ThaiPublica > ThaiPublica Channel > ตำนานคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

ตำนานคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

7 มิถุนายน 2018


จากปมความขัดแย้งเล็กๆ ภายใน “สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น” นำไปสู่การดำเนินคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหารสหกรณ์ฯ ในข้อหายักยอกเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ขยายผลไปถึงกรณีที่ศาลมีคำสั่ง ออกหมายจับ “พระธัมมชโย” ในคดีฟอกเงิน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ออกหมายเรียก นายอนันต์ อัศวโภคิน นักธุรกิจชื่อดัง มารับทราบข้อกล่าวหา จนกลายเป็นคดีที่ยืดเยื้อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มาของคดีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2556 เกิดการแย่งชิงอำนาจบริหารภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยมีสมาชิกสหกรณ์ฯ ทำหนังสือร้องเรียน สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า กล่าวหานายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกับพวก ยักยอกเงินสหกรณ์ฯ กว่า 10,000 ล้านบาท ทางสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าส่งผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบ จึงพบหลักฐานนายศุภชัยเบิกจ่ายเงินไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ เช่น การยืมเงินทดรองจ่าย 3,298 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อและสั่งจ่ายเช็คของสหกรณ์ 878 ฉบับ รวมเป็นเงิน 11,000 ล้านบาท ให้ลูกหนี้รวม 27 ราย ซึ่งบางรายเป็นลูกหนี้ปลอม โดยสภาพในขณะนั้น สหกรณ์คลองจั่นขาดสภาพคล่อง ทำให้สมาชิกและสหกรณ์อื่นๆ ไม่สามารถเบิกถอนเงินได้ รวมเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท จึงมีสมาชิกของสหกรณ์ฯ จำนวนหนึ่งรวมตัวกันไปร้องทุกข์กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ “DSI” ขอให้ดำเนินคดีนายศุภชัยในข้อหายักยอกทรัพย์

หลังจาก DSI รับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษที่ 146/2556 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์นายศุภชัย ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 DSI เรียกนายศุภชัย มารับทราบข้อกล่าวหา ยักยอกทรัพย์ รวมทั้งขยายผลดำเนินคดีกับผู้ที่รับเช็ค 878 ฉบับ

วันที่ 13 กันยายน 2556 นายศุภชัยฟ้องไทยพับลิก้าในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีนำเสนอข่าวสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ผู้ฝากเงินขาดความเชื่อมั่น แห่ถอนเงินสหกรณ์

แต่รายงานข่าวเชิงสืบสวนยังคงเดินหน้าต่อไป วันที่ 23 กันยายน 2556 ไทยพับลิก้านำเสนอข่าวนายศุภชัย นำเงินทดรองจ่ายของสหกรณ์ไปบริจาควัดพระธรรมกาย 814 ล้านบาท จนนำไปสู่การดำเนินคดีพระธัมมชโย ในข้อหาสมคบฟอกเงิน ร่วมรับของโจรในเวลาต่อมา

วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 สหกรณ์คลองจั่น ถอนฟ้องไทยพับลิก้าในคดีหมิ่นประมาท และนายศุภชัย ถอนฟ้องไทยพับลิก้า วันที่ 2 มิถุนายน 2557

วันที่ 30 กันยายน 2557 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ฟ้อง “ศุภชัยและวัดพระธรรมกาย” เพื่อเรียกทรัพย์สินคืน

วันที่ 16 มีนาคม 2558 ศิษย์วัดพระธรรมกายลงขันจ่ายเงินคืนสหกรณ์ 684.78 ล้านบาท แลกกับการถอนฟ้องคดีพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย

วันที่ 23 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าว เปิดธุรกรรม “ธรรมกายคอนเนกชัน” พบนายศุภชัยเบิกเงินสหกรณ์ 1,000 ล้านบาท ซื้อที่ดินใกล้วัดพระธรรมกาย และนำไปขายต่อให้นางสาวอลิสา ลูกสาวนายอนันต์ อัศวโภคิน ต่อมา พ.ต.อ. ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ส่งทีมตรวจสอบการซื้อขายที่ดินระหว่างนายศุภชัย กับนางสาวอลิสา อาจเข้าข่ายฟอกเงิน จึงส่งเรื่องให้ DSI รับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558

วันที่ 8 มีนาคม 2559 ศาลอาญา ตัดสินจำคุกนายศุภชัย 16 ปี โดยไม่รอลงอาญา

วันที่ 29 มีนาคม 2559 DSI เรียกพระธัมมชโยมารับทราบข้อกล่าวหาครั้งที่ 1 ในข้อกล่าวหาสมคบฟอกเงิน ร่วมรับของโจร ปรากฏว่าพระธัมมชโยขอเลื่อนนัด อ้างติดศาสนกิจ

DSI ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ครบกำหนดวันนัดหมาย 25 เมษายน 2559 พระธัมมชโย ขอเลื่อนนัดอีก อ้างเหตุอาพาธ

DSI ออกหมายเรียกครั้งที่ 3 ครบกำหนดวันนัดพบพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ปรากฏว่าพระธัมมชโยไม่มา อ้างติดศาสนกิจและอาพาธ แต่ DSI พบหลักฐานข้ออ้างป่วย ไม่เป็นความจริง พระธัมมชโยยังปฏิบัติศาสนกิจภายในวัดได้ จึงทำเรื่องขออนุมัติศาล ออกหมายจับวันที่ 17 พฤษภาคม 2559

หลังจากศาลอนุมัติหมายจับ วันที่ 15 มิถุนายน 2559 DSI เริ่มปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกายครั้งที่ 1 ศิษยานุศิษย์ระดมโล่มนุษย์ขัดขวางการจับกุมพระธัมมชโย จนต้องยุติปฏิบัติการ

ครั้งที่ 2 ศาลอนุมัติหมายค้นวัดพระธรรมกายวันที่ 13-16 ธันวาคม 2559 ศิษยานุศิษย์ และพระภิกษุจำนวนมาก ขัดขวางการจับกุมอีก DSI ยุติการตรวจค้น

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 กำหนดพื้นที่บริเวณวัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกายเป็นครั้งที่ 3 ผลการตรวจค้น ไม่พบตัวพระธัมมชโย

วันที่ 5 มีนาคม 2560 พระธัมมชโยถูกถอดถอนสมณศักดิ์พระเทพญาณมหามุนี

วันที่ 17 พฤษภาคม 2560 DSI ออกหมายเรียก “อนันต์ อัศวโภคิน” รับทราบข้อกล่าวหาคดีฟอกเงิน ภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2560

วันที่ 5 มิถุนายน 2560 นายอนันต์ เข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ปฏิเสธทุกข้อหา ขอเวลา 60 วันรวบรวมพยานหลักฐานชี้แจง DSI

นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ฯ คลองจั่นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากคดียักยอกเงิน นำไปสู่การออกหมายจับ “พระธัมมชโย” แจ้งข้อกล่าวหา “อนันต์ อัศวโภคิน” ในคดีฟอกเงิน ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบฐานะสหกรณ์ทั้งระบบ 8,263 แห่ง รวมทั้งยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลสหกรณ์เทียบเท่าสถาบันการเงิน และยกร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับใหม่