ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thailand SDGs Forum 2018 #1: รมต.สำนักนายกฯมอง “SEP for SDGs” ยั่งยืนจากฐานราก – เข้มแข็งจากภายใน – มีวิญญาณเอื้ออาทร

Thailand SDGs Forum 2018 #1: รมต.สำนักนายกฯมอง “SEP for SDGs” ยั่งยืนจากฐานราก – เข้มแข็งจากภายใน – มีวิญญาณเอื้ออาทร

18 พฤษภาคม 2018


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 มูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานสัมมนา Thailand SDGs Forum 2018: Localizing the SDGs (Thailand’s Sustainable Business Guide) โดยช่วงเช้า ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “SEP for SDGs: Localizing the SDGs in Thailand Business” โดยมีรายละเอียดดังนี้

50 ปีแห่งการพัฒนา ไม่สำเร็จอย่างแท้จริง

“เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ SEP ผมได้ช่วยงานมาสักพักหนึ่งแล้ว ตอนแรกๆ ที่ผมกลับมาทำงานที่ประเทศไทยก็ได้มาทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับ อาจารย์จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นผมจำได้ ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็อยากรู้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐศาสตร์มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร แล้วก็ยิ่งทำเรื่องนี้ก็มีความเชื่อว่านี่คือสิ่งที่เป็นทางออกของการพัฒนาสำหรับประเทศไทย”

ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ว่า ถ้าย้อนกลับไปดูประเทศไทยช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เราเป็นประเทศที่มีการพัฒนาที่เรียกว่าดีเด่นประเทศหนึ่งของโลก เราก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควรในการยกระดับรายได้ของพี่น้องประชาชน แต่เชื่อไหมครับว่า พอเราย้อนกลับไปดูและถามตัวเองจริงๆ ว่าเราประสบความสำเร็จในการพัฒนาหรือไม่ ผมคิดว่าคำตอบ ต้องตอบว่าเรายังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา เพราะอะไร เพราะว่าเราพัฒนาไปแล้ว ตัวหมู่บ้านของประเทศไทยอ่อนแอลงทุกวัน ถ้าไปต่างจังหวัดจะเห็นว่าชนบทของคนไทยที่เคยเข้มแข็งในอดีตในวันนี้อ่อนแอลงทุกวันๆ

มันน่าคิดไหมครับว่า ยิ่งพัฒนาดูเหมือนกับจะรวย มีตึกสวยๆ หรืออย่างห้องประชุมนี้สวยมาก แต่ทำไมชนบทของไทยจึงอ่อนแอทุกวันๆ ตอนนี้เหลือเฉพาะคนแก่กับเด็ก เป็นหนี้ แล้วก็สูญเสียที่ดิน ยิ่งพัฒนา กรุงเทพฯก็โตเอาๆ ภาคตะวันออก อีสเทิร์นซีบอร์ดก็โตเอาๆ แต่ส่วนอื่นมันผอม ผมคิดถึงโรคหนึ่งที่เราไม่ค่อยเป็นกันแล้วคือโรคตานขโมย หัวโต พุงโร ก้นป่อง แขนขาลีบหมดเลย นี่คือประเทศไทย ผมถามว่านี่คือสิ่งที่ท่านอยากจะเป็นหรือไม่ เดินไปแล้วกลายเป็นโรคตานขโมย พัฒนามาแล้ว 50 ปีกลายเป็นตานขโมย กรุงเทพฯ โต ภาคตะวันออกโต เจ้าสัวโต แต่ว่าพี่น้องประชาชนผอมแห้งแรงน้อย มันไม่ใช่ทางหรือไม่

นอกจากนี้ เรามีเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งย่ำแย่ ความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องของรายได้ เรื่องของสินทรัพย์ เรื่องของที่ดินที่ขณะนี้แย่กว่า 50 ปีที่แล้วเยอะมากๆ ทั้งหมดนี้คือคำถามว่าที่เราทำมาตลอด 50 ปี เราประสบความสำเร็จหรือไม่

แล้ววันหนึ่งผมจำได้ทุกวันที่ 4 ธันวาคม ผมจะรีบกลับบ้าน ไปเข้าเฝ้าหน้าจอทีวี อยากฟังว่าล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 จะมีพระราชดำรัสอะไรกับผู้ที่ไปเข้าเฝ้าถวายพระพร ผมจำได้ว่าปีหนึ่งในปี 2548 ปีนั้นเป็นปีท้ายๆ ที่พระองค์ท่านออกมาเจอพี่น้องประชาชนที่สวนจิตรลดา ท่านพูดมาตลอดเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง แต่ท่านจบด้วยประโยคนี้ ท่านอวยพรทุกคนครับว่า ให้ทุกคนมีความสำเร็จพอสมควร เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงท่านบอกว่าทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงก็ไปไม่ได้ ถ้าพอเพียงประเทศจะไปได้ แล้วก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จพอเพียง เพื่อให้บ้านเมืองบรรลุความสำเร็จที่แท้จริง

หลังจากนั้น 2-3 วันผมก็คิดแต่คำนี้ว่าพระองค์ท่านพูดคำว่าความสำเร็จที่แท้จริง มันหมายความที่ลึกซึ้งกินใจมากเลย ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำเรื่องของเศรษฐกิจการพัฒนาประเทศ ผมก็กลับไปคิดว่าที่ประเทศไทยพัฒนา เป็นการพัฒนาที่สำเร็จที่แท้จริงอยู่หรือไม่ ภาษาอังกฤษบอกว่า True Success of Economic Development เราได้บรรลุการสำเร็จที่แท้จริงในการพัฒนาประเทศหรือไม่ คำตอบอย่างที่บอกคือไม่ครับ

“นี่คือสาเหตุ วันนี้พอเชิญมาให้ผมพูดถึงเรื่อง SEP for SDGs ผมก็ดีใจมากเพราะว่าผมเชื่อว่าสิ่งที่พระองค์ท่านได้พระราชทานกับคนไทย นี่คือทางใหม่ของการพัฒนาประเทศ นี่คือสิ่งที่จะเป็นโมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศที่เราต้องช่วยกันคิด ทบทวน และพยายามคิดว่าที่พระองค์ท่านได้พระราชทานมา เราจะทำอย่างไรให้กลายเป็นแสงนำทาง เพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนาประเทศที่แท้จริง”

แล้วถ้าเราจะทำตรงนั้นได้ เราต้องทำอะไรบ้าง ผมไปนั่งคิดมา ผมมคิดว่าสิ่งที่เราจะต้องทำก็คือเราต้องเข้าใจว่าจริงๆ แล้วที่มันไม่พัฒนาอย่างแท้จริงมันมาจากอะไร ทำไมเราพัฒนาแล้วมันถึงไม่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง มี 2 อย่างครับที่วันนี้ผมจะพูดถึง จริงๆ มีอีกหลายอย่าง แต่อย่างน้อย 2 อย่างที่ผมจะพูดถึงวันนี้

ประเด็นที่ 1 คือ ความเท่าที่ดูเหมือนจะเท่าแต่ไม่เท่า อันนี้คืออะไร เราพัฒนาไปเราก็คิดว่าทุกคนเท่ากันแล้ว สำเร็จแล้ว แล้วอย่าง SDGs 17 เป้าหมาย บางที่ถ้าไม่ระวังก็จะเป็นแบบนั้น เราถึงต้องบอกว่าเอา SEP for SDGs เราต้องมาคิดจริงๆ ว่าเป้าหมาย 17 อย่างที่เขาบอกมามันใช่หรือไม่ และที่ใช่มันคืออะไร

ผมขอยกตัวอย่างที่ดูเหมือนจะเท่าแต่มันไม่เท่า กระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย ภาคภูมิใจมากกับตัวเลขนำเด็กเข้าเรียน เรามีการศึกษาภาคบังคับ กระทรวงฯ จะบอกเสมอว่าประเทศไทยสามารถเอาเด็กเข้าเรียนได้ 99.5% ภูมิใจมากเลย ไปที่ไหนก็บอกว่าเด็กไทยทุกคนได้เข้าเรียน ผมถามว่าได้เข้าเรียนจริงหรือไม่ หรือได้ไปที่โรงเรียนเท่านั้น ทำไมเด็กไทยหลายคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทั้งๆ ที่ได้เข้าเรียน 99.5% มันเป็นเพราะอะไร มันเป็นเพราะโรงเรียนไม่เหมือนกัน เราให้เด็กเข้าเรียนแต่โรงเรียนไม่เหมือนกัน ถ้าไปดูโรงเรียนต่างจังหวัดมีคุณครู 3 คน ป.1-ป.6 คุณครูคนหนึ่งควบ 2 ชั้นเลย แล้วคนหนึ่งก็สอนตั้งแต่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สังคม พัฒนาการชีวิต แล้วเด็กจะเรียนรู้อะไร แล้วเราก็ภาคภูมิว่าเราเก่งมาก เอาเด็กทุกคนเข้าเรียนได้ แต่คำตอบคือเด็กไม่ได้เรียน เด็กได้ไปโรงเรียนตามที่รัฐบาลสั่ง ถูกบังคับไปโรงเรียน แต่ว่าไม่ได้การศึกษา ดูเหมือนจะเท่าแต่ไม่เท่า

สาขาธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพฯ เยอะแยะไปหมด ตู้เอทีเอ็มเยอะแยะไปหมด ถามว่าพี่น้องประชาชนคนรายได้น้อยเขาเข้าถึงเอทีเอ็มแล้วหรือไม่ ไม่นะครับ เรามีตู้เอทีเอ็มเยอะแยะไปหมดเลย ธนาคารหนึ่งมีหลายพันตู้ แต่ว่าคนเข้าไม่ถึง แม้แต่สาขาธนาคารก็ไม่กล้าเข้า นี่คือความเท่าที่ดูเหมือนจะไม่เท่า ถ้าเราตอบโจทย์พวกนี้ไม่ได้ ผมบอกเลยว่ายากที่จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาที่ยั่งยืน

เรื่องที่ 2 คือ ความเข้มแข็งที่ดูเหมือนจะเข้มแข็ง แต่ความเป็นจริงแล้วอ่อนแอ ซึ่งบางครั้งสร้างความแตกแยกให้กับสังคมด้วยซ้ำไป ธุรกิจประเทศไทยดูเหมือนจะเข้มแข็ง แต่หลายครั้งกลับไม่เข้มแข็ง มีปัญหาเยอะแยะ และขณะเดียวกันบางครั้งนำมาถึงความแตกแยกในสังคมไทย ผมว่านี่คือสิ่งที่จะมีผู้เชี่ยวชาญมาคุยกันในวันนี้ว่าเราจะ Localized SGDs อย่างไร แล้วจะนำเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาประเทศอย่างไร ซึ่งส่วนนี้ผมคิดว่าถ้าเราตอบโจทย์ 2 เรื่องนี้ได้ก็จะเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

“เศรษฐกิจ” ยั่งยืนจากฐานราก – Strength from Bottom

ผมอยากจะขอพูดถึง 2 เรื่องทีละรอบ เรื่องแรก พูดถึงเรื่องการสร้างความเข้มแข็งเพื่อตอบโจทย์ความเท่าที่ไม่เท่า ในเรื่องนี้รัฐบาลมีความตั้งใจจะพัฒนาในโมเดลใหม่ เราคิด New Model of Economic Development ภายใต้เศรษฐพอเพียง คืออะไร รัฐบาลกำลังทำขณะนี้ เราคิดว่าเราต้องสร้างโมเดลการพัฒนาประเทศที่เน้นความเข้มแข็งจากฐานราก Strength from Bottom เราชอบเน้นการพัฒนาแบบไหนทราบหรือไม่ เราชอบ Strength from the Top มันคือสิ่งที่รัฐบาลทำมา 50 ปี เน้น Trigger Down คือให้ไหลเลื่อนลงไปข้างล่างจากเมืองสู่ชนบท จากคนรวยสู่คนจน จากบริษัทสู่รายย่อย แล้วเป็นอย่างไรทำมา 50 ปี มันไม่ Trigger มันไม่ลง มันอยู่ข้างบนตลอดเวลา เจ้าสัวก็รวยเอาๆ บริษัทใหญ่ก็เติบโตๆ แต่ประชาชนข้างล่างกลับตามไม่ทัน

สิ่งเหล่านี้เราตั้งไปเปลี่ยนให้ได้ ผมอยากจะเล่าแค่ 1 เรื่องที่รัฐบาลทำขณะนี้ให้ทุกคนเห็นว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่ เรามีความตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็งจากข้างล่างไม่ใช่จากข้างบน ข้างบนมีอยู่แล้ว แต่เราต้องทำ 2 ส่วนพร้อมกัน คือ Strength from the Top และ Strength from Bottom ให้ไปคู่กัน แล้วหนึ่งในนั้นที่เราเห็นช่วงที่ผ่านมาคือว่าคนจนหรือคนในชนบท เขาพยายามนะครับ แต่รัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมเขาอย่างแท้จริง หลายคนสงสัยว่ารัฐบาลส่งเงินลงไปเป็นแสนล้านบาท ทำไมบอกว่าไม่ได้ส่งเสริม คำตอบคือว่าลองไปดูกฎหมายสิครับ ชาวบ้านอยากจะพัฒนาตนเอง อยากจะเข้มแข็ง แต่รัฐบาลช่วงที่ผ่านมาบอกว่าไม่ได้ ไม่ให้ทำ ไม่สนับสนุน

เช่น อันหนึ่งที่ชาวบ้านทำได้ดีมากและผมคิดว่าเป็นคำตอบของการพัฒนาประเทศ คือเรื่องที่ชาวบ้านเขาจะทำธนาคารของเขาเอง กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มการออม ธนาคารหมู่บ้าน ธนาคารชุมชน สถาบันการเงินชุมชน นี่คือชื่อของเขาเลยครับ มีอยู่ 40,000 แห่งทั่วประเทศไทย ไม่นับกองทุนหมู่บ้านอีก 80,000 แห่ง รวมแล้ว 120,000 แห่งทั่วประเทศไทย เขาก็เดินทางมาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เขาบอกอยากจะขอใช้ชื่อเป็นธนาคารได้หรือไม่ ธปท. บอกว่าอะไรทราบหรือไม่ครับ ไม่ได้ เพราะว่าเรามีพระราชบัญญัติสถาบันการเงิน ท่านมีเงิน 5,000 ล้านบาทหรือไม่ เพราะตามกฎเกณฑ์คือเปิดธนาคารพาณิชย์รายย่อยต้อง 1,000 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ปกติ 5,000 ล้านบาท ชาวบ้านบอกไม่มีครับท่าน มีแค่นี้ 200,000 บาท 500,000 บาท เริ่มต้นไม่กี่คน ถ้าแบบนั้นท่านก็เป็นไม่ได้ เพราะถ้าเป็นธนาคารแล้ว ถ้าเกิดล้มขึ้นมามันสุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ห้ามเป็นธนาคาร ถ้าเป็นธนาคารผิดกฎหมาย จับ

“ขอโทษนะครับ เขาก็บอกว่าขอใช้ชื่อเป็นธนาคารได้บ้างหรือไม่ เอาชื่อธนาคาร ธนาคารโคกระบือก็ยังมี ธนาคารชุมชน ขอชื่อนี้ บอกไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติสถาบันการเงินบอกว่าไม่ได้ ถ้าใช้ชื่อนี้ผิดกฎหมาย เป็นชื่อของเรา ห้ามใช้ชื่อว่าธนาคารหรือชื่อที่เกี่ยวข้อง แค่นี้ยังหวงเลยไม่สนับสนุน เขาก็ต้องกระเสือกกระสนทำแบบผิดกฎหมายอยู่จนถึงทุกวันนี้”

เมื่อ 1 เดือนที่แล้วรัฐบาลเห็นชอบพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน เป็นกฎหมายที่ให้ประชาชนทั่วประเทศไทยทำธนาคารได้ทุกตำบล เฉลี่ยแล้วตำบลละ 1-2 แห่ง ทำให้เราเห็นว่าเขาทำอยู่แล้ว ทำได้ดี และเปลี่ยนชีวิตเขา อย่างหนี้นอกระบบ ผมบอกเลยว่าจะจบเพราะสถาบันการเงินประชาชน รัฐบาลทำนาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ ช่วยได้บ้าง 50,000-100,000 บาทบ้าง แต่ปัญหาหนี้ของเขา 300,000 บาทครับ บางคน 500,000-600,000 บาท แต่ถ้าชาวบ้านทำเองก็ตอบโจทย์ได้”

อีกอันที่เพิ่งออกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคือพระราชบัญญัติวิสาหกิจชุมชน ชาวบ้านอยากจะมีธุรกิจ เราบอกรับจดทะเบียน แต่ไม่ให้ความเป็นนิติบุคคล ทุกคนก็จดทะเบียนมาแล้ว 63,000 แห่ง แต่รัฐบาลบอกไม่สนับสนุน ไม่รู้ว่าทำไม แต่บอกว่าไม่สนับสนุน ไม่ให้ความเป็นนิติบุคคล ดังนั้น ชาวบ้านเขารวมตัว สหกรณ์กล้วยหอม ทุเรียน แต่ไม่สามารถจะทำเป็นธุรกิจได้อย่างแท้จริง เพราะว่าท่านไม่มีตัวตนในสายตารัฐบาล เพราะท่านไม่มีความเป็นนิติบุคคล เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราเห็นชอบกฎหมายวิสาหกิจชุมชน ให้ชาวบ้านสามารถตั้งธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายได้ จะเปลี่ยนชีวิตเขาอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้จะสามารถกู้ได้โดยตรง จัดสรรกำไรได้โดยตรง ถือทรัพย์สินได้โดยตรง ทำธุรกรรมต่างๆ ได้โดยไม่ได้ต้องอาศัยชื่อกรรมการ

“นอกจากนี้ ผมอยากจะเล่าให้ฟังอีกว่า กฎหมายป่า เป็นกฎหมายที่ระดับประเทศที่ไม่สนใจพี่น้องประชาชน เพราะอะไร เพราะตอนเราทำกฎหมายป่า เรากลัวว่าป่าจะหมดประเทศไทย ก็สั่งว่าทุกที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ให้เรียกว่าเป็นป่า ทะเลสาบก็ป่าครับ ทะเลทรายก็ป่า ทางหลวงก็ป่า เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ ชาวบ้านจะไปเก็บเห็ด ติดคุก มันน่าคิดหรือไม่ แล้วกฎหมายฉบับนี้จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า เป็นกฎหมายที่ประชาชนอยากได้อย่างยิ่ง เขาอยากได้ป่าชุมชน เราก็ทำให้ยกให้”

นี่คือตัวอย่างของกฎหมายจำนวนมากที่เรากำลังทำ โดยอาศัยพี่น้องประชาชนเป็นศูนย์กลางการเขียนกฎหมาย เขาอยากทำอะไร บอกมาเดี๋ยวจะเขียนกฎหมายให้ เพื่อให้เขาสามารถระเบิดจากภายในได้ อย่างที่พระองค์ท่านบอก เขาอยากทำธุรกิจ อยากทำธนาคาร อยากจะทำป่า อยากจะมีสิทธิชุมชน อยากจะมีสวัสดิการชุมชน อยากปกครองชุมชนของตัวเองด้วยสภาของตนเอง เราจะเขียนกฎหมายเหล่านี้ให้ในอีก 8 เดือนข้างหน้า รวมถึงกฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เราประกาศไว้แล้ว

นี่คือสิ่งที่เราจะทำ เพื่ออะไร เพื่อความเข้มแข็งจากฐานรากจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง และเมื่อเกิดขึ้นอย่างแท้จริงก็จะกลายเป็น Strength from Bottom ที่จะระเบิดจากพี่น้องประชาชน จากทุกคน ทุกตำบลทุกหมู่บ้านให้เขาเข้มแข็ง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็จะเกิดได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องพึ่งพาธุรกิจขนาดใหญ่และหวังว่าจะส่งไปถึงเขาข้างล่าง นี่คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะทำและเป็นของขวัญให้พี่น้องประชาชน 

“ผมคิดว่าถ้าทำได้จะสอดรับกับที่พระองค์ท่านบอกว่าการพัฒนาต้องทำตามลำดับขั้น คือสร้างความเข้มแข็งให้พี่น้องประชาชนเป็นพื้นฐานก่อน แล้วพอหลังจากนั้นก็ค่อยก้าวระดับขั้นต่อๆ ไป ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงท่านบอกว่าเป็นพื้นฐาน พี่น้องประชาชนครอบครัวดูแลฐานะของตัวเอง ทำบัญชีครัวเรือน ดูแลรายได้ของครัวเรือนให้มีความเข้มแข็ง ผมก็คิดว่าเราทำถึงระดับหนึ่งแล้ว”

แต่ถ้าเราทำกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ได้ เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า คือเอาพี่น้องประชาชนมารวมกลุ่มกันก็จะเกิดขึ้นได้ ท่านทราบหรือไม่ว่าเกษตรกรขายสินค้า 100 บาท เกษตรกรได้เท่าไหร่ อยากให้เดา จริงๆ ได้เพียง 2 บาท ไม่น่าแปลกใจทำไมเกษตรกรถึงจนทุกวันนี้ พ่อค้าคนกลางเหยียบย่ำอยู่ แต่ถ้าพี่น้องเกษตรกรรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชน เป็นสหกรณ์ แปรรูปเบื้องต้น เขาจะได้ถึง 5-10 บาท โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมเลย สินค้าแบบเดิมแต่รวมกลุ่มกันและต่อรองกับพ่อค้าคนกลางออกไป

“ผมเพิ่งไปสุรินทร์ สหกรณ์ทัพไท ทำมาแค่ 3 ปี เขาทำข้าวอินทรีย์ 10 ประเภท เยอะแยะไปหมด เขารับประกันราคาให้เกษตรกรกลุ่มเขา 3,000 ครัวเรือน 16 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 16,000 บาทต่อตัน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลยังทำไม่ได้เลย แล้วเขาส่งขายสิงคโปร์ ส่งขายเยอรมนี ส่งขายสีฟ้าทุกสาขา มีขายที่เซ็นทารา เปลี่ยนชีวิตพี่น้องประชาชน แต่นี่คือหัวใจว่าจากแต่ก่อนที่ถูกกดขี่ รวมกลุ่มกันแล้วเขาสามารถที่ทำให้พี่น้องประชาชนได้ถึง 16 บาทต่อกิโลกรัม แล้วสหกรณ์ขายได้ 40 บาทต่อกิโลกรัม แล้วเอารายได้ไปแบ่งปันกัน”

“ธุรกิจ” เข้มแข็งจากภายใน – Strength to Last to Next Generation

สุดท้ายต้องเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบเครือข่าย ที่ต้องทำกับทุกท่านที่จะคุยกันวันนี้ว่าธุรกิจจะเข้าไปร่วม ธนาคารจะเข้าไปร่วมกับพี่น้องประชาชนและช่วยยกระดับได้อย่างไร

ประเด็นที่ 2 ที่ผมอยากจะพูดต่อไปก็คือ เราจะสร้างความเข้มแข็งที่แท้จริงให้กับภาคธุรกิจได้อย่างไร เราจะตอบโจทย์ที่ดูเหมือนจะเข้มแข็งแต่อ่อนแอและสร้างความแตกแยกได้อย่างไร และบรรลุถึงการพัฒนาที่แท้จริง

จริงๆ คือว่าเราต้องคิดว่าเราจะสร้างให้ธุรกิจของเรามีความยั่งยืน มีความแข็งแกร่ง Strength to Last to Next Generation ได้อย่างไร ผมว่าหลายคนทำธุรกิจเอาโตเข้าว่า เอากำไรเข้าว่า เอามัน เพราะผมเป็นนักธุรกิจมาด้วย อยู่ ธปท. มา 15 ปี อยู่ภาคเอกชน 5 ปี มาช่วยรัฐบาล 4 ปีที่ผ่านมา เราทำธุรกิจเราก็บอกว่าอยากจะรวยแล้ว ถ้ามีรายการไหนบอกว่าดูแล้วรวย ดูทันที อ่านแล้วรวยก็ซื้ออ่านทันที เห็นคำว่าหมื่นล้านอยู่ที่ปกต้องซื้อเป็นหนังสือขายดีทันที เพราะคนอยากรวย แต่ว่าการอยากรวยมันอาจจะไม่ใช่ความเข้มแข็งที่แท้จริง

ยิ่งยุคใหม่คือยุคการปฏิวัติ 4.0 เป็นยุคของความปั่นป่วนอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ผมว่าต้องคิดหนักว่าจะสร้างธุรกิจอย่างไรให้มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ที่ยั่งยืนต่อเนื่องไปถึงลูกหลานเราได้ และเป็นธุรกิจที่ไม่สร้างความแตกแยกในประเทศไทย ส่วนนี้ผมว่าเราต้องกลับมานั่งคิดว่าธุรกิจดังกล่าวจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร แล้วถ้าจะทำเศรษฐกิจพอเพียง SEP for SDGs ธุรกิจที่ว่าจะต้องมีหลักการอะไรบ้าง

“ตรงนี้อยากจะเล่าให้ฟังก่อนว่าอะไรคือธุรกิจที่อ่อนแอ นี่คือคำสำคัญ อย่างผม…กอบศักดิ์ ดูหนุ่มอยู่ใช่ไหมครับ แต่ 50 แล้ว ดูแข็งแรง แต่ผมมั่นใจเลยผมอ่อนแออยู่ภายใน ไม่ได้กินดี ไม่ได้นอนดี ไม่ได้ออกกำลังกาย ทำงานหนักเกินตัว ผมมั่นใจเลยว่าผมกลัวว่าจะล้มลงไป ผมรู้เลยว่ามันเป็นแบบนี้ แล้วธุรกิจหลายแห่งก็รู้ตัวเองว่าเขาเบ่งตัวเกินไปและผมบอกเลยว่าถ้าย้อนไปดูประสบการณ์ปี 2540 ก็คือเรื่องนี้ครับ ครั้งนั้นเราดูเหมือนจะเข้มแข็ง มีคนบอกว่าเราเป็นเสือตัวที่ 5 เราภาคภูมิใจมาก ธุรกิจบอกว่าผมพัฒนาขยายกิจการอย่างรวดเร็ว เป็นเจ้าสัว แต่จำได้หรือไม่ พ่อมดแห่งการเงิน ตอนนั้นเรายกย่องเขามาก แต่แล้วเป็นอย่างไร ข้างในมันกลวงมันก็เลยเกิดปัญหา”

“ถ้าเราจะทำการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง ธุรกิจเราก็ต้องเข้มแข็งจากภายใน ซึ่งส่วนนี้ปี 2540 เราเห็นเลยว่ามีธุรกิจประเภทที่ว่าเกินตัว กล้าได้กล้าเสี่ยงเกินไป และขณะเดียวกันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่แท้จริง ใครเสมอมาเราก็ขยายกิจการไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งบริษัทที่เรายกย่องว่าเป็นตัวอย่างของเศรษฐกิจพอเพียงสมัยนี้อย่างปูนซิเมนต์ไทย ขอพูดแล้วกัน คงไม่โกรธกัน ตอนนั้นก็ขยายเต็มที่ครับ ซื้อไปหมดเลยจนกระทั่งวันหนึ่งต้องตัดแขนตัดขา ตัดส่วนเกินๆ ออกไปเพื่อให้ตรงกลางรอดให้ได้ แล้วก็มีหลายองค์กรสุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียไป นี่คือข้อเท็จจริง”

บางครั้งธุรกิจที่เรียกว่าเข้มแข็งไม่ใช่เรื่องของความเร็วในการเติบโต ไม่ใช่เรื่องของขนาด ไม่ใช่เรื่องของความยิ่งใหญ่ ดูตัวอย่างบริษัทโกดักเป็นอย่างไร สมัยผมเด็กซื้อกระดาษฟูจิมาพิมพ์ แม่บอกไม่ได้ไม่รู้จัก ต้องเป็นกระดาษโกดักเท่านั้น และตอนนี้เป็นอย่างไร กลับบ้านเก่าไปเรียบร้อยแล้ว สมัยก่อนต้องซื้อโนเกีย รุ่นตกท่อตกแตกแล้วประกอบใหม่ก็ใช้ได้ ตอนนี้เป็นอย่างไร โนเกียแทบไม่มีใครซื้อแล้ว มันน่าคิดหรือไม่ นี่คือตัวอย่างของธุรกิจที่เข้มแข็งแต่ภายนอก

อีกตัวอย่างหนึ่งที่พูดแล้วคนเห็นภาพทันที เหมือนสาวๆ หนุ่มๆ สมัยนี้ที่ไปเกาหลีกันและไปทำศัลยกรรม ยกหน้า งามหน้า จมูกคม กรีดได้เลย หน้าเรียว แต่ขอโทษ ที่สำคัญกว่าภายนอกคือสวยจากภายใน เราอยากให้ธุรกิจไทยในอนาคตเป็นธุรกิจพันธุ์ใหม่ที่สวยจากภายในได้อย่างไร นั่นคือคำตอบ คือหัวใจ เพราะทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนภายใต้ SDG และเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปถึงเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง To Strength to Last คือความเข้มแข็งที่แท้จริงที่เราอยู่ได้อย่างแท้จริง

ในส่วนนี้ผมอยากจะยกตัวอย่างอีกอย่างว่าทำไมต้องคิดเรื่องนี้ให้หนักๆ ผมเคยอยู่ภาคธุรกิจ เราก็อยากจะเบ่งตัวเองให้ใหญ่ขึ้น แต่เราคิดหนัก เป็นนายธนาคาร เราบอกปล่อยสินเชื่อต่างประเทศปีละประมาณ 600,000 ล้านบาท แต่เราบอกว่าอยากจะขึ้นระดับ 2 ล้านล้านบาทเป็นต้น แต่การจะขึ้นไปขนาดนั้นไม่ใช่อยู่ๆปล่อยสินเชื่อแล้วจะไปได้ เราต้องคิดว่าเราจะสร้างสิ่งนั้นจากฐานข้างล่างอย่างไร เหมือนตึก 6 ชั้นจะเป็นตึก 20 ชั้น ไม่ใช่ต่อชั้นต่อๆ ไป เพราะถ้าต่อขึ้นไปเรื่อยๆ ตึกมันล้มได้ เพราะฐานตึกมันไม่ได้สร้างมารองรับสำหรับ 20 ชั้น ธุรกิจก็เช่นกัน โจทย์วันนี้คือว่าเราอยากจะสร้างธุรกิจประเภทใหม่ที่มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ธุรกิจดังกลาวยิ่งโตไปยิ่งต้องกลับไปตอบโจทย์ว่าจะสร้างฐานที่เข้มแข็งที่กว้างพอรองรับธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้อย่างไร

หลายคนไม่คิดแบบนี้ หลายคนจะเอามัน เอาโตอย่างเดียว พอโตอย่างเดียวมันก็จบไม่สวย ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องกลับมานั่งคิด การเน้นในจุดแข็งที่สุดของเรา สิ่งที่เราเข้าใจมันอย่างแท้จริง โตจากภายในของเราว่าเราจะดำเนินการอย่างไร ผมก็ไปนั่งอ่านหนังสือตัวอย่างของธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ผมก็คิดว่านี่คือสิ่งที่เขาบอกเลย เขาบอกว่าต้องทำสิ่งที่เขาเข้าใจ สิ่งที่เป็น Core Strength นี่คือสิ่งที่อย่าง SCG ทำตอนนี้ เน้นสิ่งที่เข้าใจอย่างแท้จริง และอย่างอื่นที่ไม่ใช่เราก็ไม่พยายามไปทำมัน เมื่อเราทำได้ เราก็จะมีความสามารถในการปรับตัวในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้ เพราะสิ่งที่เปลี่ยนไปเร็วและเราไม่ได้เข้าใจตัวเราอย่างแท้จริง ไม่ได้มีตัวของเทคโนโลยีที่เป็นหลักของเรา ก็ยากที่จะต่อสู้ได้

เรื่องของการบริหารความเสี่ยง คิดว่าเป็นสิ่งที่หลายคนจะพูดถึงวันนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการเงิน เป็นสิ่งที่ธุรกิจที่จะยั่งยืนได้ต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี ซึ่งนี่คือหลักการความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันภัย ของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง ตอนแรกที่ผมช่วย อาารย์จิรายุ เราคุยเรื่องนี้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงเรื่องของการบริหารความเสี่ยงที่ทุกระดับชั้นต้องทำเรื่องนี้ให้ได้ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันภัยกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

เรื่องคน ถ้าเราไม่ดูแลลูกน้องเรา เราจะมีความเข้มแข็งในการต่อสู้ได้อย่างไร เรื่องธรรมาภิบาล หลายคนบอกว่าใต้โต๊ะไป แล้วเป็นอย่างไร บางคนก็เกิดปัญหาขึ้นมา บางคนก็ร่วมกันคอร์รัปชัน ก็อยู่ไม่ได้ ถูกฟ้องร้อง ดูเหมือนจะดี จะโต แต่สุดท้ายก็ไม่ยั่งยืน ไม่ Last ไปถึงคนรุ่นต่อไป เรื่องของชุมชนเรื่องของประเทศ หลายแห่งไม่ได้สนใจเรื่องนี้ สุดท้ายก็เกิดปัญหาขึ้นเช่นกัน เพราะอยู่กับชุมชนไม่ได้ ดูอย่างเหมืองแร่ ชุมชนอยากจะเชิญกลับบ้านให้ได้เลย เพราะว่าอะไร เพราะคุณไปเอาจากเขาเฉยๆ แต่คุณไม่ช่วยเขาไม่ตอบแทนเขา หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมว่าก็คือสิ่งที่บางครั้งเราเร่งทำและไม่ดูแลให้ดี

ทั้งหมดคือสิ่งที่เศรษฐกิจพอเพียงพูดถึง รวมถึงหลักการความรู้คู่คุณธรรมที่ทำให้เรามีธรรมาภิบาลที่ดี บริหารจัดการที่ดี อยู่บนพื้นฐานของความรู้อย่างแท้จริง และที่สำคัญเงินไม่ใช่ทั้งหมด ความรวยไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ความยั่งยืนคือคำตอบ ยิ่งไปกว่านั้น ที่สำคัญ ถ้าเกิดเราสร้างธุรกิจพันธุ์ใหม่ที่มีหัวใจของความพอเพียงและความยั่งยืนแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ธุรกิจนั้นเป็นหัวใจของความสำเร็จในการพัฒนาที่แท้จริงให้ได้

สร้างธุรกิจพันธุ์ใหม่ “เข้มแข็งจากภายใน-วิญญาณความเอื้ออาทร”

ผมอยากจะเรียนทุกคนว่าเราต้องให้ธุรกิจเป็นหัวใจของความสำเร็จในการพัฒนาที่แท้จริงให้ได้ เพราะรัฐบาลทำไม่เป็น ผมสารภาพในนามข้าราชการว่าเราไม่เคยรวย แล้วจะให้ไปบอกให้ชาวบ้านรวยได้อย่างไร เคยได้ยินตลาดหมานอนหรือไม่ เราบอกว่าอยากจะสร้างตลาดให้ประชาชนใช้ทั่วประเทศไทย เราก็สร้างตลาดทั่วไป ปรากฏเราสร้างในที่ไม่ถูกต้อง ตอนนี้หมามานอนแทน โรงงานเศษเหล็กเราก็ทำมาแล้ว เราคิดว่าโรงงานมันต้องมีแบบนี้ๆ สุดท้ายชาวบ้านก็ไม่ใช่ เป็นเศษเหล็กที่สุด เพราะอะไร เพราะราชการไม่เคยทำธุรกิจ แล้วจะบอกให้ราชการทำให้ประชาชนรวย ไม่น่าแปลกใจเลยว่าโจทย์นี้เลยไม่จบซะที เพราะคนที่ไปช่วยไม่เคยทำได้มาก่อนในชีวิต ทำไม่เป็น

ทั้งหมดนี้หมายความว่าเราต้องทำงานกับเอกชน ถ้าเราสร้างธุรกิจพันธุ์ใหม่ที่มีความเข้มแข็งจากภายใน เราก็ต้องสร้างธุรกิจที่มีความเอื้ออาทรให้กับพี่น้องประชาชน ถ้าเป็นธุรกิจที่เอาแต่ตัวเอง เอาแต่เงิน เอาแต่ได้ ยากครับ ไม่ชนะใจลูกน้อง ไม่ชนะใจพนักงาน ไม่ชนะใจชุมชน และที่สำคัญก็ยากจะอยู่กับผู้คน เพราะเขาไม่ยอมรับเรา เขาบอกท่านจะเอาคนเดียวหรือไม่ จะไม่แบ่งให้ผมเลยหรือไม่ ท่านทำลายสิ่งแวดล้อมแล้วผมได้อะไรจากท่าน นี่คือคำถามของประชาชนตลอด

ถ้าเราจะคุยกันในห้องนี้เพื่อสร้างธุรกิจยุคใหม่ภายใต้ SDGs และการพัฒนาที่แท้จริง เราต้องใส่วิญญาณของความเอื้ออาทรในธุรกิจของเราด้วย เพราะว่าถ้าเราทำเรื่องนี้ได้ มันจะเปลี่ยนประเทศไทยอย่างยิ่ง ผมบอกเลยว่าราชการไม่รู้หรอกว่าจะทำให้ประชาชนรวยอย่างไร แต่ธุรกิจรู้ และถ้าเกิดธุรกิจช่วย ประชาชนก็จะรวยได้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการประชารัฐ 2-3 ปีที่ผ่านมา คือเอาธุรกิจ เอาเจ้าสัว ให้ออกไปช่วยพี่น้องประชาชน เขาไม่มีความจำเป็นเลย ธุรกิจแสนล้าน เขาไม่ต้องวิ่งงกๆ ไปต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย เขาบอกผมเหนื่อยครับพี่ แต่ผมยังไม่ย่อท้อนะครับ ผมก็ขอบคุณมากๆ ในนามของประชาชน เพราะผมรู้ว่าประชาชนไม่มีช่องทางสู่ตลาดที่แท้จริงและประชาชนไม่เข้าใจตลาด

ถ้าเราจับคู่ได้ เขาจะพลิกโฉมทุกอย่างเลย ผมเห็นธุรกิจดีๆ หลายแห่งเลยที่เขามีวิญญาณ ทำธุรกิจ ทำการตลาด ทำแบรนดิ้งเป็น ผมถามว่าถ้าเราไปบอกคุณป้าทำ OTOP ให้คุณป้าต้องทำแพคเกจจิ้ง ต้องทำแบรนดิ้ง ต้องทำ e-Commerce คุณป้าบอกว่าอะไร ป้าไม่รู้ ป้าไม่เข้าใจเลยมันคืออะไร นี่คือสาเหตุว่ายิ่งเราไปบังคับให้เปลี่ยน ก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะคุณป้าทำไม่เป็น เรากำลังทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อยู่ ถ้าเราเปลี่ยนใหม่ เอาธุรกิจไปช่วย ช่วยคิดแพคเกจจิ้งให้ คิดแบรนดิ้งให้ หา e-Commerce หาช่องทางให้ แต่คุณป้าทำเฉพาะการผลิต ทำงานฝีมือ คุณป้ารวยได้

“ผมจะเล่าให้ฟังว่า พอเข้าไปประชุม ครม. ท่านเลขา ครม. ก็บอกว่าต้องไปซื้อชุดใส่ชุดพระราชทานจากร้านบัวชมพูอารียา ผมก็ถามเจ้าของร้านว่าพี่ทำไหมเองหรือไม่ ก็ไม่ รับมา แล้วตัดเองหรือไม่ ก็ไม่ สั่งตัดที่จังหวัดมหาสารคาม มี 20 ครอบครัวที่ตัดให้ ตอนนี้เขาบอกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาขณะที่เศรษฐกิจข้างล่างตกสะเก็ด 20 ครอบครัวนี้ถอยรถไป 2 ครั้งแล้ว คันแรกนี่ล้านกว่าเลยนะครับ ที่ร้านก็บอกว่าเขามีหน้าที่แค่วัดตัว ออกแบบ ทำการตลาด ให้ทุกคนมาซื้อที่ผม แต่ผมไปให้ชาวบ้านตัดให้ แล้วผมก็แบ่งรายได้อย่างเหมาะสม มันอยู่กันได้ นี่คือคำตอบของธุรกิจที่เอื้ออาทร เราทำธุรกิจให้ชาวบ้าน แต่ชาวบ้านผลิตให้เรา แบ่งหัวใจคือให้แบ่งบ้าง อย่างที่ผมบอกว่าคนกลางไม่แบ่ง เกษตรกรถึงได้ลำบากขนาดนี้

ขณะนี้เราก็ทำได้ สร้างได้ ประชารัฐก็คือหนึ่งในนั้น เราก็มีอีกโครงการ เรียกว่าปั้นดาว เราพยายามหยิบธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน แล้วบอกว่าถ้าคุณมีอยู่ 10 ล้านบาท เราจะทำให้ 20 ล้านบาท ถ้ามี 20 ล้านบาท จะทำให้เป็น 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท เพราะการจะก้าวไปแต่ละขั้นไม่ได้ง่าย ต้องมีพี่เลี้ยงที่ดี ต้องมีการสนับสนุนที่ถูกต้อง เราก็เอาหน่วยงานรัฐบาลทุกอย่างมารวมกัน เพื่อสนับสนุนทั้งการวิจัย การตลาด ออกแบบ สินเชื่อเงินทุน แม้กระทั่งโฆษณา ต่อไปจะมี TV Direct เพื่อทำสินค้าให้กับชุมชนต่างๆ และเราขออย่างเดียว ขอให้แบ่งปันให้ประชาชนด้วย เราจะช่วยเต็มที่ ช่วยทุกอย่าง แต่แบ่งให้คนในสายพานการผลิตด้วย ในปลายปีก็จะจัดงานใหญ่ของโครงการปั้นดาว

ทั้งหมดนี้คือเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนและนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาเป็นหัวใจสำคัญ ท้ายที่สุดนี้ผมคิดว่าถ้าจะคิดเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมอยากจะให้ทุกคนช่วยกันคิดว่าการพัฒนาที่แท้จริงคืออะไร อะไรจะเป็นโมเดลใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งสำหรับผม 2 อย่างที่กล่าวมาแล้วคือการสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากและสร้างธุรกิจที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง มีความเอื้ออาทรและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมว่านี่คือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย แล้วการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงก็หมายถึงว่าทุกภาคส่วนต้องเข้มแข็ง ไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วได้จีดีพี 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวต่อปี เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่คนข้างล่างอ่อนแอยวบยาบ

ผมคิดว่าทั้งหมดนี้ถ้าเราทำได้ 20 ปีข้างหลังประเทศไทยจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาของโลก และเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านอย่างแท้จริง