ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > โลกจับมือเร่งแก้ขยะพลาสติก (ตอนที่ 2): จีนห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิล – อังกฤษประกาศแผน 25 ปี – EU วางยุทธศาสตร์ใหม่

โลกจับมือเร่งแก้ขยะพลาสติก (ตอนที่ 2): จีนห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิล – อังกฤษประกาศแผน 25 ปี – EU วางยุทธศาสตร์ใหม่

31 พฤษภาคม 2018


ประเทศที่ห้ามใช้ถุงพลาสติก ที่มาภาพ: http://www.abc.net.au/news/2017-08-28/countries-with-plastic-bag-bans/8850284

ต่อจากตอนที่ (1) โลกจับมือเร่งแก้ขยะพลาสติก (ตอนที่1): เคนยาใช้กฎหมายแรงสุด – ไต้หวันเดินหน้าสู่ Plastic-free Island

จีนห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิล

ทางด้านจีนแผ่นดินใหญ่ได้เริ่มห้ามใช้ถุงพลาสติกบางประเภทในปี 2008 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความสะอาดของกรุงปักกิ่งในช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ในพื้นที่ชนบทของจีนก็ยังใช้ถุงพลาสติก ส่งทำให้ 1 ใน 3 ของปริมาณขยะในทะเลมาจากจีน

เมื่อปี 2008 รัฐสภาจีนได้ห้ามร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และเอาต์เลต ให้ถุงพลาสติกที่ความหนาต่ำกว่า 0.025 มิลลิเมตรฟรีแก่ลูกค้า ซึ่งหากร้านค้าหรือผู้ค้าฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุด 10,000 หยวน

ชาวจีนนำถุงไปเอง ที่มาภาพ:https://www.voanews.com/a/china-plastic-trash-ban/4230761.html

ข้อมูล Worldwatch Institute ระบุว่า การห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดบางในจีน ช่วยลดภาวะมลพิษจากถุงพลาสติกลงได้มาก เพราะลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ 40 ล้านใบในปีแรกของการนำมาตรการมาใช้ จากการประเมินของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูป (National Development and Reform Commission: NDRC)

NDRC เปิดเผยว่า การใช้ถุงพลาสติกในซูเปอร์มาร์เก็ตลดลง 66% นับตั้งแต่การใช้มาตรการ เพราะก่อนหน้าที่มีการห้ามจีนใช้ถุงพลาสติกปีละ 3 พันล้านใบ และสร้างขยะกว่า 3 ล้านตันต่อปี แต่การจำกัดการผลิตถุงทำให้จีนลดการใช้ปิโตรเลียมได้ 1.6 ล้านตัน จากที่ต้องใช้นำมันดิบปีละ 5 ล้านตัน เพื่อผลิตพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังประเมินว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 60-80%

แต่รายงานของ Chinadaily ระบุว่า วันที่ 1 มิถุนายน 2017 ซึ่งครบรอบ 9 ปีแห่งการห้ามใช้ถุงพลาสติกในจีนนั้น ไม่ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการที่จะลดการใช้ปิโตรเลียมและรักษาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากร้านค้าย่อยยังคงให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้าฟรี และแม้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตจะเก็บเงินค่าถุงจากลูกค้า แต่ก็ไม่มีข้อมูลที่จะบ่งชี้ว่าการจำกัดการใช้ ขณะเดียวกันซูเปอร์มาร์เก็ตเองก็มีรายได้จากการขายถุง

รายงานระบุว่า มีข้อมูลว่าชาวจีนใช้พลาสติกมากกว่า 60 ล้านตันต่อปี เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ทั่วโลกที่มีจำนวน 400 ล้านตัน และการที่มาตรการนี้ไม่ได้ผล แสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมีการบังคับใช้ด้านเดียว คือ บังคับการใช้แต่ไม่ได้ห้ามด้านการผลิตถุงพลาสติกที่มีต้นทุนเพียง 0.1 หยวนต่อใบ นอกจากนี้ ก็ไม่มีอย่างอื่นที่มาใช้แทนถุงพลาสติกได้

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงเดินหน้าลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมปี 2018 นี้ การห้ามนำเข้าขยะเพื่อรีไซเคิลก็มีผลบังคับใช้ในจีน หลังจากที่ได้ประกาศล่วงหน้าในปี 2560

ขยะพลาสติกในจีน ที่มาภาพ:https://phys.org/news/2018-01-china-import-upends-global-recycling.html

รัฐบาลจีนได้แจ้งต่อองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในเดือนกรกฎาคม ว่า มีแผนที่จะห้ามนำเข้าขยะ (scrap & waste) ที่เป็นเศษสิ่งของเหลือใช้จากการผลิต 24 ประเภท รวมไปถึงพลาสติกบางอย่าง และกระดาษที่ไม่ผ่านการคัดแยก ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกมาจากสหรัฐฯ โดยที่การส่งออก scrap and waste เป็นการส่งออกที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 6 ที่สหรัฐฯ ส่งออกมาจีน

Institute of Scrap Recycling Industries (ISRI) ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในปี 2016 มูลค่าการส่งออกขยะรีไซเคิลของสหรัฐฯ ไปจีนสูงถึง 5.6 พันล้านดอลลาร์

CNBC รายงานว่า จีนเป็นผู้นำเข้าขยะเหลือใช้รายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกมาหลายทศวรรษนับตั้งแต่ปี 1980 แต่เมื่อมีการห้ามและยกเลิกการนำเข้าทำให้ขยะประเภทนี้กองเต็มในประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่กำลังหาทางเลือกอื่น

สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาเก็บภาษีจากการใช้พลาสติก ส่วนอังกฤษกำลังคิดที่จะส่งออกขยะรีไซเคิลไปยังประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่สหรัฐฯ ขอให้จีนทบทวนมาตรการนี้เพื่อเป็นการแก้ไขระยะสั้น และยังไม่มีผู้ส่งออกรายไหนเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาขยะรีไซเคิลระยะยาว

การนำเข้าขยะรีไซเคิลมานานนับหลายสิบปี ได้สร้างอุตสาหกรรมแปรรูปและรีไซเคิลในจีน แต่ขณะเดียวกันการจัดการกับเศษขยะและการไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ได้ก่อปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม แต่ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้สั่งปิดโรงงานที่สร้างมลพิษจำนวนมาก รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก

ที่มาภาพ;http://www.scmp.com/business/china-business/article/2134963/chinas-paper-product-makers-raise-prices-higher-raw-material

ทั้งนี้มีรายงานข่าวในจีนว่า รัฐบาลจีนอาจจะปรับเปลี่ยนการนำเข้าขยะ 24 รายการ แต่จะไม่ยกเลิกการห้ามนำเข้า และยังได้ขยายการห้ามนำเข้าให้ครอบคลุมเศษเหล็ก ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์มือสองและเรือเก่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้การนำเข้าขยะรีไซเคิลซึ่งมีทั้งพลาสติก กระดาษ และเศษเหล็ก ลดลง 54%

จากข้อมูล United Nations Commodity Trade เศษขยะพลาสติกในสัดส่วนกว่า 70% และขยะกระดาษในสัดส่วน 37% จากทั่วโลก ถูกส่งออกไปยังจีนในปี 2015 จากแหล่งใหญ่คือยุโรปและสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า สัดส่วนขยะ 2 ใน 3 ของยุโรปได้ถูกรีไซเคิล ที่เหลือส่งออกไปจีน ซึ่งแต่ละปีจีนนำเข้าขยะประเภทนี้ 50 ล้านตัน ที่มีขยะพลาสติกรวมอยู่ด้วย 9 ล้านตัน ส่วนอังกฤษส่งออกขยะพลาสติกประมาณ 2.7 ล้านตัน ตั้งแต่ปี 2012

อังกฤษเตรียมห้ามใช้หลอดดูด

สถาบัน ISRI ของสหรัฐฯ เตือนว่าการห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิลนี้จะมีผลต่อห่วงโซ่การผลิตของโลกและมีผลให้ผู้ผลิตใช้วัตถุดิบใหม่แทนการวัสดุรีไซเคิล พร้อมกับให้ข้อมูลว่าสหรัฐฯ ส่งออก 31% ของเศษขยะไปจีนในปี 2017 ขณะที่สหราชอาณาจักรส่งออกพลาสติกรีไซเคิลส่วนใหญ่ไปที่จีนและฮ่องกงเพื่อแปรรูป อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิลของจีนสร้างความตื่นตัวให้กับประเทศใหญ่ อย่างสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาจีนในการกำจัดขยะประเภทนี้

การห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิลนั้น นอกจากจะสร้างความตื่นตัวในอุตสาหกรรมรีไซเคิลทั่วโลกแล้ว ยังทำให้ต้องแสวงหาแนวทางใหม่ ในการจัดการกับขยะ โดยสหราชอาณาจักรเริ่มหาแนวทางที่จะเก็บภาษีพลาสติกบางประเภทเพื่อให้ประชาชนลดการใช้ลง

รัฐบาลอังกฤษให้คำมั่นว่าจะกำจัดขยะพลาสติกภายในปี 2042 โดยนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ในวันที่ 11 มกราคม 2018 ได้ประกาศ A Green Future แผนสิ่งแวดล้อมระยะ 25 ปีฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นการกำจัดขยะพลาสติกที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เฉพาะในอังกฤษที่เดียวพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งมีปริมาณมากพอที่จะใส่ไว้ใน Royal Albert Halls ได้ถึง 1,000 แห่ง

แผน 25 ปีของอังกฤษครอบคลุมในหลายด้านสำคัญ ซึ่งรวมไปถึงการมีอากาศและน้ำสะอาด การจำกัดปริมาณขยะให้น้อยที่สุด การลดและป้องกันการทำให้เกิดขยะพลาสติกในทะเล ที่มาจากการทิ้งขยะบนดิน การลดผลกระทบต่อสภาพอากาศ และการรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งในประเด็นนี้รัฐบาลได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะปลูกป่าที่มีความยาว 120 ไมล์ในทางตอนเหนือ ส่วนนโยบายอื่นๆ ได้แก่ การสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า

ในด้านขยะนั้นมุ่งเน้นการลดปริมาณขยะให้มากที่สุด ด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะใช้ให้นานที่สุดเท่าที่จะใช้ได้เพื่อจำกัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าว่าจะลดขยะประเภทที่หลีกเลี่ยงได้ให้เป็นศูนย์ในปี 2050 รวมทั้งตั้งเป้ากำจัดขยะพลาสติกชนิดที่เลี่ยงได้ในปี 2042 ตลอดจนจะพยายามดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเดิมที่วางไว้ ทั้งการจัดการกับหลุมฝังกลบ การนำกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล และวางเป้าหมายใหม่

อังกฤษยังได้ขยายการเก็บเงินค่าถุงในราคา 5 เพนนีต่อใบจากปัจจุบันที่บังคับใช้กับร้านค้าย่อยให้กว้างขวางขึ้น รวมทั้งจะหารือร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่เพื่อหันมาปรับช่องทางเดินไม่ให้ใช้พลาสติก รวมทั้งหน่วยงานรัฐจะเลิกใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง ทั้งนี้ การนำมาตรการเก็บเงินค่าถุงใบละ 5 เพนนีมาใช้ในปี 2015 ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงได้ 85%

นอกจากนี้ในการประชุมประเทศในเครือจักรภพเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2018 นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ กล่าวว่า ขยะพลาสติกคือปัญหาหลักของสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษร่วมกับประเทศในการเครือจักรภพเพื่อจัดการกับปัญหาขยะในทะเล โดยจะสนับสนุนเงิน 61.4 ล้านปอนด์เพื่อการวิจัยระดับโลกและเพื่อส่งเสริมการจัดการกับขยะให้ดีขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา

นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ยังกล่าวว่า อังกฤษคือผู้นำของโลกในจัดการกับขยะพลาสติก โดยอ้างถึงการมาตรการเก็บเงินค่าถุงและการห้ามใช้ไมโครบีด (microbeads) ตลอดจนการหารือที่จะนำระบบมัดจำ (deposit return scheme) ขวดและกระป๋องทุกประเภทมาใช้ ในการประชุมเครือจักรภพอังกฤษได้เสนอให้มีการห้ามใช้หลอดดูดพลาสติก แท่งพลาสติกสำหรับคนกาแฟ และก้านสำลีแคะหู

ที่มาภาพ:http://home.bt.com/news/uk-news/straws-and-cotton-buds-could-be-banned-as-theresa-may-targets-plastic-pollution-11364265299402

คาดกันว่าแต่ละปีในอังกฤษมีการทิ้งหลอดดูดพลาสติกถึง 8.5 พันล้านหลอด ซึ่งบางส่วนไหลลงแม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทร อย่างไรก็ตาม การนำมาตรการนี้มาใช้จะระวังไม่ให้เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรม และจะไม่ห้ามใช้ในทางการแพทย์

เมื่อมาตรการนี้ประกาศออกไป ภาคเอกชนต่างพากันขานรับ โดย Iceland ซูปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในอังกฤษที่เชี่ยวชาญด้านอาหารแช่แข็งประกาศจะยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกภายในปี 2023 ขณะเดียวกัน Bestival บริษัทออร์แกไนซ์ที่จัดอีเวนต์ถึง 60 ครั้งในอังกฤษก็ประกาศที่จะห้ามใช้หลอดดูดพลาสติกในพื้นที่การจัดงานและจะยกเลิกการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งภายในปี 2021

ขณะเดียวกันรัฐบาลสกอตแลนด์ก็กำลังพิจารณาที่ออกกฎหมายห้ามผลิตและจำหน่ายก้านสำลีแคะหูที่ใช้ก้านพลาสติก

ข้อมูลสมาคมอนุรักษ์ทะเล Marine Conservation Society พบว่า ก้านสำลีแคะหูติดอันดับ 1 ใน 10 ของขยะที่พบมากที่สุด เมื่อมีการทำความสะอาดชายหาด เพราะจะไหลออกทางท่อน้ำทิ้งจากการทิ้งลงในห้องน้ำ อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ก่อน

ที่มาภาพ: http://www.bbc.com/news/uk-politics-43817287

อียูวางยุทธศาสตร์ใหม่

ในวันที่ 16 เดือนมกราคม 2018 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้กำหนดชุดมาตรการใหม่เพื่อขับเคลื่อนสหภาพยุโรปเข้าสู่เป้าหมายการเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy และเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน

ชุดมาตรการนี้ซึ่งอยู่ภายใต้ 2018 Circular Economy Package ประกอบด้วย

หนึ่ง ยุทธศาสตร์สหภาพยุโรปด้านพลาสติกในเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเปลี่ยนวิธีการการออกแบบ ผลิต ใช้ และรีไซเคิลพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งมีเป้าหมายว่าภายในปี 2030 บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดต้องมีการรีไซเคิล แต่การดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้อาจจะมีการนำมาตรการแบบเฉพาะเจาะจงมาใช้ และมีความเป็นไปได้ที่จะออกเป็นกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบจากพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง ที่มีต่อทะเลและมหาสมุทร

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังจัดทำข้อเสนอใหม่เพื่อกำหนดอุปกรณ์รองรับของเสียของท่าเรือ เพื่อจัดการกับขยะในทะเลและจัดทำรายงานผลกระทบของการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ประเภท oxo-degradable plastic (เป็นการย่อยสลายผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ที่เกิดจากการเติมออกซิเจนลงในโมเลกุลของโพลิเมอร์ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เองในธรรมชาติอย่างช้าๆ)

สอง มีการสื่อถึงทางเลือกในการจัดการกับความเชื่อมโยงสารเคมี ผลิตภัณฑ์ และกฎหมายด้านขยะ ที่จะทำให้กฎกติกาของทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกัน

สาม กำหนดกรอบการทำงานความคืบหน้าของการเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งระดับสหภาพและระดับประเทศสมาชิก โดยมีตัวชี้วัด 10 ด้าน เช่น การผลิต การบริโค การจัดการกับขยะ และวัตถุดิบระดับรอง รวมทั้งแง่มุมทางเศรษฐกิจ การลงทุน การสร้างงาน และนวัตกรรม และสี่ จัดทำรายงานวัตถุดิบที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะแสดงถึงศักยภาพของวัสดุ 27 ประเภทที่ใช้หมุนเวียนมากขึ้นได้ในระบบเศรษฐกิจ

สำหรับด้านการจัดการขยะพลาสติกนั้น คณะกรรมาธิการฯ ให้เหตุผลว่าเป็นยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องโลก ดูแลพลเมือง และเสริมสร้างพลังให้กับอุตสาหกรรม และนับว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้ในวงกว้างเป็นครั้งแรกของสหภาพยุโรป โดยมุ่งให้มีการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดภายในปี 2030 ลดการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง และเพิ่มความเข้มงวดในการใช้ไมโครพลาสติก

แต่ละปียุโรปทิ้งขยะพลาสติกราว 25 ล้านตัน แต่มีการนำไปรีไซเคิลในสัดส่วนที่น้อยกว่า 30% และภาพรวมทั่วโลกพลาสติกมีสัดส่วนถึง 85% ของขยะชายหาด

10 อันดับขยะชายฝั่ง ที่มาภาพ:http://ec.europa.eu/environment/circular-economy/pdf/pan-european-factsheet.pdf

ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ สหภาพยุโรปจะดำเนินการดังนี้ หนึ่ง ผลักดันให้ธุรกิจรีไซเคิลเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้โดยจะออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ใหม่ เพื่อส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลพลาสติกที่ใช้กันในตลาดและกระตุ้นความต้องการใช้พลาสติกรีไซเคิล รวมไปถึงเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บขยะพลาสติก และปรับปรุงมาตรฐานระบบการจัดเก็บและคัดแยกพลาสติกทั่วยุโรป

สอง การลดขยะพลาสติก ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายของยุโรปได้มีส่วนช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างมากในหลายประเทศสมาชิก แต่ภายใต้แผนฉบับใหม่นี้ จะเน้นไปที่พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งและเครื่องมือประมง รณรงค์สร้างจิตสำนึก รวมทั้งกำหนดขอบเขตการใช้กติกาใหม่ที่จะเสนอภายในปี 2018 และเข้มงวดกับการใช้ไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์ และติดฉลากพลาสติกแตกสลายทางชีวภาพได้ (biodegradable plastic) กับพลาสติกสลายตัวได้ (compostable plastic)

สาม ยุติการทิ้งขยะลงทะเล ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การรับของเสียของท่าเรือ เพื่อจัดการกับขยะทะเล ด้วยมาตรการที่กำหนดให้ต้องนำขยะที่เกิดขึ้นในเรือหรือเก็บได้จากทะเล มาทิ้งบนฝั่งและต้องมีการจัดการที่ถูกต้อง

สี่ ขับเคลื่อนการลงทุนและนวัตกรรม โดยจะกำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจยุโรปนำไปปฏิบัติ เพื่อจำกัดขยะพลาสติก รวมทั้งจัดสรรเงิน 100 ล้านเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการรีไซเคิลพลาสติกที่ดีขึ้น ปรับกระบวนการรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งติดตามและคัดสารอันตรายและสารติดเชื้อออกจากพลาสติกรีไซเคิล

นอกจากนี้ จะทบทวนแนวทางการปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์และจัดทำคู่มือการเก็บและคัดแยกขยะเผยแพร่ในปี 2019

ล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้เสนอให้มีการห้ามใช้พลาสติกชนิดที่ใช้แล้วทิ้งเพื่อลดขยะทะเล ซึ่งจะมีผลให้การใช้พลาสติกประเภทนี้ผิดกฎหมาย ทั้งหลอดดูด สำลีก้านแคะหู มีดพลาสติก ก้านลูกโป่ง และแท่งพลาสติกสำหรับคนกาแฟ รวมทั้งตั้งเป้าที่จะเก็บขวดพลาสติกเกือบทุกประเภทให้ได้สูงถึง 90% เพื่อนำไปรีไซเคิลในปี 2025 อย่างไรก็ตาม แผนนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทั้ง 28 ประเทศ และจากรัฐสภายุโรป และหากผ่านการพิจารณา ประเทศสมาชิกจะต้องนำไปปฏิบัติ

เป้าหมายของ EU ปี 2030 ที่มาภาพ: https://ec.europa.eu/commission/sites/beta-political/files/plastics-factsheet-challenges-opportunities_en.pdf

สหภาพยุโรปคาดกว่ามาตรการนี้จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 3.4 ล้านตัน ป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมได้ในมูลค่า 22 พันล้านยูโรภายในปี 2030 และประหยัดเงินผู้บริโภคได้ถึง 6.5 พันล้านยูโร

ฟรานส์ ทิมเมอร์แมนส์ รองประธานสหภาพยุโรป คาดว่า ข้อเสนอนี้จะผ่านรัฐสภายุโรปก่อนพฤษภาคม 2019 และข้อเสนอนี้จะช่วยลดการใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งจากชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งจะมีการห้ามใช้พลาสติกบางประเภทและนำวัสดุประเภทอื่นมาใช้แทน เพื่อให้ประชาชนยังคงสามารถใช้สินค้าตามที่ต้องการได้

มาตรการนี้มีเป้าหมายพลาสติก 10 กลุ่มที่มักจะพบในทะเลและชายหาดยุโรป รวมถึงภาชนะใส่อาหารชนิดใช้แล้วทิ้งและอุปกรณ์สำหรับมื้ออาหาร ตั้งแต่จานและแก้วน้ำพลาสติก และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่อาหาร เช่น ฟาสต์ฟู้ด รวมไปถึงเครื่องมือประมง อย่างไรก็ตาม แผนนี้ยังไม่กำหนดวันบังคับใช้ชัดเจนลงไป และยังคงอนุญาตให้ใช้แก้วกาแฟพลาสติกหากมีฝาปิดติดไว้

สำหรับเครื่องมือประมงที่มีสัดส่วน 1 ใน 4 ของขยะริมฝั่งอาจจะต้องจ่ายเงินเพื่อนำไปใช้ในการเก็บและจัดการกับขยะประเภทนี้

เอเชียยังไม่ตื่นตัว

เอเชียหลายประเทศได้มีมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกเพื่อจำกัดและลดปริมาณขยะ ดังจะเห็นจากไต้หวัน ที่ได้ทำมานาน ส่วนประเทศอื่นๆ ยังไม่มีการดำเนินการที่มากนัก แม้จีนจะได้เริ่มแล้ว แต่จากรายงานของ Ocean Conservancy จีน อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เป็น 5 ประเทศที่ทิ้งพลาสติกลงทะเลมากกว่าส่วนอื่นของโลก

ในเอเชียขยะคือสาเหตุของท่อระบายน้ำอุดตัน เพิ่มความเสี่ยงที่น้ำจะท่วม ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการขยะที่ไม่ดีพอ จึงทำให้การเก็บขยะที่ถูกวิธีในประเทศเอเชียทั้ง 5 ประเทศข้างต้นมีสัดส่วนเพียง 40% เท่านั้น

แต่ละประเทศมีวิธีการจัดการกับขยะพลาสติกที่แตกต่างกัน โดยในกัมพูชาสนับสนุนการไม่ใช้ถุงพลาสติกด้วยการเก็บเงินค่าถุงจากผู้บริโภคที่ซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต และรัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะห้ามการผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายถุงพลาสติกที่มีความหนาต่ำกว่า 0.03 มิลลิเมตรและมีความกว้างน้อยกว่า 30 เซนติเมตร โดยมีแผนที่จะลดการใช้ถุงพลาสติกลง 50% ในปี 2019 รวมทั้งจะเก็บเงินค่าถุงเพิ่มขึ้นทั่วประเทศในปี 2020

ฮ่องกง ในปี 2015 ได้กำหนดให้ร้านค้าย่อย ทั้งแผงลอย รถเข็น ไปจนถึงร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากลูกค้าในราคาไม่ต่ำกว่า 50 เซนต์ เพื่อสร้างนิสัยนำถุงมาเองให้กับสังคม ปีต่อมาได้เพิ่มความเข้มงวดในการห้ามใช้ถุงพลาสติกมากขึ้นด้วยการลงโทษปรับร้านชำรายหนึ่งเป็นจำนวนเงิน 5,000 ฮ่องกงดอลลาร์ ฐานไม่เก็บเงินค่าถุงจากลูกค้า

อินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับต้นๆ ในการสร้างมลพิษให้กับโลก ได้ห้ามการใช้ถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้ง โดยอาศัยคำสั่งศาลสูงในนิวเดลี ซึ่งมีผลให้พลาสติก ถุง แก้ว และพลาสติกประเภทอื่นที่ใช้แล้วทิ้ง ต้องห้ามใช้ ปัจจุบัน รัฐชัมมูและกัศมีร์ (จัมมูและแคชเมียร์) และอีก 17 รัฐ รวมถึงดินแดนในอาณัติของนิวเดลี ห้ามจำหน่ายและใช้ถุงพลาสติกอย่างถาวร

ที่มาภาพ: https://asiancorrespondent.com/2014/07/should-asia-pacific-countries-ban-the-plastic-bag/#4x0OEmymHV4htL2w.97

อินโดนีเซีย รัฐบาลสัญญาว่าจะจัดสรรเงินงบประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อลดขยะพลาสติกและขยะอื่นที่มีผลทำให้น้ำเสียและมีมลพิษ ในปี 2016 ได้มีการทดลองเก็บภาษีถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งใน 23 เมืองทั่วประเทศ และรณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ด้วยการให้ร้านค้าเก็บเงินค่าถุงจากลูกค้าในราคา 5000 รูเปียห์ต่อใบ แม้แคมเปญนี้ได้รับการต่อต้านจากผู้บริโภคและผู้ผลิต แต่ก็สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้มาก และล่าสุดกำลังวางแผนที่จะออกกฎหมายเก็บภาษีทั่วประเทศในอัตรา 200 รูเปียห์ต่อถุงพลาสติก 1 ใบ

มาเลเซีย ในปี 2015 มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Science Magazine ระบุว่า มาเลเซียติด 1 ใน 8 ของประเทศอันดับต้นๆ ในบรรดา 192 ประเทศที่มีการจัดการกับขยะไม่ถูกวิธี ทั้งขยะที่ไม่มีการรีไซเคิล หรือทิ้งไม่เหมาะสม โดยมีขยะที่จัดการไม่ถูกวิธีถึง 1 ล้านตันในปี 2010 ดังนั้น มาเลเซียจึงห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบเดิมแต่หันมาใช้ถุงพลาสติกและภาชนะใส่อาหารแบบที่ย่อยสลายได้ ในปูตราจายาและกัวลาลัมเปอร์เมื่อปี 2017 ขณะที่รัฐเซลังงอร์เริ่มด้วยการส่งเสริมการไม่ใช้ถุงพลาสติกในวันเสาร์ ต่อมาขยายเป็นไม่ใช้ทุกวันและเก็บค่าถุงใบละ 0.20 ริงกิต

เรียบเรียงจาก phys.org,The Japan Times, Taiwan Today, climateactionprogramme.org, nation.co.ke, star.co.ke, capitalfm.co.ke, focustaiwan