ThaiPublica > เกาะกระแส > อันดับมหาเศรษฐีใจบุญสองประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก “จีน-สหรัฐ” – ระบุคนรวยรุ่นใหม่เน้นการกุศล หวังสร้างคลื่นลูกใหม่ – หาแนวทางใหม่เปลี่ยนสังคม

อันดับมหาเศรษฐีใจบุญสองประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก “จีน-สหรัฐ” – ระบุคนรวยรุ่นใหม่เน้นการกุศล หวังสร้างคลื่นลูกใหม่ – หาแนวทางใหม่เปลี่ยนสังคม

22 พฤษภาคม 2018


จอร์จ โซรอส(กลาง) บิลล์ เกตส์(ซ้ายบน),วอร์เรน บัฟเฟตต์(ขวาบน), มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก(ล่างซ้าย)
และเหอ เซียงเจี้ยน (ล่างขวา)

Hurun Research Institute เผยแพร่รายงาน Hurun USA-China Philanthropy List 2018 ว่า เศรษฐีทั้งจากสหรัฐอเมริกาและจีนที่บริจาคเงินตั้งแต่ 5 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปในรอบปี สิ้นสุด 31 มีนาคม 2018 มีจำนวนทั้งสิ้น 366 ราย โดย จอร์จ โซรอส วัย 87 ปี ที่โลกการลงทุนขนานนามว่า พ่อมดทางการเงิน นับเป็นเศรษฐีที่ใจบุญที่สุด เพราะบริจาคเงินถึง 18 พันล้านดอลลาร์ให้กับ มูลนิธิ Open Society ส่งผลให้ยอดเงินที่บริจาคมาตลอดชีวิตสูงถึง 32 พันล้านดอลลาร์

เศรษฐีใจบุญชาวอเมริกาจากการสำรวจของ Hurun Research Institute มีจำนวน 290 คน คิดเป็นสัดส่วน 79% ขณะที่เศรษฐีจีนมีจำนวน 76 คน มีสัดส่วน 21% ซึ่งยอดบริจาคเงินเศรษฐีทั้ง 366 รายนี้รวมกันสูงถึง 40 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ยอดเงินบริจาคเฉลี่ยอยู่ที่ 109 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม มีเศรษฐีจำนวน 6 รายบริจาคในระดับพันล้านดอลลาร์ และมี 30 รายที่บริจาคในระดับ 100 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป

เศรษฐีจีนกำลังมีบทบาทมากขึ้นในด้านการกุศล เพราะความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งทั้ง 76 นี้บริจาคเงินไปในด้าน การศึกษา สุขภาพ การบรรเทาความยากจน และอื่นๆ เพื่อสังคม

การจัดอันดับของ Hurun Research Institute วัดจากการบริจาคเงินสดหรือเทียบเท่าเงินสดให้กับองค์กรการกุศลหรือโครงการที่ถูกกฎหมาย และครั้งนี้ยังเป็นปีแรกที่จัดอันดับเศรษฐีจากสองประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก เศรษฐีเหล่านี้อยู่ในธุรกิจการลงทุน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเทคโนโลยี

รายงานของ Hurun Research Institute ให้ข้อมูลว่า เศรษฐีใจบุญอันดับหนึ่ง จอร์จ โซรอส บริจาคเงินให้กับกองทุนการกุศลของตัวเองที่รู้จักกันในชื่อมูลนิธิ Open Society และแม้เป็นผู้บริจาครายเดียวของมูลนิธิแต่ก็ทำให้ Open Society กลายเป็นมูลนิธิที่มีขนาดใหญ่อันดับสองในสหรัฐฯ รองจากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ ของ บิลล์และเมลินดา เกตส์ทั้งนี้ โซรอสเป็นเศรษฐีอันดับ 217 จากการจัดอันดับ Hurun Global Rich List 2018 ของ Hurun ด้วยความมั่งคั่ง 8.5 พันล้านดอลลาร์

เศรษฐีใจบุญอันดับสอง คือ บิลล์ เกตส์ วัย 62 และเมลินดา เกตส์ วัย 53 ปี ซึ่งบริจาค 4.6 พันล้านดอลลาร์ให้กับมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ ส่งผลให้ยอดบริจาคนับตั้งแต่ปี 2000 มียอดรวม 50 พันล้านดอลลาร์ และการบริจาคเงินในครั้งล่าสุดนับเป็นเงินบริจาคก้อนใหญ่ก้อนที่สองที่เคยบริจาคมาก มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ เป็นองค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ

อันดับสามคือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ วัย 87 ปี บริจาคเงิน 3.17 พันล้านดอลลาร์ ให้กับมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ ส่งผลให้ยอดบริจาคตั้งแต่ปี 2006 รวม 32 พันล้านดอลลาร์

อันดับสี่คือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก วัย 33 ปี ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ติดอันดับสี่ของเศรษฐีใจบุญ ด้วยเงินบริจาครวมกับภรรยา พริสซิลลา ชาน จำนวน 1.93 พันล้านดอลลาร์ และนับเป็นการบริจาคเงินระดับพันล้านครั้งที่สองของมาร์ก

อันดับห้าได้แก่ เศรษฐีจีน เหอ เซียงเจี้ยน จากบริษัท Midea ได้บริจาค 1.18 พันล้านดอลลาร์ เหอ เซียงเจี้ยน ยังติดอันดับ 34 ในทำเนียบเศรษฐีโลกของ Hurun ด้วยความมั่งคั่ง 29 พันล้านดอลลาร์

อันดับหก ไมเคิล เดลล์ วัย 53 ปี แห่งเดลล์ เทคโนโลยี บริจาค 1 พันล้านดอลลาร์ให้กับมูลนิธิ ไมเคิลและซูซานเดลล์ ที่เน้นการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ ยอดเงินบริจาคนี้นับเป็นเงินบริจาคก้อนใหญ่ก้อนที่สองในชีวิตของไมเคิล

อันดับเจ็ด ฟลอเรนซ์ เออร์วิง คู่สมรสมของ เฮอร์เบิร์ต เออร์วิง ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจจัดจำหน่ายอาหาร food service อันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ที่บริจาค 680 ล้านดอลลาร์ ให้กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ส่งผลให้ยอดเงินบริจาครวมทั้งหมดมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

อันดับแปด ซู เจียอิน จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Evergrande บริจาค 540 ล้านดอลลาร์

อันดับเก้า รอย วาเกลอส วัย 88 และไดอานา วาเกลอส จาก รีเจนเนอรอน ฟาร์มาซูติคัล บริจาค 250 ล้านดอลลาร์ ให้กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รวมยอดเงินที่ได้บริจาคมาทั้งหมดสูงกว่า 350 ล้านดอลลาร์

อันดับสิบ เจมส์กับอลิซ คลาร์ก จากคลาร์ก คอนสตรักชัน บริจาค 219 ล้านดอลลาร์ ให้กับมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์เพื่อเป็นทุนการศึกษา เนื่องจากเคยได้รับทุนเล่าเรียนมาก่อน

เศรษฐีรุ่นใหม่กับการให้ในปรากฏการณ์ใหม่

Hurun Research Institute รายงานอีกว่า คริส ลาร์เซน ที่รวยขึ้นมาจากการเงินดิจิทัลหรือ cryptocurrency ได้บริจาคคิดเป็นมูลค่าเทียบเท่า 29 ล้านดอลลาร์ของ cryptocurrency ขณะที่ ไบรอัน แอกตัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Whatsapp ได้บริจาคเงินให้กับมูลนิธิซิกแนล ที่มุ่งเน้นการรักษาและคุ้มครองข้อมูลกับความเป็นส่วนตัว จำนวน 50 ล้านดอลลาร์ เพราะได้แรงจูงใจการกรณีเกิดกรณีข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กรั่วไหล และอดีตสสมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐฯ แฟรงก์ กัวรินี บริจาค 20 ล้านดอลลาร์ ให้คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เพื่อจัดตั้งโครงการศึกษากฎหมายสากล

Hurun Research Institute ได้แยกให้เห็นว่า มีเศรษฐีรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 40 ปีให้ความสำคัญกับการกุศล โดยมีเศรษฐีอายุน้อยที่บริจาคติดอันดับ 8 คน รายที่อายุน้อยที่สุดคือ จาง เจ้อเตี้ยน วัย 25 ปีจากบริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำ เจดี ที่บริจาคเงิน 46 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเศรษฐีอีก 3 รายในวัย 33 ปีเท่ากัน คือมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่บริจาค 1.93 พันล้านดอลลาร์ ออสติน แมคคอร์ด บริจาค 50 ล้านดอลลาร์ ดัสติน มอสโควิทซ์ บริจาค 11 ล้านดอลลาร์

ที่สูงวัยขึ้นมาอีกเล็กน้อยคือรุ่นอายุ 37-38 ปี คือ หยาง ฮุยอาน บริจาค 110 ล้านดอลลาร์ โจว อิง บริจาค 7 ล้านดอลลาร์ หวาง ฉีเฉิง และอู๋ ยั่น บริจาคร่วมกัน 15.9 ล้านดอลลาร์ และ จาง ป่างซิน บริจาค 12 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ยังมีเศรษฐีนีใจบุญอยู่ในทำเนียบถึง 172 คน คิดเป็นสัดส่วน 34% นำโดย โรเบอร์ตา เอลเลียต น้องสาววัย 84 ปีของวอร์เรน บัฟเฟตต์ และ แดกมาร์ ดอลบี วัย 76 ปี ที่นับว่าเป็นเศรษฐินีที่ใจบุญที่สุด เพราะทั้งคู่บริจาคเงินเท่ากัน 105 ล้านดอลลาร์

รายงานให้ข้อมูลอีกว่า เงินบริจาคส่วนใหญ่ของเศรษฐีเหล่านี้ไปสู่ภาคการศึกษาในสัดส่วนถึง 58% โดยส่วนใหญ่มอบให้กับสถานศึกษาที่ตัวเองจบมา ซึ่งในส่วนนี้ผู้บริจาครายใหญ่คือ เจมส์กับอลิซ คลาร์ก รองลงมาคือด้านสุขภาพในสัดส่วน 18% อื่นๆ อีก 10% ที่เหลือกระจายไปในส่วนการเป็นสวัสดิการสังคมและลดความยากจน

บิลล์ เกตส์ ใจบุญสุดในสหรัฐฯ

The Chronicle of Philanthropy รายงานผลการบริจาคเงินของมหาเศรษฐีใจบุญของโลก 50 อันดับแรกไว้ใน The Philanthropy 50 ว่า ในปี 2017 มหาเศรษฐีใจบุญทั้ง 50 รายบริจาคเงินเพื่อการกุศลรวมถึง 14.7 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าปี 5.6 พันล้านดอลลาร์ก่อนหน้ามากกว่า 2 เท่า และนับเป็นเงินบริจาคที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 และยังนับเป็น เงินบริจาคก้อนใหญ่อันดับ 3 ในรอบ 18 ปีนับตั้งแต่มีการสำรวจ

มหาเศรษฐีใจบุญที่บริจาคเงินสูงอันดับหนึ่งคือ บิลล์ เกตส์ กับภรรยา เมลินดา เกตส์ ที่บริจาคเงินรวม 4.78 พันล้านดอลลาร์เข้ามูลนิธิเกตส์ สำหรับมหาเศรษฐีใจบุญอันดับสองคือผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และภรรยาพริสซิลลา ชาน ที่บริจาคเงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์

เงินบริจาคเฉลี่ยทั้งปีของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กและภรรยา พริสซิลลา ชาน มหาเศรษฐีใจบุญรายนี้มีจำนวน 97 ล้านดอลลาร์ เกือบ 2 เท่าของปี 2000 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ The Chronicle เริ่มสำรวจ

ยอดเงินบริจาคของปี 2017 ที่เพิ่มสูงขึ้นมากนี้เป็นผลจากมหาเศรษฐีใจบุญที่ยังมีวัยไม่สูงนักที่กำลังสะสมความมั่งคั่ง จึงส่งผลให้มหาเศรษฐีกลุ่มนี้ติด 3 อันดับแรกที่บริจาคเงินเพื่อการกุศลสูงสุด เพราะบริจาคเงินสูงถึงคนละ 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งได้แก่ บิลล์ เกตส์ ที่อายุ 62 ปี กับเมลินดา เกตส์ ที่อายุ 53 ปี ครองอันดับหนึ่งเป็นครั้งที่ 4 ส่วนอันดับสอง คือมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และภรรยา พริสซิลลา ชาน ซึ่งอายุอยู่ใน 30 ปีต้นๆ ที่บริจาคเงินเข้ามูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นกับบริจาคให้กับ Donor’s Advised Fund (กองทุนส่วนบุคคลที่บริหารโดยบุคคลที่สาม และตั้งขึ้นเพื่อการกุศลบริจาคในนามขององค์กรครอบครัวหรือบุคคล) และอันดับสาม คือ ไมเคิลและซูซาน เดลล์ ที่มีอายุ 50 ปีเศษ บริจาค 1 พันล้านดอลลาร์เข้ามูลนิธิของตัวเอง

อายุเฉลี่ยของเศรษฐีใจบุญรายคนกลุ่มนี้คือ 72 ปี เพราะบางครอบครัวบริจาคเป็นคู่ ส่วนเศรษฐีใจบุญที่อายุมากสุดคือ ฟลอเรนซ์ เออร์วิง อายุ 97 ปี และเศรษฐีใจบุญที่อายุน้อยสุดคือ ออสติน แมคคอร์ด อายุ 32 ปี และบางคนก็ไม่เปิดเผยอายุตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีมหาเศรษฐี 11 รายจากกลุ่มเทคโนโลยีที่ติดอันดับ The Philanthropy 50 โดยมียอดบริจาคเงินรวมกัน 8.7 พันล้านดอลลาร์ หรือมีสัดส่วน 60% ของเงินบริจาครวมของมหาเศรษฐีใจบุญ 50 คน และคาดว่าจะยังเป็นผู้ที่บริจาคเงินจำนวนมากอีกในปีต่อไป

แบรด สมิท ประธานของ Foundation Center ให้ความเห็นว่า มหาเศรษฐีใจบุญเหล่านี้ เปรียบเสมือน จอห์น ดี. ร็อคกี้เฟลเลอร์ ในกลุ่มคนรุ่นนี้ (จอห์น ดี. ร็อคกี้เฟลเลอร์ นับว่าเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก และเป็นเศรษฐีคนแรกๆ ที่หันมาเริ่มบริจาคเงินเพื่อการกุศลและตั้งมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ สนับสนุนด้านการแพทย์ การศึกษา)

The Philanthropy ยังรายงานอีกว่า การทำการกุศลได้เคลื่อนตัวครั้งใหญ่จากย่านวอลล์สตรีทไปยังฝั่งตะวันตก เมื่อบิลล์ เกตส์ เปิดตัวมูลนิธิเกตส์ที่ซีแอตเทิลปี 2000 มีการตั้งข้อสังเกตว่าอิทธิพลด้านการกุศลจากมหาเศรษฐีกลุ่มเทคโนโลยีนี้มีมากกว่าเศรษฐีใน 50 อันดับนี้อย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากหลายๆ คนทำสิ่งดีๆ บนโซเชียลผ่านบริษัท หรือเพื่อกองทุนที่แสวงหาผลกำไร แม้ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดช่องว่างรายได้ หรือตอบคำถามสังคมในประเด็นอื่นๆ

ในบรรดามหาเศรษฐี 125 รายที่ร่วมลงนามใน The Giving Pledge มีเพียง 16 ราย ทั้งรายบุคคลและรายคู่ที่ติดอันดับใน The Philanthropy 50 (โครงการ The Giving Pledge ที่บิลล์ เกตส์ ได้ร่วมกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 เพื่อขอให้อภิมหาเศรษฐีทั่วโลกร่วมบริจาคอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่การกุศล)

ตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมทางรายได้

การบริจาคเงินที่เพิ่มขึ้นมากเป็นช่วงเดียวกันที่คนอเมริกันทั่วไปยกเลิกการบริจาคเงินเพื่อการกุศล และการลดลงของการให้ นับตั้งแต่ช่วง The Great Recession ได้ก่อให้เกิดความกังวลว่าความแบ่งแยกทางเศรษฐกิจจะถูกตอกย้ำให้เห็นจากการทำการกุศล ที่องค์กรไม่แสวงหากำไรพึ่งพาคนมีเงินเพิ่มขึ้น

อารอน ดอร์ฟแมน จาก National Committee for Responsive Philanthropy ให้ความเห็นว่า สัดส่วนเงินบริจาคที่ใหญ่ขึ้นมาจากผู้บริจาคที่มีจำนวนน้อยลงๆ ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีบางคำพูดของผู้บริจาครายใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ไปตกหนักอยู่ที่พวกเขา ซึ่ง เรย์ เดลิโอ ผู้บริจาคเงินรายใหญ่อันดับ 48 แห่ง Bridgewater Associates กองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหญ่สุดของโลก กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้คือประเด็นใหญ่ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

รายงานขององค์กรไม่แสวงกำไรบางแห่งระบุว่า ผู้บริจาคเงินรายต้นๆ ไม่ว่าจะบริจาคด้วยจิตสำนึกหรือความห่วงใยต่ออนาคต ก็คำนึงถึงความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ ดังจะเห็นจากทำแผนการให้มหาวิทยาลัยชิคาโกเอง ซึ่งได้รับเงินบริจาค 6 ครั้งจากเศรษฐีใจบุญ 50 รายนี้ในรอบ 2 ปี ก็เริ่มมีผู้สนับสนุนจำนวนมากที่ต้องการรวมการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเข้ากับการให้

โดย ชารอน มารีน รองประธานสโมสรศิษย์เก่า กล่าวว่า ผู้บริจาคกำลังคิดว่าจะสร้างโอกาสให้กว้างขึ้นและสร้างความเท่าเทียมของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นสำหรับนักศึกษาที่มีศักยภาพทุกคน

ผู้บริจาคเงินรายใหญ่ยังตอบรับในเชิงบวกต่อ Oxfam America ที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันและการต่อสู้กับความยากจน แม้แต่ในช่วงที่ Oxfam ให้ความเห็นหนักๆ ถึงโครงสร้างภาษีและนโยบายรัฐที่มีผลให้สามารถสร้างความมั่งคั่งอย่างมหาศาล แน่นอนว่าไม่ใช่เศรษฐีทุกคนจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่มีบางคนที่เพิ่มการบริจาค เพราะถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ที่มีเงิน

ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ ชาร์ลส์ บัตต์ ผู้บริจาคอันดับที่ 7 เศรษฐีจากเท็กซัสที่ทุ่มเงิน 280 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงการศึกษา โดยเงินก้อนนี้จะใช้เป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่จะจบออกมาเป็นครู รวมทั้งสร้างสถาบันฝึกอบรมผู้บริหารโรงเรียนรัฐบาล โดยชาร์ลส์กล่าวว่า ขณะนี้การสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่โรงเรียนรัฐลดลงและความเชื่อมั่นในระบบหดหาย

ขณะที่ผู้บริจาคเงินอันดับ 10 รอย วาเกลอส กับภรรยา ไดอานา จัดสรรเงิน 150 ล้านดอลลาร์จากที่ตั้งไว้ 250 ล้านดอลลาร์ ให้มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางการเงิน สำหรับบรรเทาภาระหนี้ให้กับนักศึกษาแพทย์

วาเกลอสกล่าวในแถลงการณ์ว่า แนวคิด”การให้” ของคนในวัยหนุ่มสาว ก็เป็นการให้ความช่วยเหลือลักษณะเดียวกับที่เขาได้รับมาก่อน ทำให้สามารถศึกษาต่อได้ ซึ่งกลายเป็นแรงขับของชีวิตหลายปี

หาแนวทางใหม่เปลี่ยนสังคม

ในรายงาน ยังมีข้อมูลด้วยอีกว่า เงินบริจาคส่วนใหญ่เข้าสู่ “มูลนิธิ” โดยมีสัดส่วนถึง 61.5% ของยอดเงินบริจาครวม 14.7 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ผู้บริจาคบางรายก็ไม่เปิดเผยข้อมูลว่าบริจาคให้องค์กรใดบ้าง

เศรษฐีใจบุญบางรายปรับแนวทางการบริจาคเงิน เช่น บิลล์ เกตส์ จากที่มูลนิธิสนับสนุนการศึกษาด้านการสอน การจัดวางหลักสูตรมาตลอด 17 ปี ได้หันมามุ่งสนับสนุนเครือข่ายโรงเรียน ขณะที่มูลนิธิไมเคิลและซูซาน เดลล์ ที่ก่อตั้งในปี 1999 ได้ประกาศแนวทางการทำงานการกุศลใหม่เพื่อสร้างคลื่นลูกใหม่ของการกุศล หลังจากที่ได้สำรวจกิจการที่มีผลต่อสังคมร่วม 700 แห่ง มูลนิธิต้องการที่จะเปิดมุมมองใหม่และทำงานให้ดีขึ้น

ขณะที่บางรายเริ่มดึงตัวออกมาเพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ เช่น แอกเนส กุนด์ เศรษฐีใจบุญอันดับ 23 ด้วยเงินบริจาค 100 ล้านดอลลาร์ ที่มองว่าการเพิ่มเงินบริจาคอย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นด้วย จึงหันมาร่วมงานกับผู้บริจาครายอื่นมากขึ้นและพยายามปรับระบบสังคมที่มักจะปกปิดหรือให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับความยากจนและปัญหาอื่นของสังคม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ล่าสุดได้ขายภาพเขียนเพื่อระดมเงิน 100 ล้านดอลลาร์มาตั้งองค์กรที่ทำงานด้านความยุติธรรม

ทางด้านสตีฟ บัลล์เมอร์ และเจฟฟ์ เบโซส แห่งอเมซอน ที่บริจาคเงินก้อนใหญ่ก็เริ่มตระหนักถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเบโซสได้ทวีตว่ากำลังหากลยุทธ์ใหม่เพื่อการทำงานการกุศลพร้อมเปิดรับแนวคิดที่ใช้งานได้ทันทีและมีผลระยะยาว ซึ่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้บริจาค 33 ล้านดอลลาร์เป็นทุนการศึกษาให้กับผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารประจำตัว เพราะตามพ่อแม่เข้ามาตั้งแต่ยังเด็ก