ThaiPublica > เกาะกระแส > เมืองอุตสาหกรรม “Foxconn City” ความรุ่งเรืองของโรงงานยักษ์ใหญ่ ในยุคดิจิทัล

เมืองอุตสาหกรรม “Foxconn City” ความรุ่งเรืองของโรงงานยักษ์ใหญ่ ในยุคดิจิทัล

28 พฤษภาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ของซัมซุงที่เมือง Thai Nhuyen ที่มาภาพ : http://www.amchamvietnam.com/samsung-to-build-second-factory-in-thai-nguyen/#!prettyPhoto/0/

นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 12 เมษายน 2018 รายงานว่า โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ของซัมซุงที่เมือง Thai Nhuyen ทางเหนือเวียดนาม มีคนงานมากถึง 60,000 คน โรงงานแห่งนี้ผลิตโทรศัพท์มือถือของซัมซุงมากที่สุด โรงงานต่างๆ ของซัมซุงในเวียดนามผลิตสมาร์ทโฟน 1 ใน 3 ของโทรศัพท์ซัมซุงทั้งหมด ซัมซุงเองก็ลงทุนสะสมในเวียดนามมาแล้วถึง 17 พันล้านดอลลาร์

การลงทุนของซัมซุงมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจเวียดนาม และซัมซุงเองกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่สุดในเวียดนาม เมื่อปีที่แล้ว บริษัทซัมซุงในเวียดนามมีรายได้ 58 พันล้านดอลลาร์ จ้างงานกว่า 1 แสนคน ทำให้เวียดนามกลายเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน การส่งออกของซัมซุงมีสัดส่วน 1 ใน 4 การส่งออกของเวียดนามทั้งหมด ที่ในปี 2017 มีมูลค่า 214 พันล้านดอลลาร์

The Economist กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ดังกล่าว สร้างคุณูปการอย่างมากแก่เศรษฐกิจเวียดนาม เมือง Thai Nguyen และ Bac Ninth ที่มีโรงงานของซัมซุงตั้งอยู่กลายเป็นเมืองที่มั่งคั่งสุดของเวียดนาม รอบๆ นิคมอุตสาหกรรมจะเต็มไปด้วยร้านอาหาร ร้านค้า และโรงแรม ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทของเวียดนามที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับซัมซุงก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น 7 เท่าตัว เวียดนามกลายเป็นแหล่งผลิตด้านอุตสาหกรรม ที่เป็นทางเลือกของเกาหลีใต้ แทนที่จะไปลงทุนการผลิตในจีน ในระยะเวลาแค่ 1 ปี มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ไปเยือนเวียดนามถึง 2 ครั้ง

ยุคโรงงานอุตสาหกรรม

คนเราในปัจจุบัน ล้วนมีชีวิตที่ล้อมรอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หนังสือ หรือปากกา คนเราคงจะมีชีวิตที่ยากลำบากหากไม่มีสินค้าต่างๆ ที่ผลิตจากโรงงาน แต่คนทุกวันนี้ แทบไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม หนังสือพิมพ์มักจะรายงานข่าวเฉพาะกรณีโรงงานปิดกิจการมากกว่าเรื่องการมีโรงงานใหม่เกิดขึ้น หรือนิยมทำข่าว กรณีคนงานไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น เหตุการณ์ที่คนงานจีนหลายคนฆ่าตัวตายในโรงงาน Foxconn ที่ผลิต iPhone

หลายสิบปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์และสื่อมวลชนในตะวันตกมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยุคอุตสาหกรรมได้สิ้นสุดลงแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้เปลี่ยนมาเป็น “สังคมหลังอุตสาหกรรม” ในสหรัฐฯ ปี 1960 แรงงาน 24% ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ทุกวันนี้เหลือแค่ 8% โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีคนงานหลายหมื่นคน แทบไม่มีอยู่แล้วในประเทศตะวันตก

แม้จะมีการคาดการณ์เรื่องโลกยุคหลังอุตสาหกรรม แต่สหรัฐอเมริกาในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ การผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรมกลับฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ โรงงานอุตสาหกรรมกลายมาเป็นสัญลักษณ์ความก้าวหน้า การมีงานทำ และการทำให้เศรษฐกิจชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นใหม่ บรรดาคนงานในเขตอุตสาหกรรมดั้งเดิมในสหรัฐฯ และยุโรป ที่เคยเป็นฐานเสียงให้กับพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ก็หันมาสนับสนุนนักการเมืองที่มีนโยบายจะฟื้นฟูการผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่

โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อปี 1721 หรือเกือบ 300 ปีมาแล้ว เป็นโรงงานทอเส้นไหมในอังกฤษ จ้างคนงาน 300 คน อังกฤษใช้เวลาเกือบ 100 ปี ก่อนที่ “ระบบโรงงาน” จะกลายเป็นเศรษฐกิจหลักของอังกฤษ ในปี 1945 โรงงานผลิตรถยนต์ของฟอร์ด ที่เมืองเดียร์บอร์น รัฐมิชิแกน มีคนงาน 85,000 คน ปัจจุบัน โรงงานของ Foxconn บางแห่งในจีน ที่ผลิต iPhone มีคนงานกว่า 100,000 คน

โรงงานใหญ่สุดในโลก

ที่มาภาพ : amazon.com

Joshau B. Freeman นักประวัติศาสตร์แรงงานของสหรัฐฯ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Behemoth ว่า นับจากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ศูนย์กลางอุตสาหกรรมได้ย้ายมายังประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย “สวนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลงเชา (Longshau)” หรือที่มักเรียกกันว่า “เมืองฟอกซ์คอนน์” (Foxconn City) ที่เซินเจิ้น เป็นโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดในโลก มีคนงานถึง 300,000 คน แหล่งข่าวบางแห่งระบุว่า อาจจะมากถึง 450,000 คน ผู้บริหารของ Apple คนหนึ่งที่ไปเยือนโรงงานแห่งนี้ และรถยนต์ของเขาขยับไม่ได้เลย เพราะเป็นช่วงคนงานเปลี่ยนกะ บอกว่า “ขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะจินตนาการ”

หนังสือ Behemoth กล่าวว่า มีปัจจัย 2 อย่างทำให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในจีนและเวียดนาม ประการแรก คือ นโยบายเปิดประเทศของจีนและเวียดนาม ที่อ้าแขนรับการลงทุนต่างประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของคนในประเทศ ประการที่ 2 คือ การปฏิวัติด้านการค้าปลีกในสหรัฐฯ และประเทศตะวันตก ที่บริษัทเจ้าของสินค้า หันไปเน้นเรื่องการออกแบบและการตลาดแทนการผลิตสินค้าเอง ทำให้เกิดโรงงานขาดยักษ์ใหญ่ขึ้นมาเพื่อรับช่วงการผลิต

โรงงานขนาดใหญ่ทำให้เกิดความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ไม่ใช่ความได้เปรียบของโรงงานที่ผลิต แต่เป็นความได้เปรียบของบริษัทค้าปลีกในอดีต การออกแบบ การผลิต และการตลาด เกิดขึ้นภายในบริษัทเดียวกัน แต่นับจากทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา กระบวนการ 3 อย่างนี้ ไม่ได้เชื่อมโยงกันแล้ว ในระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก บริษัทที่เป็นเจ้าของตราสินค้าและการขายปลีกจะมีอำนาจมากสุด ระบบการผลิตแบบโรงงานยักษ์ใหญ่จึงสนองประโยชน์อย่างมากให้แก่บริษัทเจ้าของตราสินค้า

ในอดีต บริษัทผู้ผลิตสินค้าที่ประสบความสำเร็จมากสุดจะขายสินค้าแบรนด์เนมของตัวเองผ่านช่องทางจำหน่ายที่ตัวเองควบคุมได้ เช่น บริษัทรถยนต์ จักรเย็บผ้าซิงเกอร์ หรือ IBM เป็นต้น แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทศวรรษ 1970 ทำให้บริษัทธุรกิจต้องปรับตัว ทำให้องค์กรเล็กลง โดยการปล่อยให้บริษัทอื่นทำหน้าที่ผลิตสินค้าแทน โดยตัวเองหันมาทำหน้าที่บริหารแบรนด์เนมอย่างเดียว

พัฒนาการจากผู้ผลิต “สินค้า” กลายมาเป็นบริษัทเจ้าของ “แบรด์เนม” ผลิตภัณฑ์อย่างเช่น Apple หรือ Nike ทำให้บริษัทพวกนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการขายสินค้าทั่วโลก เพราะหันไปเน้นหนักงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการทำการตลาดสินค้า ส่งเสริมให้สินค้าตัวเองเป็นสัญลักษณ์ความทันสมัย บริษัทที่ทุ่มเทสร้างรายได้ ความมั่งคั่ง โดยเน้นหนักเรื่องกระแสสร้างความต้องการในตัวสินค้า มักจะปล่อยให้บริษัทอื่นรับช่วงทำหน้าที่ผลิตสินค้านั้นแทน

การสั่งซื้อสินค้าจำนวนมหาศาลของร้านค้าปลีกรายใหญ่ อย่าง Walmart หรือบริษัทแบรนด์เนมอย่าง Apple และ Adidas ทำให้บริษัทพวกนี้นิยมสั่งซื้อสินค้าจากศูนย์กลางการผลิตในจุดเดียว หรือจากโรงงานเดียว เพราะสะดวกในด้านบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ ระบบขนส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้ Apple สามารถจัดส่งสินค้าให้ร้านค้าย่อย หรือลูกค้าอินเทอร์เน็ต จากโรงงานผู้ผลิตเพียง 1-2 แห่งเท่านั้น

การกระจุกตัวของการผลิตอุตสาหกรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงงานยักษ์ใหญ่เสมอไป แต่อาจจะเป็นโรงงานผู้ผลิตจำนวนมากมาย ที่กระจุกตัวอยู่รวมกันเป็น “คลัสเตอร์” เมืองเซาซิง มณฑลเจ้อเจียง ในจีน เป็นศูนย์การผลิตถุงเท้า 1 ใน 3 ของโลก จำนวน 9 พันล้านคู่ต่อปี เมืองอี้อู (Yiwu) เป็นศูนย์การผลิตสินค้าตกแต่งเทศกาลคริสต์มาส มีโรงงานผลิต 600 แห่ง

แต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้น บริษัทแบรนด์เนมอย่าง Apple, Nike หรือ Samsung นิยมสั่งซื้อจากโรงงานผู้ผลิตยักษ์ใหญ่แห่งเดียว เพราะสามารถผลิตและส่งมอบสินค้าจำนวนมาก หรือสามารถเร่งการผลิตสินค้าใหม่ที่จะออกวางตลาด ในเดือนมิถุนายน 2010 Apple ขายโทรศัพท์ iPhone 4s ได้ 1.7 ล้านเครื่อง ภายใน 3 วัน หลังจากที่เปิดตัวสินค้า เดือนกันยายน 2012 ขาย iPhone 5s ได้ 5 ล้านเครื่อง ในช่วงสุดสัปดาห์

โรงงาน Foxconn ที่เสิ้นเจิ้น ที่มาภาพ : theguardian.co.uk

ในปี 2007 ก่อนที่ Apple จะเปิดตัวโทรศัพท์ iPhone เป็นครั้งแรก Steve Jobs ตัดสินใจเปลี่ยนหน้าจอ iPhone จากพลาสติกเป็นกระจก เมื่อจอกระจกล็อตแรกมาถึงโรงงาน Foxconn ที่เซินเจิ้น ในเวลาเที่ยงคืน คนงาน 8 พันคนถูกปลุกจากหอพักให้มาทำงานทันทีเพื่อเปลี่ยนจอ iPhone ทำให้สามารถผลิต iPhone ออกมาวันหนึ่ง 1 หมื่นเครื่อง Apple และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ จึงต้องการความสามารถในการผลิตแบบยืดหยุ่นของโรงงานยักษ์ใหญ่เหล่านี้

นอกจากนี้ การอาศัยโรงงานยักษ์ใหญ่ ทำให้บริษัทอย่าง Apple หรือ Nike สามารถดำเนินงานโดยไม่มีต้นทุนในเรื่องระบบสต็อกสินค้า ระบบการผลิตตามการสั่งซื้อ (just-in-time production) ทำให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถหลีกเลี่ยงการมีสินค้าที่ล้าสมัยเหลืออยู่ในคลังสินค้า นาย Tim Cook CEO ของ Apple ก็เคยพูดไว้ว่า “การสต็อกสินค้าเป็นสิ่งเลวร้ายพื้นฐาน”

หนังสือ Behemoth กล่าวว่า โรงงานยักษ์ใหญ่ต้องได้รับการส่งเสริมจากรัฐ รัฐบาลจีนส่งเสริมกลุ่มโรงงานขนาดกลางและเล็กให้กระจุกตัวอยู่ใกล้กันเพื่อผลิตสินค้าเฉพาะอย่าง การสนับสนุนของรัฐจะออกมาในรูปการสร้างสวนอุตสาหกรรม การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการลดหย่อนภาษี แต่จีนก็ส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะสามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมาก ภายในระยะเวลาสั้นๆ

ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลต่างๆ ของจีนก็มีกลยุทธ์ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่อาศัยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเป็นฝ่ายจัดหาที่ตั้งโรงงาน การลดหย่อนภาษี การลดค่าไฟฟ้า และช่วยระดมแรงงาน รวมทั้งจัดหานักศึกษาฝึกงาน ที่จะทำให้ค่าแรงการผลิตถูกลง

เอกสารประกอบ
Behemoth: A History of the Factory and the Making of the Modern World, Joshua B. Freeman, W. W. Norton & Company, 2018.