ThaiPublica > เกาะกระแส > เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ชี้ไม่แบน “พาราควอต” บทบาทซ้อนทับ-ผลประโยชน์ทับซ้อนและความไม่โปร่งใส?

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ชี้ไม่แบน “พาราควอต” บทบาทซ้อนทับ-ผลประโยชน์ทับซ้อนและความไม่โปร่งใส?

24 พฤษภาคม 2018


เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง จัดเวทีเสวนา เรื่อง “การมีส่วนได้เสียและผลประโยชน์ขัดแย้งในการพิจารณา(ไม่) แบนสารพิษอันตราย”

หลังจากยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปี ว่าประเทศไทยจะยอมยกเลิกและจำกัดการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หรือไม่

ล่าสุดปรากฎว่า วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติ “ไม่ยกเลิก” การใช้สารเคมี 3 ชนิดดังกล่าว แต่ให้จำกัดการใช้แทน โดยให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปออกมาตรการควบคุมภายใน 2 เดือน ทั้งการนำเข้า การซื้อ การใช้ของเกษตรกร รวมทั้งอบรมให้ความรู้กับเกษตรกร

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ไม่พิจารณายกเลิกว่าเป็นเพราะ “ข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ”

ผลการพิจารณาครั้งนี้ ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆอย่างกว้างขวาง และเป็นผลตรงกันข้ามกับเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ที่ได้พยายามรณรงค์ผ่านข้อมูลและผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าว โดยเฉพาะสารพาราควอต

ล่าสุด เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 369 องค์กร ออกแถลงการณ์ระบุว่า ขอแสดงความเสียใจต่อประชาชนไทยที่การลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ปฏิเสธการแบนสารพิษร้ายแรงทั้งพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานจาก 4 กระทรวงหลัก รวมทั้งประชาคมวิชาการจากหลายสถาบัน เป็นการตัดสินใจทางนโยบายที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ค้าสารพิษ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยรวม สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศว่าจะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ผลของการตัดสินใจนี้ เป็นไปตามข้อเสนอของอนุกรรมการเฉพาะกิจฯซึ่งถูกตั้งขึ้นโดยมีตัวแทนที่มาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก มีการใช้เอกสารที่เป็นข้อมูลล้าสมัยขัดแย้งกับข้อมูลเชิงประจักษ์และงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับความเป็นพิษและผลกระทบจากสารพิษเหล่านี้ รวมทั้งมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากสมาคมอารักขาพืชไทย ซึ่งเป็นสมาคมการค้าของบริษัทสารพิษ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ร่วมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งอาจผิดกฎหมายวัตถุอันตราย มาตรา 12 ซึ่งระบุว่า “กรรมการผู้มีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวเรื่องใด กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในเรื่องนั้น”

แถลงการณ์ยังชี้ว่า ผลการลงมติเช่นนี้ สะท้อนโครงสร้างล้าหลังของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ไม่อาจปกป้องผลประโยชน์และสุขภาพของประชาชน แต่กลับเป็นเครื่องมือของกลุ่มบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ

นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ได้เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล สั่งการให้มีการทบทวนการลงมติที่เป็นไปอย่างไม่โปร่งใส บทบาทซ้อนทับ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนนี้ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยเร็ว

พร้อมกันนี้ เครือข่ายฯขอเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศร่วมกันเลิกซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อแสดงเจตนารมณ์และผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนทั่วประเทศร่วมกัน ตามวันเวลาที่จะประกาศต่อไป

ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้ารายงานว่า ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน คือวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง จัดเวทีเสวนาเรื่อง “การมีส่วนได้เสียและผลประโยชน์ขัดแย้งในการพิจารณา(ไม่) แบนสารพิษอันตราย” โดยมีวิทยากรอภิปรายตั้งข้อสังเกตให้เห็นถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในกรณีดังกล่าว

ไม่แบนสารเคมีอันตราย : บทบาทซ้อนทับ-ผลประโยชน์ทับซ้อน-ความไม่โปร่งใส?

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลินิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวว่า กระบวนการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีความไม่ชอบมาพากลและความไม่ถูกต้องในหลายเรื่อง ได้แก่

1. เรื่องบทบาทซ้อนทับในการต่ออายุหรือแบนสารเคมี ที่หลายประเทศทั่วโลกมีหลักการแยกบทบาทของหน่วยงานควบคุมการใช้ กับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาพออกจากกัน

โดยการต่ออายุหรือแบนสารเคมีจะเป็นอำนาจของหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่มีประเทศไหนให้อำนาจกระทรวงเกษตรฯ หรือกรมวิชาการเกษตรซึ่งไม่มีความรู้เรื่องสุขภาพ เป็นผู้ต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ในประเทศไทยกลับพบว่าคนที่ต่อทะเบียนสารเคมีคือ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเคยระบุว่าไม่มีความรู้เรื่องสุขภาพ นับเป็นบทบาทซ้อนทับของการตัดสินใจแบนหรือไม่แบนสารเคมีอันตราย

2. เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีทั้งสิ้น 29 คน แต่พบว่าผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นอดีตข้าราชการกรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันเป็นผู้จัดการสมาคมอารักขาพืชไทย ซึ่งเป็นสมาคมการค้าของบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ขายทั้งพาราควอต กลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรง นอกจากนั้นคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งบางส่วนมีผลประโยชน์ทับซ้อน ได้แต่งตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเรื่องนี้

3. กระบวนการพิจารณาแบนหรือไม่แบนสารเคมีอันตราย ไม่โปร่งใสในหลายเรื่อง เช่น ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้ทราบว่ามีการต่อทะเบียนพาราควอตให้กับใครบ้าง หรือยังไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในเรื่องนี้ เป็นต้น

(ถ้า)ไม่แบนพาราควอต รัฐบาล คสช. ต้องรับผิดชอบ

นายวิฑูร ยังกล่าวว่ารัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากไม่มีการแบนสารพิษร้ายแรง ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข คณะทำงานจาก 4 กระทรวงหลัก และประชาคมวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ที่ออกมาระบุยืนยันว่าพาราควอตมีพิษร้ายแรง

“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล คสช. จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ใน 2 ประเด็น คือ 1.นายกฯทราบเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นว่ามีความเห็นต่างๆ และสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขไปหาข้อยุติ ซึ่งมีข้อยุติแล้ว ท่านทราบทุกอย่างแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำอะไรในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา”

ข้อ 2 ท่านต้องรับผิดชอบในฐานะที่คณะกรรมวัตถุอันตรายในจำนวน 29 คน มีถึง 19 คน เป็นผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นถ้าไม่แบนเป็นความรับผิดชอบของพลเอกประยุทธ์ และรัฐบาลนี้ทั้งคณะ

นายวิฑูร กล่าวด้วยว่า “ถ้าไม่มีการแบนพาราควอต ก็คือรัฐบาล คสช. ซึ่งอ้างว่าเข้ามาบริหารประเทศเพื่อปฏิรูปประเทศ เห็นแก่ผลประโยชน์ของบรรษัทมากกว่าสุขภาพของประชาชน และผู้บริโภคทั้งหมดในประเทศนี้และแสดงว่ารัฐบาลคณะนี้ หวังคะแนนเสียงและการสนับสนุนบางรูปแบบจากกลุ่มพ่อค้าสารพิษ กลุ่มเกษตรกรขนาดใหญ่ที่จ้างคนอื่นให้ฉีดพ่นสารเคมีให้คนเหล่านั้นตายแทน หรือรับความเสี่ยงแทนในระยะยาว หรือหวังคะแนนเสียงจากเกษตรกรบางส่วนที่อาจจะขาดข้อมูลเรื่องทางเลือก ต้องทนฉีดพ่นสารเคมี หรือหวังผลเพื่อสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง”

สารเคมีอันตราย กับ “สิ่งแวดล้อม” ที่สมดุลและยั่งยืน

นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การแบนสารเคมีอันตรายเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม เพราะประชาชนและชุมชนมีสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สมดุลและยั่งยืน ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรองรับ ดังนั้นคณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องพิจารณาภายใต้ฐานกฎหมายที่ให้ไว้

ทั้งนี้เป็นเพราะคณะกรรมการวัตถุอันตราย ถือเป็นผู้ใช้อำนาจทางกฎหมาย เป็นเจ้าหน้าที่ในทางปกครอง ซึ่งจะต้องตอบให้ได้ว่าจะแบนหรือไม่แบนสารพิษเพื่อประโยชน์แก่การป้องกันและระงับอันตรายที่อาจจะมีผลแก่คน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อตัดสินใจให้ถูกต้องภายใต้ผลประโยชน์ส่วนรวม

“คณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องตัดสินใจภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด โดยชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ของเอกชนที่อาจจะต้องเสียไป และต้องเคารพสิทธิของประชาชนในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนด้วย”

หยุดพาราควอตไว้ก่อน ถ้ารัฐบาลเห็นแก่ประชาชนจริงๆ

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเคยทำแบบสำรวจสอบถามประชาชนเกี่ยวกับการคอร์รัปชันด้านเกษตร ซึ่งพบว่าประชาชนให้ความสนใจเรื่องสารพิษพาราควอตมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยระบุว่าเป็นปัญหาคอร์รัปชันที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชน และอยากเห็นการจัดการเรื่องนี้ให้จบสิ้น ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเห็นแก่ประชาชน ด้วยการประกาศหยุดใช้สารพิษพาราควอตไว้ก่อนจนกว่านจะมีการพิสูจน์ว่าไม่เป็นอันตรายกับประชาชน

“ถ้าเห็นแก่ประชาชนจริงๆ อยากให้รัฐบาลตั้งต้นใหม่ เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง อะไรที่จะเป็นอันตรายกับประชาชน ขอให้หยุดไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่เป็นอันตรายกับประชาชน โดยเริ่มต้นจากเรื่องพาราควอต” ดร.มานะ กล่าว