ThaiPublica > คอลัมน์ > กบฏมัธยม Joshua: Teenager vs. Superpower

กบฏมัธยม Joshua: Teenager vs. Superpower

30 มิถุนายน 2018


1721955

“โจชัว หว่อง เด็กหนุ่มผู้เขย่าอนาคตฮ่องกง”-เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์
“วัยรุ่นผู้ท้าอำนาจจีน” -อัลจาซีรา
“ตามรอยเทียนอันเหมิน เด็กนักเรียนฮ่องกงเตรียมรับศึกประชาธิปไตย” -ซีเอ็นเอ็น
“ผู้ประท้วงวัย 17 จะโค่นปักกิ่งได้หรือ?” เอ็นบีซีนิวส์
“โฉมหน้าของการประท้วง” -ไทม์

นี่คือข่าวพาดหัวที่ถูกรวบรวมมาไว้ในไตเติลของหนังสารคดีเรื่องนี้ Joshua: Teenager vs. Superpower เจ้าของรางวัลขวัญใจผู้ชม ประเภทสารคดีในสายเวิลด์ซีนีมา จากเทศกาลหนังซันแดนซ์ ผลงานกำกับของผู้กำกับชาวอเมริกัน โจ พิสคาเทลลา อันเป็นผลงานสารคดีลำดับที่สองของเขา ต่อจาก #chicagoGirl: The Social Network Takes on a Dictator (2013) ที่ว่าด้วยสาวชานเมืองชิคาโก ช่วยเหลือสงครามซีเรียผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งสังเกตได้ว่า ตัวผู้กำกับสนใจประเด็นคู่ขัดแย้งระหว่างคนตัวเล็กๆ ต่อกรกับอำนาจใหญ่เป็นทุนอยู่แล้ว

Joshua: Teenager vs. Superpower เริ่มต้นด้วยการเล่ารากเหง้าของปัญหาทั้งมวลในฮ่องกง ซึ่งเกิดขึ้นหลังคืนเกาะเมื่อปี 1997 ที่มาพร้อมนโยบายจีนว่าจะไม่แทรกแซงฮ่องกงเลยตลอดช่วง 50 ปีต่อจากนี้ (คือไปจนถึงปี 2046) และจะบริหารประเทศในลักษณะหนึ่งประเทศสองระบบ แต่ทั้งหมดก็คือจีน แถมจีนยังย้ำชัดด้วยว่าตลอดช่วงเวลานี้คนฮ่องกงจะมีเสรีภาพด้านสื่อ ด้านการชุมนุม และมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้นำในอนาคตของเขาเอง ดังนั้น ตัวหนังกำลังชี้ประเด็นสำคัญ 2 อย่างคือ 1. คนฮ่องกงก็คือจีน 2. จีนจะให้สิทธิ์แก่คนฮ่องกงในการใช้ชีวิตเสรีในช่วง 50 ปีนี้…แต่ความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

คนฮ่องกงก็คือจีน

โจชัว หว่อง และผองเพื่อนองค์กรนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่าสกอลาริซึ่ม เกิดเมื่อปี 1996 นั่นแปลว่าเหตุการณ์คืนเกาะฮ่องกงเกิดขึ้นในช่วงที่พวกเขามีอายุได้แค่ขวบเดียว!

“เราไม่มีความเป็นคนจีนเลยแม้แต่นิดเดียว เรายูนีค มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คนฮ่องกงก็คือคนฮ่องกง บรูซ ลี เป็นคนฮ่องกง (ไม่ใช่คนจีน)” นี่คือความเห็นของ ดีเรก แลม เพื่อนสนิทคนแรกที่โจชัวดึงเข้ามาร่วมสกอลาริซึ่ม

ความยูนีคของดีเรกน่าสนใจ แม้เขาจะไม่ค่อยพูดบ่อยในสารคดีเรื่องนี้ แต่เกือบทั้งเรื่องคนดูจะได้เห็นเขาใส่เสื้อตราสัญลักษณ์กัปตันอเมริกา ศัตรูตัวฉกาจของจีน และให้ความเห็นในแบบคนที่เติบโตมาจากวัฒนธรรมฮอลลีวู้ดอย่างเต็มที่ เช่น

“จีนคือความมืดมนที่กำลังอุบัติขึ้น ซึ่งจะทำลายทุกสิ่งในฮ่องกง แต่ถ้าคุณอยากจะคว่ำดาร์ธ เวเดอร์ คุณก็ต้องฝึกฝนเจไดขึ้นมาบ้าง”

ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาในฮ่องกงต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน เช่น “ฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อนหน้านั้นตลอด 150 ปี ดังนั้นเราจึงไม่ใช่จีนแท้ มีประชากรจำนวนไม่น้อยที่มีสายเลือดตะวันตก แต่กลับถูกส่งไปให้พวกคอมมิวนิสต์ คุณจะรับรู้ได้ถึงความหวาดกลัว ความอึดอัด ขณะเดียวกันทุกคนก็เป็นกังวลกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งจีนกระทำอยู่เสมอมา (โดยเฉพาะ ในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน เมื่อปี 1989)” หรือ “คนรุ่นใหม่เติบโตมาในยุคที่ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนไปแล้ว พวกเขาเข้าใจอยู่แล้วว่าแตกต่างจากเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆ ไม่เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่า เป็นเหมือนแกะดำ พวกเขาจึงพัฒนาตัวตนที่ชัดเจนขึ้นมา ในฐานะชาวฮ่องกง”

“ถามหน่อยว่าพวกผู้ใหญ่ไปอยู่ไหนกัน…ไม่ว่าจะต้องจ่ายราคาด้วยอะไร เราก็โยนภาระนี้ให้กับคนรุ่นต่อไปไม่ได้ คนรุ่นนี้ต้องทำภารกิจให้ลุล่วง”-โจชัว หว่อง

จีนให้สิทธิ์คนฮ่องกงใช้ชีวิตเสรี

การศึกษาส่งผลกระทบต่อคนรุ่นของโจชัวเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าคนกลุ่มแรกที่เข้ามาร่วมชุมนุมเป็นนักเรียนนักศึกษา อันมีสาเหตุใหญ่หลวงมาจากนโยบายในปี 2012 เมื่อรัฐบาลจีนมีแผนจะเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา ซึ่งนักเรียนเกรงว่ามันจะเป็นก้าวต่อไปของคอมมิวนิสต์ในการยึดครองฮ่องกง สตีฟ ซั่ง นักเขียนประวัติศาสตร์ฮ่องกงยุคใหม่ ให้ความเห็นว่า “รัฐบาลจีนนำเสนอการศึกษาแห่งชาติให้ฮ่องกง เพราะเขาเห็นว่าเยาวชนในฮ่องกงมีพฤติกรรมไม่รักชาติ หลักสูตรใหม่นั้นมุ่งเน้นแนวคิดชาตินิยม สำคัญที่สุดคือคุณต้องสนับสนุนประเทศชาติ และประเทศชาติในที่นี้ก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน”

ในท้ายเรื่องมีข้อมูลระบุว่า มีนักเขียนหนังสือต่อต้านจีนถูกลักพาตัวไปอย่างไร้ร่องรอยหลายราย รวมถึงแม้จีนจะยอมให้ฮ่องกงมีการเลือกตั้งผู้นำ แต่สุดท้ายบรรดาผู้นำที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงให้ประชาชนเลือก ก็ถูกคัดกรองมาจากทางการจีนอยู่ก่อนแล้ว หรือแม้กระทั่งภาพกลุ่มผู้ชุมนุมโดนรุมฟาดด้วยกระบอง ตัวโจชัวเองที่ถูกลากถูลู่ถูกังไปตามถนน ก็บ่งบอกได้ชัดเจนว่าจริงๆ แล้วจีนให้เสรีภาพในการชุมนุมต่อชาวฮ่องกงจริงหรือไม่ และแม้ในหนังจะนำเสนอชัยชนะของโจชัวในเรื่องการเปลี่ยนหลักสูตรที่ว่านี้ ว่าท้ายที่สุดทางการก็ยอมพับกระดานไป แต่ล่าสุดหลักสูตรล้างสมองนี้ได้ถูกนำมาใช้ตามโรงเรียนในฮ่องกงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่หนังไม่ได้บอก

เมื่อตัวสารคดีพยายามจะค้นหาสาเหตุว่าอะไรทำให้เด็กหนุ่มอย่างโจชัวหันมาสนใจประเด็นทางการเมือง โจชัวให้สัมภาษณ์ว่า “ในฐานะที่ผมเป็นคริสเตียน กิจกรรมหนึ่งที่ผมต้องทำตั้งแต่อายุ 13 คือการติดตามพ่อไปเยี่ยมเยียนคนจน ไปอธิษฐานและเชื่อว่าพวกเขาจะหายยากจน ผ่านไปอีกปีผมกลับไปเยี่ยมครอบครัวเดิม ผมรู้แล้วว่าการอธิษฐานไม่ได้ช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องเปลี่ยนวิธีการ”

อันที่จริงแม้แต่ชื่อ โจชัว ก็มาจาก โยชูวา ผู้นำคนสำคัญของอิสราเอล ผู้สืบทอดคำสั่งโดยตรงจากโมเสส ในพระคริสตธรรมคัมภีร์เดิมนั่นเอง

ในช่วงต้นของสารคดีอันเป็นฟุตเทจสมัยโจชัวอายุ 14 มีแวบหนึ่งก่อนที่เขาจะกินข้าวกับครอบครัว ภาพจงใจตัดไปบนชั้นซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับศาสนา ก่อนจะคัทไปรับตัวโจชัวนั่งเล่นคอมพ์บนโซฟาข้างๆ พ่อที่กำลังอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนา

คนขวาสุดคือ โรเจอร์ หว่อง ไหว่-หมิง พ่อของโจชัว หว่อง

สิ่งที่หนังไม่ได้บอกคือ จริงๆ แล้วพ่อของโจชัวคือ โรเจอร์ หว่อง ไหว่-หมิง ซึ่งคนฮ่องกงรู้จักกันในนามหัวขบวนการต่อต้านเกย์ชื่อดัง ดังจะเห็นได้จาก ข่าวนี้ ในปี 2017 นี้เอง เมื่อพ่อของเขาไปประท้วงการจัดเรตติ้งหนังดิสนีย์เรื่อง Beauty and the Beast อันเป็นเวอร์ชันแรกที่มีตัวละครเกย์อย่างเปิดเผย ซึ่งถูกจัดเรตให้ดูได้ทั่วไป โดยพ่อของโจชัวให้ความเห็นว่า “เนื้อหาของหนังปลูกฝังค่านิยมบางอย่างให้แก่เด็กๆ ที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่ควรจะเห็นด้วย อย่างเช่น การเป็นเกย์นั้นเป็นเรื่องปกติและไม่ใช่ปัญหา”

โดยรวมแล้ว สารคดีเรื่องนี้เหมือนสรุปและลำดับเหตุการณ์ขบวนการร่ม ของนักศึกษาฮ่องกงที่ต่อสู้กับรัฐบาลจีน แต่ข้อดีคือหนังใช้ทุกวิถีทางในการปลุกคนดูให้ฮึกเหิมเกี่ยวกับการต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อย ได้เห็นแง่มุมอย่างเด็กๆ ของโจชัวและเพื่อน ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดชนิดที่ผู้ใหญ่บางคนก็ยังคิดไปไม่ถึง แต่โดยส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่ขาดพร่องไปจากสารคดีเรื่องนี้คือ 1. เราไม่รู้ว่าเนื้อหาในหลักสูตรที่โจชัวพยายามต่อสู้แก้ไขนั้นมีความแตกต่างอย่างไรจากหลักสูตรเดิม 2. เราไม่เห็นความขัดแย้งใดๆ ในบ้านระหว่างคนรุ่นโจชัวกับรุ่นพ่อแม่ที่น่าจะต่างกันสุดขั้วอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อพ่อของโจชัวเป็นคริสเตียนอนุรักษนิยมสุดโต่ง

ในหนัง ซีวาย เหลียง ตัวแทนผู้นำทางการฮ่องกงที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน กล่าวหาพวกของโจชัวว่าเป็นกบฏ แถมยังเหยียดๆ อยู่หลายทีโดยเฉพาะคำพูดที่เหลียงว่า “ผมเคยบอกแล้วว่าการกบฏทุกรูปแบบนั้นไร้ประโยชน์” ขณะที่โจชัวกลับให้ความเห็นว่า “ผมขอถามกลับหน่อยว่า ผมจะสามารถระบุตัวตนด้วยตนเองได้ไหม ว่าอะไรคือคุณค่าความสำเร็จที่ผมต้องการ…แทนที่จะโฟกัสเรื่องเกรดเฉลี่ย ทำไมเราไม่หันมาสนใจบ้านเมืองที่เราอยู่…บ้านเมืองที่เรารัก…ผมเป็นแค่นักเรียนธรรมดา แต่วันเหล่านั้นจะไม่มีอีกแล้วเมื่อผมมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง”