ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thailand SDGs Forum 2018 #1: เจาะลึก SDG Compass เข็มทิศ “ธุรกิจ” สู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs

Thailand SDGs Forum 2018 #1: เจาะลึก SDG Compass เข็มทิศ “ธุรกิจ” สู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs

30 พฤษภาคม 2018


เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกับมูลนิธิมั่นพัฒนา จัดงานสัมมนา Thailand SDGs Forum 2018: Localizing the SDGs (Thailand’s Sustainable Business Guide) มีการบรรยายเรื่อง The guide for business action on the SDGs – SDG Compass โดย ดร.อำไพ หรคุณารักษ์  นักวิชาการอิสระด้านความยั่งยืน มีรายละเอียดดังนี้

เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ตลอดระยะเวลาที่ทำงานและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เกิดความสงสัยส่วนตัวว่าทำไมภาคเอกชนไม่ค่อยได้รับการพูดถึง อย่างเช่น ในคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ก็พูดถึงการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระบบของภาครัฐ แต่ขณะเดียวกันก็ทราบว่าภาคเอกชนก็มีการทำเรื่อง SDGs กันมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทใหญ่ๆ แต่ไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนเด่นขึ้นมา

ทั้งนี้เป็นเพราะภาคเอกชนเป็นกลไกการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำคัญมากพอๆ กับภาครัฐ หรืออาจจะมากกว่าภาครัฐด้วยซ้ำไป โดยจากการศึกษาส่วนตัวพบว่ามีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายข้อเกี่ยวกับภาคธุรกิจเยอะแยะไปหมด และเมื่อได้ค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็พบว่า SDGs กับภาคธุรกิจมีข้อมูลจำนวนมาก ทั้งในเรื่องเครื่องมือและองค์ความรู้ แต่ส่วนใหญ่จะออกมาในรูปแบบภาษาอังกฤษ ไม่ได้ถูกปรับมาใช้ในบริบทประเทศไทยสักเท่าไหร่

ทำความรู้จัก “SDG Compass”

อย่างไรก็ตาม ได้ไปเจอเอกสาร “SDG Compass” หรือเข็มทิศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเอกสารที่มีทั้งความเรียบง่ายและซับซ้อน ความเรียบง่ายคือเอกสารฉบับนี้ขั้นตอนชัดเจนมากว่า เอกชนหรือองค์กรธุรกิจสามารถที่จะทำให้ธุรกิจของตัวเองมีความยั่งยืนได้อย่างไร และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่อย่างไร

ส่วนความซับซ้อนคือ ภายในแต่ละขั้นตอนจะต้องอาศัยข้อมูลที่มาจากองค์กรธุรกิจที่โปร่งใสชัดเจน ส่วนตัวจึงมองว่าเครื่องมือนี้สำคัญ ถ้าหากพวกเราทราบเกี่ยวกับวิธีการทำ นำไปปรับใช้ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการสื่อสารและเผยแพร่

SDG Compass จัดทำโดย 3 หน่วยงานคือ 1. World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) 2. UN Global Compact และ 3. GRI ซึ่งแน่ใจได้ว่าคู่มือนี้ผ่านการวิเคราะห์วิจัยมาทั่วโลก โดยออกแบบมาเพื่อองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ก็ยังสามารถใช้กับองค์กรอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือภาคอื่นๆ แต่วันนี้อยากจะเน้นในส่วนองค์กรธุรกิจ

ดร.อำไพ หรคุณารักษ์

ดร.อำไพ กล่าวว่า สำหรับภาคธุรกิจเป็นภาคสำคัญที่ต้องให้ความสนใจ ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็ต้องสนใจเรื่องความยั่งยืน เพราะว่าโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปเร็วมาก สมัยก่อนทำธุรกิจไม่ค่อยสนใจกับโลกภายนอก แต่ปัจจุบันโลกภายนอกสนใจเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคจะเริ่มมองว่าเวลาซื้อสินค้าหรือบริการ จะมีผลกระทบอย่างไรกับด้านสังคมหรือด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่

เพราะฉะนั้น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตอบโจทย์ภาคธุรกิจอย่างยิ่ง จากที่ภาคธุรกิจเคยมุ่งหวังเป้าหมายเรื่องกำไร แต่ปัจจุบันมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นมา นั่นคือกำไรในระยะสั้นอย่างเดียวอาจจะไม่ดีแล้ว แต่ต้องให้ยั่งยืนด้วย

ดังนั้นในภาคธุรกิจ คำว่า ความยั่งยืน ก็เริ่มเข้ามามีบทบาท ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราก็มีความคาดหวังมากขึ้นว่าธุรกิจจะตอบสนองต่อความต้องการของเขาได้หรือไม่ สามารถสร้างกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ดี ส่วนผู้ถือหุ้นก็เริ่มมองว่าธุรกิจที่เข้าไปถือหุ้นสามารถทำให้เขามีโปรไฟล์ที่ดีในสังคมได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจเริ่มมองว่าจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้อย่างไร

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนถือว่าเป็นการเสนอโอกาสให้ธุรกิจสามารถจะคิดมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา สามารถคิดได้อย่างสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม และรับมือกับความท้าทาย

เวลาพูดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เราพูดใน 3 อย่าง คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในอดีตสามวงกลมนี้ก็มีแนวคิดปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันวงกลมทั้งสามนั้นซ้อนกันอยู่ โดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นวงกลมใหญ่ แปลว่า ทุกๆ อย่างจะอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตหรือระบบนิเวศน์ที่เราอยู่ ถ้าหากมองสามวงกลมซ้อนกันจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ธุรกิจหรือเศรษฐกิจจะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ โดยเฉพาะแนวคิดใหม่ภายใต้ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็จะหันเหไปจากแนวคิดเดิมๆ แล้ว

5 ขั้นตอนสู่ “ธุรกิจที่ยั่งยืน”

เพราะฉะนั้นในส่วน SDGs  เป็นส่วนที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถที่จะคิด แต่จะคิดอย่างไรนั้น  SDG Compass ก็มองแยกออกมาได้เป็น 5 ขั้นตอน เพื่อให้ธุรกิจนั้นยั่งยืน ประกอบด้วย

1. ธุรกิจควรจะ “เข้าใจ” ก่อนว่า SDGs คืออะไร เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะบางทีเราคิดว่าเรารู้แล้ว แต่คำถามก็คือ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายนั้นสอดคล้องกับเราอย่างไรบ้าง ต่อมาคือต้องรู้ว่าคุณค่า (value) ธุรกิจของเราเป็นอย่างไร คือ ธุรกิจมีคุณค่าอย่างไรต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เราจะต้องเข้าใจในธุรกิจของเราก่อน อย่างที่เครือเบทาโกรและธนาคารกสิกรไทยได้ให้ตัวอย่างไว้ดีมาก

เพราะทุกวันนี้ ภาคธุรกิจได้รับแรงกดดันจากสังคมว่าต้องรับผิดชอบต่อสังคม จึงเป็นที่มาของ “ซีเอสอาร์” (Corporate Social Responsibility: CSR) แต่ซีเอสอาร์อย่างเดียวไม่พอแล้ว จะต้องเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอ (DNA) ของธุรกิจด้วยซ้ำไปว่าจะให้ยั่งยืนได้อย่างไร

2. เมื่อเข้าใจแล้ว ต้อง “จัดลำดับ” เพราะว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่ 17 เป้าหมายจะสอดคล้องกับธุรกิจของเราทั้งหมด ดังนั้นต้องเลือกว่าธุรกิจของเรามีกิจกรรมอะไรที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ก็ยกตัวนั้นมาพูดก่อน เนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีหลักสำคัญคือจะต้องวัดได้ว่าบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แค่ไหน

3. กำหนด “เป้าหมาย” ขอบเขต และค่าอ้างอิง เพื่อให้มองเห็นความก้าวหน้าของธุรกิจได้ ที่สำคัญคือจะต้องมีการ “ประกาศเจตนารมณ์” และ “ความมุ่งมั่น” เพราะเหตุผลที่ชักชวนให้ภาคธุรกิจมาสนใจเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็เพื่อที่ธุรกิจจะบอกกับสังคมได้ว่าให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

4. ลงมือ “ปฏิบัติจริง” หรือ main streaming อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าต้องเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอ ไม่ใช่วางเป็นเป้าหมายไว้เฉยๆ แต่จะต้องย่อยไปสู่เป้าหมายทางธุรกิจได้จริง และสิ่งสำคัญคือ SDG Compass บอกว่าเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำคนเดียวไม่ได้ ธุรกิจต้องสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภาคธุรกิจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องบูรณาการ

5. ทำอย่างไรที่ธุรกิจจะ “สื่อสาร” รายงานความก้าวหน้า เพื่อที่ตัวเราเองจะได้ใช้ข้อมูลที่ทำมาปรับปรุงธุรกิจให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ประชาสัมพันธ์ให้สังคมภายนอกทราบด้วยว่าเราทำอะไรไปบ้าง

ดร.อำไพ อธิบายว่า เมื่อลงในรายละเอียดขั้นตอนที่ 1 คือรู้จักและเข้าใจ SDGs ซึ่ง SDGs เป็นเรื่องที่ต่อยอดจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ MDGs (Millennium Development Goals) มี 8 เป้าหมาย และเน้นเรื่องสังคม แต่เรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จะมีเพิ่มมากขึ้นใน SDGs

SDGs เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานในทุกประเทศ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เป็นสิ่งที่ทั่วโลกจะต้องขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ สิ่งที่ SDGs เน้นคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน คือจะต้องสร้างหุ้นส่วนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหลักสำคัญของ SDGs

บรรยากาศในการประชุมห้องย่อยที่ 3 The guide for business action on the SDGs – SDG Compass ในเวที Thailand SDGs Forum 2018 #1 Localizing the SDGs (Thailand’s Sustainable Business Guide)

ออกแบบ “เป้าหมาย” ให้เหมาะกับธุรกิจ

สำหรับ SDGs มี 17 เป้าหมาย โดยมีเป้าประสงค์ในแต่ละเป้าหมาย ยกตัวอย่างเป้าหมายที่ 13 เรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก็จะมี 5 เป้าประสงค์ โดยมี 3 เป้าประสงค์เป็นเชิงปฏิบัติ ส่วนอีก 2 เป้าประสงค์เป็นเครื่องมือ ซึ่งในประเทศไทยจะมีหน่วยงานรับผิดชอบเพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุในแต่ละเป้าหมาย ที่มี 169 เป้าประสงค์ และ 230 ตัวชี้วัด แต่บางตัวชี้วัดหรือบางเป้าประสงค์อาจจะไม่ค่อยตรงกับประเทศไทย

ดังนั้น สิ่งที่อยากจะนำเรียนก็คือ องค์กรธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำให้ได้ทั้งหมด 17 เป้าหมาย หรือ 169 เป้าประสงค์ ซึ่งจะนำมาสู่รายละเอียดในขั้นตอนที่ 2 ว่าตัวของเราเองเหมาะสมกับเป้าหมายหรือเป้าประสงค์ข้อไหน อย่างเช่นที่ธนาคารกสิกรไทยกำหนดทิศทางของตัวเองว่าใน 17 เป้าหมาย มีอยู่ 9 เป้าหมายที่ธนาคารคิดว่ามีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

หรืออย่างเป้าหมายที่ 1 มีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจสูงและด้านสังคมสูง แต่ถ้าถามว่าเป้าหมายที่ 13 ก็เกี่ยวข้อง เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ซึ่งขณะนี้มีการพูดถึงเรื่องการระดมทุนเพื่อที่จะขับเคลื่อนการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบันภาคการเงินเป็นภาคที่สำคัญมาก เพราะขณะนี้มีการคุยกันแล้วว่าถ้าหากจะขับเคลื่อนทั้ง 17 เป้าหมายให้สำเร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดคือปี 2030 จะต้องมีการระดมทุนเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่งบประมาณของรัฐ ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมระดมทุน ส่วนองค์กรระหว่างประเทศก็จะต้องเปลี่ยนจากความช่วยเหลือแบบให้เปล่า หรือ โอดีเอ (Official Development Assistance: ODA) มาเป็น Non-ODA ที่พูดถึงเรื่องเครดิต เรื่องการันตี ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับภาคการเงินอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นในส่วนนี้จึงเป็นตัวอย่างว่าเราทำอย่างไรเราถึงจะ conceptualize ตัวเราให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

หลังจากที่เราเข้าใจเรื่อง SDGs แล้ว ก็กลับมามองตัวเองว่าโอกาสทางธุรกิจและผลกระทบของเราจะเป็นอย่างไร ซึ่งอยากจะเรียนว่า SDGs สร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ ด้วยเหตุผลที่เรียนไปแล้วว่า เมื่อมีความกดดันจากผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น ธุรกิจ ก็อาจจะเผชิญกับความเสี่ยง แต่ SDGs เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ธุรกิจสามารถที่จะลดหรือรองรับความเสี่ยงได้

ทำความเข้าใจระบบนิเวศน์ธุรกิจและ SDGs

ขณะเดียวกัน การคำนึงถึงตลอดห่วงโซ่ธุรกิจก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะส่วนใหญ่เวลาผลิตสินค้าขึ้นมา เราจะมองแค่ขายเสร็จแล้วก็จบไป แต่ปัจจุบันด้วยกระแสการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมก็พยายามที่จะให้ธุรกิจมองว่าหลังจากผลิตสินค้าขึ้นมาชิ้นหนึ่งแล้ว ผู้บริโภคเอาไปใช้เสร็จเรียบร้อย จะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกหรือไม่ เป็นลักษณะที่เรียกว่า circular economy

คือแทนที่จะทิ้งเป็นขยะ แล้วก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะพลาสติก ก็มีแนวคิดว่าทำอย่างไรถึงจะมีนวัตกรรมหรือให้เกิดความต้องการในเรื่องสิ่งทดแทน ไม่ถึงกับว่าห้ามใช้พลาสติก แต่ทำอย่างไรถึงจะใช้ได้นานขึ้น ใช้โดยมีความรับผิดชอบมากขึ้น และนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่ ซึ่ง SDGs ช่วยให้ธุรกิจสามารถคิดในส่วนนี้ได้มากขึ้น

ส่วนเรื่องผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างที่บอกว่าเราคิดคนเดียวไม่ได้แล้ว ธุรกิจจะต้องคำนึงถึงผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น แม้กระทั่งประชาชน เช่น เรื่องการตั้งโรงไฟฟ้า ประชาชนในพื้นที่ก็จะมีส่วนสามารถพูดได้ว่าธุรกิจจะทำได้หรือไม่ได้อย่างไร

นอกจากนี้ SDGs จะช่วยให้ธุรกิจอยู่ในสังคมที่ดีได้อย่างยั่งยืน และช่วยให้สังคมอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งใน SDG Compass บอกว่าทุกอย่างที่ธุรกิจทำ ให้คำนึงถึงการใช้ภาษาเดียวกันกับทุกคน หมายความว่ามีการนิยามที่สอดคล้องกับทุกคน ไม่ใช่ว่านิยามธุรกิจอย่างหนึ่ง ผลกระทบอย่างหนึ่ง ทำให้คนอื่นๆ เข้าใจธุรกิจของเราอีกแบบหนึ่ง อย่างนี้จะทำให้เกิดปัญหาและเป็นความเสี่ยงของภาคธุรกิจได้

ดังนั้น สรุปได้ว่าธุรกิจจะต้องเข้าใจ SDGs เข้าใจธุรกิจของตัวเอง และเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากลทั่วโลก เพราะเป็นโอกาสที่ธุรกิจสามารถจะพัฒนาธุรกิจของตัวเอง สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันสามารถจะพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบนิเวศน์ คือมีซัพพลายเชนอย่างไร มีผู้ให้วัตถุดิบเราอย่างไร มีผู้บริโภคอย่างไร และมีคนมองธุรกิจเราอย่างไร นี่คือระบบนิเวศน์ทางธุรกิจที่จะต้องเข้าใจ

เพราะในทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ที่ดีจะทำให้องค์ประกอบที่อยู่ในระบบนิเวศน์อยู่ดีมีสุขได้ โดยไม่เกิดความปั่นป่วนขึ้นมา หากธุรกิจมีระบบนิเวศน์ที่ดี ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น สามารถทำตามที่วางเป้าหมายได้ ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของแบรนด์หรือชื่อเสียง เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจที่ตั้งใจลงทุนให้ยั่งยืน จะทำให้ธุรกิจมีโอกาส เช่น ถ้าหากชื่อเสียงดี ก็เป็นไปได้ว่าเราจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น

ฉะนั้นอย่ามองแค่ว่า  SDGs เป็นข้อจำกัด มาแล้วทำให้ธุรกิจเราแย่ เพราะมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย แต่อยากให้มองว่าสิ่งเหล่านี้คือโอกาสที่เราจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ โดยสร้างตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับสิ่งที่ธุรกิจของเราต้องการ

วิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ เลือกเป้าหมายที่สอดคล้อง

ถัดมาคือเรื่องการวิเคราะห์คุณค่า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปกติธุรกิจวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจอยู่แล้ว แต่หลักสำคัญคือแทนที่จะคิดเรื่องกำไร-ขาดทุน แทนที่จะคิดว่าทำอย่างไรจะผลิตได้มาก ให้คิดกว้างกว่านั้นว่าผลกระทบของผลิตภัณฑ์หรือว่าองค์กรของเรา มีอะไรบ้างที่กระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ขั้นตอนนี้ในช่วงแรกอาจจะทำได้ยาก แต่จริงๆ แล้วทั่วโลกมีเครื่องมือสนับสนุนในการทำเรื่องนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง life cycle assessment ซึ่งบางธุรกิจได้เริ่มทำกันแล้ว หรือทาง WBCSD ก็มีเครื่องมือเกี่ยวกับเรื่องการใช้น้ำขึ้นมา เพราะการใช้น้ำเป็นปัญหาของภาคธุรกิจทุกอุตสาหกรรม

ใน SDG Compass ได้ยกตัวอย่างว่า มีบริษัทหนึ่งให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 8 คือเรื่องการจ้างงานอย่างยั่งยืน และเป้าหมายข้อที่ 13 เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแต่ละช่วงของแวลูเชน เขาจะระบุว่าตรงไหนที่ธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายนั้น โดยเขาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผลกระทบทางด้านบวก และผลกระทบทางด้านลบ

เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราสามารถดูได้ว่า ธุรกิจของเราตั้งแต่ขั้นการจัดหาวัตถุดิบไปจนตลอดชีวิตผลิตภัณฑ์มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรบ้าง และสอดคล้องกับเป้าหมายใดบ้าง อย่างบริษัทที่กล่าวถึงนี้ก็จะเข้าไปดูเป้าหมายข้อที่ 8 ว่ามีเป้าประสงค์อะไรบ้าง มีตัวชี้วัดอะไรบ้าง ที่สามารถนำมาปรับใช้กับบริษัทได้

ผลกระทบด้านบวกอีกอันหนึ่งก็คือ ช่วยรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหากเป็นธุรกิจที่สามารถปรับนวัตกรรมให้รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำได้ด้วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร (Co2) โดยจะมีนวัตกรรมว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ของตนเองปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลง หรือผลิตภัณฑ์ของเราจะช่วยในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกันบริษัทนี้ก็ระบุว่ามี 3 เป้าหมายที่ส่งผลกระทบด้านลบกับสังคมและสิ่งแวดล้อม คือเรื่องซัพพลายเออร์ หรือคนที่จะนำวัตถุดิบมาให้เรา เขาก็มองว่าอาจจะมีผลกระทบในเรื่องการปล่อยน้ำเสีย ในเรื่องสุขอนามัย ก็เข้ากับเป้าหมายที่ 6 ที่พูดถึงเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นโลจิสติกส์หรือดิสทริบิวชันก็เข้ากับเรื่อง sustainable city และ community ก็อาจจะมองว่าระบบการขนส่งมีผลกระทบต่อชุมชนและเมืองอย่างไร ขณะเดียวกันเป้าหมายข้อ 12 พูดเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ส่วนใหญ่จะพูดว่าทำอย่างไรถึงจะเกิด circular economy ทำอย่างไรที่จะให้มีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น บริษัทนี้ก็วิเคราะห์ว่าหลังจากดู SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย และดูว่าบริษัทมีวัตถุประสงค์ต้องการที่จะทำอะไร ห่วงโซ่คุณค่าของตัวเองอยู่ที่ไหน ก็กำหนดเลยไปเลยว่า SDGs ข้อไหนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง

แนะเลือกตัวชี้วัด “น้อยแต่มาก”

หลังจากกำหนดเป้าหมายแล้ว ก็เลือกตัวชี้วัดและรวบรวมข้อมูล ซึ่งคำแนะนำก็คือ ตัวชี้วัดน่าจะให้น้อยที่สุด แต่ส่งผลกระทบให้มากที่สุด จะได้ไม่เป็นภาระกับเราในการจัดเก็บข้อมูล ในการคัดเลือกก็จะใช้หลักวิเคราะห์เหตุและผล ยกตัวอย่างตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบนำเข้า เรื่องกิจกรรมการผลิตส่งผลสำเร็จยังไง และส่งผลกระทบยังไง ซึ่งส่วนนี้องค์กรธุรกิจก็จะทำเป็นประจำอยู่แล้ว

ยกตัวอย่างบริษัทเดิมในเรื่องน้ำ เขาก็มองว่าในส่วนทรัพยากรจะทำให้เกิดผลลบหรือผลบวกยังไงในกระบวนการผลิตของตัวเอง แล้วมี  SDGs อะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง ส่วนการเลือกตัวชี้วัดก็มักจะมองว่ามีอาร์แอนด์ดีมั้ย มาร์เก็ตติงเป็นยังไง หรือความรวดเร็วในการซื้อขาย ฯลฯ กล่าวอย่างสรุปก็คือ พยายามเลือกตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับสิ่งที่องค์กรธุรกิจของเราให้ความสำคัญมากที่สุด เลือกเพียงแค่หนึ่งหรือสองตัวชี้วัด และก็ต้องเปิดใจในการกำหนดเป้าประสงค์และตัวชี้วัด

จัดลำดับอะไร “สำคัญ” และ “ไม่สำคัญ”

ต่อมาคือ ขั้นตอนการจัดลำดับความสำคัญในประเด็นความยั่งยืน อย่างที่เรียนว่าธุรกิจส่วนใหญ่จะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แตกต่างกันไปไม่มากก็น้อย แต่ขอให้เลือกประเด็นที่มีผลกระทบมากที่สุด โดยอยากเปิดใจว่าธุรกิจของเรามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม อย่างไรบ้าง แต่ต้องจัดลำดับด้วยความจริงใจกับตัวเราเอง เพราะจะได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด

นอกจากนั้นต้องจดบันทึก การวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง และการเรียนรู้จากประสบการณ์ เป็นข้อแนะนำที่  SDG Compass แนะนำให้ทำ  สรุปก็คือว่า พยายามทำอย่างเป็นระบบ ทำอย่างจริงจังและจริงใจ หวังผลว่าไม่ได้ทำเพียงแค่ให้เป็นกระแสเท่านั้น แต่อยากจะปรับปรุงธุรกิจของเราด้วยความมุ่งมั่น

ในส่วนนี้ SDG Compass แนะนำเครื่องมือ 2 ตัวก็คือ 1. มาตรฐานในการประเมินผลกระทบธุรกิจต่อระบบนิเวศน์และการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบธรรมชาติ น่าจะเข้าไปดูในรายละเอียดตรงนี้ เพราะให้แนวคิดไว้หลายข้อ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตปูน เอาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาแล้ว ทำยังไงถึงจะให้ธรรมชาติหรือระบบนิเวศน์ไม่เปลี่ยนมากจนกระทั่งคนหรือสิ่งมีชีวิตโดยรอบอยู่ต่อไปไม่ได้ เป็นความพยายามทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และ 2. คู่มือผลกระทบคุณค่าธุรกิจในเรื่องสังคมและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งสามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ได้

โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายของธุรกิจกับเป้าหมายความยั่งยืน มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ธุรกิจเมื่อก่อนก็จะคำนึงถึงผลกำไร แต่ในเรื่องความยั่งยืนจะต้องให้ความสำคัญกับลูกค้า กับผู้บริโภคให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการความร่วมมือของคนในองค์กรหรือนอกองค์กร ทำให้ธุรกิจก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน

ต่อมาคือขั้นตอนการกำหนดเป้าหมาย เราจะต้องกำหนดขอบเขตงานและ KPI ของเราเอง ในส่วนนี้มีข้อแนะนำก็คือให้พิจารณาประเด็นความยั่งยืนขององค์กรที่มีลำดับความสำคัญสูง และให้ครอบคลุมทุกมิติ พยายามคิดออกมาให้ได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือองค์กรของเราส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มากที่สุด มีอะไรบ้าง

เช่น เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน หรือการลดความยากจน ซึ่งเป้าหมายพวกนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะในสังคมปัจจุบันมองข้ามปัญหาพวกนี้ไม่ได้ และเลือกตัวชี้วัดที่สามารถขับเคลื่อนติดตามได้อย่างเป็นรูปธรรม มีการเจาะจงที่ชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2030 เราจะทำอะไรได้บ้าง เช่น จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น

SDG Compass แนะนำว่าการมองในระดับ output จะง่าย ก็กำหนดเป็นตัวเลข แต่ถ้าหากมองในระดับ outcome ผลกระทบหรือผลสัมฤทธิ์จะยาก ซึ่งเขาแนะนำว่าหากเราไม่สามารถกำหนดได้ ก็ใช้ตัว proxy ได้ เช่น ใน 169 ตัวชี้วัด อาจจะไม่สอดคล้องกับเรา แต่ว่าใกล้เคียง  ก็สามารถกำหนดตัวชี้วัดของเราได้เพื่อใช้สำหรับตัวเราเอง แต่แม้ว่าเราจะใช้ proxy ได้ ก็มีคำแนะนำว่าให้พยายามอิงเป้าหมายใช้ร่วมกัน เพื่อจะได้มีการเปรียบเทียบ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

มองไปข้างหน้าด้วยเป้าหมายที่ “ท้าทาย”

แต่ข้อที่ท้าทายคือ แทนที่เราจะกำหนดตัวชี้วัดกว้างๆ ก็พยายามเจาะจงไปเลย เพื่อให้มองทะลุถึงสถานการณ์ของตัวเราเอง สิ่งสำคัญอีกอันก็คือเรื่องค่าอ้างอิง ส่วนใหญ่จะไม่มีการจัดเก็บมาก่อน เช่น การลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไหร่ ก็อาจจะต้องกำหนดว่า baseline ของเราคืออะไร ก็มีการแนะนำให้กำหนด 2 แบบ คือ เป้าหมายรวมเพื่อที่จะวัดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเป้าหมายที่เป็นสัดส่วนของตัวเราเอง คือวัดความก้าวหน้าของตัวเอง

และที่ SDG Compass แนะนำอีกอันคือ พยายามให้ท้าทายเข้าไว้ เพราะในธุรกิจนั้น ยิ่งเกิดความท้าทาย ก็จะยิ่งเกิดนวัตกรรม ถ้าอยากให้ธุรกิจยั่งยืน จะท้าทายตัวเองให้ถึงที่สุดได้ยังไง  ซึ่งแทนที่เราจะมองเฉพาะในองค์กรของเราเอง หรือแม้กระทั่งในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกับเรา ให้มองความท้าทายในระดับโลกไปเลยในการลดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยอาจจะมองทั้ง 17 เป้าหมาย มันอาจจะทำได้ยาก แต่เป็นความท้าทายที่อยากจะแนะนำ

ส่วนวิธีการกำหนดเป้าหมายให้เกิดความท้าทายที่สุด คือ แทนที่จะมองตัวเราเอง ก็ให้มองถึงทั่วโลก คือทั่วโลกมองเรายังไง หรือให้มองว่าธุรกิจของเราจะไปไกลขนาดไหนในอนาคต แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นมีมากน้อยแค่ไหน แล้วทอนตัวนั้นกลับเข้ามาในปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต โดยจัดการกับมันก่อน ส่วนเรื่องการประกาศเจตนารมณ์ คำแนะนำสำคัญคือให้ใช้ทุกช่องทางที่มี เพราะธุรกิจสามารถสื่อสารความท้าทายของตัวเองได้

ขั้นถัดมาคือ การลงมือปฏิบัติ หรือ main streaming นี่คือสิ่งที่จะต้องให้เข้าไปในดีเอ็นเอของเรา ปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายธุรกิจของเรา แต่ความสำเร็จขั้นนี้ขึ้นอยู่กับผู้นำ หรือผู้บริหารองค์กร ถ้าผู้นำไม่เอาด้วย ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าเรามีแนวคิดที่ชัดเจนในการเสนอผู้บริหาร ก็จะทำให้การบูรณาการแนวคิดเรื่องความยั่งยืนเข้ามาไว้ในธุรกิจ สามารถเป็นไปได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามในขั้นนี้ควรจะมีผู้รับผิดชอบโดยตรง เช่น ตั้งเป็นคณะทำงานทางด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ รวมทั้งการมีหุ้นส่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน  และที่สำคัญที่สุดคือต้องเริ่มต้นปฏิบัติ

ส่วนในขั้นตอนสุดท้าย คือระบบรายงานผลและสื่อสารผล ซึ่งมีเทคนิคหลักๆ คือ ให้นึกถึงว่าธุรกิจของเรามีผลกระทบอะไรกับสังคมเยอะเยอะที่สุด และให้รายงานในส่วนที่เป็นผลดีและผลไม่ดีอย่างจริงใจ เพื่อการพัฒนาเดินหน้าต่อไป ส่วนตัวอย่างการรายงานมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ใช้อินโฟกราฟิกเพื่อให้รายงานน่าเชื่อถือและน่าอ่านมากขึ้น หรือถามความคิดเห็นจากคนภายนอก เพื่อให้มีผลกระทบในเชิงสังคมสูงขึ้น

ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ภาคธุรกิจให้ความสนใจในเรื่องของการบูรณาการประเด็นความยั่งยืนมาไว้ในธุรกิจให้มากที่สุด เนื่องจากโอกาสมีมากมาย เพราะทั่วโลกมีการประเมินมูลค่ามหาศาลที่จะได้รับ หากธุรกิจมีการปรับเปลี่ยน หรือมีการบูรณาการในเรื่องความยั่งยืนขึ้นมา ซึ่งในแต่ละเซกเตอร์มีโอกาสที่จะสร้างธุรกิจให้มีการทำรายได้มากขึ้น ถ้าหากเราคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน  

เอกสารประกอบการบรรยาย โดย ดร.อำไพ หรคุณารักษ์ สามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่