ThaiPublica > เกาะกระแส > คลัง-ก.ล.ต. แจง พ.ร.ก.คุม “เงินดิจิทัล” สรรพากรยันเก็บหัก ณ ที่จ่าย 15% ไม่กระทบบุคคลธรรมดา-ชง ครม. ยกเว้น VAT

คลัง-ก.ล.ต. แจง พ.ร.ก.คุม “เงินดิจิทัล” สรรพากรยันเก็บหัก ณ ที่จ่าย 15% ไม่กระทบบุคคลธรรมดา-ชง ครม. ยกเว้น VAT

15 พฤษภาคม 2018


เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ กลต., นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และนายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร ร่วมแถลงข่าวชี้แจง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการคลัง

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พระราชกำหนดฯ) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งพระราชกำหนดฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปกระทำการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงประชาชน หรือที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม และเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอ เพื่อใช้ในการตัดสินใจและเกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ โดยพระราชกำหนดฯ ดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักการและแนวทางสำหรับการกำกับดูแลการระดมทุนโดยการออกโทเคนดิจิทัล เพื่อเสนอขายต่อประชาชนและการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) จะดำเนินการออกกฎเกณฑ์สำหรับรายละเอียดต่างๆ ต่อไป โดยพระราชกำหนดฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ ได้กำหนดให้สินทรัพย์ดิจิทัล หมายความว่า คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำกับดูแล โดยมีคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นผู้วางแนวทางและกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในภาพรวม โดยได้กำหนดให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 3 ประเภท ได้แก่

    1) การเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
    2) การเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
    3) การเป็นผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ประกอบธุรกิจอยู่ก่อนวันที่พระราชกำหนดฯ นี้ใช้บังคับ และเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตามพระราชกำหนดฯ นี้ ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยให้ยื่นคำขออนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดฯ นี้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชกำหนดฯ นี้มีผลใช้บังคับ

2. การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (Initial Coin Offering: ICO) ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และการเสนอขาย ICO ต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เท่านั้น นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประสงค์จะรับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นการตอบแทน จะต้องรับคริปโทเคอร์เรนซีที่ผ่านการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือฝากไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

3. ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดฯ นี้ จะได้รับโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่ง โดยอัตราโทษได้มีการเทียบเคียงมาจากอัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

นางสาวกุลยา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัล รวมทั้งเล็งเห็นถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มทางเลือกของประชาชนและความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ซึ่งการระดมทุนด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนจะเป็นช่องทางใหม่ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตาร์ทอัป ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ดังนั้น การบังคับใช้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 จะช่วยให้ประชาชนหรือผู้ลงทุนได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม การประกอบกิจการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ภายใต้การกำกับดูแล และรัฐบาลมีกลไกในการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นไม่ให้ลุกลามในวงกว้างและส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมต่อไป

นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้ออกแถลงข่าวชี้แจงพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 (การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญ 2 ประการดังนี้

1. กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทผลตอบแทนทางการเงินโดยอยู่ใน (ซ) และ (ฌ) ของมาตรา 40 (4) ดังกล่าว

2. กำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ โดยพระราชกำหนดดังกล่าวจะทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมีความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ทำธุรกรรมดังกล่าวต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด สำหรับธุรกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจะเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรปัจจุบัน โดยสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง จึงมีภาระภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกันกับทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างอื่นๆ ในส่วนการกำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น กรมสรรพากรจะได้เสนอกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระให้แก่บุคคลธรรมดาที่ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 กรมสรรพากรจะได้เสนอกฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลผ่านนายหน้าหรือศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล