ThaiPublica > เกาะกระแส > เศรษฐศาสตร์ มธ. ถก “วิชาเศรษฐศาสตร์” ยังจำเป็นหรือไม่? ในยุคเทคโนโลยีครองโลก

เศรษฐศาสตร์ มธ. ถก “วิชาเศรษฐศาสตร์” ยังจำเป็นหรือไม่? ในยุคเทคโนโลยีครองโลก

17 มิถุนายน 2018


ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน),ศ. ดร.ปราณี ทินกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรศ. ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(จากซ้ายมาขวา)

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการ “ทิศทางและบทบาทเศรษฐศาสตร์ในอนาคต” เนื่องในวันสถาปนาคณะเศรษฐศาสตร์ครบรอบปีที่ 69 โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ศ. ดร.ปราณี ทินกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ. ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

ตั้งกองทุนวิจัยพื้นฐาน สะสมผู้เชี่ยวชาญ-องค์ความรู้

ศ. ดร.ปราณี กล่าวว่า ตนเรียนจบกลับมาเป็นอาจารย์ตั้งแต่ปี 2522 ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิชาเศรษฐศาสตร์มาตลอด เช่น ช่วงแรก สมัยที่คณะทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตแก่ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยประกาศสดุดีพระเกียรติคุณว่าพระองค์ทรงงานในโครงการสำหรับประเทศและประชาชน เพื่อขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยที่นักเศรษฐศาสตร์ในยุคนั้นยังไม่ได้สนใจหัวข้อดังกล่าว ต่อมาดำรงตำแหน่งคณบดีได้ริเริ่มทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับการพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจอาศัยทุนจากสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมไปถึงงานสัมมนาวิชาการระดับชาติที่ช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์

ทั้งนี้ บทบาทหลักของวิชาในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดคาดว่าจะยังคงอยู่ต่อและจำเป็นในอนาคต เพียงแต่ต้องเผชิญกับบริบทที่เปลี่ยนไป 2 ประเด็น

1) แนวโน้มของโครงสร้างประชากรที่จะมีผู้สูงอายุมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งมีเด็กลดลง ทำให้มีนักศึกษาเข้าเรียนลดลง ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นในภาคเอกชน และอนาคตจะส่งผลต่อการคงอยู่ของวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะปัจจุบัน 1 ใน 3 ของรายได้ มธ. มาจากค่าเล่าเรียน

2) การปั่นป่วนของเทคโนโลยี หรือ Disruptive Technology ซึ่งในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1942 โดยศาสตราจารย์ Joseph Schumpeter ที่คิดค้นคำว่า Creative Destruction ซึ่งให้ความหมายในมุมบวก คือเป็นการทำลายของเก่าเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า ขณะที่ต่อมาในปี 1995 ศาสตราจารย์ Clayton M. Christensen อาจารย์ประจำ Harvard Business School ที่คิดค้นคำว่า “Disruptive Innovation” ที่ให้ความหมายกลับด้านไปในทางลบมากขึ้นว่าจะเข้ามาปั่นป่วนโลก แทนการสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า

ศ. ดร.ปราณี ยกตัวอย่างไปถึงการปั่นป่วนที่เกิดขึ้นว่า แม้จะทำให้เทคโนโลยีแบบเดิมหายไป แต่อีกด้านหนึ่งสังคมก็มีสินค้าและบริการที่ต้นทุนลดลง มีการบริการที่ดีขึ้นด้วย เช่น กล้องฟิล์มที่ถูกกล้องดิจิทัลเข้าทดแทน หรือธนาคารที่ลดสาขาลดพนักงาน เป็นการปั่นป่วนกำลังแรงงานที่มีทักษะเดิมๆ

“ตัวอย่างที่น่าสนใจคือเรื่องหมอที่ปรับตัวรับกับ Automation โดยศูนย์รักษามะเร็งของ University of Texas MD Anderson Cancer Center ร่วมกับ Watson Computer ของ IBM ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถถามตอบเป็นภาษาธรรมชาติที่มนุษย์ใช้ได้ โดยรวบรวมข้อมูลประวัติการรักษามะเร็งของผู้ป่วยนับแสนรายและวิเคราะห์ในทางสถิติว่าต้องรักษาอย่างไรโดยอิงจากข้อมูลเก่าที่มี ตรงนี้แตกต่างจากทุกวันนี้เวลาหมอจะรักษามะเร็งคือการทดลอง อาจจะต้องเริ่มจากผ่าตัดดีกว่า แต่กลับไปเริ่มจากฉายแสง หรือพอไม่ได้ผลก็ไปผ่าตัด ไม่ได้ผลก็คีโม คือทดลองไป นั่นเพราะหมอขาดประสบการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติว่ากว่าหมอจะมีประสบการณ์รักษาคนมาเป็น 10,000 รายก็แทบจะเกษียณแล้ว ดังนั้น Watson มาตอบโจทย์เก็บประสบการณ์การรักษาไว้แทน แต่ถามว่าหมอยังอยู่หรือไม่ ยังอยู่ แต่บริบทจะเปลี่ยนไป นักเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกัน” ศ. ดร.ปราณี กล่าว

ศ. ดร.ปราณี กล่าวต่อไปถึงบริบทของนักเศรษฐศาสตร์จะเปลียนไปใน 2 มิติ คือ 1) การเรียนการสอนที่จะเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดนแบบออนไลน์และจำนวนนักศึกษาที่ลดลง ต่อไปอาจจะไม่ต้องแบ่งห้องเรียน ไม่มีปัญหาคุณภาพไม่เท่ากัน นักศึกษาไม่ต้องเข้าห้องเรียนตามเวลา กลายเป็นเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกวิชา อย่างไรก็ตาม บทบาทของอาจารย์ย่อมต้องมีอยู่ในแง่การให้คำปรึกษาบางอย่าง แต่เป็นที่แน่นอนว่าต้องปรับตัว ปรับวิธี ปรับบทบาทไป

2) การนำเสนอนโยบายสาธารณะต่อสังคม ในมิตินี้สำหรับระดับโลกในปัจจุบันจะมีรางวัล John Bates Clark Medal ของสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งอเมริกา (American Economic Association) ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้แก่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 40 ปีที่มีแววหรือผลงานวิชาการโดดเด่น โดยหลายคนต่อมาจะได้รางวัลโนเบล ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะติดตามขอบเขตขององค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ เพราะคนที่ได้รับรางวัลที่อายุน้อยมักจะมีความคิดใหม่ๆ และจะสร้างผลงานให้แก่สังคมต่อไปในอนาคต

สำหรับประเทศไทยอาจยากที่จะไปผลักดันขอบเขตขององค์ความรู้ได้ อาจจะเน้นไปที่การประยุกต์ใช้ศึกษาเฉพาะประเทศหรือภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การวิจัยของไทยยังติดระบบการหาทุนวิจัยที่หน่วยงานมักจะให้เป็นโจทย์เฉพาะองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่อีกด้านสังคมยังต้องการการวิจัยพื้นฐานที่ครอบคลุมในหลายๆ มิติด้วย นอกจากนี้ การให้ทุนวิจัยที่แคบและต้องแข็งขันก็ทำให้การสะสมความรู้หรือการสร้างผู้เชี่ยวชาญเป็นไปได้ยากด้วย

“ในสมัยที่กลับมาเป็นอาจารย์ใหม่ตอนประมาณปี 2522 จำได้ว่าคณะฯ มีกองทุนการวิจัยอยู่ประมาณหนึ่ง จนถึงปัจจุบันวงเงินกองทุนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆและเพียงพอที่นำเงินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่องานวิจัยพื้นฐานในเรื่องที่สำคัญแต่ไม่มีคนจะให้ทุนทำ เช่น พยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจ เรื่องความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งฟูมฟักอาจารย์รุ่นต่อๆ ไป” ศ. ดร.ปราณี กล่าว

เน้นเข้าใจพฤติกรรม อุปสงค์

ดร.ชยันต์ กล่าวว่า ตนมองคล้ายกับ ศ. ดร.ปราณี ว่าเทคโนโลยีและภาวะแก่ก่อนรวยจะเข้ามากระทบเศรษฐกิจอย่างมาก อีกด้านประเทศไทยก็ยังมีปัญหาที่ต้องจัดการอยู่ ทั้งความยั่งยืน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ทุจริต อุดมคติทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน ดังนั้น ทิศทางที่ควรจะเป็นในอนาคตของเศรษฐศาสตร์คือต้องสนับสนุนนโยบายที่ทำให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะนโยบายทางด้านอุปสงค์ที่มักจะกำหนดไว้ว่าคนเราต้องการสินค้าและบริการเสมอ แต่ความเป็นจริงเรามีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างไป หรือประเด็นเรื่องความไม่สมเหตุผลของมนุษย์ ที่บางครั้งไม่ได้ตัดสินใจอย่างมีเหตุผลนัก

“คำตอบตรงนี้อยู่ที่เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เปิดช่องให้ออกแบบนโยบายบางอย่างที่ไปเปลี่ยนพฤติกรรมเปลี่ยนอุปสงค์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ ไม่ได้โดดเดี่ยว มีความร่วมมือกัน มีการใส่ใจความคิดของคนอื่น ต้องการการยอมรับ บริบทแวดล้อม อย่างความเชื่อ ต่างมีผลต่อการตัดสินใจ ตัวอย่างงานวิจัย เช่น ในงานเลี้ยงมีการจัดอาหารโดยมีเนื้อสัตว์เป็นทางเลือกหลักและมีมังสวิรัติเป็นทางเลือกรอง ปรากฏว่ามีคนแค่ 10% เลือกมังสวิรัติ แต่พอเราปรับใหม่ ให้เนื้อสัตว์เป็นทางเลือก ปรากฏว่าคน 83% เลือกรับประทานมังสวิรัติ ดังนั้นเห็นชัดว่าการตีกรอบทางเลือกและบริบทแวดล้อมมีผลต่อการตัดสินใจและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เปลี่ยนอุปสงค์ของคนได้จริงๆ” ดร.ชยันต์ กล่าว

เศรษฐศาสตร์ยังต้องออกแบบนโยบาย

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐศาสตร์มีมิติใหม่มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จากที่เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นสนใจเรื่องพฤติกรรม เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องความยั่งยืน เรื่องการเติบโตทุกภาคส่วน ดังนั้นสะท้อนว่าองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะต้องปรับตัวตามบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ทำให้ทฤษฎีบางอย่างอาจจะไม่จริงแล้วและอาจจะต้องเก็บเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ไป และไม่ใช่แค่ตัวองค์ความรู้ แต่บทบาททางนโยบายด้วย ตัวอย่างเช่น เรื่องตลาดเสรีในภาคการเงิน เราเชื่อว่ารัฐต้องไม่ยุ่งมาก นโยบายการเงินเกี่ยวกับเงินเฟ้ออย่างเดียว แต่เราก็เห็นว่านำไปสู่วิกฤติอย่างไร เริ่มเห็นบทบาทของผู้กำกับที่ต้องเข้ามาดูแล

“แต่พอถามว่าอนาคต หมายถึงแค่ไหน ไตรมาสหน้าจะเติบโตเท่าไหร่ ตอนนี้ทำนายจีดีพียังไม่ค่อยจะถูกเลยนะครับ หรือ 1 ปี 3 ปี ถ้าเราถามคำถามนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้วว่าในวันนี้จะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าเราไม่ได้ทายหรอกว่าจะเป็นแบบนี้ แต่เรามีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีแล้วนะ ไม่เป็นไร แต่ถ้าถามวันนี้ว่าอะไรจะเป็นแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมคิดว่าจะมีอยู่หลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่อเทคโนโลยี”

ดร.พิพัฒน์ เริ่มต้นจากประเด็นทางเทคโนโลยีว่า อันแรก คือ เรามีอุปกรณ์ที่ติดตัวมากขึ้น เรามีมือถือ มีนาฬิกาที่ชี้วัดอะไรต่างๆ เรารู้ข้อมูลมากขึ้น คนอื่นก็รู้มากขึ้น ซึ่งนำไปเรื่องที่ 2 ที่พลังการประมวลผลเพิ่มขึ้นอย่างมาก คล้ายๆ กฎของมัวร์ที่บอกว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวทุก 2 ปี ใครจะคิดว่า USB วันนี้ใหญ่กว่า Harddrive ที่เราใช้เมื่อ 5 ปีที่แล้วอีก แล้วมันจะเพิ่มขึ้นไปอีก หรือเรื่องของการ Simulation ที่เชื่อว่าทำจำนวนมากทำบ่อยๆ ถ้ามีคอมพิวเตอร์ที่เร็วก็คำนวณได้เร็ว แต่ตอนนี้เรากำลังคิดเรื่อง Quantum Computing ที่ไม่ต้องเร็ว แต่คำนวณพร้อมกันหลายๆ ครั้ง เป็นการเปลี่ยนแนวคิดไปเลย

“พอเรามีข้อมูลมากขึ้นมีพลังการคำนวณมากขึ้น หลายเรื่องก็ทำให้การพิจารณาเร็วขึ้นมาก มีวิธีการต่างๆ ที่เมื่อก่อนทำไม่ได้ ตอนนี้จะทำได้ อย่างอดีต อย่างตอนที่เรียนคิดว่าสมการถดถอยเส้นตรง ก็คิดว่าสุดยอดแล้วเทคโนโลยีนี้ ไปๆ มาๆ พอรู้จัก Machine Learning กลายเป็นว่าอันแรกเป็นแค่กรณีเล็กอันเดียวในนั้น จริงๆ เราก็รู้ว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นเส้นตรงเสมอไป แค่อดีตมันทำไม่ได้ พลังการคำนวณไม่พอ มันเหมือนมุกตลกอันหนึ่งที่เศรษฐศาสตร์ชอบหากระเป๋าตังค์ใต้หลอดไฟ ก็เห็นอยู่แค่นั้น แต่พอเดินออกไปเรามองไม่เห็น ก็ไม่รู้ว่ามีหรือไม่ แต่พอเทคโนโลยีมันกว้างออกไป ไฟมันส่องออกไปกว้างขึ้น ก็เป็นไปได้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะเดินออกไปในที่ที่กระเป๋าน่าจะอยู่มากขึ้น ในด้านอื่นๆ เราก็เห็นของอย่างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ไม่ต้องตั้งโรงไฟฟ้าใหญ่ๆ ก็ได้ เราเห็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แต่ทั้งหมดนี้ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์คือลดต้นทุนให้ระบบ เพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบมากขึ้น” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ถ้ามองไปไกลขึ้นอีกคงบอกได้ยากมันขึ้นอยู่กับว่าจะมองโลกอย่างไร ตัวอย่างเช่นในหนัง Star Trek บอกว่าถ้าเทคโนโลยีมันดีมากๆ เรื่องความขาดแคลนจะเป็นของโบราณ มันสามารถจะผลิตอะไรก็ได้ น้ำมันไม่ต้องใช้ คนไม่มีก็ใช้หุ่นยนต์ ทรัพยากรหมดไปเอาจากดาวอื่นมา ความยากจนก็ไม่มี สวัสดิการดี ทุกคนไม่ต้องทำงาน ไปทำอะไรที่อยากทำ เวลาก็มีมากขึ้น ไม่ต้องแย่งอะไร เงินยังไม่รู้จักเลย แต่อีกด้านถ้ามองแง่ร้ายก็คือเรื่อง Star Wars คือทุกคนยังแย่งชิงอยู่ แม้ว่าเทคโนโลยีจะดีเหมือนกันก็ตาม ดังนั้น มันเป็นสิ่งที่ทำนายลำบาก

วันนี้ก็เริ่มเห็นว่าหลายศาสตร์เริ่มใช้วิธีการศึกษาที่คล้ายกับเศรษฐศาสตร์ ที่ใช้สถิติและคณิตศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ กฎหมาย รัฐศาสตร์ จิตวิทยา ดังนั้น ในมุมมองของวิชาหรือกรอบความคิดทางเศรษฐศาสตร์บทบาทยังจำเป็นอยู่ แต่อีกคำถามสำคัญคือนักเศรษฐศาสตร์ยังจำเป็นหรือไม่ มันก็เหมือนที่บิลล์ เกตส์ กล่าวว่าการธนาคารยังจำเป็น แต่ธนาคารอาจจะไม่ นักเศรษฐศาสตร์อยู่ในสถานการณ์เดียวกันว่าวิชาหรือกรอบความคิดยังจำเป็น แต่นักเศรษฐศาสตร์อาจจะไม่จำเป็น

“ถ้าเรามี AI มีอะไรต่างๆ นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำนายเศรษฐกิจไม่จำเป็นเลย สมมติว่าเรามีแบบจำลองที่ดี คำถามย้อนไปว่าทำไมต้องมีแบบจำลอง เพราะระบบเศรษฐกิจเป็นแบบจำลองที่ซับซ้อนที่สุด แต่เพราะเราจำลองมันไม่ได้ เราก็ต้องต้องมีแบบจำลองที่ง่ายลง ที่เราพอจะเข้าใจได้ แต่ถ้าเทคโนโลยีในอนาคตมันสามารถทำได้ใกล้เคียงความจริงได้ เรารันแบบจำลองบนเศรษฐกิจจริงๆ ได้ นักเศรษฐศาสตร์มานั่งทำนายว่าไตรมาสหน้าเป็นเท่าไหร่ ก็อาจจะไม่ต้องทำนาย เพราะบอกได้เลย แต่ก็ยังต้องมีงานวิจัยอยู่ ต้องมีคนมาผลิตงานพวกนี้ ก็เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า บทบาทสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์กลับมาอยู่ที่การออกแบบนโยบาย ซึ่งหลายนโยบายจะมาเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ คำถามคือจะออกแบบอย่างไร เพราะว่าถึงแม้จะมีระบบ มีคอมพิวเตอร์มากมาย แต่การกำหนดนโยบายยังเป็นเรื่องสำคัญ ตัวอย่างเช่น การประมูลคลื่นอีกรอบ คิดว่าบริษัทจะต้องประมูลกันแพงที่สุดในโลก เพราะคลื่นไม่พอกัน แต่ขณะเดียกัน เรามีทีวี 24 ช่องไม่มีคนดู นักธุรกิจอยากคืน แต่รัฐไม่รับคืน กลายเป็นไม่มีค่าไปเลย นโยบายง่ายๆ เลยคือให้ 2 คนนี้ซื้อขายกัน มันก็คือคลื่นเหมือนกันโดยพื้นฐาน เทคนิคอาจจะมีบ้าง แต่ประเด็นคือการออกแบบนโยบาย

“นโยบายสาธารณะมักเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและจะไม่เป็น win-win ทุกคนได้ ต้องมีคนได้คนเสีย ไม่ว่าจะเสนออะไรขึ้นมา มันมีต้นทุนทุกอัน เพราะจะทำอะไรถ้าไม่ตัดงบที่อื่นมา ก็ต้องกู้ กู้มาเราไม่จ่าย ลูกหลานก็ต้องจ่าย แต่วันนี้เราไม่ถกเถียงเลย เราช้อปช่วยชาติ 3 ปีติดก็ไม่มีคนวิเคราะห์ว่ากระทบอย่างไร มีต้นทุนอย่างไร กระตุ้นจริงหรือไม่ ควรใช้หรือไม่ ส่วนนี้ไม่ว่าเศรษฐศาสตร์จะก้าวไปตรงไหน ผมคิดว่าก็ต้องยังจำเป็นต้องวิเคราะห์นโยบายค่อนข้างมาก” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ดร.พิพัฒน์ สรุปว่า ภารกิจของเศรษฐศาสตร์สำหรับประเทศไทยต้องทำ 3 ประเด็น คือ 1) รักษาองค์ความรู้ จะต้องก้าวทันขอบเขตความรู้ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยพื้นฐานหรือประยุกต์ วันนี้กลับไปที่สหรัฐอเมริกาที่เคยเรียนก็ไม่รู้จักศาสตราจารย์แล้วทั้งที่ควรรู้ อาจารย์ที่เคยสอนก็เกษียณไปหมดแล้ว แค่ 10 ปีที่เรียนจบก็หลุดจากขอบเขตความรู้ไปแล้ว ดังนั้น คณะฯ ต้องทำหน้าที่รักษาองค์ความรู้ได้ ถ้าไม่คิดใหม่ก็ต้องรักษาให้ได้ 2) การผลิตบัณฑิต เราอาจจะบอกว่าไม่ได้ต้องการผลิตเพื่อให้เรียนเฉพาะเลขแล้วไม่ทำอะไร แต่เศรษฐศาสตร์ตอบโจทย์ได้หลายมิติ ดังนั้น โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เป็นที่ต้องการของสังคมและตลาดแรงงาน และ 3) คือต้องเป็นที่พึ่งของสังคมในการสร้างความเข้าใจและกระจายองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ต่อสังคมด้วย ซึ่งคำตอบจะอยู่ที่การสั่งสมและสนับสนุนบุคลากร

หมายเหตุ : แก้ไขล่าสุด 18 มิถุนายน 2561