ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิษณุ เครืองาม” แจงสี่เบี้ยประชุมครม. ประวัติศาสตร์เงินตราจาก “เปลือกหอย” ถึง “คริปโทเคอร์เรนซี”

“วิษณุ เครืองาม” แจงสี่เบี้ยประชุมครม. ประวัติศาสตร์เงินตราจาก “เปลือกหอย” ถึง “คริปโทเคอร์เรนซี”

25 พฤษภาคม 2018


ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ผู้รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา  “Symposium Thailand 4.0 “Fintech & Cryptocurrency vs. Law Enforcement”” จัดโดยมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายละเอียดดังนี้

“ในฐานะที่ผมเป็นคนหนึ่งในรัฐบาล ก็อดไม่ได้ที่จะเรียนว่าต้องขอบพระคุณที่มูลนิธิได้มีแก่ใจหยิบเอาหัวข้อซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในสังคมเวลานี้คือเรื่องคริปโทเคอร์เรนซีขึ้นมาเป็นหัวข้อการสัมมนา เท่ากับว่าจะเป็นการสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้เกิดแก่ประชาชนทั่วไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องยาก และที่สำคัญคือเป็นเรื่องลึกลับ”

คำว่า “คริปโท” แสดงอยู่ในตัวแล้วว่ามันลึกลับ เพราะคริปโทแปลว่าลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เข้ารหัส ใครอยากรู้ต้องไขรหัสเข้าไป มันเป็นเรื่องยุ่งยากจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าจะมาตีแผ่ทำความเข้าใจ สร้างความรับรู้ความเข้าใจทั้ง 2 ทางก็เป็นเรื่องที่ดี รัฐบาลเองคงไม่สามารถทำแบบนี้ได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจคนละเล็กละน้อยจากสถาบันองค์กรต่างๆ ที่จะช่วยเผยเพร่ความรู้ในเรื่องนี้

ดร.วิษณุกล่าวว่า “ผมเองไม่ใช่ผู้รู้ในเรื่องนี้และพูดไปก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคนจะเข้าใจอย่างไรบ้าง บางท่านฟังก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าฟังไปแล้วจะเข้าใจหรือไม่ เพราะเรื่องนี้มันมันใหม่ มันใหญ่ มันยาก และลึกลับจริงๆ คณะรัฐมนตรีต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควรทีเดียวเพื่อสร้างความเข้าใจว่ามันคืออะไร เพราะเมื่อจะต้องมีการควบคุม ประเด็นมันเข้ามาสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าเราจะปล่อยไปตามยถากรรมแบบนี้ไม่ได้ จำเป็นต้องมีการควบคุม เมื่อจะต้องควบคุมก็ต้องรู้ก่อนว่ามันคืออะไร คุมอย่างไร คุมแล้วเกิดอะไรขึ้น ไม่คุมแล้วเกิดอะไรขึ้น”

“มันมีคำสำคัญ ซึ่งเวทีถัดไปมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิคงจะอธิบายขยายความให้กระจ่างแจ้งได้ เสียดายเวลาน้อยไปก็พูดกันไปคนละนิดคนละหน่อย แต่สำหรับผมอย่าเอานิยงนิยายอะไรมากเลย เขาให้ผมมากล่าวเปิดงาน แต่ผมก็จะใช้เวลาตรงนี้เล่าให้ฟังว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของการออกพระราชกำหนด 2 ฉบับขึ้นมา”

จากเปลือกหอยสู่คริปโทเคอร์เรนซี

เรื่องของคริปโคเคอร์เรนซีเกี่ยวพันกับคำศัพท์อีกหลายคำ เรื่องอย่างนี้ได้พูดให้ ครม. ฟังว่าคริปโทเคอร์เรนซีอาจจะมีการพูดอีกมิติหนึ่งว่าบิตคอยน์ อาจจะพูดอีกมิติว่าบลอกเชน อาจจะพูดอีกมิติว่าฟินเทค ทั้งหมดเรื่องเดียวกัน แต่มองกันคนละมิติคนละมุม เหมือนกับมองแก้วน้ำทรงสูง ถ้ามองด้านข้างก็บอกว่าแก้วสูงๆ ทรงกระบอก ถ้ามองจากบนลงล่างก็ลักษณะกลมๆ ใสๆ กลวงๆ เพราะมองจากปากแก้ว แต่ถ้ามองจากก้นแก้ว คว่ำลง ก็จะบอกว่าแก้วมีลักษณะทึบๆ เพราะไปมองที่ก้นแก้ว เรื่องของคริปโทเคอร์เรนซีมันก็มีลักษณะแบบเดียวกัน เพียงแต่จะจับเอาจุดใดมาพูดมามองเท่านั้น

ในที่ประชุม ครม. เราได้สร้างความเข้าใจให้ทราบกันว่า มนุษย์เดิมทีในอดีต 3,000-5,000 ปีมาแล้ว ที่เรียกว่าสังคมบรรพกาล ขออนุญาตย้อนไปอดีตโบราณหน่อย ทั้งที่เรากำลังจะเดินไปในอนาคต มนุษย์แลกเปลี่ยนกันด้วยวิธีที่เรียก barter หมูไปไก่มา คนหนึ่งให้สัตว์ไปอีกคนก็เอาเกลือมา ก็คบค้ากับแบบนี้ไม่มีซื้อขาย จนมนุษย์รู้จักเริ่มจะซื้อขายมากขึ้น สินค้าที่จะทำมาแลกกันเริ่มลดน้อยถอยลงหรือไม่ตรงกับความต้องการ มันก็เปลี่ยนมาเป็นสิ่งที่เรียกว่าสื่อกลางที่จะนำไปใช้แลกเปลี่ยนและพกพาไปไหนง่ายๆ

สื่อกลางที่เกิดขึ้นระยะแรกๆ คือเปลือกหอย บางครั้งอาจจะใช้วัตถุโลหะเป็นสื่อกลาง เปลือกหอยเท่าใดจะแลกข้าวได้เท่าใด โลหะหนักเท่าใดจะและเสื้อผ้าได้เท่าใด ลักษณะแบบนี้มันก็เริ่มเป็นการซื้อขายที่มีราคาค่างวด มีสื่อกลางเข้ามาแทน แล้วก็พัฒนามาเป็นเวลานานจนกระทั่ง 700 ปีก่อนคริสตศักราช มนุษย์ถึงเริ่มรู้จักใช้สื่อกลางที่ไม่ใช่สื่อที่เกิดจากธรรมชาติ แต่จัดทำขึ้น นั่นคือเหรียญ ตามที่เราพบเหรียญรุ่นแรกๆ ในตุรกี วันนี้เราก็ยกเครดิตให้ตุรกีเป็นประเทศแรกที่มีการจัดทำเหรียญหรือคอยน์ขึ้นมา ซึ่งตุรกีคงไม่คิดว่าวันนี้มันจะมาถึงเป็นบิตคอยน์ไปได้ เหรียญในยุคนั้นก็มีลักษณะตอกตราเป็นรูปต่างๆ รูปที่นิยมที่สุดคือสิงโต แล้วก็ใช้ตัวนี้เป็นการแลกเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไร เกิดราคา เกิดเงินขึ้นมา เป็นเงินที่ตอกตรารูปสิงโต เรียกว่าเงินตรา คือเงินที่ตราขึ้นไม่ใช่โลหะตามธรมชาติ

พัฒนาการแบบนี้มีเรื่อยมาจนกระทั่งถึงยุคที่โลหะเริ่มไม่สะดวกจึงได้เปลี่ยนไปใช้กระดาษ กระดาษที่จะนำมาใช้คล้ายๆ ธนบัตรเกิดขึ้นในจีน แต่ก็ไม่ถึงกับพิมพ์ขึ้นเผยแพร่มากมายนัก ใช้กันอยู่ในวงที่แคบๆ แต่วันนี้เราใช้เครดิตจีนเป็นประเทศแรกที่มี แต่ประเทศพิมพ์ธนบัตรเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ใช้กันเกร่อขึ้นมาเป็นประเทศแรกนั้นคือสวีเดน และตั้งแต่นั้นมาธนบัตรก็มีจำนวนมากมาย อาจจะใช้ร่วมกับเหรียญเงินตรา

ในประเทศไทยก็มีลักษณะเดียวกัน ในสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยบุพเพสันนิวาส ออเจ้าเขาก็ใช้เปลือกหอยที่ต่อมาก็พัฒนาไปเป็นเหรียญที่ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ก็มีเงินมาตอกตราเป็นรูปครุฑและเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กร พอสิ้นรัชกาลก็ยกเลิก ขึ้นรัชกาลใหม่ก็ตอกตราใหม่ตามพระราชนิยม ก็ใช้กันสืบมา แต่ที่จะมีการจัดทำขึ้นลักษณะวัตถุโลหะสื่อกลางแบบเหรียญของตุรกีนั้นมันเกิดขึ้นในช่วงปลายอยุธยา ที่เรียกกันว่าเงินพดด้วง จนกระทั่งรัชกาลที่ 4 ตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ตรงข้ามกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เอาไว้ตอกตราทำเหรียญกษาปณ์ใช้กันทั่วไป และต่อมาก็พัฒนาการมาเป็นธนบัตร แสดงว่าพัฒนาการของไทยก็เหมือนกับต่างประเทศ แต่แค่ช้าออกไปหลายร้อยหลายพันปีเท่านั้นเอง

ส่วนการที่จะเอาบัตรเครดิตมาเป็นสื่อกลางในการชำระหนี้ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2489 เป็นต้นมา หลักจากนั้นพัฒนาการของการชำระหนี้ในลักษณะสื่อกลางต่างๆ ก็กระจัดกระจายทั่วไป จนกระทั่งมาถึงวันนี้ วันที่มีเกิดสิ่งที่เรียกว่า  “คริปโทเคอร์เรนซี” ขึ้น คริปโทแปลว่าลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนเข้ารหัส ถ้าหากอยากได้คำตอบต้องไขรหัสออกมาให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องยาก อะไรที่ลึกลับแบบนี้เรียกว่าคริปโททั้งนั้น เมื่อรวมกับเคอร์เรนซี ซึ่งแปลว่าเงินตรา จึงเกิดเป็นคำว่า คริปโทเคอร์เรนซี เงินตราที่เข้ารหัส

ข้อดี-ข้อเสียคริปโทเคอร์เรนซี

จริงๆ คำว่าเงินตราไม่ควรจะเรียกเงินที่เข้ารหัส แล้วความจริงเงินก็ไม่ควรจะเรียก เพราะมันไม่ได้เป็นเงิน สุดท้ายเหลือคำเดียวคือรหัส บางครั้งเราจึงเรียกมันว่าเงินเสมือน คือไม่ใช่เงินแต่เหมือนเงิน เพราะมันใช้ชำระหนี้ได้ มันสามารถใช้ซื้อขายได้ แลกเปลี่ยนได้ ใช้ทุกอย่างที่เงินหรือธนบัตรหรือบัตรเครดิตทำได้ เพราะมันอาศัยสิ่งเดียวเป็นสิ่งรองรับ คือการเชื่อใจยอมรับนับถือระหว่างกัน

ไม่เหมือนกับกรณีของเงินตรา เป็นเงินที่รัฐบาลกำหนด รัฐบาลจึงยอมรับนับถือ รัฐบาลเป็นประกัน รัฐบาลต้องหาสินทรัพย์มาหนุนหลัง เช่น ทองคำ รัฐบาลต้องกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลต้องควบคุมดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม โดยไม่ได้ต้องมีคนเชื่อและคนไม่เชื่อ

แต่คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินสร้างขึ้นเอง สมมติกันเองว่าคือเงินและใช้ซื้อข้าวของกัน ในต่างประเทศแรกๆ ก็เอาไว้ซื้อพิซซ่า ซื้อฮอทดอก หนักเข้าซื้อบ้านซื้อรถ แล้วก็ซื้อเครื่องเพชรนิลจินดา ซื้อสิ่งต่างๆ ที่มีมูลค่ามหาศาลได้เหมือนหนึ่งเอาเงินไปซื้อทุกประการ คริปโทเคอร์เรนซีหรือเงินเสมือนนั้น ตามประวัติว่ากันว่าเกิดขึ้นมา 20 ปีแล้ว เรียกว่า B-money แต่แรกๆ เป็นว่าเพียงทำให้คนรู้จัก แต่ไม่เป็นที่นิยม ไม่มีใครใช้ ที่นำมาใช้กันเป็นล่ำเป็นสันและเป็นปัญหาจนทุกวันนี้ เพิ่งเกิดขึ้นประมาณ 10 ปีเท่านั้น ไม่ได้นานมากมายหนักหนาอะไรเลย แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น ด้วยหัวคิดของนายซาโตชิ นากาโมโตะ และยังต้องใช้หลักทางคณิตศาสตร์เข้าไปหลักทางคอมพิวเตอร์เข้าไป จนออกมาเป็นเงินเสมือนเรียกว่าบิตคอยน์

บิตคอยน์นั้นเป็นคริปโทเคอร์เรนซีชนิดหนึ่ง แต่ที่เป็นเงินเสมือน เหมือนเงินไม่ใช่เงิน ใช้ได้แบบเงิน เราเรียกว่าคริปโทเคอร์เรนซีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคริปโทเคอร์เรนซีจึงมีมากมายหลายชนิด ขณะนี้ประมาณกันว่ามีถึง 1,400 ชนิด แต่ที่ดังที่สุดคือบิตคอยน์ นอกจากนั้นอาจะจมีชื่ออื่น อีเทอร์ ริปเพิลบ้าง และมีอีกสารพัด

ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นของเล่น ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นจิตนาการ ที่ดูว่าน่าจะเป็นมโนภาพ กลายเป็นเรื่องราวเป็นจริงเป็นจังได้ เพราะว่ามีการเข้าไปสู่ระบบและดึงออกมาใช้ ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ถ้าใช้ภาษาธรรมดาก็คือนำไปเล่นกันทั่วไปในโลกจนเกือบจะบอกว่าทุกประเทศ แม้แต้ประเทศไทยก็เล่นกันอยู่ก่อนจะมีพระราชบัญญัติออกมา แล้ว 4-5 ปีหลังยิ่งหนาหูหนาตาขึ้นมาก มันคงจะสนุกสนานมั้ง มันคงล่อใจมั้ง

แต่องค์ลักษณะที่จะจัดเป็นคริปโทเคอร์เรนซีได้นั้น จำไว้ว่ามี 3 ประการ ไม่เช่นนั้นไม่ใช่ ประการแรก มันต้องไม่มีลักษณะทางกายภาพ มันต้องไม่จับต้องได้ เป็นสิ่งที่สมมติขึ้นมาอยู่ในกลไกทางคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ เมื่อขุดลงไปก็นำออกมาใช้และเล่นต่อกันไปในลักษณะแบบนั้น มันไม่เหมือนธนบัตรหรือเหรียญที่จับต้องได้

ประการที่ 2 คือมันจะต้องกระจายศูนย์ หมายความว่าเมื่อเข้าไปสู่และเล่นมัน มันจะต้องเชื่อมโยงต่อไปและบันทึกเอาไว้ในเครื่องต่างๆ มากมายหลายเครื่อง ไม่กระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่งที่เดียว

ประการที่ 3 คือมันต้องลึกลับคือ Encrypt หรือ Crypto นี่แหละ หมายความว่ามันต้องถอดรหัสออกมาถึงจะนำไปใช้ได้ มันเหมือนกับว่าทรัพย์นี้อยู่ใกล้ใคร ปัญญาไวหาได้ก็ได้ไป ถ้าใครปัญญาไม่ไวก็หาไม่เจอ ใครปัญญาดีก็ลงไปขุด มาจากการทำเหมืองแร่ลงไปขุดก็จะพบ พบคริปโทเคอร์เรนซีและนำมาใช้ มาเก็บสะสมไว้ ใส่ในกระเป๋าของตัวเอง ตุนเอาไว้ออกมาใช้เวลาต้องการใช้

แต่ทั้งหมดอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน จะมีประโยชน์อะไรถ้ามีบิตคอยน์มีคริปโทเคอร์เรนซีมากมายในกระเป๋า แต่ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกเชื่อถือ เพราะฉะนั้นท่านก็สนุกของท่านไปคนเดียว มันจะเริ่มเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เมื่อท่านปล่อยออกไปและมีคนเชื่อ มีคนใช้ มีการยอมรับ เสมือนหนึ่งเป็นเงินตรา ของแบบนี้เป็นเรื่องของความรู้สึก เมื่อรู้สึกว่าเหมือนเงินตราก็ยอมรับ พอยอมรับก็นับถือ พอนับถือก็เชื่อถือ มันก็ทำธุรกรรมได้ เคยมีกรณีที่เอาบิตคอยน์ไปซื้อแซนวิช คนขายก็ขายซะด้วยสิ โดยได้บิตคอยน์มาและเก็บเอาไว้ในเก๊ะในกระเป๋า แล้วต่อไปอยากใช้ทำอะไรก็ไปซื้อต่อขายต่อ

เมื่อยอมรับกันแบบนี้มากๆ เข้า คริปโทเคอร์เรนซีมันจะมีทองคำหนุนหรือไม่ ไม่แปลก จะมีสินทรัพย์หนุนหลังหรือไม่ก็ไม่แปลก เพราะมันยอมรับกันเสียแล้ว ในที่สุดก็จะกระจายไป ผมอยากใช้คำว่าระบาดไปทั่วโลก ข้อดีของมันก็มีมันรวดเร็ว ว่องไว ทันใจดี ไม่ต้องยุ่งกับอัตราแลกเปลี่ยนของทางการ ไม่ต้องยุ่งกับดอกเบี้ย ทุกอย่างสุดแท้แต่ใจจะไขว่คว้าคือมันไปด้วยความสมัครใจ ข้ามประเทศก็ได้ ข้ามทวีปก็ได้ เมื่อยอมรับกันเสียอย่าง

ข้อเสียที่สำคัญก็คือว่า ระวังว่าเมื่อเข้าไปในวงการนี้แล้วอาจจะเกิดการหลอกลวงกันง่ายๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องแล้วยังจะอาสาเข้าไปเล่น เมื่อเล่นก็อาจจะถูกหลอกลวง คำต่อไปก็อาจจะมีการทุจริตคดโกง คำต่อไปก็คือเมื่อระบบผิดพลาด มันเหมือนกับท่านมีเงินมีธนบัตร มีบัตรเครดิต แล้วถ้าวันหนึ่งถูกล้วงกระเป๋าไป โจรขึ้นบ้าน จะเกิดอะไรขึ้น ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นได้กับคริปโทเคอร์เรนซีสกุลใดก็ตามคือถูกจารกรรมข้อมูล มันหายได้เหมือนเงินและก็หาไม่เจอ แล้วไม่รู้ว่าหายไปไหน แล้วไปแจ้งความจับก็ไม่รู้จะจับใคร คนร้ายงัดตู้ไปยังพอสงสัยว่าใครทำ แต่คริปโทเคอร์เรนซีไม่รู้ว่าจะไปตั้งหลักสงสัยใครที่ไหน อันนี้คือปัญหาเรื่องการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย จะจัดการกันอย่างไร จะจับมือใครดม จับจริงๆ ก็ดมได้ แต่มันคงยุ่งยากกว่าจับโจรธรรมดา แล้วโอกาสเกิดขึ้นก็มีมาก

เมื่อไม่นานมานี้บริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี วันหนึ่งก็ออกมาประกาศว่ายินยอมล้มละลาย เขาล้มละลายเพราะคริปโทเคอร์เรนซีสูญหายไปจำนวนมาก ในจังหวะเดียวกันบริษัทยักษ์ใหญ่อีกแห่งในญี่ปุ่น ซึ่งมีคริปโทเคอร์เรนซีสกุลหนึ่ง เขาทำสูญหายจากถูกจารกรรมข้อมูลไป คิดเป็นเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท แล้วก็จังหวะใกล้เคียงกัน ข่าวก็ปรากฏไปทั่วโลก กรณีของไนจีเรีย เป็นประเทศใหญ่แต่ยากจน เมื่อคริปโทเคอร์เรนซีเข้าไปก็เล่นกัน มีคนไปพัวพันชาวบ้านชาวช่องกว่า 3 ล้านคน กิจการล้มครืนลงกระทบคนทั้ง 3 ล้านคน สูญเงินอีก 1,200 ล้านบาท เป็นคดีความกันจนวันนี้และไม่รู้จะฟ้องใครด้วย หนักเข้าจะฟ้องกันเอง

3 ตัวอย่างนี้เป็นสิ่งที่มักยกขึ้นมาขู่คนที่คิดว่าจะเอาคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ให้ระวัง ถ้าเป็นตัวอย่างเล็กน้อยก็มีอีกมากมายในหลายประเทศ เมื่อมันเกิดมากๆ เข้าสิ่งที่รัฐบาลไทยถามก็คือว่าแล้วประเทศไทยมีคนเล่นคริปโทเคอร์เรนซีหรือไม่ ปรากฏว่ามี แล้วเกิดความเสียหายหรือยัง ยัง แล้วอาจจะเกิดหรือไม่ อาจจะ ที่ว่าอาจจะเกิดเกิดอย่างไร อันแรก จารกรรมข้อมูลไป ขโมยเงิน อาจจะเกิดการหลอกลวงให้เข้ามาเล่นด้วยกันไหมเหมือนแชร์แม่ชม้อย นี่คือจิตนาการว่าจะเกิดถ้าไม่ป้องกันอะไรเลย

รัฐบาลตื่นตัวเร่งศึกษา-กำกับ

สิ่งต่อไปที่รัฐเป็นห่วงคือรัฐบาลได้รับรายงานจากต่างประเทศเข้ามาว่า ไทยต้องระวัง ไม่เช่นนั้นจะเป็นสวรรค์ของการฟอกเงิน คริปโทเคอร์เรนซีเป็นช่องทางการฟอกเงินได้ดีที่สุดคือเอาเงินเถื่อนผิดกฎหมายมาแปลงเป็นคริปโทเคอร์เรนซีและเล่นกัน สุดท้ายก็ไปไม่กลับกู่ไม่กลับว่ามันฟอกเงินไปถึงไหน สุดท้ายจะไปยึดอะไรมา หลังจากนั้นก็มีการเตือนเข้ามาอีกว่ายังมีเรื่องก่อการร้ายข้ามประเทศอีกด้วย แล้วก็มีคำเตือนว่าประเทศไทยอยากเลือกตั้ง เมื่อเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง ระวังจะมีเงินสะพัดการซื้อเสียงขายเสียงในรูปคริปโทเคอร์เรนซี นี่คือคำเตือน ยังไม่เกิด แต่รัฐบาลจะอยู่นิ่งเฉยก็ไม่ได้

รัฐบาลจึงเร่งศึกษากันใหญ่ว่าบ้านอื่นเมืองอื่น เขาอยู่กันอย่างไร ทำกันอย่างไร คริปโทเคอร์เรนซีมีมา 10 ปีแล้ว แล้วทำไมเตือนเราแบบนั้นแบบนี้ เรื่องนี้เริ่มต้นรัฐบาลมอบให้กระทรวงยุติธรรมไปศึกษาว่าจะจัดการอย่างไร กระทรวงยุติธรรมก็งงๆอยู่ว่าจะทำอย่างไร เล่นก็ไม่เป็น เป็นของใหม่ ก็ต้องระดมผู้รู้เข้ามา พอระดมเข้ามาถึงได้รู้ว่าเมืองไทยมีคนรู้อยู่มาก แหล่งแรกอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ปรับโครงสร้างเตรียมรองรับฟินเทคมาระยะหนึ่ง อย่างน้อยในยุคท่านผู้ว่าการปัจจุบัน แหล่งที่ 2 กลายเป็นว่า ก.ล.ต. ก็เป็นผู้รู้และเตรียมการเรื่องเหล่านี้ไว้ อีกแหล่งอยู่ที่กระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ก็ได้เตรียมพร้อมไว้ เพียงแต่ยังไม่ได้สัญญาณจากรัฐบาลก็ดูๆ กันไปก่อน

ในที่สุดเมื่อกระทรวงการคลังรายงานกลับมายังรัฐบาลว่าต้องจัดทำกฎหมายเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราว ออกระเบียบ วางกำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะคุมแบบไหน รัฐบาลก็ทำ แล้วรัฐบาลก็ถามว่าแล้วในโลกทำแบบไหนบ้างล่ะ ก็เห็นว่ามีอยู่ 3-4 แบบ บางประเทศคุมโดยใช้กฎหมายฟอกเงิน เช่น สหรัฐอเมริกา บางประเทศคุมด้วยการออกกฎหมายพิเศษมา เช่น เกาหลีใต้ บางประเทศคุมโดยการใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่ เช่น กฎหมายธนาคารชาติ กฎหมายหลักทรัพย์ หรือกฎหมายอื่นใด รวมทั้งกฎหมายบริษัทในการรจัดตั้งมาประกอบกิจการแบบนี้ จนไปถึงว่าบางประเทศห้ามเลย คือคุมไม่เป็นคุมไม่ถูก ห้ามเล่นมันละกัน เช่นจีนช่วงแรกๆ

เมื่อเห็นตัวอย่างแบบนี้ รัฐบาลก็มอบให้กระทรวงการต่างประเทศไปศึกษาเพิ่มเติม ไปสัมผัสอย่างใกล้ชิดว่าในแต่ละประเทศเขาดูแลคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไร กลัวไหม แล้วจัดการอย่างไร แล้วก็ให้กระทรวงพาณิชย์ช่วย เพราะเราก็มีทูตพาณิชย์อยู่หลายประเทศ ในที่สุดก็ได้คำตอบกลับมาและสรุปเข้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งเห็นว่าจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายเกิดขึ้น

ยกร่างกฎหมาย 7 วัน

ครั้งแรกเริ่มคิดว่าจะจัดทำเป็นพระราชบัญญัติปกติ เพื่อค่อยๆ ละเมียดละไมทำ เสร็จแล้วก็เสนอสภานิติบัญญัติ รับฟังความเห็นก่อนตามมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญ เดิมเตรียมการแบบนั้นจริงๆ แต่ต่อมาปรากฏว่ามีเหตุชวนวิตกว่ากฎหมายทำแบบละเมียดละไมอย่างที่ว่าต้องใช้เวลาเป็นปี กว่าจะร่างเสร็จ กว่าจะเสนอ กว่าจะรับฟังความเห็น กว่าจะไปกฤษฎีกา กว่าจะไปสภาฯ แล้วกว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายจนลงพระปรมาภิไธย

“เช่นนั้นใช้วิธีที่ 2 มีคนเสนอมา ท่านคงนึกออก ใช้มาตรา 44 ถ้าใช้ก็คิดเช้า ร่างบ่าย เย็นประกาศ พรุ่งนี้จับกันเลย แต่การใช้มาตรา 44 ตั้งแต่ประกาศรัฐธรรมนูญวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นมา รัฐบาลใช้มาตรา 44 น้อยมาก จะใช้เฉพาะกรณีที่สร้างสรรค์ ไม่ใช้เพื่อไปลงโทษใคร มีแต่ใช้อนุเคราะห์ช่วยเหลือ เหมือนการช่วยเหลือทีวีดิจิทัล 22 ช่อง ที่ประมูลกันแพงๆ วันนี้ไม่มีปัญญาจ่าย ก็ต้องผ่อนเวลาให้ คิดดอกเบี้ยราคาถูก จะได้มีเวลามีทุนรอไปทำอะไรต่อ ก็เป็นผลกระทบจากเทคโนโลยี”

ดังนั้น ถ้ามีผลกระทบจากเทคโนโลยีการเงินเข้ามามันก็คงจำเป็นต้องช่วยเหลือ หรือจัดการ หรือควบคุม แต่ต้องทำแบบเร่งรีบ ก็มีคนเสนอว่าใช้มาตรา 44 แต่ก็มีผู้คัดคค้าน ที่จริงผมก็คัดค้านว่าไม่ควรใช้เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องใหม่เรื่องใหญ่ ถ้าใช้แล้วพลาดมันจะพลาดเลย ถ้าออกเป็นพระราชบัญญัติก็ช้าไป

หากพบกันครึ่งทางมันมีหรือไม่ช้าๆ เร็วๆ คือรอบคอบและมีโอกาสให้สภามาเกี่ยวข้องได้ มันก็คือทางสายกลางที่มีอยู่คือออกเป็นพระราชกำหนด หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Emergency Decree มันเป็นกฎหมายพิเศษที่ออกได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยปกติอยู่แล้วว่าเรื่องใดฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน เพื่อบำบัดปัดป้องภัยพิบัติของประเทศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคง รักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงิน วิธีออกก็คือว่าต้องร่างขึ้นมาและทำทูลเกล้าฯ ถวายลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ได้เลย แต่เสร็จแล้วต้องนำไปให้สภาฯ เห็นชอบ ถ้าไม่เห็นชอบก็ตกไป แต่ถ้าเห็นชอบก็จะเป็นเหมือนพระราชบัญญัติสืบไป

สุดท้ายรัฐบาลก็ตัดสินใจว่าจะออกเป็นพระราชกำหนด เสร็จแล้วก็เรียกผู้เกี่ยวข้องมาประชุมจำนวนมาก ครม. ก็ให้ผมเป็นประธานยกร่าง ทั้งที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ผู้รู้เรื่องมานั่งทำอย่างละเอียดทุกคน ธนาคารชาติส่งทีมงานมา ผมถึงรู้วันนั้นว่า ธปท. ก็เตรียมตัวมานานแล้ว ก.ล.ต. ก็ส่งทีมงานมาก็เตรียมตัวไว้นานแล้ว สำนักงานเศรษฐกิจการคลังของกระทรวงการคลังก็เตรียมการมานานแล้ว กรมสรรพากรส่งผู้แทนมา กรมสรรพากรก็เตรียมเก็บภาษีอยู่นานแล้ว ปัญหาคือเมื่อทุกคนมีแนวคิด มีเนื้อหา ใครจะเอาสาระทั้งหมดมารวมและยกร่างเป็นมาตราขึ้นมา

“ตรงนี้ต้องอาศัยมือกฎหมายคือสำนักงานกฤษฎีกา แรกๆ พอบอกว่าต้องให้กฤษฎีกายกร่าง ผมก็นั่งกุมขมับว่าจะรู้เรื่องไหมเนี่ย บ้านอื่นเขาเตรียมตัวมากันหมดแล้ว กฤษฎีกาเคยเตรียมไหมเนี่ย ไม่น่าจะเคยเตรียมมั้ง แต่พอเชิญกฤษฎีกามา ผมตกใจตื่นเต้นมาก เพราะกฤษฎีกาบอกว่าเราก็เตรียมไว้นานแล้ว วันหนึ่งเมื่อคริปโทเคอร์เรนซีมาถึงประเทศไทย บล็อกเชนมาถึงประเทศไทย ฟินเทคมาถึงประเทศไทย มันต้องมีกฎหมายแน่ เขาก็ซุ่มร่างเตรียมไว้แล้วเหมือนกันตามแนวคิดของเขา แล้วอะไรก็ไม่เท่ากับว่าเขาส่งคนไปเรียนต่อด้านนี้จบจบปริญญาเอกมาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ไอ้นั่นแรกๆ ก็กลับมาโดยไม่รู้ว่าจะทำอะไร ที่เรียนมาก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะใช้ วันนี้ประเทศไทยจะใช้งานแล้ว ก็ได้คนที่เรียนมาโดยเฉพาะของกฤษฎีกา มามั่วสุมกับแบงก์ชาติ ก.ล.ต. กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ยกร่าง”

“ผมยอมรับว่าพลาดก็พลาด แต่เป็นการพลาดที่ตั้งใจ คือจำเป็นต้องพลาด คือเราควรเชิญภาคเอกชนเข้ามาด้วย จากสมาคมต่างๆ ผู้ประกอบการต่างๆ แต่เนื่องจากพระราชกำหนดมันแปลว่าต้องเร็วและต้องลับ ถ้าไม่เร็วและไม่ลับก็ไม่ต้องออกพระราชกำหนด ดังนั้น เมื่อต้องการเร็วก็มัวฟังอยู่ไม่ได้ ถ้าผู้ที่เชิญมาไม่รู้อะไรเลยก็คงต้องไปฟัง แต่คงที่เชิญมารู้เรื่องหมดแล้วก็ต้องทำให้เร็ว ประการต่อไปคือต้องลับ คำว่าลับคือจะแพร่งพรายออกไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะออกเป็นพระราชกำหนดทำไม ในที่สุดก็บอกว่ารอไปก่อนฟังความเห็นอื่นๆ ไปก่อน ออกเป็นพระราชบัญญัติ”

เขาก็ใช้เวลาทำ 7 วันเสร็จออกมา 2 ฉบับ พระราชกำหนดสินทรัพย์ดิจิทัล และพระราชกำหนดแก้ไขประมวลรัษฎากร เรื่องการจัดเก็บภาษี ทำเสร็จแล้วเมื่อนำเข้า ครม. ก็เห็นว่ายังไม่รอบคอบถี่ถ้วนในบางเรื่อง ต้องปรับปรุงอีก 7 วันก็กลับเข้ามาใหม่ ครม. ก็พอใจแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ แต่ว่าเมื่อลงพระปรมาภิไธยประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2561 หลังจากนั้นก็นำไปเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเสนอไปแล้ว บัดนี้สภาก็ใช้ความเห็นชอบแล้วและมีข้อสังเกตบางประการ

หลักหรือทฤษฎีที่ใช้ในการทำกฎหมาย 2 ฉบับนี้อยู่บนพื้นฐานว่าครั้งแรกเมื่อเราจะควบคุมคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย เราอนุเคราะห์มันว่าจัดมันเข้าไว้ในประเภทเงินตราได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ใช้กฎหมายของธนาคารชาติไป ธปท. บอกว่าคริปโทเคอร์เรนซีไม่ใช่เงินตรา ถึงจะใช้ชำระหนี้ได้ก็ไม่ใช่เงินตรา ที่ชำระหนี้ได้ไม่ได้เป็นการชำระหนี้ตามกฎหมาย แต่เป็นตามความพอใจของเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่างหาก แบบนั้นมันก็ใช้ได้อยู่แล้ว ขั้นต่อไปก็ถามว่าเป็นสินทรัยพ์หรือไม่ ถ้าเป็นก็ใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. ควบคุมได้ ก.ล.ต. บอกไม่ใช่สินทรัพย์ เว้นแต่จะกำหนดใหม่ ดังนั้นก็ใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบันไม่ได้

พระราชกำหนดใหม่จึงเป็นทางออก และจะสมมตินิยามอะไรขึ้นมาใหม่ก็ว่ากัน และแบ่งภาระความรับผิดชอบสำหรับการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ด้วยว่า กรณีนี้กระทรวงการคลังมีหน้าที่เตือนชาวบ้าน ไม่ใช่แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ให้เข้ามาเล่นมาซื้อขายด้วยความระมัดวังและต้องระวังจุดที่จะสะดุดผิดพลาดกี่จุดตรงไหน ธปท. ก็มาควบคุมในส่วนที่เกี่ยวข้องบางเรื่อง ก.ล.ต. จะเข้ามาเป็นหน่วยงานหลักในการออกกฎระเบียบควบคุม เราฝากทุกอย่างไว้ที่ ก.ล.ต. ตัวพระราชกำหนดไม่ได้มีอะไรมากมาย แต่ต้องออกกฎหมายลูก ซึ่งก็เตรียมการจะออกมาพอสมควรแล้ว พอถึงเวลาก็จะรับฟังความเห็นและประกาศต่อไป ส่วนอีกฉบับคือการเก็บภาษีก็เป็นกลไกทางภาษีไป

รัฐบาลให้แนวทางไว้ว่า ฟินเทคเรื่องคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเหมือนดาบ 2 คม มีประโยชน์ แต่มันก็มีโทษ จะบอกว่ามีโทษไม่มีประโยชน์ก็ปฏิเสธเสียเลยไม่ได้ เพราะว่าคริปโทเคอร์เรนซีมีส่วนช่วยสร้างสรรค์บรรยากาศลงทุนและเป็นประโยชน์ต่อสตาร์ทอัปและเอสเอ็มอี ถ้าใช้เป็นเล่นเป็นรู้เท่าทันและระมัดระวัง ซึ่งเกิดจากระวังเองส่วนหนึ่ง เหมือนเราระวังทรัพย์สินของตนเอง แต่ความระมัดระวังอีกส่วนเกิดจากกฎเกณฑ์กติกาที่รัฐต้องช่วยสร้างไว้ด้วย เราจะคอยแต่กอดตู้ไม่ให้โจรมาขโมยอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีตำรวจ มีกลไกดูแลความปลอดภัยอีกด้วย ฉันใดรัฐก็ต้องดูแลคริปโทเคอร์เรนซีฉันนั้น คือพระราชกำหนดนี้

นี่คือสิ่งที่เป็นธงของรัฐบาลว่าเรามีกลไกที่จะดูแลและไม่คัดค้านทีจะเล่นคริปโทเคอร์เรนซี ขอให้รู้เท่าทันกัน นโยบายขั้นต่อไปคือว่าตัวคริปโทเคอร์เรนซีมันคงพัฒนาไปอีกมาก ประเทศไทยก็ต้องพัฒนาตามไปให้ทัน นั่นคืออะไร หมายความว่าถึงจุดหนึ่งพระราชกำหนดที่ออกไปแล้วจะต้องนำกลับมาแก้ไขใหม่ แก้ไขเพื่อที่จะให้ทันกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมชนิดนี้ เทคโนโลยีชนิดนี้จะขัดขวาง สกัด ดื้อดึง ฉุดรั้ง อย่างไรก็ไม่อยู่แน่ ดังนั้นต้องทำอย่างไรให้ระบบนิเวศมันน่าสนุกสนาน น่าไว้วางใจ ใครทำผิดมีโทษ

ปัญหาต่อไปคือแล้วจะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร ภาษีที่จะเก็บจะเก็บอะไร ถ้ามีการจารกรรมจะไปตามอย่างไร ผมยกแต่หัวข้อขึ้นมาให้เห็น ซึ่งต่อไปก็จะมีคนที่เชี่ยวชาญกว่ามาให้คำตอบเล่านี้ ดังนั้นพอพูดถึงคริปโทเคอร์เรนซี การบังคับใช้เป็นอีกด้านหนึ่งที่เป็นการพูดที่ถูกจุดถูก กฎหมายเขียนอะไรก็เขียนไป กติกาก็เขียนไป เมืองไทยถนัดมาก แต่เมืองไทยไม่ถนัดการบังคับใช้เท่าไหร่ การทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย การรักษากฎหมาย

สิ่งที่วันนี้จะทำได้คือให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ก่อน อย่างอธิบดีกรมบังคับคดีก็มาบอกว่ากรมฯ ได้เตรียมไว้แล้ว จัดอบรมแล้วว่าจะบังคับคดีคริปโทเคอร์เรนซี จะยึดอย่างไร ผมก็อยากรู้เหมือนกัน ทางอัยการก็ต้องให้ความรู้ไว้วันหนึ่งก็ต้องฟ้องร้องกัน ตำรวจผมไม่แน่ใจว่าเคลื่อนไหวแล้วหรือไม่ ก.ล.ต. เคลื่อนไหวไปมากแล้ว ธปท. เคลื่อนไหวไปมากแล้ว วันหนึ่งทั้งหมดต้องขับเคลื่อนออกมาให้การบังคับใช้กฎหมายมันศักดิ์สิทธิ์ เคร่งครัด และขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พร้อมรับความเห็นที่ดีๆ แปลกๆ ออกมา มาปรับแก้ไขให้สมบูรณ์ เพราะตอนทำพระราชกำหนดยังมีหลายจุดที่เราจงใจเว้นว่างไว้ อย่าเพิ่งไปเขียน ออกมาแล้วรอความเห็นกลับมาค่อยนำมาประมวลใส่ ก็อาจจะต้องทำฉบับที่ 2 ที่ 3 ต่อไป

“ผมจึงขอเรียนให้ทราบเพียงเท่านี้ รายละเอียดอย่างอื่นท่านผู้บรรยายต่อไปจะมาอธิบายอย่างชัดเจนต่อไป ผมพูดจากสภาพและบรรยากาศของห้องประชุมคณะรัฐมนตรีว่าเราได้พิจารณาเตรียมการมาอย่างไร จึงมาถึงวันนี้ได้ และมาถึงวันนี้แล้ววันต่อๆ ไปจะเป็นอย่างไร ก็ส่งต่อให้หน่วยงานปฏิบัติรับไปปฏิบัติต่อไป”