ThaiPublica > สู่อาเซียน > AEC Business Forum 2018 (1) : สถานการณ์ – ความเปลี่ยนแปลง – โอกาสของอาเซียนในช่วง “Rising City, Rising Business”

AEC Business Forum 2018 (1) : สถานการณ์ – ความเปลี่ยนแปลง – โอกาสของอาเซียนในช่วง “Rising City, Rising Business”

20 มิถุนายน 2018


นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ธนาคารกรุงเทพจัดสัมมนาประจำปี AEC Business Forum 2018 หัวข้อ Rising City, Rising Business เป็นปีที่ 3 ในวันที่ 19 มิถุนายน 2561 เพื่อฉายภาพอาเซียนยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และเป็นเวทีการแสดงมุมมองของธนาคารกรุงเทพในฐานะธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน ต่อโอกาสทางการธุรกิจให้กับนักธุรกิจไทย สนับสนุนศักยภาพและผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่ตลาดการค้าอาเซียนและประสบความสำเร็จ

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้ งานสัมมนาจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Rising City, Rising Business” เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของเมืองเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละประเทศ โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการขยายตัวของเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และรูปแบบการค้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นภูมิภาคแห่งโอกาสทางธุรกิจและการค้าการลงทุน ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กำลังก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ อันมีวิวัฒนาการด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียนขยายตัวถึง 4.8% ในปี 2560 รวมถึงรายได้ต่อหัวและรายได้ขั้นต่ำของแรงงานในแต่ละประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ธนาคารจึงตั้งใจนำเสนอประเด็นนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบการไทยสามารถเตรียมพร้อมและปรับตัวรับกับโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น”

อาเซียนเติบโตสู่ยุคดิจิทัล

นายชาติศิริ กล่าวว่า แนวคิดของงานในปีนี้สะท้อนกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปของภูมิภาคอาเซียนที่มีนัยะต่อการวางนโยบายจากภาครัฐและองค์กรนานาชาติ รวมไปถึงโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจจากทั่วโลก

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และอีกหลายประเทศเศรษฐกิจชั้นนำขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ อาเซียนเป็นภูมิภาคหนึ่งของโลกที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วและมีพลวัตต่อเนื่อง นอกจากนี้ การรวมตัวทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากนับจากที่มีผลอย่างเป็นทางการในปี 2015 ได้สร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้กับภูมิภาค ซึ่งมีผลดึงความสนใจจากชาวโลกมากขึ้น

ปัจจุบันเศรษฐกิจอาเซียนมีขนาดใหญ่ถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ และคาดว่าขยายตัวขึ้นไปถึง 4.6 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ประชากรของอาเซียนรวมกันมีจำนวน 630 ล้านคน ส่งผลให้กลายเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ที่ยังมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกตามลำดับ

จุดเด่นของอาเซียนคือมีโครงสร้างรวมกลุ่ม 2 ชั้น โดยชั้นนอกประกอบด้วยประเทศสมาชิกดั้งเดิมที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ส่วนชั้นในประกอบด้วยกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ซึ่งเศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างมากในอัตรา 6.5-8.5% และยังเป็นกลุ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานในวัยหนุ่มสาว จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจสามารถก่อตั้งเครือข่ายการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ทั่วทั้งภูมิภาค และจะทำให้ใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่มีหลากหลาย ส่งผลให้เกิดกระบวนการสร้าง ธุรกิจข้ามชาติอาเซียน (ASEAN multinationals) แบรนด์อาเซียน (ASEAN brands) และสินค้าที่ผลิตในเออีซี (made in AEC)

นอกจากนี้ อาเซียนยังดึงนักลงทุนจากทั่วโลกซึ่งรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกจากการจัดอันดับของนิตยสาร Fortune ในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ที่เข้ามาตั้งโรงงาน ดำเนินธุรกิจ รวมทั้งตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกันการลงทุนระหว่างกัน (intra investment) เพิ่มสูงขึ้นถึง 24 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 จากช่วงแรกที่มีการลงทุนในภาคการผลิต

ทั่วอาเซียนยังมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมากถึง 1,600 เขต เพื่อรองรับการลงทุน ซึ่งรวมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่มีเป้าหมายเป็นประตูสู่ภูมิภาคและดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

การขยายตัวของห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาค (supply chain) ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของความเป็นเมือง (urbanization) โดยนอกเหนือจากเมืองหลักๆ เช่น มะนิลา จาการ์ตา กรุงเทพฯ โฮจิมินห์ซิตี้ และกัวลาลัมเปอร์แล้ว องค์การสหประชาชาติคาดว่าภายในปี 2025 จะมีเมืองเกิดขึ้นราว 66 เมืองทั่วภูมิภาค และสัดส่วนของประชากรที่อาศัยในเมืองในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 53% จาก 48% ของประชากรโดยรวม ซึ่งกลุ่ม CLMV จะมีอัตราเติบโตสูงสุด นอกจากนี้กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในอีก 15 ปี จาก 80 ล้านคน

การขยายตัวของความเป็นเมืองนำไปสู่ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่มากขึ้น รวมทั้งการใช้ไฟฟ้า ที่พักอาศัย ที่อาจจะสูงกว่าโครงสร้างสาธารณูโภคพื้นฐานที่มีอยู่จะรองรับได้ ดังนั้น จะเปิดช่องให้ประชากรที่ทางเลือกของตัวเอง ขณะเดียวกันกำลังซื้อที่สูงขึ้นจะส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป และยิ่งทำให้อุตสาหกรรมขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค การดูแลสุขภาพ บันเทิง การศึกษา การบริการอื่น เช่น โลจิสติกส์ ขณะที่ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-commerce) จะทำผู้บริโภคมีความสะดวกมากขึ้น รายได้ที่สูงขึ้นยังแสดงให้เห็นถึงความต้องการด้านการออมการลงทน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ทุกภูมิภาคของโลกยังเคลื่อนตัวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4.0 ที่ เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต บิ๊กดาต้า ออโตเมชัน เทคโนโลยี AI มีบทบาทมากขึ้น และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน ตลอดจนปฏิรูประบบการผลิตของโลกและอาเซียนก็หนีไม่พ้นเช่นกัน

ทางด้านจำนวนผู้บริโภคของอาเซียนปรับตัวรับเทคโนโลยีดิจิทัลได้มากขึ้นเป็นทวีคูณ แม้ประชากรจะมีจำนวน 630 ล้านคนแต่กลับมีลูกค้าดิจิทัลถึง 700 ล้านคน อีกทั้งคาดว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียนมีศักยภาพที่จะขยายตัวสูงถึง 625 พันล้านดอลลาร์ในปี 2030 ดังจะเห็นได้จากการยอมรับของนักลงทุนต่างชาติ เช่น อาลีบาบาที่มีแผนจะตั้งศูนย์กระจายสินค้าในมาเลเซียและจะลงทุน 320 ล้านดอลลาร์ตั้งดิจิทัลฮับ (smart digital trading hub) ในไทย

เทคโนโลยีที่พลิกโฉม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตในภูมิภาคอื่น อาเซียนจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงเทคโนโลยี และที่สำคัญคือเสริมทักษะให้กับแรงงาน

“อาเซียนขณะนี้มาถึงทางแยกซึ่งเป็นจุดที่สำคัญ เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกระแสความเป็นเมืองและกระแสดิจิทัล ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของอาเซียนเพื่อผ่านพ้นความท้าทายและขับเคลื่อนภูมิภาคให้ก้าวหน้าไปสู่ความรุ่งเรือง”

ศักยภาพแกร่งรับโอกาสเศรษฐกิจดิจิทัล

จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนำไปสู่คำถามที่ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนควรร่วมมือกันอย่างไรที่จะบรรลุเป้าหมายปี 2025 ตาม AEC Blueprint ที่วางไว้ว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม เป็นภูมิภาคที่มีพลวัต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนและการเติบโตแบบทั่วถึง

ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนและอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของประเทศบรูไนดารุสซาลาม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Digital Economy to Drive ASEAN Integration – เศรษฐกิจดิจิทัลสู่ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน

นับตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียนมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างมากส่งผลให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้น โดยในปี 2017 เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ถึง 2.77 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ เติบโต 5.3% จากปีก่อนหน้า ซึ่งหากสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้ต่อเนื่อง อาเซียนก็จะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 4 ของโลกภายในกลางศตวรรษนี้

อาเซียนจะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจยุคดิจิทัล เพราะมีปัจจัยหนุนคือประชากรในวัยหนุ่มสาวที่มีการเชื่อมโยงผ่านทางเทคโนโลยี และเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีมาก รวมทั้งมีชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และมีนโยบายที่สนับสนุน แต่ก็ควรเตรียมความพร้อมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัล

ข้อมูลหลายด้านแสดงให้เห็นว่าอาเซียนมีศักยภาพที่จะรับมือกับโอกาสที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจดิจิทัลได้ โดยเห็นจากตัวเลขการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สูงเกินกว่า 100% ขณะที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายเดือนสูงกว่า 300 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งหมด 635 ล้านคน โดยที่ตลาดอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ของภูมิภาคนี้ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มจาก 50 พันล้านดอลลาร์ปี 2017 เป็น 200 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025

อาเซียนได้เตรียมการไปบ้างแล้วเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T) ทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) ผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs) การศึกษา และสารสนเทศ (ICT)

สิงคโปร์ในฐานะที่ทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงด้านดิจิทัลของอาเซียนมากขึ้น เพื่อให้อยู่สถานะที่แข็งแกร่งพร้อมกันกับโอกาสที่เพิ่มขึ้นทั้งทางด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล คาดว่าในปีนี้จะมีการประกาศข้อตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์อาเซียน (ASEAN Agreement on E-Commerce) ที่อยู่ระหว่างการหารือของสมาชิก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและเกื้อหนุนการทำธุรกรรมข้ามประเทศด้วยความเชื่อมั่น

ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน

การผลักดันนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตามที่ได้ประกาศปฏิญญาอาเซียนด้านนวัตกรรม (ASEAN Declaration on Innovation) ในเดือนพฤศจิกายนปีก่อน มีเป้าหมายเพื่อยกระดับนวัตกรรมในอาเซียนให้ก้าวหน้าไปอีก รวมทั้งส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิทยาศาตร์ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความร่วมมือด้านไมโครเอสเอ็มอี

ส่วนประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์ เพื่อตอกย้ำความพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อาเซียนได้ต่อยอดจากความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาและรวมบริการด้าน IP ในภูมิภาคและปรับปรุงแนวปฏิบัติในการขอรับการคุ้มครอง

นอกจากนี้ ยังได้ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ใช้ ICT ในด้านการศึกษา โดยกำลังผลักดันให้มีการจัดตั้ง ASEAN Cyber University เพื่อส่งเสริมการศึกษาข้ามชาติ รวมไปถึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนเพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลและการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเต็มที่ โดยกำลังศึกษาการก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวะ (Technical and Vocational Education and Training : TVET) 4.0 ผ่านเครือข่าย พันธมิตรและการแชร์บุคลากรและทรัพยากรระหว่างกัน

อาเซียนยังมีสิ่งที่ต้องทำเพื่อไม่ให้ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นมาบั่นทอนโอกาส เพราะตระหนักถึงภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่กระจายไปทั่ว โดยได้ประกาศปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการป้องกันและต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 31 รวมทั้งยังได้ลงนามในแถลงการณ์ว่าด้วยความมั่นคงทางไซเบอร์ (ASEAN Leaders’ Statement on Cybersecurity Cooperation) ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 32 และยังได้เตรียมที่จะก่อตั้ง ASEAN Cyber Centre and Hub เพื่อตอกย้ำความร่วมมือในการจัดการกับภัยไซเบอร์ในอนาคต

อาเซียนยังมีช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลด้วย ดังนั้น อาเซียนจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อตามให้ทันกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง การดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด่วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025 : MPAC2025) จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ความริเริ่มรวมทั้งแผนข้อตกลงในด้านต่างๆ ของอาเซียนยังไม่เพียงพอที่จะทำให้รับมือกับความท้าทายได้ แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนเองก็ต้องมีการวางนโยบายเข้ามาเสริม อีกทั้งความพร้อมและความสามารถของประเทศสมาชิกในการปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ก็แตกต่างกัน

ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย ได้กล่าวชื่นชมที่หลายประเทศสมาชิกได้เริ่มดำเนินการในสิ่งที่จำเป็นไปแล้ว เพื่อรับมือกับการปฏิบัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 เช่น อินโดนีเซียที่เปิดตัวโครงการ Making Indonesia 4.0 ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์การก้าวสู่ยุคดิจิทัล ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทองและเสื้อผ้า ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนในมาเลเซียได้ประกาศ กรอบนโยบาย National Industry 4.0 ไปแล้วในต้นปี เพื่อเสริมการดำเนินการที่มีอยู่ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษดิจิทัล Digital Free Trade Zone (DFTZ) และ Centres of Excellence in Technology

ทางด้านไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ให้ความสำคัญและมุ่งเตรียมความพร้อมรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 โดยในปี 2016 ประกาศโครงการ ไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมที่มีศักยภาพหรือ First S-Curve ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร และยังมีกลุ่มอุตสาหกรมอนาคต New S-Curve คือ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร

ในอุตสาหกรรมการเงินเอง Fintech ก็มีศักยภาพที่จะต่อยอดจากการรวมกลุ่มทางการเงินของอาเซียนได้ เพราะเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีการดำเนินนโยบายเชิงรุก ด้วยการประกาศให้มี regulatory sandbox ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย เพื่อให้ Fintech มีความสามารถสอดคล้องกับระบบการเงินเดิม รวมทั้งเพื่อติดตามและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และเป้าหมายสุดท้ายเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่จะส่งผลให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มากขึ้นในตลาดการเงินที่มีการกำกับดูแล

สำหรับการดำเนินงานด้านอื่นได้ร่างแนวทางสำหรับบริการทางการเงินดิจิทัลสำหรับอาเซียน รวมทั้งได้ทำงานร่วมกันเพื่อนำมาตรฐาน ISO 20022 มาใช้สำหรับระบบการชำระเงิน (payment and settlement) และขณะนี้ไทยกับสิงคโปร์กำลังทดลองโครงการนำร่อง การชำระเงินรายย่อยแบบเรียลไทม์ข้ามประเทศของทั้งสองฝ่าย ผ่านระบบ PayNow ของสิงคโปร์และ PromptPay ของไทย หากได้ผลก็จะมีการขยายไปสู่ประเทศสมาชิกรายอื่นต่อไป

จากการประเมินของสำนักเลขาธิการอาเซียน พบว่าประเทศสมาชิกมีระดับความพร้อมที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคที่ 4 เพราะมีช่องว่างในหลายมิติทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ความพร้อมรับมืออาชญากรรมไซเบอร์และความพร้อมด้านบุคลากร ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินการร่วมกัน

ข้อแรกมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจัดกับความแตกต่างด้านดิจิทัลในกลุ่มประเทศสมาชิก ด้วยการลงทุนในด้านเครือข่ายเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT เริ่มจากการการจัดหาและเปิดให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

ข้อสอง สร้างการรับรู้และตระหนักในเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งช่วยในการปรับใช้โดยธุรกิจ บุคคลทั่วไปหรือในระดับนโยบาย และควรให้ความสำคัญไปที่ MSMEs และเจ้าของกิจการรายย่อย สนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยี เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขัน

ข้อสาม กำหนดกรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เศรษฐกิจดิจิทัลเดินหน้า ซึ่งอาจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลเพื่อให้มีกรอบนโยบายแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนต้องมีมาตรฐานสากล

เทคโนโลยีที่ไร้พรมแดนและหลากหลายนี้จะช่วยตอกย้ำความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนของภูมิภาค ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและการวางแผน การจำแนกศักยภาพในประเด็นที่ร่วมมือกันได้ ซึ่งอาเซียนสามารถใช้กลไกที่มีอยู่ให้เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือ เพื่อที่จะผลักดันให้การประสานงานเกิดขึ้นได้

“การมาถึงของเศรษฐกิจดิจิทัลคือ การประกาศยุคใหม่ของอาเซียน ที่ทำให้ต้องมีแนวคิดใหม่ เพื่อการรวมตัวของกลุ่มมีความยั่งยืน อย่างไรก็ตามการเปิเดรับเทคโนโลยีนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก เทคโนโลยีและโอกาสของยุคดิจิทัลไม่ควรนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเพราะการที่สามารถสร้างสิ่งใหม่และสร้างนวัตกรรม และจะดีกว่าหากใช้เพื่อการแก้ไขกับปัญหาหรือความท้าทายที่ภูมิภาคประสบอยู่ ตั้งแต่ ความยากจน สุขภาพ การศึกษาและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ”