ThaiPublica > เกาะกระแส > ปตท. แจงทุกประเด็นร้อนในสื่อโซเชียล: ”เทวินทร์” ห่วงกระทบดีลเลอร์-ร้านค้าย่อยในปั๊ม

ปตท. แจงทุกประเด็นร้อนในสื่อโซเชียล: ”เทวินทร์” ห่วงกระทบดีลเลอร์-ร้านค้าย่อยในปั๊ม

29 พฤษภาคม 2018


นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่(กลาง) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชี้แจงประเด็นในสื่อโซเขียล

จากกรณีที่มีการวิจารณ์บริษัท ปตท. หลายประเด็นในเชิงลบบนสื่อโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการกำหนดราคาน้ำมันที่เอาเปรียบประชาชน ประเด็นการปลดพนักงาน และมีการแชร์ข้อความกันในวงกว้าง โดยอ้างว่านายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ พร้อมชักชวนให้เลิกเติมน้ำมันที่ปั๊มของ ปตท. นั้น

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยืนยันในระหว่างการชี้แจงกรณีดังกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมไม่เคยพูดอย่างนั้นโดยสัตย์จริง เป็นการนำเอาข้อความเท็จมาเผยแพร่ ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการเราคิดว่าคงเป็นคนที่มีเจตนาที่ไม่ดีแน่นอน เพราะฉะนั้นกำลังเตรียมการเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

“ปตท. เป็นบริษัททำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของรัฐ ในการดูแลด้านความมั่นคงด้านพลังงานและดูแลการตอบสนองผู้มีส่วนได้เสีย ผู้บริโภค ผู้ค้า สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลกัน ทั้งผมเองและทุกคนใน ปตท. ไม่มีใครพูดอย่างนั้นแน่นอน”

กำหนดราคาน้ำมันตามตลาดโลก

นายเทวินทร์กล่าวว่า องค์ประกอบการกำหนดราคาน้ำมัน มีต้นทุนราคาน้ำมันดิบ โรงกลั่น ภาษี ค่าการตลาด และเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน โดยการปรับราคาขายปลีกน้ำมันของ ปตท. ในแต่ละครั้ง ปรับตามต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งราคาน้ำมันไทยอิงตลาดสิงคโปร์ที่อิงกับราคาน้ำมันดิบดูไบ และราคาน้ำมันไทยแพงกว่าสิงคโปร์เพราะค่าขนส่งน้ำมันมายังไทย

ราคาน้ำมันดูไบที่เปลี่ยนแปลงทุก 1 ดอลลาร์ ส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศ 24 สตางค์ต่อลิตร ปตท. ไม่ได้ปรับตามราคาขึ้นลงทุกวัน แต่จะดูแนวโน้มภาพรวม เช่น สัปดาห์ที่แล้วน้ำมันขึ้น-ลงทุกวัน วันจันทร์ลดลง 60 เซนต์ วันอังคารปรับขึ้น 84 เซนต์ วันพุธลดลง 69 เซนต์ วันพฤหัสบดีขึ้น 45 เซนต์ แต่สุทธิแล้วเป็นศูนย์ ปตท. ก็ไม่ได้ปรับราคา ส่วนวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังติดตามราคาน้ำมันดิบดูไบเริ่มลดลง 1.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งหากคำนวณจาก 24 สตางค์ต่อลิตร จะได้ผลต่อราคาน้ำมัน 30 สตางค์ต่อลิตร แต่ ปตท. ตัดสินใจปรับลง 50 สตางค์ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นการลดลงมากกว่าต้นทุนที่ 30 สตางค์ต่อลิตร และในสัปดาห์ที่ผ่านมาปั๊มน้ำมันหลายแห่งได้ปรับราคาลง

จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2561 ราคาน้ำมันสิงคโปร์มีแนวโน้มลดลงต่อ จึงมีความเป็นไปได้ว่าบ่ายวันเดียวกันราคาน้ำมันจะลดลงอีก เนื่องจากสัปดาห์ก่อนกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งโอเปกและนอนโอเปกอย่างรัสเซียซึ่งมีกำหนดที่จะประชุมเดือนมิถุนายน แต่กลับได้หารือร่วมกันเพื่อเพิ่มโควต้าการผลิต จึงทำให้ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นไปในสัปดาห์ก่อน ด้วยความคาดหวังว่าทั้งสองกลุ่มยังไม่เพิ่มโควตาการผลิตปรับลดลง แต่ต้องติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ

นายเทวินทร์ กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนนี้ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นแล้ว 20% ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมาย แม้น้ำมันจะเริ่มเป็นขาลงและไม่เห็นปัจจัยทางเทคนิคที่จะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นอีก แต่ ปตท. กำลังพิจารณาทบทวนปรับประมาณการจากเดิมที่คาดไว้ 55-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 60-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และติดตามการเมืองระหว่างประเทศซึ่งเป็นปัจจัยที่คาดเดายากและการเก็งกำไรจากกองทุนต่างๆ ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนในระยะสั้นได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทั้งกลุ่มโอเปกและรัสเซียร่วมมือกันดีที่จะควบคุมปริมาณน้ำมันไม่ไห้ออกมามาก

ปตท. ขายต่ำกว่ายี่ห้ออื่น

นายเทวินทร์ กล่าวว่า หาก ปตท. ขายน้ำมันแพงกว่าปั๊มอื่น ก็เป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะเลือกไม่เติม แต่จากข้อมูลในปี 2560 ทั้ง 365 วัน ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น ปตท. มีการปรับราคาน้ำมันขึ้น 21 ครั้ง ปรับลดลง 21 ครั้ง แต่ระดับราคาจะไม่เท่ากันเพราะราคาน้ำมันเป็นขาขึ้น จากการปรับราคาน้ำมันทั้ง 42 ครั้ง ปตท. ขายน้ำมันที่หน้าปั๊มราคาต่ำกว่าปั๊มต่างชาติ 20 วัน จาก 365 วัน

“ใน 365 วันของปีที่แล้วไม่มีวันใดวันหนึ่งที่เราขายน้ำมันราคาสูงกว่าคนอื่น แต่มี 20 วันที่เราขายต่ำกว่าคนอื่น”

ย้อนกลับไปดูในช่วงสั้น ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน – 28 พฤษภาคม 2561 ปตท. ปรับขึ้นราคาน้ำมัน 6 ครั้ง เพราะเป็นช่วงราคาน้ำมันปรับขึ้น 2 เดือนนี้ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น 20% และปรับราคาขายปลีกน้ำมันลง 1 ครั้งในวันเสาร์ (26 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา จากทั้งหมด 7 ครั้ง ปตท. ขายน้ำมันราคาที่ต่ำกว่าหน้าปั๊มต่างชาติ 9 วัน ภายในช่วงเวลา 50 วัน ฉะนั้น ปตท. พยายามดูแล

“การปรับราคาของเราไม่ได้ปรับขึ้นปรับลงตามราคาทุกวัน แต่จะดูแนวโน้มภาพรวม เช่น ถ้าขึ้นติดต่อกัน 3 วันก็ต้องปรับขึ้นแล้ว เวลาลงมาหนึ่งวันก็ต้องมาดูแนวโน้มว่าลงจริงหรือไม่ สิ่งนี้คือการบริหารของบริษัทน้ำมันในปัจจัยที่ควบคุมได้ เพราะยังมีปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้คือ ราคาน้ำมันตามกลไกตลาดโลก ภาษี และเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็กังวลว่าช่วงนี้การเพิ่มขึ้นของน้ำมันจะกระทบผู้บริโภค ก็มีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบโดยใช้เงินกองทุนเข้ามาช่วยดูในช่วงระยะสั้นๆ”

กังวลกระทบเจ้าของปั๊ม-ร้านค้าย่อย

นายเทวินทร์ กล่าวว่า ข้อความที่แชร์กันไปมีความกังวลใจ แต่ไม่ได้กังวลเพราะเกรงว่า ปตท. จะกำไรน้อยลง แต่กังวลต่อผู้ประกอบการที่เป็นผู้เปิดปั๊มลงทุนในปั๊ม ปตท. เป็นผู้ประกอบการรายย่อย เป็นเจ้าของ เป็นดีลเลอร์ ปั๊ม ปตท. ทั้งหมดมี 1,500 แห่ง ซึ่ง 90 % เป็นการลงทุนโดยนักลงทุนรายย่อยดีลเลอร์ มีเพียง 10 % หรือ 100 กว่าปั๊มเป็นปั๊มที่ปตท. ดำเนินการเอง เพราะฉะนั้นจึงมีความเป็นห่วงดีลเลอร์ว่าจะไม่ค่อยสบายใจเท่าไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“ถ้าจะไม่เติมน้ำมันเพราะน้ำมันเราคุณภาพไม่ดี บริการเราไม่ดี เพราะเราไม่รับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อันนั้นน่าจะเข้าใจได้ แต่การไม่เติม ปตท. เป็นเพราะการเข้าใจข้อมูลที่ผิดพลาดว่าราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเพราะ ปตท. เรามีหน้าที่ที่ต้องชี้แจงให้เข้าใจ เป็นความกังวลใจของพวกเราชาว ปตท. ทุกคน ทั้งผู้บริหาร พนักงานปตท. และครอบครัว ปตท. ที่อยู่เป็นคู่ค้า คือดีลเลอร์ของเรา รวมถึงร้านค้าต่างๆ ที่อยู่ในนั้น เรียนว่ากิจการที่ ปตท. ทำนี้ไม่ได้ทำเพื่อองค์กรของเราอย่างเดียว ทำเพื่อ SME รายย่อยให้เขาได้มีโอกาสในการที่จะทำธุรกิจนี้ต่อไป”

ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบต่อ เพราะยอดขายยังมีปัจจัยขึ้นลงตามฤดูกาลอยู่แล้ว แต่ต้องการให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง

นายเทวินทร์ กล่าวว่า กำลังมีความพยายามสื่อความกับดีลเลอร์ต่างๆ และช่วยกันออกมาให้ความจริงกับสังคม รวมทั้งให้ผู้บริหารและพนักงานให้คำอธิบายกับประชาชนตามเครือข่ายที่เข้าถึงได้ ทุกวันนี้โลกโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลเยอะ ก็ไม่ต้องการให้ส่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับความเป็นจริงและสร้างกระแสที่ไม่ถูกขึ้นในสังคมไทย เมื่อมีการส่งข้อมูลเท็จ

นายเทวินทร์กล่าวว่า หลายเรื่องไม่ใช่เรื่อง ปตท. อย่างเดียว เมื่อมีการส่งข้อมูลเท็จในโซเชียลมีเดียก็มีการแพร่เร็ว แล้วคนที่ส่งข้อมูลเท็จต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ ความตั้งใจก็คือจะให้คนที่ตั้งใจสร้างความเสียหายโดยข้อมูลเท็จต้องมีบทลงโทษ ส่วนผู้ที่ไม่ตั้งใจก็คงไม่ไปทำร้าย สิ่งที่ต้องการคือให้คนที่สร้างความเสียหายด้วยการให้ข้อมูลเท็จแก่สังคมต้องได้รับโทษ ไม่ฉะนั้นต่อไปสังคมจะไม่มีวินัยในการโพสต์ ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฎหมาย ปตท. กำลังดำเนินการ และยืนยันว่าการดำเนินการทางกฎหมายไม่ได้ทำเพราะเจ็บแค้น

ค่าการกลั่นค่าการตลาดน้อยมาก

นายเทวินทร์กล่าวถึงค่าการกลั่น ค่าการตลาด ว่า เป็นสิ่งสะท้อนต่อสิ่งที่ผู้ประกอบการลงทุนไป โรงงกลั่นในประเทศไทยมี 6 โรงใหญ่ มีการบริหารเป็นอิสระจากกัน และใน 6 โรงนี้ ปตท. ถือหุ้นในโรงกลั่นเพียง 3 โรง และไม่ใช่ลงในสัดส่วนที่เป็นผู้บริหารเอง โรงกลั่นก็จะมีค่าการกลั่นที่ตอบสนองเงินลงทุน เงินกู้ และค่าการกลั่นเป็นไปตามกลไกโรงกลั่นสิงคโปร์ ซึ่งเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในภูมิภาค เป็นผู้กำหนด ดังนั้น ราคาที่ชี้แจงมาทั้งหมดสะท้อนค่าการกลั่นที่สิงคโปร์ เมื่อคิดออกมาจะได้ค่าการกลั่นอยู่ที่ 1 บาทกว่าไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร

ส่วนค่าการตลาดเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ 1.60-1.80 บาทต่อลิตร ซึ่งค่าการตลาดดีเซลจะต่ำกว่าโดยอยู่ที่ 1.20 บาทต่อลิตร ค่าการตลาดเบนซินจะสูงกว่าเล็กน้อย สูงเกินไป

ค่าการตลาดบริหารได้ไม่มาก ระดับที่เหมาะสมคือ 1.60-1.80 บาทต่อลิตร อันนี้จะสะท้อนค่าลงทุน เงินลงทุนซื้อของรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการทั่วไปและแบ่งกันระหว่าง ปตท. และผู้ค้าส่วนหนึ่ง และผู้ลงทุนสร้างปั๊มส่วนหนึ่ง โดยปกติเวลาที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ค่าการตลาดจะปรับลดลงอยู่แล้วเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค

สำหรับกรณีที่แชร์ข้อความกันว่า นายเทวินทร์ไม่ง้อลูกค้ารวมทั้งจะปรับลดพนักงานนั้น นายเทวินทร์กล่าวว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันปรับลดลงจาก 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ราว 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล บริษัทในกลุ่ม ปตท. เจอปัญหามากมายแต่ไม่เคยลดพนักงานด้วยเหตุผลนี้เลย ดังนั้นจึงขอยืนยันอีกครั้งว่า พวกเราเห็นคนไทยที่ทำงานร่วมกับเราเป็นครอบครัว ปตท. เราดูแล พวกเราถ้าจะลำบากก็ลำบากด้วยกัน เพราะฉะนั้น ไม่มีการปรับลดพนักงานโดยเด็ดขาด

นายเทวินทร์ได้ชี้แจงประเด็นกำไรที่ระบุว่าสูงถึง 130,000 ล้านบาทในปี 2560 ว่า หากดูเพียงตัวเลขเหมือนจะสูงจริง แต่หากดูอัตรากำไรต่อยอดขายที่มี 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.7% เท่านั้น และเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset: RoA) จากสินทรัพย์ของ ปตท. ที่มี 2.3 ล้านล้านบาท และกำไร 130,000 ล้านบาท จะได้ ROA 6% โดยกำไรส่วนใหญ่เป็นส่วนแบ่งจากเงินลงทุนในกิจการอื่น

“ปตท. ไม่ได้มุ่งกำไรสูงสุด ขณะเดียวกันต้องบริหารจัดการและลงทุนเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งคืนกำไรแก่สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมนำส่งรายได้ เงินภาษี เงินปันผลเข้ารัฐ อีกด้วย”