสัมมนาวิชาการ พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม ครั้งที่ 5 “Engagement Thailand Annual Conference : Sustainable Development Goals (SDGs)” ภายใต้แนวคิด “แนวทางใหม่สำหรับการสร้างผลกระทบที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” : A better way for social impact creation and social inequality reduction
ทั้งนี้ การประชุมจะมีขึ้นวันที่ 11-13 กรกฎาคม 2561 ณ อาคารนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มศว เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้แนวทางปฏิบัติที่ดีในการนำภารกิจดำเนินงานด้าน Engagement และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขับเคลื่อนพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมให้เกิดความเข้มแข็งภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีทักษะความรู้และศึกษาแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านการทำงานวิจัยรับใช้สังคมและชุมชนมากขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการดำเนินการอย่างแท้จริงในการดำเนินงานเพื่อสังคมไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม หรือ Engagement Thailand กล่าวว่า Engagement Thailand เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่มีแนวคิด “บริการทางวิชาการกับสังคม” ให้เกิดการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมได้ประโยชน์ ร่วมเรียนรู้ และเกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคมในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในสังคมทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรในต่างประเทศ
ปัจจุบัน Engagement Thailand มีสมาชิก 57 มหาวิทยาลัย โดยการประชุมในปีมีนี้ มศว เป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีความสำคัญไม่เพียงแต่การพูดคุยกันทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ที่สำคัญมากคือภาคีสมาชิกจะมาหารือกันโดยอาศัยผลงานวิจัยเป็นเกณฑ์ว่าหากจะทำ Engagement Thailand ให้เกิดความถาวรยั่งยืน ควรจะเลือกรูปแบบไหน ที่สามารถทำงานได้ต่อเนื่องกว้างขวางขึ้น นับเป็นปีที่จะชี้อนาคตว่า Engagement Thailand จะยังดำรงอยู่และทำงานต่อเนื่องยั่งยืนหรือไม่

รองศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า พันธกิจหลักของ มศว คือการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยในส่วนการบริการวิชาการเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยดูแลรับใช้สังคมหรือชุมชนให้ดีขึ้นทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ผ่านการให้ความรู้และงานวิจัย
ขณะเดียวกัน มศว ได้มีการตั้งหน่วยงาน “กิจการเพื่อสังคม” ทำโครงการเกือบ 100 โครงการเข้าสู่ชุมชนพร้อมกับติดตามผล เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ทำให้เกิดเป้าหมาย SDG นอกจากนั้นยังนำเรื่องกิจการเพื่อสังคมผนวกเข้าไปในการเรียนการสอน การวิจัย และนำเข้าไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ 15 ปีของมหาวิทยาลัย เพื่อจะขับเคลื่อนเรื่อง “มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม” ได้อย่างเต็มรูปแบบ
พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยยังมุ่งทำโครงการวิจัยเพื่อนำความรู้สู่ชุมชน โดยจะดึงทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคชุมชน แม้กระทั่งบริษัทต่างๆ ที่สนใจเรื่อง Engagement มาร่วมกันพัฒนาให้สังคมไทยยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อทำให้สภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
“เราจะหล่อหลอมและปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะนิสิตและบุคลากรของเรา เมื่อออกไปอยู่ในสังคมก็จะได้ทำเรื่อง Engagement Thailand ได้อย่างต่อเนื่อง และถ้าทุกมหาวิทยาลัยให้ความร่วมมือในลักษณะเดียวกันนี้ คาดว่าจะช่วยทำให้ลดเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมหรือชุมชนลงได้” ดร.สมชาย กล่าว
อธิการบดี มศว กล่าวเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่สนใจมาร่วมงานครั้งนี้ เพราะเป็นการประชุมครั้งยิ่งใหญ่เกี่ยวกับเรื่อง Engagement เพื่อจะได้เข้าใจคำว่า Engagement ว่ามีปฏิบัติอะไรบ้างอยู่ในสังคมไทย และจะทำอย่างไรให้สังคมไทยเป็นสังคมน่าอยู่ มีความยั่งยืนมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เทียมบุญประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนากิจการเพื่อสังคม มศว กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะมีกิจกรรมหลากหลาย เน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เช่น การนำเสนอความรู้ความคิดเห็นเรื่องการรับใช้สังคมจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ, การนำเสนอบทความ, จัดนิทรรศการเกี่ยวกับการรับใช้สังคม ฯลฯ รวมทั้งเชิญสมาชิกที่สนใจลงพื้นที่ไปดูกิจกรรมเพื่อสังคมที่ มศว ทำที่จังหวัดนครนายกในวันที่ 13 กรกฎาคม อีกด้วย
“การประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้บริหาร อาจารย์ นิสิตจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้สนใจทั่วไป ตลอดจนบริษัทห้างร้านและองค์กรที่สนใจเรื่องดังกล่าว เราจะได้รับความรู้และเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา และความก้าวหน้าของ Engagement ประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม”
รองศาสตราจารย์ ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว กล่าวเสริมว่า ธีมงานประชุมจะเน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มีไฮไลต์สำคัญ เช่น การนำเสนอความรู้เรื่อง “กิจการเพื่อสังคม แนวทางลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” โดย ดร.มีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน, การบรรยายเรื่อง “ทิศทางของมหาวิทยาลัยกับการเรียนแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน” โดย ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน, การบรรยายเรื่อง “หลักธรรมเพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน” โดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) รวมทั้งการแสดงละครคนตาบอด จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว และการนำเสนอผลงานทางวิชาการจัดนิทรรศการที่น่าสนใจจาก 57 มหาวิทยาลัย