ThaiPublica > เกาะกระแส > สมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง จี้รัฐบาลทบทวนรูปแบบสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้รุกล้ำแม่น้ำ-มีผลกระทบหลายมิติ

สมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง จี้รัฐบาลทบทวนรูปแบบสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้รุกล้ำแม่น้ำ-มีผลกระทบหลายมิติ

5 มิถุนายน 2018


(จากซ้ายไปขวา): ดร.จาริต ติงศภัทิย์,ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร, นายเจตกำจร พรหมโยธี

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา สมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง จัดงานเสวนาเรื่อง “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา พัฒนาหรือทำลาย” โดย ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีพลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต่อมามอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการ ซึ่งเสนอโครงการในลักษณะเป็นสะพานยกสูงเหนือระดับน้ำท่วม วงเงินงบประมาณ 14,000 ล้านบาท และว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาและออกแบบ

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของที่ปรึกษาออกแบบเป็นการสร้างสะพานและถนนลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา มีความกว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 7 กิโลเมตร ในแต่ละฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานปิ่นเกล้า ไม่สอดคล้องกับหลักการและเจตนารมณ์ของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ คาดว่าจะมีผลกระทบในหลายมิติ ทั้งด้านภูมิสถาปัตย์ ประเพณีวัฒนธรรมริมน้ำ การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งทางน้ำ การระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมฯลฯ

นายเจตกำจร พรหมโยธี สถาปนิกผังเมือง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้สภาสถาปนิกได้ทำหนังสือถึงพลเอก ประวิตร ว่าไม่ได้คัดค้านการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้เกิดความสวยงาม แต่ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบโครงการโดยที่ยังไม่ได้ผ่านการศึกษาที่ควรจะทำ ทั้งเรื่องการจัดทำผังแม่บท การศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อม รายละเอียดการออกแบบ รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

หลังจากนั้น สภาสถาปนิก สภาวิศวกร และสมาคมวิชาชีพ ได้รับเชิญให้ไปดูแบบร่างโครงการที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำไว้ตามสัญญาว่าจ้าง แต่ก็ยังแสดงความคิดเห็นยืนยันกับรัฐบาลไปว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ โดยเฉพาะรูปแบบโครงสร้างโครงการซึ่ง  90% เป็นการก่อสร้างทางเดินลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตั้งคำถามว่า 1. มีความคุ้มค่าในด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมหรือไม่ ในการทุ่มเงินภาษี 14,000 ล้านบาท มาสร้างสะพานหรือทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

2. มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ในการทำโครงการที่คนทั้งสังคมโดยรวมมีฉันทามติร่วมกัน นอกจากนี้ แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นสมบัติสาธารณะ มีกฎหมายคุ้มครองชัดเจน แต่โครงการนี้เอาอำนาจจากไหนมาทำกับสมบัติสาธารณะ

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยามีระบบนิเวศขนาดใหญ่ เฉพาะในกรุงเทพฯ มีคลองทั้งฝั่งซ้ายและขวากว่า 200 คลอง เชื่อมโยงกับแม่น้ำเจ้าพระยา แต่กลับมีปัญหามากมาย และไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแลแบบเบ็ดเสร็จ จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีผู้รับผิดชอบเพื่อหาทางออกในการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ดร.จาริต ติงศภัทิย์ กรรมการสมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวยังเป็นคำถามใหญ่ว่าใครจะได้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ นอกจากผู้รับเหมาจะได้ประโยชน์จากการก่อสร้าง หรืออาจจะได้ประโยชน์จากการใช้เงินงบประมาณ แต่ประโยชน์ที่จะได้จากการใช้เงินดูเหมือนเป็นสิ่งที่ยังจับต้องไม่ได้

ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ สมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการหลายสาขาอาชีพ และภาคีสมาชิกองค์กรวิชาชีพ ยังออกแถลงการณ์คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับรูปแบบโครงการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุว่า สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 28/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลงวันที่ 26 มกราคม 2558 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ) เป็นประธาน และปลัดกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการและเลขานุการ

ต่อมาได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยดำเนินการ กรุงเทพมหานครได้เสนอโครงการในลักษณะเป็นสะพานยกสูงเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุดประมาณที่ระดับ 2.8 เมตรเหนือ รทก. (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) ความกว้าง 19.5 เมตร วงเงินงบประมาณเบื้องต้น 14,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าก่อสร้าง 13,136 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 120 ล้านบาท

และกระทรวงมหาดไทยได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เห็นชอบกรอบระยะเวลาที่เสนอพร้อมให้กระทรวงมหาดไทยทำการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายละเอียดการออกแบบและก่อสร้างเพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณ

จากนั้นกรุงเทพมหานครได้กำหนด TOR ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาและออกแบบ โดยมีรายละเอียดขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น, ออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด, ประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของที่ปรึกษาออกแบบเป็นการสร้างสะพาน/ถนนลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา มีความกว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 7 กิโลเมตร ยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ในแต่ละฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานปิ่นเกล้า ผลการออกแบบดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักการและเจตนารมณ์ของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ

หลักการที่ถูกควรมองเป็นการพัฒนามิติเชิงพื้นที่ โดยมีแม่น้ำคูคลองเป็นแกน มิใช่เป็นการพัฒนาเพียงมิติเชิงเส้นริมแม่น้ำ ยิ่งกว่านั้นยังมีผลกระทบในหลายๆ มิติทั้งด้านภูมิสถาปัตย์ ประเพณีวัฒนธรรมริมน้ำ การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งทางน้ำ การระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ

ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า สมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลองมิได้คัดค้านแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเป็นแนวคิดที่ดีหากมีการศึกษารอบด้านและออกแบบก่อสร้างที่ถูกต้อง หากแต่สมัชชาฯ คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับรูปแบบโครงสร้างที่รุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่ กทม. กำลังของบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้าง

จึงใคร่เชิญชวนท่านที่เห็นว่าสมควรมีการทบทวนโครงการเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนในการเสนอทางเลือกรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและยุติการเดินหน้าก่อสร้างสะพาน/ถนนเลียบแม่น้ำของ กทม.

พร้อมกันนี้ยังมีข้อเสนอแนะระบุว่า 1. โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาควรถูกกำหนดโดยกลุ่มบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ใช่กำหนดจากผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียว ระยะแรกรัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดแผนการพัฒนาที่มาจากภาคประชาชนริมน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งประชาชนในกรุงเทพฯ ผู้บริหาร กทม. นักวิชาการ หน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจ และตัวแทนรัฐบาล

คณะกรรมการมีหน้าที่จัดทำแนวทางพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำที่เป็นรูปธรรม โดยมีวัตถุประสงค์ปกป้องคลองและแม่น้ำ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์/ศาสนา/วัฒนธรรม จากรูปแบบการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม และบริหารกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และพัฒนาความยั่งยืนของระบบนิเวศชุมชน

2. ปรับรูปแบบการพัฒนาริมน้ำให้เป็นแบบผสมผสาน หลีกเลี่ยงการก่อสร้างที่รุกล้ำไปในแม่น้ำ อาจมีทางบางช่วงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่ทำทางเลียบยาวตลอดทั้งสองฝั่ง ควรมีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ที่วัด สถานที่ราชการริมน้ำโดยการปรับระดับพื้นที่ดินเดิม ยกระดับ Landscape ด้วยรูปแบบที่สวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นท่าน้ำสำหรับประเพณีลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น

3. วางแผนพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการคำนึงถึงปัจจัยทางวัฒนธรรมเป็นลำดับ โดยเน้นการพัฒนาเป็น Sustainable Tourism Destination หรือ Green Tourism Destination เพราะมีทั้งธรรมชาติ ชุมชน และวัฒนธรรม และควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

4. สำหรับการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดลำน้ำระยะยาว จำต้องมีการตัดตั้งองค์กรรับผิดชอบในการจัดทำแผนแม่บทโดยพิจารณาทุกมิติทั้งด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชุมชน และด้านกายภาพ ภูมิสถาปัตย์ ตลอดจนประโยชน์ของการใช้แหล่งน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 มิถุนายน 2561) เวลา 10.00 น. สมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลองจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ทบทวนรูปแบบการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร