ThaiPublica > เกาะกระแส > กลุ่มบริษัทไทยออโตทูลส์ฯ จับมือ มทร.ธัญบุรี เติมประสบการณ์จริงให้อาจารย์ ปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ “วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์”

กลุ่มบริษัทไทยออโตทูลส์ฯ จับมือ มทร.ธัญบุรี เติมประสบการณ์จริงให้อาจารย์ ปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ “วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์”

17 พฤษภาคม 2018


ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยออโตทูลส์ฯ(ที่2จากซ้าย) ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดย รศ. ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี (คนแรกซ้ายมือ)

กลุ่มบริษัท ไทย ออโต ทูลส์ฯ ผู้นำการออกแบบและสร้างแม่พิมพ์โลหะ อุปกรณ์จับยึด อุปกรณ์ตรวจสอบ และชิ้นส่วนยานยนต์คุณภาพสูงในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือหุ้นโดยคนไทย 100% และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติถึงศักยภาพและคุณภาพด้วยเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงที่ทัดเทียมกับผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่น ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรของประเทศ เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การแข่งขันและการเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างรวดเร็ว จึงได้จับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการเร่งสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ พร้อมเปิดโรงงานรับอาจารย์และนักศึกษาเข้าไปฝังตัวเรียนรู้และหาประสบการณ์จากการทำงานจริง

ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยออโตทูลส์ฯ เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อพัฒนาศักยภาพ ประสิทธิภาพ ในการผลิตบัณฑิตสาขาทางด้านวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ และสาขาอื่นๆ รวมถึงการวิจัยพัฒนา เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการและบูรณาการ ในการผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตในยุค 4.0 รวมถึงการวิจัยและพัฒนา และสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีระยะเวลาความร่วมมือต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2561-2564)

“ภาคเอกชนมีความต้องการบุคลากร สาขาทางด้านวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ หรือทางด้านหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติค่อนข้างมาก และบุคลากรด้านนี้ยังขาดแคลนมาก ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการก้าวไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และการก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การที่จะสามารถแข่งขันหรือมีเทคโนโลยีที่ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี และประเทศไต้หวัน ได้ หัวใจสำคัญคือจะต้องเร่งพัฒนาบุคลากร เชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ซึ่งต้องการองค์ความรู้มาต่อยอด กับมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์ที่มีความรู้ในเชิงทฤษฎีค่อนข้างสูง แต่ขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริงนี้ จะนำไปสู่การต่อยอด เกิดการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการผลิต การสร้างอุปกรณ์ โดยใช้หุ่นยนต์ในต้นทุนที่ต่ำลงได้ แล้วก็เพิ่มในเรื่องของประสิทธิภาพได้ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตด้วย” ดร.พยุง กล่าว

โรงงานไทยออโตทูลส์

การฝึกปฏิบัติการจริง

ด้านรศ. ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งเน้นให้เกิดผลใน 3 ส่วนหลัก คือ หนึ่ง การพัฒนาอาจารย์ ที่แม้ว่าจะมีความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ แต่ก็ยังขาดประสบการณ์การทำงานจริง สอง การพัฒนาคุณภาพนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยส่งเข้าไปฝึกงานจริง เพื่อจะได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านปฏิบัติ จบแล้วทำงานได้เลย และสาม มุ่งเน้นให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่มีประสิทธิภาพต่อการผลิตมากขึ้น

“ไม่ว่าจะเป็นการสอนหรือการปรับปรุงหลักสูตรอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ อาจารย์จะต้องสามารถทำงานเป็น เพราะถ้าอาจารย์เก่ง เด็กก็จะเก่ง อาจารย์มือเปื้อนเด็กก็มือเปื้อน อาจารย์ทำงานเป็น เด็กก็ทำงานเป็น การเรียนในสายปฏิบัตินั้น ถ้าอาจารย์นั้นทำงานไม่เป็น ก็ไม่สามารถจะถ่ายทอดการทำงานให้เด็กทำงานเป็นได้ อาจารย์จะไม่สามารถที่จะเข้าใจในเรื่องของแบบ หรือเรื่องการออกแบบ เมื่อมาสอนก็ไม่สามารถที่จะสอนให้เด็กนั้นออกแบบที่ดีได้ เราจึงเน้นให้อาจารย์ไปหาประสบการณ์จริงในโรงงานของเอกชนเลย ส่วนการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ คือ นอกจากพัฒนาให้นักศึกษาเป็นคนคิดเป็นทำเป็นแล้ว จะต้องอยู่บนพื้นฐานวิชาการที่ทันสมัย สามารถทำได้จริง และพัฒนาต่อยอดเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต ดังนั้น การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จึงมีความสำคัญมาก เพราะทำให้มหาวิทยาลัยได้พื้นที่การเรียนการสอนที่เป็นพื้นที่เสมือนจริงของภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการพัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และจะทำให้อาจารย์และนักศึกษา มีความเข้าใจกระบวนการผลิต โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ อย่างลึกซึ้ง”

ดร.พยุง กล่าวเพิ่มเติมว่า “การที่มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญเรื่องนี้ เป็นจังหวะที่เหมาะที่สุดแล้ว ซึ่งบริษัทพร้อมให้อาจารย์มาฝังตัว หาประสบการณ์จริง เพราะหากนำความรู้ในภาคทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ ก็จะทำเทคโนโลยีชั้นสูงขึ้นได้ เกิดเป็นผลงาน และสร้างนวัตกรรมใหม่ สามารถจับต้องได้ นำไปขายได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ประเทศไทยก็จะพัฒนาทัดเทียมประเทศญี่ปุ่นได้ 10 ปี 20 ปี ขณะที่การพัฒนานักศึกษานั้น บริษัทก็จะเปิดโอกาสให้มาฝึกงานจริงให้นานถึง 1 ปี ให้มีความเชี่ยวชาญ รู้ลึก รู้จริง โดยทีมวิศวกรของบริษัทยินดีถ่ายทอดความรู้ให้อย่างเต็มที่”