ThaiPublica > เกาะกระแส > AMRO ชี้ ASEAN+3 เศรษฐกิจแข็งแกร่ง แนะรับมือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและจับตา 2 ความเสี่ยงที่สำคัญในระดับโลก

AMRO ชี้ ASEAN+3 เศรษฐกิจแข็งแกร่ง แนะรับมือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและจับตา 2 ความเสี่ยงที่สำคัญในระดับโลก

12 มิถุนายน 2018


ดร.โฮ อี้ คอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน +3

ดร.โฮ อี้ คอร์ (Hoe Ee Khor) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO)  เปิดเผยการคาดการณ์ทางเศรษกิจกลุ่มประเทศอาเซียน+3 ปี 2561 ว่า จะขยายตัวในอัตรา 5.4% จากปัจจัยหนุนหลักสองด้าน คือ อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง และการส่งออกที่ขยายตัวตามแรงกระตุ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เอื้ออำนวยขณะที่เงินในภูมิภาคทรงตัว

“เศรษฐกิจของอาเซียน+3 ขยายตัวแกร่งสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก จาก 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ  หนึ่ง การที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียงกันมีผลต่อการส่งออก และ สอง นโยบายการเงินที่กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อความต้องการในประเทศ” ดร.คอร์ กล่าว

ปี 2560 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจ ASEAN+3 เติบโตในอัตรา 5.6% ส่วนในปี 2561 เศรษฐกิจ ASEAN+3 คาดว่าจะขยายตัว 5.2% แม้จะต่ำลงเล็กน้อยแต่ก็ยังถือว่าเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่งมาก ทั้งเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะจีนที่ได้ดำเนินนโยบายเพื่อให้เศรษฐกิจสมดุลมากขึ้น โดยคาดว่าจีนจะเติบโต 6.6% ในปี 2561 และ 6.4% ในปี 2562 ส่วนญี่ปุ่นนั้นเติบโต 1.3% ในปีนี้และ 0.7% ในปีหน้า เพราะไม่มีมาตรการกระตุ้น แต่ก็ยังเติบโตได้ดีกว่าศักยภาพ

ดร.โฮ อี้ คอร์ เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนจาก AMRO ที่เดินทางมาประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2561 กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยระหว่างวันที่ 4-12 มิถุนายนนี้

รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 (ASEAN+3 Regional Economic Outlook: AREO) จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินของประเทศในภูมิภาค ประกอบด้วย สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

“ด้วยอานิสงส์จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ฟื้นตัว คาดว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคจะขยายตัวได้  5.4% ในปี 2561 และ 5.2% ในปี 2562 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงจากภาวะการเงินที่เริ่มตึงตัวขึ้นและมาตรการกีดกันด้านการค้า ผู้ดำเนินนโยบายควรใช้ความรอบคอบระมัดระวังในการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านการดูแลเสถียรภาพการเงินมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ”” ดร.คอร์ กล่าว

แม้อุปสงค์ในประเทศจะแข็งแกร่งและอุปสงค์ต่างประเทศจะปรับดีขึ้น ภูมิภาคจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลักในระยะสั้น 2 ประการ ได้แก่ ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวเร็วกว่าคาดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และความตึงเครียดของสถานการณ์การค้าโลกที่มีมากขึ้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงดังกล่าวหากเกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคผ่านการไหลออกของเงินทุน ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น รวมถึงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ลดลง

“ประเด็นความเสี่ยงหลักของภูมิภาคนี้คือ หนึ่ง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งมาจากการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของสหรัฐฯ จากส่วนอื่นของโลก และ สอง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วกว่าคาด ซึ่งก็มาจากการปรับนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปกติของสหรัฐฯ เช่นกัน”

ดร.คอร์กล่าวว่า อุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นได้ช่วยให้ภูมิภาคสามารถสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงจากภายนอกได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ระบบอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคยืดหยุ่นมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและมีบทบาทช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงจากภายนอกมากขึ้นเช่นกัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบเศรษฐกิจการเงิน ผู้ดำเนินนโยบายควรเดินหน้าขยายพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย (policy space) โดยเฉพาะนโยบายการเงินเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะการเงินโลกที่จะตึงตัวขึ้นในอนาคต นโยบายการคลังควรมีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่มาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (macroprudential policies) จะช่วยปกป้องเสถียรภาพการเงินได้

ไทยฐานะแกร่งคงดอกเบี้ยต่ำได้นานกว่าประเทศอื่น

ดร.คอร์กล่าวถึงผลกระทบจากนโยบายด้านการค้าต่อภูมิภาคว่า เมื่อดูการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยรวมแล้วพบว่า สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับอาเซียน+3 มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยที่จีนมีสัดส่วนสูงสุด ดังนั้น ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็จะกระทบถึงประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน+3 อย่างมาก รวมทั้งประเทศไทย

“ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อย่างมาก เพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ global supply chain แม้สถาบันวิจัยบางแห่งมองว่าไทยอาจจะได้รับผลดีเพราะจีนจะขยายการค้ามายังไทยมากขึ้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญก็คือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสองประเทศนั้นเท่านั้น แต่มีผลกระทบกับทุกประเทศ”

แต่ละประเทศจะได้รับผลจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการจัดการกับผลกระทบอย่างไร หากมีการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าแล้วสหรัฐฯ ยิ่งกีดกันมากขึ้นจนลุกลามกลายเป็นสงครามการค้าแล้วผลกระทบก็จะมีมาก แต่ก็คาดว่าผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าจะจำกัดและจัดการได้ เพราะเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีความแข็งแกร่งพอที่จะรองรับกระทบนั้นได้ ซึ่งหากมีการใช้มาตรการตอบโต้กันในช่วงที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอผลกระทบก็จะมีมาก

ทางด้านผลจากการปรับอัตราดอกเบี้ยที่เร็วกว่าคาดนั้น ดร.คอร์กล่าวว่า จะกระทบประเทศไทยไม่มาก เพราะสถานะด้านต่างประเทศแข็งแกร่ง แม้หากว่าอาจจะมีผลให้ไทยต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่ก็ขึ้นไม่มาก และกรณีที่มีผลถึงขั้นที่ทำให้เงินไหลออกนั้นก็ไม่มีผลต่อไทยมากนัก เนื่องจากมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศในอาเซียน+3 จะได้รับผลกระทบจากการที่อัตราดอกเบี้ยโลกปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาด เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวในบางประเทศได้ปรับตัวขึ้นไปแล้ว โดยเฉพาะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยแทบไม่ขยับเลย เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจและสถานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง รวมทั้งเงินเฟ้อต่ำ

ดร.คอร์กล่าวว่า ในด้านการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับความเสี่ยงนั้น พบว่าหลายประเทศสามารถบริหารได้ดีสอดคล้องกับอัตราการเติบโต โดยสำหรับประเทศไทยนั้นเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ขณะที่เงินเฟ้อทรงตัวในระดับต่ำ

“ภูมิภาคนี้ยังไม่เจอภาวะ overheating ของเศรษฐกิจ ขณะที่การขยายตัวของจีดีพียังสอดคล้องกับศักยภาพ ความจำเป็นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวมีน้อย ธนาคารกลางอยู่ในสถานะที่สามารถจะเริ่มปรับทิศนโยบายการเงินได้ และพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินหากมีความจำเป็น แต่ยกเว้นกรณีของไทยที่แตกต่างจากประเทศอื่น เพราะเงินเฟ้อต่ำ เงินทุนสำรองแข็งแกร่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำได้อีกระยะหนึ่งและนานกว่าบางประเทศในภูมิภาค”

โดยปกติแล้วลักษณะหนึ่งของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging market) คือ จะเปราะบางต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ทุกครั้งที่สหรัฐฯ มีการปรับอัตราดอกเบี้ย ก็จะเกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ซึ่งประเทศไทยก่อนหน้านี้ก็เปราะบางต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเช่นกัน

แต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ประเทศไทยได้ปรับตัวให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง รวมทั้งการรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ (shock) แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่กระทบไทย เพียงแต่กันชน (buffer) ของไทยมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นแข็งแกร่งขึ้น จึงสามารถรับมือและจัดการกับ shock ได้ดีขึ้น สำหรับประเทศอื่นที่มีเงินทุนสำรองในระดับต่ำ ก็มีความเปราะบางต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย

แนะใช้เครื่องยนต์หลากหลายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ในปีนี้ AMRO ได้รวมรวมประเด็นศึกษาพิเศษ เรื่อง “ความยืดหยุ่นและการเติบโตของเศรษฐกิจในโลกทีเปลี่ยนไป” (Resilience and Growth in a Changing World) ไว้ในรายงานเศรษฐกิจด้วย เพื่อมุ่งเน้นตอบโจทย์ว่าภูมิภาคจะสามารถรักษาความยืดหยุ่นและการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญในระดับโลก ทั้งจากเทคโนโลยีและเครือข่ายการค้าและการผลิต ปัจจัยเหล่านี้กำลังกดดันและตั้งคำถามต่อความเหมาะสมของยุทธศาสตร์ การผลิตเพื่อส่งออก (manufacturing for export) ที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ใช้ขับเคลื่อนพัฒนาการทางเศรษฐกิจในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเทคโนโลยีคือดาบสองคม ในทางหนึ่งภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาเครื่องจักรและทักษะมากขึ้น มีแนวโน้มจ้างงานลดลงจากในอดีต นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของห่วงโซ่มูลค่าโลกได้ส่งผลให้ประเทศต่างๆ สามารถผลิตปัจจัยการผลิตขั้นกลางได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็ได้ยกระดับภาคบริการให้กลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงานในระยะต่อไป เห็นได้จากฟิลิปปินส์ที่หันมาเน้นอุตสาหกรรมเอาต์ซอร์สทางธุรกิจ (business outsource industry) ในด้าน call center เนื่องจากเทคโนโลยี่ทำให้ต้นทุนการสื่อสารลดต่ำลง ส่งผลให้บริการได้ทั่วโลก โดยมีแรงงานด้านนี้กว่า 1 ล้านคน และมีอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น 3-5 เท่าโดยเฉลี่ย

“โมเดลเศรษฐกิจการผลิตเพื่อการส่งออกที่ใช้กันมา 20 ปีแล้วเริ่มไม่มีประสิทธิภาพที่จะผลักดันการเติบโตได้อีกต่อไปจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน ข้อแรก การกีดกันทางการค้า การปกป้องอุตสาหกรรม และ สอง การพัฒนาเทคโนโลยี ดังจะเห็นการลดแรงงานในหลายภาคการผลิตแต่นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์”

นอกจากนี้กลยุทธ์การผลิตเพื่อการส่งออกยังใช้ได้กับบางธุรกิจ เช่น เสื้อผ้าส่งออก รองเท้า แต่หากจะให้ภาคการผลิตอยู่ใน value chain ต่อไปก็จะยิ่งยากขึ้น ภาคการผลิตยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของจีดีพี แต่ไม่ได้เป็น sector ที่สร้างงานอีกต่อไป ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศยั่งยืน ด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ให้ภาคธุรกิจอื่นมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะจากภาคบริการ ที่ยังแยกออกได้หลายสาขาและมีแนวโน้มที่ดี เช่น การท่องเที่ยว เห็นได้ชัดจากกรณีของไทยที่ภาคการท่องเที่ยวและบริการเจริญเติบโตได้ดีมาก

การที่ภาคท่องเที่ยวและบริการของหลายประเทศขยายตัวได้ดีมาจากปัจจัยหลัก คือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มรายได้ปานกลางที่มีความต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมาก เช่น จีน ที่เดินทางออกนอกประเทศจำนวนมากถึง 100 กว่าล้านคนในหลายปีที่ผ่านมา และมีจำนวนมากที่เดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาค ประเทศที่มีโอกาสดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาก ได้แก่ ประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เช่น ไทย

“ในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ นี้ ในระดับภูมิภาค ควรเร่งสานความเชื่อมโยงและยกระดับการรวมกลุ่มของเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ในภูมิภาคต่อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่กำลังขยายตัว นอกจากนี้ ควรเพิ่มความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจโดยรวมเพื่อให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงจากภายนอก เช่น การกีดกันทางการค้า ในระดับประเทศ ควรสร้างความยืดหยุ่นให้แก่เศรษฐกิจโดยใช้เครื่องยนต์ที่หลากหลายในการขับเคลื่อน ซี่งรวมถึงภาคบริการที่กำลังขยายตัวดีความพร้อมด้านทรัพยากรและระดับการพัฒนาที่หลากหลายภายในกลุ่มประเทศอาเซียน+3 คือปัจจัยสนับสนุนความเข้มแข็งของกลุ่ม” ดร.คอร์กล่าว

รวมทั้งประเทศในภูมิภาคควรเพิ่มความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ยกระดับความเข้มแข็งของภาคบริการ และพัฒนาศักยภาพแรงงาน ด้วยการเพิ่มทักษะ รวมถึงการเปิดเสรีภาคบริการ การใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายแรงงานผ่านการดำเนินนโยบายด้านแรงงานและการย้ายถิ่นฐานประชากรที่เหมาะสม ตลอดจนพัฒนาการศึกษา